"สถานีรถไฟหัวลำโพง" แม้จะอาลัย แต่ยังไม่อำลา

"สถานีรถไฟหัวลำโพง" แม้จะอาลัย แต่ยังไม่อำลา

แม้จะขีดเส้นว่า เดือนพฤศจิกายน 64 "สถานีรถไฟหัวลำโพง" จะปิดบริการอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง และบางเส้นทางยังไม่เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ในทางปฏิบัติจึงยากที่จะดำเนินการ

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนที่จะพลิกโฉม สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) อายุ 105 ปี ให้เป็นย่านการค้าพาณิชยกรรมแห่งใหม่ 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในการประชุมติดตามนโยบาย แนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางรถไฟ บางซื่อ-หัวลำโพง เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ว่า

“กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลดบทบาทลง

แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในอนาคต) จึงควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

\"สถานีรถไฟหัวลำโพง\" แม้จะอาลัย แต่ยังไม่อำลา สถานีรถไฟหัวลำโพง

“หัวลำโพง” ยังมีรถไฟวิ่งอยู่

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า นโยบายของ รมว.คมนาคม คือ หลังเปิดสถานีกลางบางซื่อในเดือน พ.ย. 2564 จะปิดให้บริการที่สถานีหัวลำโพง ตามหลักการจะไม่มีรถโดยสารเข้าไปถึงสถานีหัวลำโพงเดือน พ.ย. 2564

แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องโรงซ่อม การเติมน้ำมันรถจักร ที่ยังต้องเข้ามาที่สถานีหัวลำโพง จะปรับเวลาให้เข้ามาได้ช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรบริเวณจุดตัดกับถนนตามนโยบาย

ในเบื้องต้น รถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ สามารถปรับแผนการเดินรถเข้าสถานีกลางบางซื่อได้ ส่วนเส้นทางสายตะวันออกยังมีปัญหาเล็กน้อย เนื่องจากเส้นทางยังไม่เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ ประเมินว่ามีผู้โดยสารได้รับผลกระทบประมาณ 3,000 คน/วัน

\"สถานีรถไฟหัวลำโพง\" แม้จะอาลัย แต่ยังไม่อำลา สถานีรถไฟหัวลำโพง

หยุดให้บริการ 23 ธันวาคม 64

ล่าสุด รฟท. แจ้งว่า วันที่ 23 ธ.ค.นี้ รฟท.จะหยุดให้บริการเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) จะให้บริการสถานีสุดท้ายที่สถานีกลางบางซื่อ ส่งผลให้ขบวนรถไฟชานเมือง, รถไฟทางไกล 155 ขบวน ในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ปรับลดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวนต่อวัน

โดยขบวนรถไฟสายเหนือ, สายอีสาน 74 ขบวน (รถไฟสายเหนือต้นทางเชียงใหม่, สายอีสานต้นทางหนองคาย,อุบลราชธานี) จะวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ 42 ขบวนต่อวัน

ส่วนรถไฟชานเมืองสายเหนือ,สายอีสาน 14 ขบวนต่อวัน ให้ผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้สถานีรังสิต,สถานีดอนเมืองเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดงเพื่อเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ

ขบวนรถไฟชานเมืองสายเหนือ 2 ขบวนต่อวัน วิ่งบนโครงสร้างสายสีแดงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ รถไฟชานเมืองสายเหนือ,สายอีสาน 6 ขบวนต่อวัน วิ่งบนโครงสร้างสายสีแดงรังสิต-วัดเสมียนนารี ใช้ทางรถไฟเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิมและเข้าสู่สถานีหัวลำโพง

รถไฟสายใต้ มีสถานีตลิ่งชันเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร 62 ขบวน (ขบวนรถเร็ว, รถด่วน, รถด่วนพิเศษ) 24 ขบวนต่อวัน ใช้เส้นทางเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิม รถไฟชานเมืองจากสุพรรณบุรีและนครปฐม 2 ขบวนต่อวัน วิ่งเข้าสถานีหัวลำโพง

รถไฟชานเมือง เข้าสถานีธนบุรี ใช้สถานีตลิ่งชันของสายสีแดงเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร 2 ขบวนต่อวัน และมีขบวนรถวิ่ง Loop เส้นทางสถานีธนบุรี-ศาลายา-มหิดล-นครปฐม 24 ขบวนต่อวัน

รถไฟสายตะวันออก ยกเลิก 7 ขบวนที่เดินรถจากสถานีบางซื่อเข้าพื้นที่ชั้นใน ปรับตารางเดินรถ 19 ขบวน รถไฟธรรมดาชานเมือง 14 ขบวนต่อวันเข้าสถานีหัวลำโพง รถไฟธรรมดาชานเมือง 5 ขบวนต่อวัน ปรับวิ่งถึงสถานีมักกะสัน เป็นจุดเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์

\"สถานีรถไฟหัวลำโพง\" แม้จะอาลัย แต่ยังไม่อำลา สถานีรถไฟหัวลำโพง

เปิดแผนพัฒนาหัวลำโพง

โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นแผนดำเนินงานระยะยาวของ รฟท.ที่มุ่งสร้างรายได้จากที่ดินที่มีอยู่เพื่อจัดการกับหนี้ของ รฟท.ที่มีอยู่ถึงหลักแสนล้านบาท

การพลิกฟื้น ‘หัวลำโพง’ จึงเป็นความคาดหวังของหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่า การท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ การค้าการลงทุน และการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ต่อไป โดยมีแนวทางว่า 

1.พัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้ รฟท.เร่งพิจารณาหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง)โดยเร็ว เพื่อความชัดเจนในการเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

2.ศึกษาการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง โดย บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อาจจะพิจารณาการออกแบบที่แตกต่างไปโดยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Land Developer) เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้มีแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้น

3.แนวทางการลงทุนของโครงการ รฟท.และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ควรพิจารณาแนวทางการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมากที่สุด

\"สถานีรถไฟหัวลำโพง\" แม้จะอาลัย แต่ยังไม่อำลา สถานีรถไฟหัวลำโพง ในแผนพัฒนาฯ

โฉมใหม่หัวลำโพงแบ่งเป็น 5 โซน

ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที เเอสเสท จำกัด กล่าวว่า ที่นี่จะเป็นขุมทองสร้างรายได้มหาศาลให้กับ รฟท. โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน

โซน A 16 ไร่ เป็นอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะ

โซน B 13 ไร่ มีแผนปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์

โซน C 22 ไร่ พื้นที่โรงซ่อมรถราง กำหนดเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม เน้นพื้นที่สีเขียว มีต้นแบบจากเวนิส อิตาลี

โซน D 49 ไร่ พื้นที่ชานชาลา,เส้นทางทางรถไฟ,ย่านสับเปลี่ยนการเดินรถ มีแผนพัฒนาเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า โดยยึดต้นแบบ โตเกียว มิดทาวน์

โซน E 20 ไร่ อาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุเดิม มีแผนพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม โดยยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

สำหรับแผนเดิมที่เคยศึกษาไว้เมื่อ ปี 2555-2556 ได้นำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ปรับแก้ผังเมืองเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน

หัวลำโพง มีพื้นที่ทั้งหมด 132 ไร่ เมื่อตัดพื้นที่อนุรักษ์ ที่ต้องขึ้นทะเบียนโบราณสถานออกแล้วจะเหลือ 120 ไร่ ตามผังเมือง พื้นที่อยู่ในเขตสีน้ำเงิน เป็นสถานที่ราชการ สาธารณูปโภค ไม่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ บริษัท เอสอาร์ที เเอสเสท จำกัด จึงทำเรื่องขออนุมัติปรับสีผังเมืองให้เป็นสีแดง เพื่อพัฒนาโครงการต่อไป

ในส่วนของ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่สาธารณะ จะมีการปรับปรุงอาคารสถาปัตยกรรมเดิมให้คงไว้ตามแนวทางอนุรักษ์ และปรับทัศนียภาพให้สวยงาม เพิ่ม พื้นที่สีเขียว พัฒนาทางจักรยานริมรางรถไฟ

โดยแผนการอยู่ในขั้นตอนปรับแบบให้มีความเหมาะสม คาดว่าจะได้เห็นแบบเสมือนจริงในเดือนธันวาคม