บทเรียนดราม่า ‘หนึ่ง จักรวาล’ สอนลูกให้ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิด
เรียนรู้จากดราม่า “หนึ่ง จักรวาล” ด้วยการสอนลูกให้เข้าใจ และปกป้องตัวเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านหนังสือดีๆ เช่น “ผีเสื้อของตั๋วตั่ว”, “ปิงปิงไม่ยอม”, “ร่างกายของฉัน ฉันดูแลเองได้”
จากกรณีการแสดงความรักระหว่างพ่อกับลูกสาวของ ‘หนึ่ง จักรวาล’ ที่ถูกสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม วันนี้ ‘จุดประกาย’ มีสื่อน้ำดี ทั้งหนังสือนิทานประกอบภาพ และคลิปตัวอย่างการสอนลูก ที่จะทำให้ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนเด็กๆ เข้าใจถึง ‘สิทธิในร่างกายตัวเอง’ ที่ไม่ควรให้ใครมาละเมิด แม้แต่ผู้ให้กำเนิดเองก็ตาม เพราะเรื่องนี้อาจนำไปสู่เรื่องน่าเศร้า เช่น การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ได้ในภายหลัง
ขณะเดียวกัน สังคมไทยที่มองข้ามเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด เพราะเติบโตมาในวัฒนธรรมที่พ่อแม่ (หรือแม้แต่ญาติที่อาวุโส) คิดว่าตนเองมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายลูก จะกอด จะหอม หรือแม้แต่จะจับอวัยวะเพศลูกโดยอ้างว่าทำไปด้วยความเอ็นดู ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกเพราะกลัวว่าจะเป็นการไม่กตัญญู ก็จะได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน
เพราะสิทธิเหนือร่างกายตัวเองของเด็กๆ แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ไม่อาจละเมิดได้ ทั้งยังควรเป็นผู้สอนให้พวกเขารู้จัก และปกป้องสิทธิเหล่านั้นด้วยซ้ำ
- ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’
หนังสือนิทานประกอบภาพจากไต้หวันที่มีคำโปรยบนหน้าปกว่า ‘หนังสือเล่มนี้จะช่วยปกป้องเด็กทุกคนให้พ้นจากการถูกคุกคามทางเพศ’ ผลงานการประพันธ์ของ ‘ซิ่งเจียฮุ่ย’ นักสิทธิมนุษยชนเด็ก ภาพประกอบโดย ‘เฉินเจี๋ยฮ่าว’ และ ‘สวีซือหนิง’ โดย เฉินเจี๋ยฮ่าว นั้นมีประสบการณ์เคยถูกล่วงละเมิดในวัยเด็กมาก่อน
ฉบับภาษาไทยแปลโดย ‘พัณณ์ชิตา ธนวีร์กิตติโชติ’ และ ‘อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี’ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก (Mangmoom Book) ที่พูดถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ออกมาว่า ต้องการติดอาวุธให้เด็กๆ ได้รู้จักสิทธิทางร่ายกายของตนเอง รู้ทันคนชั่วที่มักมาในคราบของ ‘คนสนิท’ พร้อมประกาศว่าจะพิมพ์เพิ่ม (รีปรินท์) ออกมาให้เร็วที่สุดหลังจากเกิดเรื่องดราม่าในครั้งนี้
‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ พูดถึงเด็กผู้หญิงผู้ร่าเริงสดใสที่อาศัยอยู่กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ก่อนจะกลายเป็นเด็กซึมเศร้าเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศจากพ่อเลี้ยงแล้วถูกขู่ไม่ให้บอกใคร จนกระทั่งผู้เป็นแม่สังเกตเห็นแล้วสวมบทบาทเป็น ‘ตุ๊กตากระต่าย’ เข้ามารับฟังลูกจนสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้คลี่คลายลงได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ หนังสือเล่มนี้มีคู่มือการใช้งานแนบมาด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะอ่าน ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ ให้เด็กๆ ฟัง เพราะเนื้อหาในเรื่องละเอียดอ่อน พร้อมทั้งสอนวิธีพูดคุยกับเด็กๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศกับพวกเขาขึ้น ตลอดจนให้เด็กๆ แยกแยะการสัมผัสจากผู้อื่นว่าแบบใดควรไม่ควร
หลังจากวางแผงในไต้หวัน นิทานภาพเล่มนี้สามารถยับยั้งอาชญากรรมการล่วงละเมิดทางเพศโดยคนรู้จักได้จริง และยังติดอันดับ ‘หนังสือที่ทางร้านอยากให้ผู้ปกครองได้อ่านมากที่สุด’ ประจำปี 2019 อีกด้วย
- ‘จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป’
credit : สำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก
โดย ‘เฉินเจี๋ยฮ่าว’ ผู้วาดภาพประกอบหนังสือ ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ ฉบับภาษาไทยแปลโดย ‘อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี’ จัดพิมพ์โดย ‘สำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก’ หนังสือเล่มนี้มาพร้อมกับคำเตือน (Trigger Warning) เพราะมีการเล่าถึงเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจริงกับผู้เขียนในวัยเด็ก
ข้อคิดจากหนังสือเล่มนี้คือผู้อ่านจะได้ทราบวิธีการบำบัดตนเองของผู้ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ 3 ขวบ ต่อเนื่อง 3 ปี จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความเข้าใจว่าหากเรามีเพื่อน พี่น้อง คนใกล้ชิดที่ประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ เราควรทำตัวอย่างไรเพื่อที่จะช่วยพวกเขาได้
เบียร์-อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึง ‘จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป’ เอาไว้ในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา @anurakbeer ว่า ผู้รอดชีวิตต้องเรียนรู้ที่จะแสวงหาสภาพแวดล้อมที่ตนรู้สึกปลอดภัยเพื่อปลดปล่อยความรู้สึก หากจะให้ดียิ่งกว่าคือ มีเพื่อนอยู่เคียงข้างและสนับสนุน แต่ไม่มีเพื่อนคนไหนมีวิชาอ่านใจ คุณต้องเป็นฝ่ายบอกว่าตนกำลังเผชิญอยู่กับความเจ็บปวดและความรู้สึกอะไร พร้อมกับอยากได้ความช่วยเหลือ
อย่าคาดหวังในตัวเพื่อนๆ ของคุณสูงเกินไป คนทั่วไปไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่พวกเราประสบพบพานกันง่ายๆ แต่พวกเขา/พวกเธอก็ยังมอบความช่วยเหลือและการเคียงข้างที่ยิ่งใหญ่
ส่วนสิ่งที่ผู้อยู่เคียงข้างต้องคอยจดจำคือ เพื่อนที่คุณเคียงข้างอยู่เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นอันตราย พร้อมกับทิ้งรอยบาดแผล แต่เขา/เธอมีชีวิตต่อไปด้วยความกล้าและกำลังใจ การยอมรับ อยู่เคียงข้างและเข้าใจจากคุณจะทำให้เขาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- ‘ปิงปิงไม่ยอม’
credit : NANMEEBOOKS
นิทานภาพจากสำนักพิมพ์ ‘พาส แอด คิดส์’ ผู้แต่ง ‘คุณแม่เอง’ สอนให้เด็กวัย 0-6 ปี รู้จักป้องกันตัวเอง ทั้งจากการล่วงละเมิดทางเพศ การลักพาตัว หรือแม้แต่โรคติดต่ออันตรายอย่าง โควิด-19
เนื้อเรื่องพูดถึงเด็กหญิงปิงปิง มาเล่าให้แม่ฟังว่าคุณครูคนใหม่เอาทอฟฟี่มาให้แลกกับการหอมแก้ม แม่จึงสอนว่าควรปฏิเสธเมื่อเจอเข้ากับเหตุการณ์แบบใดบ้าง
credit : NANMEEBOOKS
หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือชุด ‘ปิงปิงระวังภัย’ ที่มีด้วยกันหลายเล่ม เช่น ปิงปิงถูกหลอก, อย่าบิดหู ปิงปิงกลัวแล้ว, ปิงปิงไม่ใส่หน้ากาก, ปิงปิงไม่ซนอีกแล้ว, ปิงปิงสวัสดีค่ะ, ปิงปิงไม่เป็นไรค่ะ
- ร่างกายของฉัน ฉันดูแลเองได้!
credit : เฟซบุ๊ก Cindy Sirinya Bishop
ผู้เขียน ‘สิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ’ ผู้แปล ‘ผศ. รพินทร ณ ถลาง’ สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ ชื่อภาษาอังกฤษ ‘My Body My Rules’
ซินดี้-สิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ อดีตมิสไทยแลนด์เวิลด์ นักแสดง นางแบบ และพิธีกรที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีและเด็กอย่างจริงจัง เป็นผู้เขียนหนังสือที่สอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องร่างกาย เคารพตัวเอง และยอมรับตัวตนผู้อื่น ชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายว่าส่วนไหนควรปกปิด การสัมผัสแบบไหนเป็นสัมผัสที่ดีและไม่ดี ตลอดจนการขออนุญาต ขอความยินยอมจากผู้อื่น และรู้จักปฏิเสธในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกไม่ชอบใจ
credit : เฟซบุ๊ก Cindy Sirinya Bishop
- สอนเพศศึกษาให้เด็กเล็กกับ Little Monster Family
Little Monster เพจครอบครัวเลี้ยงลูกของ “พ่อเหว่ง-แม่ตุ๊ก” คุณตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ กับคุณเหว่ง-ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ ที่มีผู้ติดตามถึง 3.5 ล้านคน ทางเฟซบุ๊ก และอีกเกือบ 8 แสนคนทางยูทูปแชแนล Little Monster Family มีคลิปสอนเพศศึกษาให้กับลูกสาววัย 9 ขวบ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปปฏิบัติตามได้
โดยในคลิปที่ชื่อ ‘จินเขินหนัก!! เเต่ใกล้วัยรุ่นเเล้วควรรู้ กับเพศศึกษาเบื้องต้น’ คุณตุ๊ก ผู้เป็นแม่ ได้สอนน้องจิน ลูกสาวอายุ 9 ขวบ ที่เริ่มจะโตเป็นสาวในหลายๆ เรื่อง ทั้งร่างกายที่เปลี่ยนไป การมีประจำเดือน ตลอดจนการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
คุณตุ๊กกล่าวว่าเรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ค่อยกล้าที่จะพูดกับลูก ทั้งที่เราควรสอนให้เขาเตรียมพร้อม และรู้จักรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้น บ้านไหนที่ไม่กล้าสอนลูกๆ สามารถนำวิธีของเธอไปใช้กันได้