เมื่อ "Line TV" โบกมือลา สำรวจศึกสตรีมมิงใครจะอยู่ใครจะไป?

เมื่อ "Line TV" โบกมือลา สำรวจศึกสตรีมมิงใครจะอยู่ใครจะไป?

ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันธุรกิจทีวีสตรีมมิงที่ดุเดือด แต่ละเจ้าต่างก็งัดคอนเทนท์พรีเมียมมาเอาใจผู้ชม ชวนสำรวจตลาดแพลตฟอร์มตรีมมิงไทย ยังเหลืออยู่อีกกี่เจ้า? หลังจาก "LINE TV" ประกาศลาจอภายในสิ้นปีนี้

หลังจากที่ "Line TV" แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงในเครือ Line ประกาศว่า "ขอฝากข้อความจากใจถึงผู้ชม LINE TV ทุกคน LINE TV ประเทศไทยจะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้เท่านั้น" ทำให้คอซีรีส์ไทยหลายคนบ่นเสียดาย เพราะ Line TV เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการฟรีไม่เสียเงิน 

เมื่อปีหน้าจะไม่มี "Line TV" ให้ชมแล้ว ลองมาสำรวจกันหน่อยว่าหลังจากนี้ ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงเจ้าไหนที่ยังให้บริการอยู่บ้าง? และจุดแข็งของแต่ละเจ้าคืออะไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์พาไปสำรวจศึกสตรีมมิงนี้พร้อมกัน

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้คนในยุคปัจจุบันแทบไม่ได้ดูทีวีช่องปกติ คำว่าเวลาไพรม์ไทม์เริ่มหายไปแล้ว ผู้ชมหันมาใช้บริการ OTT TV (Over-the-top TV) หรือทีวีสตรีมมิง คือ ดูรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงในโลกมีมูลค่ามหาศาลกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) อยู่ในระดับสูงถึง 21% ต่อเนื่องถึงปี 2571 

ผลสำรวจพฤติกรรมการรับชมคอนเทนท์ในประเทศต่างๆ จาก The mobile streaming report 2021 โดย adjust เปิดเผยว่า Gen Z, Millennials (Gen Y)  และ Boomers (ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป)  ใน 8 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ตุรกี และสหราชอาณาจักร มีพฤติกรรมใช้มือถือเพื่อดูคอนเทนท์วิดีโอ โดยเจเนอเรชัน Boomers เปิดรับการใช้อุปกรณ์ยุคดิจิทัลมากขึ้น ส่วนช่วงวัยที่ใช้เวลาเสพคอนเทนท์นานที่สุดคือ Millennials 

สำหรับประเทศไทยเจ้าตลาดแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงเต็มไปด้วยบิ๊กแบรนด์มากมาย

เมื่อ \"Line TV\" โบกมือลา สำรวจศึกสตรีมมิงใครจะอยู่ใครจะไป?

 

  • ไลน์ทีวี Line TV

ไลน์ทีวีเป็นเว็บไซต์และแอพพลิเคชันที่ให้บริการโอทีทีวิดีทัศน์ โดยไม่เสียค่าสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี  บริหารโดย Line corporation ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีบริษัทแม่คือบริษัท Naver Corporation จากประเทศเกาหลีใต้ และเปิดให้บริการในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้ใช้งานสามารถรับชมเนื้อหาต่างๆ ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยไลน์ทีวีทำรายได้จากการขายโฆษณา

จุดแข็งของไลน์ทีวี คือ การรีรันคอนเทนท์ต่างๆ ที่มีพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นทั้งสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการ อยู่มากกว่า 100 ราย อาทิ

  • ช่องวัน 31
  • จีเอ็มเอ็ม 25
  • จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
  • จีเอ็มเอ็มทีวี
  • จีดีเอช ห้าห้าเก้า
  • นาดาวบางกอก
  • สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

นอกจากนี้ยังสร้าง “ซีรีส์วาย” จนกลายเป็นกระแสในไทยและระดับภูมิภาค ค่ายหนังต่างๆ ในประเทศไทยได้ผลิตซีรีส์ Boy's Love stroy ออกมาจำนวนมากกว่า 40 เรื่อง โดยมียอดการชมซีรีส์วายในแอพพลิเคชัน LINE TV ที่สูงเกินกว่า 600 ล้านวิว 

ปัจจุบันไลน์ทีวีให้บริการคนไทยประมาณ 7 ปีแล้ว และล่าสุดก็ประกาศปิดตัวลง ซึ่งจะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้เท่านั้น

 

 

  • เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)

Netflix เป็นบริษัทเล็กๆ ก่อตั้งปี 1997 เพื่อให้บริการเช่า DVD แบบจ่ายค่าสมาชิกแล้วให้เลือกเช่าออนไลน์พร้อมส่งทางไปรษณีย์ ก่อนที่ Netflix จะมาเปิดให้บริการสตรีมมิงอย่างเต็มตัว และขยายบริการมายังประเทศไทยในปี 2560

ปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์ ให้บริการอยู่ใน 190 ประเทศ และมีบริการแปลภาษาถึง 19 ภาษา มีจำนวนผู้ใช้รายเดือนกว่า 180 ล้านคน มีข้อมูลจากสตาทิสต้า (Statista) คาดการณ์ว่าผู้เข้าชมเน็ตฟลิกซ์ในประเทศไทยอาจมีมากถึง 8 แสนคน ขณะที่ www.comparitech.com คาดการณ์ว่ามีรายได้ปี 2562 กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และน่าจะมีรายได้จากประเทศไทยประมาณ 30 ล้านดอลลาร์

ความสำเร็จของ Netflix ไม่ได้อยู่แค่การมีรายการภาพยนตร์ สารคดี หรือซีรีส์ที่ดีกว่า แต่ส่วนหลักมาจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และลงทุนทำวิจัยจริงจัง เมื่อเทียบจำนวนภาพยนตร์และรายการต่างๆ ในปี 2020 แล้วกลับพบว่า Amazon มีจำนวนสูงสุดคือ 26,397 รายการ โดย NetFlix มีเพียง 5,451 รายการ 

 

  • วิว (Viu)

วิว (Viu) แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่รวมซีรีส์เกาหลีและรายการวาไรตี้ยอดนิยมจาก 3 ช่องยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง SBS, KBS และ MBC นอกจากนี้ยังมีซีรีส์ญี่ปุ่นและรายการสุดฮิตทั่วเอเชีย โดยเปิดตัวในไทยในปี 2560

วิว (Viu) เป็นค่ายวิดีโอสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ระดับภูมิภาค ภายใต้อาณาจักรพีซีซีดับเบิลยู ลิมิเต็ด (PCCW Limited) และมีฐานผู้ชมสูงกว่า 45 ล้านรายต่อเดือน จุดแข็งสำคัญคือซีรีส์เกาหลีและรายการวาไรตี้

อีกทั้งยังมีบริการพากย์ภาษาถิ่นต่างๆ ของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่นในไทยก็จะมีการพากย์เป็นภาษาอีสาน, ภาษาเหนือ ทำให้ผู้ชมไม่ต้องจ้องเฝ้าแต่จะอ่านซับไตเติ้ล เพราะสามารถเปิดฟังเรื่องราวแล้วทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยได้ โดยวิวมีทั้งบริการแบบฟรี และแบบคิดค่าสมาชิกรายเดือนขั้นต่ำ 119 บาท

 

  • วีทีวี (WeTV)

วีทีวี (WeTV) แอพพลิเคชันบริการวิดีโอสตรีมมิงแพลตฟอร์มแบบพรีเมียม มีให้รับชมทั้งแบบฟรีและแบบมีค่าสมาชิก ราคาต่ำสุดเดือนละ 59 บาท ไปจนถึง 389 บาทต่อสามเดือน

วีทีวีถูกดูแลโดยบริษัท tencent สัญชาติจีน ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับซูเปอร์ Application อย่าง WeChat, Joox รวมไปถึง Rovโดยวีทีวีจะมีคอนเทนท์เอ็กซ์คลูซีฟจากเทนเซ็นต์ เพนกวิน สตูดิโอในประเทศจีนอยู่ในแอพฯ มากกว่า 200-300 เรื่อง มีรายการจากพันธมิตรละครไทย และรายการวาไรตี้ โดยเทนเซ็นต์เลือกไทยเป็นประเทศแรกที่ทำการตลาดนอกประเทศจีน

สิ่งที่ทำให้ WeTV ได้รับความนิยมในไทยมากขึ้น คงต้องยกความดีความชอบให้กับ Original Content อย่าง "ปรมาจารย์ลัทธิมาร"

 

  • อ้ายฉีอี้ (iQIYI)

iQIYI (อ้ายฉีอี้) เป็นอีกหนึ่งวิดีโอแพลตฟอร์มที่มีบริการตั้งแต่ละคร, ซีรีส์, รายการวาไรตี้, การ์ตูน ซึ่งเปิดตัวในไทยเมื่อปี 2563 โดยบริษัท Baidu สัญชาติจีน เจ้าของ iQIYI  (อ้ายฉีอี้) เลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ทำการตลาดต่างประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา iQIYI (อ้ายฉีอี้)  มีผู้ชมต่อเดือนสูงกว่า 600 ล้านคน มีผู้ใช้งานแบบสมาชิกหรือ VIP ทะลุ 100 ล้านคน เป็นรายแรกในประเทศจีน มียอดผู้ใช้งานเติบโตถึง 4% ในครึ่งปีแรกจากการเริ่มเปิดให้บริการในต่างประเทศทั่วโลก

iQIYI ได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้นด้วยรายการ Reality Survival อย่าง Youth With You ที่มีคนไทยอย่าง Lisa BLACKPINK อยู่ในรายการนี้ ปัจจุบัน iQIYI  (อ้ายฉีอี้) คิดค่าบริการรายเดือนเริ่มต้นที่ 119 บาทต่อเดือน

เมื่อเปรียบเทียบทั้ง 4 แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงแล้ว จะเห็นว่าคอนเทนท์แต่ละเจ้ามีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแพลตฟอร์มจะตรงกับความต้องการของผู้ชมในด้านไหนมากกว่ากัน แต่จากที่เข้าไปส่องหน้าโซเชียลมีเดียแล้วพบว่าคนไทยหลายคน สมัครเข้าชมทุกแพลตฟอร์ม คนเขียนก็เช่นกัน

--------------------------------

อ้างอิง : linecorp.comwetvtechsaucemarketeeronlinedepa.or.thspringnewsviu