วิจัยชี้คนไทย 90% เน้น "เที่ยวไทย" แบบยั่งยืน วางแผน "Workcation" มากขึ้น
ผลสำรวจจาก Economist Impact, Airbnb ชี้ชัด เทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่ 90% เน้น "เที่ยวไทย" แบบยั่งยืน และยินดีจ่ายมากขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน อีกทั้งวางแผน workcation ในจุดหมายปลายทางใหม่ๆ มากขึ้น
เมื่อโควิด-19 ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงในวงการ "เที่ยวไทย" ก็เช่นกัน โดยมีผลสำรวจจาก Economist Impact ที่จัดทำขึ้นให้กับ "Airbnb" ได้สำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยว 4,500 คน จาก 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย พบว่า
คนไทยมากกว่า 90% สะท้อนความเห็นว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเกือบ 2 ใน 3 ของทั้งหมดบอกว่า พวกเขาคำนึงถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และยินดีจ่ายมากขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจเกี่ยวกับเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ๆ อีกหลายมิติที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นอินไซต์จากนักท่องเที่ยวโดยตรง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมและสรุปมาให้ทราบกัน ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รู้จักเทรนด์ 'Workcation' พร้อม 4 ที่เที่ยวเหมาะทำงานนอกออฟฟิศ
- จับเทรนด์ "โรงแรมที่พัก" ยุคโควิด เติมฟีเจอร์ใหม่มัดใจทัวริสต์
- “Klook” แนะ 7 เทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่ หนุนผู้ประกอบการสร้างโอกาสยุคโควิด
- หลังโควิด "ที่เที่ยว" แบบไหนถูกใจคนไทย? ม.มหิดล เผยอินไซต์ Neo Tourism
- "อโกด้า" เปิดผลสำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2021
1. นทท.ตระหนักว่า พวกเขามีส่วนช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่น
นักท่องเที่ยวชาวไทย 72% แสดงความเห็นว่าสิ่งสำคัญในการเดินทางของพวกเขาคือ ต้องมีส่วนช่วยในการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น หมายความว่า การท่องเที่ยวของพวกเขาเน้นการเรียนรู้ ซึมซับความเป็นชุมชนของท้องถิ่นนั้นๆ และตระหนักในการใช้จ่ายเงิน โดยคำนึงว่าการใช้จ่ายนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นด้วย
นอกจากนี้ขาเที่ยวเกือบ 70% ตระหนักดีว่า ชุมชนต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และจะคำนึงถึงปัจจัยนี้ในการเดินทางและการใช้จ่ายเงิน
2. เน้นการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ชุมชนมากขึ้น
นักท่องเที่ยวชาวไทย 72% ระบุว่า พวกเขามีความตระหนักถึงสิ่งสำคัญในชุมชนที่ไปเยือนมากขึ้น (เช่น แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพ ฯลฯ) และเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมต่อชุมชนนั้นๆ
และอีก 68% ให้ความสำคัญกับการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมกับชุมชนต่างๆ มากขึ้น
ประติมา ซิงก์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนโยบายและข้อมูลเชิงลึก Economist Impact กล่าวว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวจะตั้งใจเลือกจุดหมายปลายทางเฉพาะที่ตนเองสนใจมากขึ้น มีความเปิดกว้าง พร้อมยอมรับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่มากขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มตัดสินใจเลือกท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของจุดหมายปลายทางนั้นๆ
3. นทท.ไม่อยากสร้างปัญหาให้ชุมชน และอยากเที่ยวที่ใหม่ๆ มากขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า นักท่องเที่ยวไทยมากกว่า 2 ใน 3 ระบุว่า สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ พวกเขาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาต่างๆ เช่น การทำให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง
และกว่า 70 % แสดงความเห็นว่า พวกเขาวางแผนที่จะเดินทางบ่อยขึ้น เพื่อเปิดประสบการณ์ในการ "ท่องเที่ยวเขตชนบท" ที่ไม่ได้เป็นที่เที่ยวยอดฮิตของขาเที่ยวส่วนใหญ่ในอดีต
4. คนไทยวางแผน "Workcation" มากขึ้น
อีกหนึ่งผลสำรวจที่น่าสนใจในยุคนี้ คือ คนไทย 60% วางแผนที่จะใช้ชีวิตแบบ workcation หรือทำงานทางไกล/ทำงานนอกออฟฟิศ ด้วยการเลือกที่จะไปเยือนจุดหมายปลายทางใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง เกือบ 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวไทย วางแผนและจัดสรรงบค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น (อาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่อยากเที่ยวต่างประเทศ)
5. โควิดทำชีวิตเปลี่ยน เทรนด์ท่องเที่ยวจึงเปลี่ยนตาม
มิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Airbnb ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการเชื่อมต่อกันและกัน และตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้คนจึงคิดและไตร่ตรองถึงวิธีการเดินทางในการสร้างประโยชน์เชิงบวก ให้กับชุมชนที่พวกเขาไปเยือนมากขึ้น เช่น
- พวกเขาจะคิดอย่างถี่ถ้วนว่าจะใช้จ่ายเงินในการท่องเที่ยวให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองและชุมชนได้อย่างไร
- พวกเขาต้องการซึมซับกับขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตต่างๆ ในชุมชนที่ไปเยือนมากขึ้น
- พวกเขาต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดี และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบด้านลบที่ไม่ได้ตั้งใจของการท่องเที่ยว (เช่น ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง)
การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ท่องเที่ยวที่รวดเร็วนี้ สะท้อนว่าผู้คนเปิดรับกับความยืดหยุ่นมากขึ้น มองหาการใช้ชีวิตและการเดินทางแบบใหม่ๆ จนเกิดเป็นแนวทางของนักเดินทางที่มีความใส่ใจต่อความยั่นยืนมากขึ้น
ทำให้รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวไทย เปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบที่เรียกว่า “นักเดินทางที่มีความใส่ใจ” (conscious traveller) มากขึ้น
แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่มากขึ้นสำหรับชุมชน ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นเติบโต ด้วยเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ยังเป็นการต้อนรับรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
-------------------------------------
อ้างอิง : airbnb/conscious-traveller