‘ร่างทรง - ผีเข้า’ และ ‘เฒ่าจ้ำ’ ความเหมือนและความต่าง

‘ร่างทรง - ผีเข้า’ และ ‘เฒ่าจ้ำ’ ความเหมือนและความต่าง

ความเชื่อเรื่อง “ผี” ไม่ได้มีแค่ในสังคมไทย คนโบราณในแทบทุกสังคมเชื่อเรื่อง “ชีวิตหลังความตาย” คนที่อยู่บางคนก็อยากติดต่อกับคนที่ตายไปแล้ว จึงต้องพึ่ง “ร่างทรง” และ “เฒ่าจ้ำ” เพื่อเป็นตัวเชื่อมให้สื่อสารกันได้

ในฐานะครูผู้สอนและผู้ผลิตภาพยนตร์ และศึกษาเรื่อง บริบทความเชื่อเรื่อง เฒ่าจ้ำ ในวัฒนธรรมอีสาน รศ.ดร.ปรีชา สาคร ภาควิชานิเทศศาสตร์ แผนกภาพยนตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความเห็นถึง สิ่งลี้ลับ เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือพลังที่มองไม่เห็นที่เราเรียกว่า “ผี” และแจกแจงความเหมือนและความต่างของวิญญาณเมื่อชีวิตลาโลกนี้ไปแล้ว

‘ร่างทรง - ผีเข้า’ และ ‘เฒ่าจ้ำ’ ความเหมือนและความต่าง     รศ.ดร.ปรีชา สาคร

“ร่างทรง” อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะภาคอีสาน

"ใช่ครับ ผมขอพูดเรื่อง ผีในสังคมอีสาน ก่อนนะครับ ในวัฒนธรรมของคนไทยบางเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ หรืออธิบายไม่ได้ หรือมองว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติคนจะมองว่าคือ “ผี” ทีนี้การจะเชื่อมต่อระหว่างคนกับผีที่เราสื่อสารถึงเขาไม่ได้ เราจึงต้องมีตัวกลางนั่นคือ ร่างทรง ต้องอธิบายก่อนว่า จริง ๆ คนกับผีไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ในบริบทของสังคมอีสาน เพราะเป็นสิ่งลี้ลับ ในสังคมคนอีสานจึงไปหาตัวเชื่อมเพื่อเป็นตัวกลางติดต่อระหว่างคนกับผี คือ “ร่างทรง” โดยเฉพาะ ผีดี นะครับ"

ความเชื่อของคนไทยคือมี “ผีดี” และ “ผีร้าย”

"เราเชื่อกันว่าผี 2 ลักษณะคือ ผีดี กับ ผีร้าย พวกผีร้ายเรารู้จักกันอยู่แล้ว เช่น ผีปอบ กระสือ ผีต่าง ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกกลัว รู้สึกเหมือนถูกคุกคาม หรือทำให้เรารู้สึกไม่ดี ส่วน ผีดี ก็มีนะครับ เช่น ผีปู่ย่า ในสังคมอีสานจะเรียกว่า ผีปู่ตา คือผีย่าผียายผีปู่ ที่ช่วยปกปักรักษาผีมเหสักข์เหล่านี้"

ความหมายของคำว่า “ร่างทรง” ในวัฒนธรรมอีสานคืออะไร

"ร่างทรง มองในบริบทของคนภาคกลางมากกว่า ในมุมมองของผมนะ แต่ถ้าคนอีสาน คำว่า "ร่างทรง" มีฐานะเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนกับผีใน วัฒนธรรมปู่ตา คน ๆ นั้นเรียกว่า เฒ่าจ้ำ, ตาจ้ำ, จ้ำ ในมุมมองของคนภาคกลางหรือสังคมอื่นจะมองว่าคน ๆ นี้คือ ร่างทรง แต่คนอีสานมองว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างผีกับคน คือผีปู่ย่า

 ขอเล่าย้อนกลับสู่สังคมคนอีสานสมัยก่อน คนจะไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่จะมีการขอเจ้าที่เจ้าทาง ก่อนจะปลูกบ้านสร้างหมู่บ้านก็จะปลูกศาลเล็ก ๆ ไว้ในหมู่บ้าน ศาลนั้นเรียกว่า ศาลปู่ตา ซึ่งศาลนี้จะเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้คนในชุมชนมากราบไหว้ ดังนั้นจึงต้องมี ตัวเชื่อมต่อ ระหว่างผีปู่ย่ากับคน เรียกว่า เฒ่าจ้ำ และคนที่เป็นเฒ่าจ้ำจะต้องเป็นคนที่มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ เป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน"

‘ร่างทรง - ผีเข้า’ และ ‘เฒ่าจ้ำ’ ความเหมือนและความต่าง

ถ้าเช่นนั้น “เฒ่าจ้ำ” ก็คือ “ร่างทรง” อีกแบบหนึ่ง

"ในสังคมอีสาน เฒ่าจ้ำ เป็นคนที่น่าเคารพนับถือมาก ๆ มีคุณลักษณะเพียบพร้อมที่จะทำให้คนในหมู่บ้านเคารพนับถือ แต่พอใช้คำว่า “ร่างทรง” จะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่มองว่ามีความเร้นลับน่ากลัวอยู่ เฒ่าจ้ำ จึงมีมุมมองที่แตกต่างจากคำว่าร่างทรง ในขณะที่เฒ่าจ้ำ มีความเป็นขาวมาก ๆ เป็นคนที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ร่างทรงจะเป็นสีเทา ๆ ไปจนถึงมืด

ดูเผิน ๆ มองว่าเกือบจะคล้ายกัน แต่ผมมองว่าร่างทรงจะเป็นเหมือนองค์หรือผีมาประทับในตัว แล้วก็บอกหรือเล่าเรื่องราวในสิ่งที่คนมาขอ เช่น ชาวบ้านมาขอมาให้ทำโน่นนี่ หรือช่วยหาคนให้หน่อย หรือช่วยหาของที่หายไป

แต่เฒ่าจ้ำเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนในชุมชนมีความสุขมากกว่า เช่น ขอให้สอบเรียนต่อได้ ทำให้เกิดความสุขทางใจว่า มีผีปู่ตามาปกปักรักษา ทำให้เราไม่เครียดจากการทำงาน จากการสอบ เพราะว่าผีอยู่กับเรามาช่วยเรา"

ทุกวันนี้ยังมีเฒ่าจ้ำอยู่

"มีในสังคมอีสาน เปรียบเสมือนคนที่เชื่อมต่อระหว่างผีปู่ย่ากับชาวบ้าน เพราะสังคมอีสานจะมีการเลี้ยงผี 2 ครั้ง เรียกว่า เลี้ยงขึ้น กับ เลี้ยงลง เลี้ยงขึ้น คือเลี้ยงก่อนที่จะเพาะปลูก ช่วงต้นฤดูฝน เลี้ยงขอให้พืชผลสมบูรณ์ดี นาข้าวสมบูรณ์ ช่วงฤดูก่อนจะทำการเกษตร อีกอย่างคือ เลี้ยงลง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะเลี้ยงขอบคุณ"

ร่างทรงและเฒ่าจ้ำ ไม่เหมือนกันแน่นอน

"คนละมุมกันเลย ต่างกันเยอะมาก แต่คือคนที่เกี่ยวข้องกับผีนั่นแหละ หากมุมมองของคนอีสานจะมองว่าเฒ่าจ้ำ หรือตาจ้ำ เป็นคนที่เชื่อมต่อคนกับผี จะขอกับผีโดยตรงไม่ได้จะต้องให้เฒ่าจ้ำมาทำพิธี  ส่วนร่างทรง ผมกลับมองว่า คนอีสานไม่ได้อินกับคำว่าร่างทรง หมายถึงเป็นร่างทรงจะไปตั้งสำนักที่ไหนก็ได้ อยู่บ้านก็ได้ แต่สังคมอีสานถ้าจะขออะไรต้องไปที่ศาลปู่ย่าเท่านั้น แต่ละหมู่บ้านจะมีศาลตั้งอยู่ อีกอย่างผมมองว่าในวัฒนธรรมปู่ตา จะมีการเลี้ยงผี (ขึ้นกับลง) ชาวบ้านทุกคนต้องไปเลี้ยงผีร่วมกัน แสดงถึงความสมัครสมานสามัคคี"

ปัจจุบันยังมีพิธี “เลี้ยงขึ้น” และ “เลี้ยงลง” ในวัฒนธรรมอีสานอยู่

"มีทุกหมู่บ้าน เป็นพิธีกรรมที่ไม่ได้น่ากลัวเลย เหมือนงานเลี้ยงปกติ เหมือนถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัด แต่มองไม่เห็นตัว เป็นความเชื่อที่ทำให้ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน สามัคคีกัน เอาอาหารมาถวายผี จากนั้นก็กินเลี้ยงกันแล้วนำอาหารกลับบ้านหรือแจกจ่ายชาวบ้านที่มาร่วมพิธี ทำพิธีกันที่ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้านเท่านั้น ที่ตั้งศาลก็เป็นป่าในหมู่บ้านนั้น เป็นอุบายคือพอศาลไปตั้งในป่า ชุมชนก็จะมีกฎหลายข้อ เช่น ห้ามไปตัดไม้ในป่า ห้ามประพฤติไม่ดีกับป่า ตรงที่มีศาลปู่ตา เพราะเดี๋ยวปู่ตาจะมาทำร้าย ความเชื่อนี้เป็นมุมมองที่ดีและแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชุมชน"

‘ร่างทรง - ผีเข้า’ และ ‘เฒ่าจ้ำ’ ความเหมือนและความต่าง     (ภาพ: Pixabay)

สองคำนี้จึงแยกจากกันโดยสิ้นเชิง

"ผมมองว่า ร่างทรง ดูเป็นมุมลบมากกว่า เป็นอะไรที่ติดต่อกับผี ผีบางตัวอาจมาเข้าสิงคน ๆ นี้แล้วใครต้องการอะไรก็มาถามแล้วผีจะบอก ความหมายเหมือนจะซ้อนทับกัน แต่คนอีสานจะเข้าใจกันหมดทุกคนว่า เฒ่าจ้ำคือจ้ำ ร่างทรงคือร่างทรง คนละส่วนกัน แต่ทุกวันนี้คนมีความทุกข์บางคนจะไปหาร่างทรง ในขณะที่ผีปู่ตาไม่ได้ช่วยอะไรแต่ทำให้จิตใจดีขึ้น ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ ช่วยให้คนมีกำลังใจ ด้วยสังคมอีสานมีความเชื่อว่าผีปู่ย่าปกปัก ผีพ่อแม่ บรรพบุรุษ เขาดูแลเราอยู่แล้ว คนอีสานมีความเชื่อเรื่องนั้นจากใจเลยว่า ถ้าเราไปไหว้ผีนะ ผีจะช่วยเรา"

ส่วนคำว่า “ผีเข้า” คนก็ยังเชื่ออยู่

"คำนี้คือแง่ลบเลย ในสังคมอีสานยังมีความเชื่อเหล่านี้อยู่ เช่น รำผีฟ้า ของชาวภูไท คือร่างทรงนั่นแหละ ชาวภูไทก็มีผีปู่ตาเหมือนกัน หรือ ผีปอบ ตอนเด็ก ๆ ผมเห็นคนถูกผีปอบเข้าตาก็จะขวางมาเลย ทำยังไงให้ผีออกก็พาไปหาพระ ท่านก็จะพ่นน้ำมนต์ให้ หรือมีพวกหมอผีมาปราบผี แม้ทุกวันนี้จะอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ว่า อาจเป็นโรคเกี่ยวกับจิตบางอย่าง แต่ผีปอบก็ไม่ไปทำร้ายใคร แค่ตาขวาง หันรีหันขวาง เมื่อพาไปหาพระผีก็ออก พอถามเขาจะบอกว่าไม่รู้สึกตัวจำไม่ได้ รู้แค่ว่ารู้สึกวูบ ๆ

บางสิ่งที่เหนือคำอธิบาย ไม่มีคำตอบชัดเจน เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ คนอีสานจะมองว่าน่าจะเป็นผี ซึ่งการมองอย่างนี้บางทีก็ทำให้จิตใจดีขึ้น เช่น ไปถามร่างทรงเขาก็บอกโน่นนี่ หรือไปถามว่าคนที่อยู่กับเราแล้วอยู่ดี ๆ หายไปไหน ร่างทรงตอบว่าเขายังมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยก็หล่อเลี้ยงหัวใจ หรือบอกว่าเสียชีวิตแล้ว อีกมุมหนึ่งคนไปถามก็คิดได้ว่าอย่างน้อยเขาก็ตายไปแล้ว อย่าไปกังวลมาก ช่วยด้านจิตใจได้เหมือนกัน"

‘ร่างทรง - ผีเข้า’ และ ‘เฒ่าจ้ำ’ ความเหมือนและความต่าง   รศ.ดร.ปรีชา สาคร

ร่างทรง ผีเข้า เฒ่าจ้ำ จะยังอยู่ในสังคมไทยแม้เวลาผ่านไป...

"ผมว่าไม่หายไปไหน ตราบใดที่มนุษย์ยังหาคำตอบกับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการที่พึ่งทางใจ แม้ปัจจุบันเราจะอธิบายว่าผีปอบไม่มี กระสือก็ไม่มี แต่ก็มีข่าวเช่น ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านนี้เสียชีวิตติดต่อกัน ชาวบ้านบอกว่าเพราะผีปอบ ผมว่ามีคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว อาจทำงานหนักเกินไปหรือใช้ยาบางอย่างทำให้เสียชีวิต แต่พอคำตอบเหล่านี้ไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนนัก เช่น หัวใจวาย หลับไปเลย หรือไหลตาย พอไม่มีคำตอบชัด ๆ ก็คิดว่าอาจเป็นผีมากระทำ

แต่ในสังคมไทยจะแยกผีดีกับผีไม่ดี  ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งก็เหมือนงานวิจัย หากในบริบทของคนอีสาน ร่างทรง เฒ่าจ้ำ กับผีเข้า คนละอย่างกันเลย

มีคำ ๆ หนึ่งจากงานวิจัยของ รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ ท่านเคยได้รางวัลลูกโลกสีเขียว ผมเคยเป็นผู้ช่วยนักวิจัยของอาจารย์สมัยท่านยังไม่เกษียณ ท่านวิจัยเกี่ยวกับป่าชุมชน มีคำพูดหนึ่งที่โดดเด่นมาก ท่านบอกว่า

เมื่อคนเลี้ยงผี แล้วผีจะเลี้ยงคน คือเลี้ยงผีปู่ตา เอาผีปู่ตามาอยู่ในหัวใจตัวเองแล้วเชื่อมั่นว่าผีปู่ตาคือสิ่งที่ดีงาม สามารถมาช่วยเราได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ช่วยหรอกแต่เป็นที่พึ่งทางใจให้เรา ในที่นี้คือใช้ความเชื่อเรื่องผีปู่ตามาบริหารจัดการป่า ในป่ามีทรัพยากร เป็นธนาคาร เป็นตลาดให้เรา ท่านพูดชัดเจนมาก ผมมองว่าคนละอย่างกับร่างทรงเลย และคนละอย่างกับผีเข้าด้วย”