สถานการณ์อาหารทะเลในท้องตลาดประเทศไทย สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ถูกจับมาขายมากมาย เช่น ลูกปลาทูตัวเล็กๆ หรือไม่ก็ปูไข่ เนื่องจากการทำประมงแบบทำลายล้าง ไม่เลือกขนาด ตัวเล็กตัวใหญ่จับหมด ส่งผลให้ทรัพยากรในทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีน้อยลง ราคาก็สูงขึ้น
ประมงพื้นบ้าน รวมกลุ่มเรียกร้อง
“วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2564) พวกเราชาวทะเล เครือข่ายสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยลูกหลานชาวประมง ผู้ริเริ่มแคมเปญ “ซูเปอร์มาร์เก็ต: เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ” เอารายชื่อผู้ที่ลงชื่อสนับสนุนผ่าน เว็บไซต์ Change.org/BabySeafood จำนวน 12,602 ราย มายื่นให้ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้เลิกขายสัตว์น้ำวัยอ่อน
ถ้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั่วประเทศหลายพันสาขาเลิกขาย จะช่วยตัดวงจรคนจับและคนซื้อไปได้มหาศาล เพราะตอนนี้อาหารทะเลกำลังหมดไป จากการทำประมงแบบล้างผลาญ จับ สัตว์น้ำวัยอ่อน ขึ้นมาขาย ทำให้ไม่มีโอกาสเติบโตหรือสืบพันธุ์ ต่อไปทะเลก็จะไม่มีอาหารทะเล
บางซุปเปอร์มาร์เก็ต เรามีโอกาสพบผู้บริหารหรือตัวแทน มีการปรึกษาเบื้องต้นและได้รับสัญญาณที่ดี ในขณะที่บางแห่งเรายังไม่มีโอกาสได้เจอตัวแทนเพื่อหารือกัน ซึ่งเราหวังว่าแต่ละซูเปอร์มาร์เก็ตจะให้ความสำคัญเรื่องนี้ และร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในการดูแลทะเลไทยจริงๆ” วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เล่าถึงเหตุผลที่ชาว ประมงพื้นบ้าน กว่า 60 องค์กร มารวมตัวกันยื่นรายชื่อให้ฟัง
กลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่มายื่นรายชื่อ
วิงวอนเลิกขาย“สัตว์น้ำวัยอ่อน”
ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 8 ที่ได้รับการติดต่อร้องขอ ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, ซีพีเฟรชมาร์ท, บิ๊กซีท็อปส์, ฟู๊ดแลนด์, กูร์เมต์, วิลล่ามาร์เก็ต
โดยมี ธันวา เทศแย้ม และ กิตติเดช เทศแย้ม เยาวชนตัวแทนสมาคม ประมงพื้นบ้าน ทุ่งน้อย ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ริเริ่มแคมเปญ เป็นผู้ยื่นรายชื่อ
ทั้งสองคนตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันคนไทยหันมากินสัตว์ทะเลวัยอ่อนตัวเล็กที่ยังไม่ได้ขนาด อย่าง หมึกกระตอย, ปลาข้าวสาร, ปลาสายไหม, ปลาจาระเม็ด, ปูไข่ ที่วางขายกันทั่วไป โดยไม่รู้ว่า กำลังทำให้อาหารในทะเลไทยหายไปอย่างรวดเร็ว
บรรยากาศขณะยื่นรายชื่อ
ธันวา เล่าว่า เป็นชาวประมงมาเกือบสิบปียังไม่ร่ำรวย แต่ไม่อด ระยะหลังรู้สึกกังวลมากขึ้น
“อาชีพประมงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่หลายปีนี้อาจต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะจับอะไรไม่ค่อยได้ หมึกกับปลาทูที่เคยราคาถูก คนไม่รวยก็ซื้อกินได้ ตอนนี้ราคาแพง ต้องส่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ผู้บริโภคก็หาอาหารทะเลดีๆ กินยากขึ้น เพราะสัตว์ทะเล กำลังจะหมดแล้วจริงๆ”
กิตติเดช เสริมว่า ที่มาเรียกร้องกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะเราเห็นว่า เป็นตลาดใหญ่ในการขายสัตว์ทะเลวัยอ่อน เมื่อเทียบกับตลาดสด หรือร้านขายของฝาก
“ถ้าผู้บริหารซุปเปอร์มาร์เก็ตฟังเสียงเรา ร้านเล็กๆ ก็จะหันมาทำตาม เมื่อไม่มีคนรับซื้อสัตว์ทะเลวัยอ่อน ก็ไม่มีคนกิน ไม่มีคนจับมาขาย สัตว์ทะเลก็จะค่อยๆ เติบโต มีเวลาสืบพันธุ์ คนไทยก็จะมีอาหารทะเลดีๆ กิน ในราคาที่เข้าถึงได้ ในอนาคตก็ไม่ต้องกลัวอด เพราะสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ราคถูกลง ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์”
กลุ่มประมงพื้นบ้าน กับ 12,602 รายชื่อ
ไม่เคยมีนโยบาย"ประมงแบบยั่งยืน"
บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวในที่ประชุมสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทยครั้งที่ 8 วันที่ 22-23 พฤศกิจกายน 2564 ว่า รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายประมงสู่ความยั่งยืน
“ปัญหาประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน ไม่เคยถูกระบุหรือพูดถึงในนโยบายของรัฐบาล ไม่ต่างจากพี่น้องเกษตรกรอื่นๆ เช่น ชาวนา, ชาวสวนยาง สวนปาล์ม เวลามีปัญหา เขาจะหยิบยกมาเป็นเรื่องๆ เช่น เรื่องข้าว เรื่องยาง ก็ประกันราคาข้าว
วิกฤติทะเลไทย เกิดขึ้นเพราะ Over Fishing จากประมงอวนลาก ทำลายสัตว์ทะเลวัยอ่อน รัฐบาลแก้ปัญหาประมงไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ พอสหภาพยุโรป (EU) ประกาศให้ใบเหลืองไทย หลังจากมีปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) ปี 2558 คสช.ก็ประกาศแก้ปัญหา นี่ไม่ใช่นโยบายคสช. เป็นนโยบายที่ถูกกดดันโดยตลาดยุโรป
เราไม่เคยมีนโยบายที่ยั่งยืนจากอดีตสู่อนาคต ผมไปภูเก็ต สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ลูกปลาทู ยังขายเกลื่อน เรือที่จับปลาทูขึ้นมาเต็มรถกะบะ อวนลากตาถี่ๆ ขนาดนี้ มันควรจะหยุดไหม เรือปั่นไฟที่จับปลากระตัก เวลาติดปลาทูขึ้นมา คุณไม่ต้องรับผิดชอบใช่ไหม ระดับผู้นำของเราต้องสนใจปัญหา
เรากำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ นำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ทุกวันนี้ลูกปลาทูถูกฆ่าวันละกี่แสนตัน ปลาทูเป็นอาหารหลักของคนไทยกำลังถูกทำลาย ทรัพยากรในทะเลไทย กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ทะเลอื่นๆ กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ถ้ารัฐบาลไม่แก้ เราจะไปต่ออย่างไร"