“ฮาโลวีน” ท่องประวัติศาสตร์ศิลป์ผ่าน 10 ชุดฮาโลวีนถอดแบบภาพวาดบันลือโลก
“ฮาโลวีน” ความเป็นมา ความเชื่อ ทำไมต้องแต่งกายเลียนแบบผี หลอนให้สวยด้วยงานศิลป์กับ 10 ไอเดียเครื่องแต่งกายวัน Halloween ถอดแบบจากภาพวาดจิตรกรเอกของโลก
Halloween (ฮาโลวีน) เป็นเทศกาลชีวิตหลังความตายของผู้นับถือศาสนาคริสต์ มีความเป็นมาโดยเชื่อมโยงกับวันฉลองประจำปีของชาวคริสต์อีกวันหนึ่ง นั่นก็คือ All Saints Day หรือ ‘วันนักบุญทั้งหลาย’
ในศตวรรษที่ 7 สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟซ ที่ 4 (Pope Boniface IV) ทรงกำหนดให้มีวันสำคัญชื่อ All Saints Day ขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม เพื่อสมโภชนักบุญและเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ
100 ปีต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรี ที่ 3 (Pope Gregory III) ทรงย้ายการฉลอง All Saints Day จากวันที่ 13 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี
ดังนั้นในตอนกลางคืนของวันที่ 31 ตุลาคม ชาวคริสต์เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่วิญญาณได้รับการปลดปล่อยให้ขึ้นมาบนโลก และเรียกวันนี้ว่า All Hallows’ Eve (คืนก่อนวันศักดิ์สิทธิ์) เพี้ยนเสียงให้ง่ายขึ้นเป็น Halloween
เมื่อเชื่อว่ามีวิญญาณขึ้นมาบนโลก ชาวเคลท์ส (Celts ชาวคริสเตียนทางตอนเหนือของอังกฤษ) กลัววิญญาณจะทำร้าย จึงพากันแต่งกายเลียนแบบภูติผี ลวงว่าเป็นพวกเดียวกัน เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากวิญญาณต่างๆ
หลังมีการย้ายถิ่นฐานของชาวเคลท์เข้าไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันการแต่งกายเลียนแบบภูติผีในวันฮาโลวีน กลายเป็นธรรมเนียมนิยมหนึ่งสำหรับชาวตะวันตกผู้นับถือศาสนาคริสต์ และเป็นงานรื่นเริงในหลายประเทศ
Halloween Costumes แรงบันดาลใจจากภาพวาดจิตรกรชื่อดังของโลก
การแต่งกายเลียนแบบภูติผีในวันฮัลโลวีนนิยมแต่งกายเลียนแบบภูติผีปีศาจในหนังสยองขวัญแต่สำหรับ คนรักงานศิลปะ มีการแต่งกายเลียนแบบผลงานศิลปะของ ศิลปินนักวาดภาพ ที่ชื่นชอบด้วยเหมือนกัน ได้ทั้งอารมณ์หวาดกลัว สยอง ความรัก และสะท้องสังคม
อ่านข่าว : 31 ตุลาคม “วันฮาโลวีน” กับความเชื่อเรื่อง “โลกหลังความตาย”
10 ศิลปินระดับโลกที่ผลงานศิลปะมักได้รับการนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ Halloween Costume
ภาพ Self Portrait ต้นแบบ Halloween costume
1 : วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh)
วินเซนต์ แวน โก๊ะ เป็นจิตรกรชาวดัตช์ ผู้บุกเบิกศิลปะแนวไม่เลียนแบบสิ่งที่เป็นจริง (Post Impressionism) มีชีวิตอันแสนหม่นหมองตลอดระยะเวลาแห่งการสร้างสรรค์งานศิลปะกว่า 2,000 ชิ้น ขายผลงานได้ไม่กี่ชิ้นตอนมีชีวิตอยู่ บันทึกบางฉบับระบุว่าเขาขายผลงานได้เพียงชิ้นเดียวจนกระทั่งเสียชีวิตในวัย 37 ปี (ค.ศ.1890)
ผลงานศิลปะของวินเซนต์ได้รับการยกย่องหลังเขาเสียชีวิต กลายเป็นงานศิลปะที่นักสะสมต้องการ บางชิ้นมีราคาสูงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ทั้งชีวประวัติและผลงานสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลัง
ภาพวาดที่มีชื่อเสียง อาทิ Starry Night, Sunflowers, The Starry Night over The Rhone, Irises, Self Portrait, The Potato Eaters, Almond Blossom คนรักศิลปะนิยมแต่งกายเลียนแบบผลงานที่มีชื่อเสียงของวินเซนต์
ภาพ The Scream
2 : เอ็ดวัด มุงก์ (Edvard Munch)
ศิลปินชาวนอร์เวย์ผู้โด่งดัง หนึ่งในศิลปินลัทธิสัญลักษณ์นิยม (Symbolism) มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1863-1944 เป็นทั้งจิตรกร ช่างฝีมือภาพพิมพ์ไม้ ภาพพิมพ์หิน ภาพพิมพ์กัดกรด ได้รับการยกย่องให้เป็นคนสำคัญในการพัฒนาลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ในเยอรมนีและยุโรปกลาง
ผลงานของ เอ็ดวัด มุงก์ สะท้อนความทุกข์ยากและความขัดแย้งต่างๆ ในชีวิต ความทรงจำอันโหดร้ายในวัยเด็ก ความเลวร้ายของชีวิต
มุงก์สร้างผลงานไว้มากมาย ผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือ The Scream (เสียงกรีดร้อง) มีด้วยกัน 4 ชิ้น เป็นงานจิตรกรรม 3 ชิ้น เขียนในปี 1893, 1895 และ 1910 กับงานภาพพิมพ์หิน 1 ชิ้นในปี 1895
ภาพ The Scream ที่เขียนในปี 1895 ขายไปในงานประมูลภาพเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2012 ด้วยราคา 119,922,500 ดอลลาร์
มุงก์เขียนคำอธิบายภาพนี้ครั้งแรกในปี 1893 ไว้ว่า “ขณะที่ผมเดินอยู่บนท้องถนนกับเพื่อนทั้งสองในเวลาพระอาทิตย์อัสดง ทันใดนั้นท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดงดุจเลือด ผมหยุดนิ่งและโน้มตัวเข้ากับขอบรั้ว รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยที่ไม่อาจบรรยายได้ เปลวเพลิงสีเลือดทอดข้ามฟยอร์ดสีดำ เพื่อนผมยังคงเดินต่อไป ผมยังคงอยู่เบื้องหลัง สั่นสะท้านด้วยความกลัว ทันใดนั้นผมก็ได้ยินเสียงกรีดร้องอันไม่มีที่สิ้นสุดของธรรมชาติ”
ภาพ St Sebastian
3 : เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ (Peter Paul Rubens)
รือเบินส์เป็นจิตรกรชาวเฟลมิชที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 17 เกิดในดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน ตอนนี้คือประเทศเบลเยียม มีพรสวรรค์ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภาพเขียนแบบบาโรก (Baroque) ที่เน้นการสื่ออารมณ์ ลายเส้นสีสันมีความอลังการงานสร้าง วาดสิ่งมีชีวิตราวมีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ ผู้ชมรู้สึกไปกับภาพ
รือเบินส์สร้างสรรค์ผลงานจำนวนมาก ทั้งแนวศาสนา ตำนานประวัติศาสตร์ ภาพเหมือนบุคคล ฉากการล่าสัตว์ ผลงานที่มีชื่อเสียง อาทิ Samson and Delilah, St Sebastian, The Triumph of Juliers, Anne of Austria, Assumption of the Virgin, The Head of Medusa
การนำภาพเหมือนบุคคลของรือเบินส์มาเป็นต้นแบบชุดฮาโลวีนง่ายมาก คือแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและองค์ประกอบที่คล้ายในภาพวาด เพียงแต่ว่าคุณอาจต้องเปิดเผยเนื้อตัวบ้างสักหน่อย
ภาพ The Kiss
4 : กุสทัฟ คลิมท์ (Gustav Klimt)
กุสทัฟ คลิมท์ จิตรกรและมัณฑนากรหัวก้าวหน้าชาวออสเตรียในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะแนวใหม่กำลังงอกงามในยุโรป ผลงานของเขาแสดงให้เห็นจุดเหลื่อมระหว่าง ‘ศิลปะประยุกต์’ ที่สร้างเพื่อการตกแต่ง กับ ‘งานวิจิตรศิลป์’ ที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเสนอสาระและคุณค่าในตัวชิ้นงาน โดยเฉพาะผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันปิดทองบนผ้าใบ
ผลงานที่มีชื่อเสียง อาทิ The Kiss, Portrait of Adele Bloch-Bauer, The Tree of Life Stoclet Frieze, Death and Life, Judith and the Head of Holofernes
ภาพ The Persistence of Memory
5 : ซัลบาโด ดาลี (Salvador Dali)
คนไทยมักออกเสียง’ ซัลวาดอร์ ดาลี’ ศิลปินชาวสเปนผู้มีบรรดาศักดิ์เป็น Marques (มาร์ควิส) มีชื่อเสียงจากผลงานภาพวาดแนวเหนือจริง (Surrealism)
ผลงานที่มีชื่อเสียง อาทิ The Persistence of Memory (ความทรงจำอันตราตรึง) ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบรูปนาฬิกาพกอ่อนตัว หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘นาฬิกานิ่ม’ และ ‘นาฬิกาละลาย’
นักประวัติศาสตร์ศิลป์วิเคราะห์ว่า นาฬิกานิ่มเป็นสัญญะทางจิตใต้สำนึกของเวลาและอวกาศ ดาลีอาจครุ่นคิดถึงกานล่มสลายของกฎเกณฑ์จักรวาล
แต่ดาลีเคยให้ตอบนักเคมีเชิงฟิสิกส์ที่เคยพยายามโยงภาพนี้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์ ว่าแรงบันดาลใจของนาฬิกาเหลว มาจากการสังเกตเนยแข็งกาม็องแบร์ละลายเมื่อถูกแสงแดดเท่านั้นเอง
ภาพ Portrait
6 : ปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso)
บุคคลที่นิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์มากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ปิกาโซเกิดที่ประเทศสเปน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1881-1973 ฉายแววจิตรกรเอกตั้งแต่วัยเด็กเริ่มหัดพูด ด้วยการพูดคำว่า “ปิซ ปิซ” ได้เป็นคำแรก แทนที่จะพูดคำว่า “แม่” ปิซมาจากคำว่า ลาปิซ ในภาษาสเปนแปลว่า ‘ดินสอ’
วันเกิดอายุ 6 ขวบ ปิกาโซได้รับของขวัญวันเกิดจากพ่อเป็นพู่กัน วันหนึ่งขณะพ่อของเขาวาดภาพนกพิราบแล้วเดินออกจากห้องไปทำธุระ ปิกาโซได้วาดภาพนกพิราบต่อจนเสร็จ เมื่อพ่อกลับเข้ามาพบว่านกพิราบที่วาดค้างไว้ได้รับการวาดเสร็จสมบูรณ์และสวยงาม
เมื่อเริ่มต้นอาชีพศิลปิน ภาพวาดของปิกาโซเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแต่ยังคงความเอกลักษณ์ทั้งการใช้สี งานโครงสร้าง งานเหนือจริง โดยเฉพาะรูปแบบของบาศกนิยม (Cubism) ศิลปะที่ได้รับผลสะท้อนมาจากอิทธิพลด้านความเจริญของวิทยาศาสตร์ และจากลักษณะรูปแบบของหน้ากากชนเผ่าในแอฟริกา เมื่อผสมผสานกันแล้ว ทำให้เกิดภาพวาดที่มีมิติของความแปลกตาและมีเอกลักษณ์
ภาพ Mona Lisa
7 : เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
ดา วินชี ได้ชื่อว่าเป็นผู้รอบรู้ชาวอิตาเลียนแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาชั้นสูง (High Renaissance) เป็นทั้งจิตรกร วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักกายวิภาคศาสตร์ นักเรขาคณิต นักทฤษฎี ประติมากรและสถาปนิก มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1452-1519
แต่ชื่อเสียงโดยทั่วไปประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘จิตรกร’ ผู้สร้างภาพเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศิลปะตะวันตก อาทิ The Last Supper ภาพเหตุการณ์พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูและอัครสาวก เขียนขึ้นในปี 1495-1497 ด้วยเทคนิคบนผนังปูนเปียก, Vitruvian Man ลายเส้นภาพวาดสัดส่วนร่างกายมนุษย์ เขียนขึ้นในปี 1490 โดยอ้างอิงจากผลงานของสถาปนิกชาวโรมันโบราณนามวิตรูวิอุส
โดยเฉพาะภาพวาดสีน้ำมัน โมนา ลิซา (Mona Lisa) เป็นที่ร่ำลือในฐานะภาพของสุภาพสตรีที่มีรอยยิ้มอันเป็นปริศนา ไม่รู้แน่ว่าสตรีในภาพจะยิ้ม หัวเราะ หรือร้องไห้ ภาพนี้เขียนขึ้นในปี 1503-1507 แถมยังได้รับการตั้งชื่อหลัง ดา วินชี เสียชีวิตไปแล้ว 31 ปี โดยศิลปินและนักชีวประวัติชาวอิตาเลียนที่ได้ศึกษาภาพเขียนนี้
ภาพ "Oh, Jeff...I love you, too..but.."
8 : รอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein)
ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอเมริกัน เกิดในนิวยอร์ก มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1923-1997 งานของลิกเทนสไตน์เป็นการนิยามสมมติฐานเบื้องต้นมากกว่าการล้อเลียน งานส่วนมากได้รับแรงบันดาลใจหลักมาจากบทในการ์ตูน งานโฆษณาที่โด่งดัง แม้กระทั่งกระดาษห่อหมากฝรั่ง
ในความคิดของลิกเทนสไตน์ เขาเคยกล่าวว่า “ป๊อปอาร์ตไม่ใช่ภาพเขียนแนวอเมริกัน แต่เป็นภาพเขียนแนวอุตสาหกรรม”
ปี 1961 หอศิปล์เลโอ กัสเตลลี ติดต่อลิกเทนสไตน์ให้จัดแสดงผลงาน และถือเป็นศิลปินคนแรกที่ได้จัดงานแสดงเดี่ยวที่หอศิลป์แห่งนี้ ผลงานทั้งหมดถูกซื้อไปโดยนักสะสมตั้งแต่ก่อนงานเปิดแสดง
ตัวละครในภาพวาดแนวป๊อปอาร์ตของลิกเทนสไตน์ที่มีคาแรคเดอร์แบบการ์ตูน เป็นอีกหนึ่งต้นแบบในการคิดเครื่องแต่งกายวันฮัลโลวีนยอดนิยมอีกแบบหนึ่ง
แต่งกายเลียนแบบภาพกราฟฟิตี้ Men Holding Heart
9 : คีธ แฮริง (Keith Haring)
คีธเป็นศิลปินแนวป๊อปอาร์ตชาวอเมริกัน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1958-1990 งานศิลปะแนวป๊อปอาร์ตของเขาทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อยที่เรียกว่างาน กราฟฟิตี้ (graffiti) ในนิวยอร์ก
ทศวรรษปี 1980 งานกราฟฟิตี้ของเขากลายเป็น ‘ภาษาภาพ’ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปินกราฟฟิตี้รุ่นใหม่
ผลงานส่วนใหญ่ของเขารวมถึงการพูดเป็นนัยทางเพศ่ กลายเป็น ‘การเคลื่อนไหวทางสังคม’ โดยใช้ภาพรณรงค์ทางการเมืองและสังคม อาทิ ลดอาวุธนิวเคลียร์ ต่อต้านความแตกร้าว-การใช้ความรุนแรงในสังคม ลดการแบ่งแยกสีผิว สนับสนุนความรักของคนเพศเดียวกัน การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย กระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องโรคเอดส์
หนึ่งในผลงานที่เป็นสัญลักษณ์ของเขาคือ Men Holding Heart ลายเส้นรูปคน 2 คน กำลังประคองหัวใจสีแดงตัดขอบด้วยเส้นสีดำหนา ภาพนี้คีธต้องการสื่อถึงความศรัทธาในตัวมนุษย์และพลังแห่งความรัก ขณะที่เส้นสีดำหนาเป็นตัวแทนของพลังงานและการขับเคลื่อน
(จากแถวบนสุด) ภาพ Nola, ภาพ Bomb Hugger, ภาพ Caveman with Junk Food
10 : Banksy (แบงค์ซี)
ชื่อนี้เป็น ‘ฉายา’ ของศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังชาวอังกฤษที่ใช้ในวงการกราฟฟิตี้ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรณรงค์เพื่อให้เกิดสันติภาพ ต่อต้านทั้งสงครามและทุนนิยม เรียกร้องอิสรภาพเสรีภาพ สะท้อนปัญหาสังคม
ศิลปินเลือกปกปิดชื่อจริงและไม่แสดงตัวตน แต
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนเคยสัมภาษณ์ Banksy ในปี 2003 บรรยายบุคลิก Banksy ว่าผิวขาว อายุ 28 ปี สวมกางเกงยีนส์เก่าๆ กับโซ่เงินและเสื้อยืด ใส่ต่างหูเงิน เลี่ยมฟันด้วยเงิน และใช้คำสรรพนามว่า ‘เขา’
งานกราฟฟิตี้ของ Banksy แม้เสียดสีอยู่ในที แต่ก็แฝงอารมณ์ขันจนโกรธไม่ลง นี่เองที่ทำให้งานของเขามีเอกลักษณ์ ทรงพลัง และเป็นที่น่าจับตา
สัญลักษณ์ในงานที่ใช้บ่อยคือภาพตำรวจ ทหาร สตรี เด็ก ลิง หนู เช่น ภาพ Nola บางทีก็เรียกกันว่า Umbrella Girl ภาพนี้ปรากฏครั้งแรกปี 2008 บนถนนในเมืองๆ หนึ่งใกล้นิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยส์เซียนาสามปีหลังโศกนาฏกรรมเฮอริเคนแคทรีนา ภาพเด็กผู้หญิงกางร่ม หยาดฝนไม่ได้ตกภายนอก แต่ตกภายในร่มที่เธอกาง สื่อความหมายว่าสิ่งที่เด็กหวังว่าจะใช้ปกป้องตัวเองได้ กลับพึ่งพาไม่ได้
* * * * *
credit photos: art-sheep.com และ sartle.com