จิบน้ำชา เล่าเรื่อง “สัมพันธไมตรี” ไทย-เบลเยียม
“จิบน้ำชา” ยามบ่าย เปิดตัวหนังสือ มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ เล่าเรื่องราวผู้สร้าง สัมพันธไมตรี ไทย-เบลเยียม พร้อมจัดพิธีรับมอบ “รูปปั้น” ทองสำริดแก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“จิบน้ำชา” ยามบ่าย ในงานเปิดตัวหนังสือ “มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามมานุกูลกิจ” ครั้งนี้ จัดขึ้นโดย เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส ประธานมูลนิธิฯ พร้อม เล่าเรื่องราวผู้สานความสัมพันธ์ ไทยและเบลเยียม
ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง ความสัมพันธ์ของทั้งสองราชวงศ์ และการช่วยเหลือสังคมไทย ตีพิมพ์ครั้งแรก 1,000 ฉบับ มอบให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
พร้อมจัดพิธีรับมอบ “รูปปั้น” ทองสำริดเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ นำไปตั้งเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความดีงามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส ประธานมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ กล่าวในงาน จิบน้ำชา ยามบ่ายครั้งนี้ ว่า
" มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ก่อตั้งโดยใช้ชื่อของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ กุสตาฟว์ รอแล็ง-ฌักแม็ง (Gustave Rolin-Jacquemyns) ที่ปรึกษาราชการทั่วไปในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบกฎหมาย การบริหารราชการของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นผู้จุดประกายความสัมพันธ์
ของประเทศไทยและเบลเยียมเข้าด้วยกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง และความสัมพันธ์ของทั้งสองราชวงศ์
โดยตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานบนพันธกิจหลักสามประการ คือ การรักษาความทรงจำ และผลงานของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจที่มีต่อประเทศไทย
การสานความสัมพันธ์ หรือ สัมพันธไมตรี ของราชวงศ์ไทยและเบลเยียม และการช่วยเหลือพร้อมยกระดับสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย
"เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส" ประธานมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ
ในงาน จิบน้ำชา ยามบ่ายครั้งนี้ มูลนิธิฯ แนะนำหนังสือฉบับพิเศษ มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (THE CHAO PHYA ABHAI RAJA SIAMMANUKULKIJ FOUNDATION) ย้อนรอยกิจกรรม 15 ปี
นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการแรกจนก่อตั้งมูลนิธิฯ โดยมีเนื้อหาบทสำคัญเขียนโดย ม.ร.ว. เทพกมล เทวกุล บอกเล่าเรื่องราวการทำงานและความสำเร็จของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามมานุกูลกิจ
เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ
ซึ่งถือเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับพระราชทานยศเป็น"เจ้าพระยา" ในสมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งภายในหนังสือยังได้รวบรวมเรื่องราว รูปภาพแห่งความประทับใจ
และโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้น กว่า 700 หน้า โดยได้รับการสนับสนุนเนื้อหาจากบุคคลสำคัญต่างๆ มากมาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์
หรือ สัมพันธไมตรี ของประเทศไทยและเบลเยียม รวมถึงการเดินหน้าช่วยเหลือสังคมไทย พร้อมเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ดร.จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และคุณเตือนใจ สินธุวณิก ร่วมงาน จิบน้ำชา ยามบ่าย เล่าเรื่องราวความประทับใจจากเนื้อหาในหนังสือ
อาทิ โครงการ People of the World Ceramic Project เป็นโครงการแรกก่อนการก่อตั้งมูลนิธิฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยร่วมกับศิลปินด้านประติมากรรมชาวยุโรป
เพื่อมาสอนเทคนิคการแกะสลักและลงยาให้กับเยาวชนชาวเขา จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างรายได้ ต่อมาคือ โครงการวงดนตรีไวโอลินชาวเขา
ซึ่งได้นักไวโอลินชาวเบลเยียมมาร่วมสอนให้กับเด็กๆ ชาวเขา เพื่อสร้างเป็นอาชีพ และ โครงการสนามฟุตบอลเชียงรายฮิลส์ การสร้างสนามฟุตบอลมาตรฐาน
เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนไทยชื่นชอบการเล่นกีฬา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โครงการหน้ากากกระดาษ โดยได้ร่วมมือกับศิลปินชื่อดังจัดทำหน้ากากจากกระดาษ
เพื่อจัดแสดงและเปิดประมูล นำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ในหนังสือยังได้รวบรวมกิจกรรมที่สำคัญต่างๆ โดยเริ่มต้นที่ “งานกาล่าดินเนอร์เพื่อการกุศล” เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ของราชวงศ์ไทยและเบลเยียม 150 ปี
ในปีนั้นทางมูลนิธิได้จัดงานรวมทั้งสิ้น 9 วัน ซึ่งงานกาล่าดินเนอร์ได้รับเกียรติจากเจ้าหญิงมารี-เอสเมอรัลดาแห่งเบลเยียม และพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถให้การเสด็จร่วมงาน
นอกจากนี้ยังมีงานนิทรรศการภาพถ่ายของพระมหากษัตริย์ทั้งสองราชวงศ์อันยิ่งใหญ่จัดแสดงและได้รับเกียรติเปิดงานนิทรรศการโดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย
และในปี 2560 ทางมูลนิธิฯ ได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 125 ปีที่เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และในปี 2561
ได้มีการจัดงานกาล่าดินเนอร์ขึ้นอีก โดยได้รับเกียรติจาก เจ้าหญิงเล อาแห่งเบลเยียม พร้อมด้วยหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ผู้แทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จเป็นประธาน สำหรับงานกาลาดินเนอร์ครั้งนั้น
จัดขึ้นภายใต้แนวคิดการย้อนรำลึกความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อครั้งสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม
เสด็จเยือนประเทศไทยในปี ค.ศ. 1964 โดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงให้การต้อนรับ
และการจัดงานกาล่าดินเนอร์ครั้งล่าสุดในปี 2562 “The Simply Exceptional 2019 Gala Dinner” เพื่อสืบสานความสัมพันธ์ของ 3 ราชอาณาจักร อันได้แก่ ไทย เบลเยียม และเลโซโท
ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 สมเด็จพระราชินี มาเซเนต โมฮาโต เซเอโซ แห่งราชอาณาจักรเลโซโท
เจ้าหญิงเลอาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม หม่อมหลวงสราลี กิติยากร ผู้แทนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถเสด็จร่วมงาน
ซึ่งในงานได้มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องเพชรสุดล้ำค่า และหาชมยากที่สุดในโลก มูลค่า 7,000 ล้านบาท จากแบรนด์ “โมอาว็าด” (Mouawad)
เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส กล่าวต่อว่า “สำหรับหนังสือมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ จะถูกตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกกว่า 1,000 เล่ม
สำหรับมอบให้กับหน่วยงานราชการ หอสมุด และหน่วยงานที่ขอรับ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวบทบาทหน้าที่ของมูลนิธิและความยิ่งใหญ่ของการปฎิบัติหน้าที่เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์
หรือ สัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศไทยและเบลเยียมของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ อีกทั้งทางมูลนิธิฯ ยังได้จัดทำ รูปปั้น ทองสำริด เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ซึ่งออกแบบโดยนายเทอดคงทน ต่อติด ศิลปินชาวไทย
คุณปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล และ ม.ร.ว ปรียนันทนา รังสิต
เพื่อมอบให้แก่ สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตไทยในเบลเยียม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์
และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจที่มีต่อไทย และต่อความสัมพันธ์ระหว่างเบลเยียมกับไทย”
พลอากาศเอก อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ผศ.วรลักษณ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส, มจ.เฉลิมศึก ยุคล, ม.ร.ว ปรียนันทนา รังสิต, พันโท หม่อมเจ้า นวพรรษ์ ยุคล,
ดร.จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา