"ปรัชญา ปิ่นแก้ว" มองภาพยนตร์ไทย กำลังป่วยที่หัวใจ ต้องรักษาและซอฟท์ พาวเวอร์
ส่องปรากฎการณ์ทั้งโลกและไทย จากผลกระทบเทคโนโลยีและโควิด "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" มองภาพยนตร์ไทย กำลังป่วยที่หัวใจ ต้องรักษาและซอฟท์ พาวเวอร์
สถานการณ์ ภาพยนตร์ไทย ประสพปัญหาจากวิกฤติต่อเนื่อง ส่องปรากฎการณ์ทั้งโลกและไทย จากผลกระทบเทคโนโลยีและโควิด "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" ผู้กำกับภาพยนตร์ดัง "องก์บาก" และ "ต้มยำกุ้ง" สร้างผลงานให้โลกยอมรับแล้ว เขามองภาพยนตร์ไทย กำลังป่วยที่หัวใจต้องรักษาและซอฟท์ พาวเวอร์
อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" นั่งคุยยามบ่ายที่ร้านกาแฟแบรนด์ดัง ในห้างใหญ่จุดนัดพบเลียบด่วนย่านรามอินทรา กับคำถามง่ายๆเกี่ยวกับหนังไทย ที่ชวนคุยชวนคิดตามประสาคอหนัง
"พี่ปรัช" ผกก.ลุกซ์เรียบง่ายใจดี เปิดมุมมองว่า ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากในโลกของภาพยนตร์ ทั้งการชมและการสร้าง โดยเฉพาะการชมภาพยนตร์ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ยิ่งมีโควิดเข้ามาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นบริบทใหม่ และเปลี่ยนทั้งโลก
การเปลี่ยนแปลงข้อใหญ่ คือการไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์เริ่มลดลง ไปเพิ่มในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และโควิดเป็นตัวเร่งให้สตรีมมิ่งเข้ามาทำให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป
"ขนาดคนรักหนังอย่างผม รู้สึกว่าอยากดูหนังในโรงน้อยลง เริ่มเลือกหนังบางเรื่อง จากเมื่อก่อนถ้าว่างมีเรื่องไหนก็เข้าไปดูเลย หรือบางเรื่องไปถึงโรงหนังแล้วแต่เวลาฉายให้รอ แค่ครึ่งชั่วโมงเรายังไม่รอเลย ตรงนี้มันเกิดเป็นพฤติกรรมคนดูหนังทั้งโลกที่มันเปลี่ยน"
หลังจากนี้ ได้แต่คาดเดาว่า หลังหมดยุคโควิดจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าถึงหมดโควิด พฤติกรรมคนก็ยังคงเปลี่ยนไป เพราะการแข่งขันในสตรีมมิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ผู้กำกับฯองก์บาก ชี้หนังไทยก่อนยุคโควิดเจอวิกฤติอยู่แล้ว ถ้าเทียบหนังไทยกับหนังจากต่างประเทศ หนังไทยยังแพ้อยู่
ดัชนีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโตหรือเปล่า ดูง่ายๆว่าหนังในประเทศชนะหนังจากต่างประเทศหรือไม่
"อนาคตหนังไทยจะเป็นไปอย่างไร ผมว่ายิ่งแย่ไปกันใหญ่ ตราบใดที่เรายังไม่แก้ปัญหาให้คนไทยพึ่งพอใจในการดูหนังไทยมากขึ้น มันไม่ใช่การไปขอร้องให้คนไทยมาดูหนังไทย ซึ่งเป็นวิธีการไม่ถูกต้อง เราต้องทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นว่าดูหนังไทยกี่เรื่องก็สนุก สร้างมาก 10 เรื่อง สนุกสัก 8-9 เรื่อง หนังไทยชนะแน่ๆ"
เราจะสามารถแก้จุดด้อยจากคุณภาพของตัวงานหนังได้มั้ย ในขณะที่เรามีคนทำหนังรุ่นใหม่เกิดขึ้นทุกๆปี มีเรื่องเล่าผ่านซีรีส์ หนังสั้น และคอนเทนท์ต่างๆมากขึ้น มีนักครีเอเตอร์ในยูทูบ ในโซเชียลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง เทคนิคการทำหนังมาเล่าเรื่อง ซึ่งโลกยุคนี้เป็นโลกของนักเล่าเรื่อง ทุกสาขาอาชีพจะเป็นนักเล่าเรื่องได้ดีและจะทำให้วงการภาพยนตร์ได้นักเล่าเรื่องที่สนุกเพิ่มมากขึ้น
การใช้ซอฟท์ พาวเวอร์ และภาพยนตร์ไทยป่วยที่หัวใจ
"ปรัชญา" ยอมรับว่า ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง ในการสร้างหรือทำอะไรก็ได้ การสร้างพาวเวอร์โดยการใช้หนังจึงเป็นซอฟท์ พาวเวอร์ แต่อาวุธนี้มีทั้งแหลมคมและอาวุธที่ไม่ได้ผล แต่การทำซอฟท์ พาวเวอร์โดยหนังเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว เหมือนเกาหลีที่เรายกตัวอย่างเป็นประจำ ใช้ซอฟท์ พาวเวอร์ได้ดีมากๆ
ไทยใช้ซอฟท์ พาวเวอร์ในหนังมีปัญหา เพราะมีจุดอ่อนใหญ่มากเรื่องของบทหนัง ถ้าบทหนังคือหัวใจของภาพยนตร์ ถ้าเปรียบหนังเป็นคน เรากำลังป่วยที่หัวใจ เป็นจุดที่น่ากลัวมาก ต้องแก้ที่หัวใจเป็นปัญหามีมานาน
"เรากำลังมีปัญหาเรื่องหัวใจของภาพยนตร์ แต่จะทำซอฟท์พาวเวอร์ เหมือนกำลังเอาคนป่วยออกรบ จะสู้คนที่แข็งแรง สู้คนที่มีความพร้อมได้อย่างไร การแข่งขันก็ต้องทำ การใช้ซอฟท์พาวเวอร์เป็นยุทธศาสาตร์เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่เราทำได้ดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นการทำซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาลไทย จะทำเป็นหรือเปล่า ในขณะที่วงการภาพยนตร์ไทยกำลังป่วยอยู่ บางคนยังไม่รู้ว่าเราป่วย แต่รู้ว่าจะทำและก็ทำ แล้วมันไม่ได้ผล และหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมไม่ได้ผล อันนี้ต้องเข้าใจกันด้วย" ปรัชญา กล่าวทิ้งท้าย