“Kind Dining กิน.กอด.โลก” ปรับทัศนคติคนรุ่นใหม่ กินเนื้อสัตว์ป่าไม่เท่!
“Kind Dining กิน.กอด.โลก” ชวนคนรุ่นใหม่ให้คำมั่นสัญญาไม่กินเนื้อ “สัตว์ป่า” ผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องสัตว์ป่า ลดความเสี่ยงของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ป่า
ถ้าคุณรู้ตัวเลขอายุของคนที่กินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายอาจทำให้ต้องประหลาดใจ เพราะมีผลวิจัยเดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่ากลุ่มคนที่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีช่วงอายุระหว่าง 18 - 30 ปี อาศัยอยู่ในเมือง มีฐานะและชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว โดยคนกลุ่มนี้ไม่ได้ บริโภคสัตว์ป่า เพื่อประทังชีวิต แต่มักบริโภคกันระหว่างการท่องเที่ยวและงานสังสรรค์ งานเลี้ยงรับรอง
เหตุผลหลักในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า คือ รสชาติ ความอยากรู้อยากลอง และความรู้สึกของความสำเร็จ ความตื่นเต้น แปลกใหม่ ไม่ใช่เพื่อการประทังชีวิต
แคมเปญ Kind Dining มาจากการรวมคำระหว่าง Kindness (ความใจดี มีเมตตา) และ Fine Dining (การกินอาหารที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี ทำให้รู้สึกถึงความพิเศษที่ไม่สามารถสัมผัสได้จากร้านทั่วไป) ก่อเกิดเป็นแนวคิดว่า มื้อที่ดีและพิเศษที่สุด คือ มื้อที่ไม่ทำร้ายสัตว์ป่า มีเป้าหมาย คือ การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายและปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคเนื้อเหล่านี้ในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายในอนาคต
“ผลการวิจัยได้เผยข้อมูลสำคัญหลายอย่างที่ช่วยให้เราเข้าใจทัศนคติและพฤติกรรมของการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าในประเทศไทย ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการออกแบบแคมเปญเพื่อยุติการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย แคมเปญ Kind Dining หรือ กิน.กอด.โลก ถูกออกแบบให้มีกิจกรรมหลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยุติการกินเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย” ดร. ไอลีน ลาร์นี่ ผู้อำนวยการ ZSL ประจำประเทศไทย กล่าว
ความต้องการเนื้อสัตว์ป่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการล่า ฆ่า และค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย นำมาสู่การลดจำนวนของสัตว์ป่า จนบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงของการติดโรคจากสัตว์ป่าสู่คน อาทิ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ก็เป็นไปได้ว่า อาจจะมีต้นเหตุมาจากสัตว์ป่า
ในเดือนมิถุนายน 2564 TRAFFIC และ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าของคนไทยในเขตเมือง พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ร้อยละ 32 มีการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า รวมถึงเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และในจำนวนเท่าๆ กันนั้นมีแนวโน้มจะบริโภคอีกในอนาคต
ดารารัตน์ วีระพงษ์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า (TRAFFIC) กล่าวว่า “ในการปกป้องสัตว์ป่าจากการบริโภคอย่างผิดกฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย แคมเปญกิน.กอด.โลก จึงเกิดขึ้นเพื่อลดความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า ความเสี่ยงต่าง ๆ อันจะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดโรคอุบัติใหม่ล้วนเป็นประเด็นที่พูดถึงในการรณรงค์ในครั้งนี้”
ด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองในมุมของคนทำงานด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อมโยงกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมว่า “ททท.ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมักได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว แคมเปญ Kind Dining จึงเป็นหนึ่งในแบบอย่างของทิศทางการท่องเที่ยวไทยในอนาคต”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะสังเกตว่าเริ่มมีการรณรงค์ให้คนหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น ม.ร.เรอโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย บอกว่าคนจำนวนมากเริ่มเข้าใจว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมและสวนทางกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น
“เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่แคมเปญ Kind Dining ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้มีชื่อเสียง รวมทั้งองค์กรพันธมิตรต่างๆ และมั่นใจว่าจะมีผู้ที่ตั้งคำถามกับการกินเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและร่วมให้คำมั่นสัญญากับการรณรงค์ในครั้งนี้มากมาย”
แคมเปญนี้ได้นำเสนอคลิปวิดีโอ 4 ชุด ประกอบด้วยคลิปสั้น 3 นาที 1 ชุดและสปอตรณรงค์ 30 วินาทีและ 15 วินาที อย่างละ 3 ชิ้นโดยเผยแพร่ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook และ YouTube นำเสนอโดย นักแสดง วงศ์รวี นทีธร (สกาย) นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) และชุดารี เทพาคำ (เชฟตาม) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคหยุดกินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Kindness Deliveryในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ที่ได้ร่วมมือกับเซฟตาม และร้านมีนา มีข้าว จังหวัดเชียงใหม่ดัดแปลงเมนูอาหารป่าที่เป็นที่นิยม ให้เป็นเมนูปลอดเนื้อสัตว์ป่า เพื่อแจกจ่ายให้บุคคลทั่วไปได้ลิ้มลองในรูปแบบอาหารกล่องที่มาพร้อมคิวอาร์โค้ดที่นำไปยัง www.kind-dining.com เพื่อร่วมให้คำมั่นสัญญาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยประชาชนสามารถเลือกเข้าร่วมทีมสัตว์ป่าที่ชื่นชอบจากทั้งหมด 5 ทีม แล้วคลิกให้คำมั่นสัญญาเพื่อรับตราประจำทีมสำหรับการแชร์ผ่านสื่อโซเชียล โดยใช้แฮชแท็ก #SayNotoIllegalWildMeat และ #KindDining ชักชวนให้คนรอบข้างเข้าร่วมทีม
ร่วมให้คำมั่นสัญญาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ผิดกฎหมาย ได้ที่ www.kind-dining.com
แคมเปญ “Kind Dining กิน.กอด.โลก” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง อส. ททท. TRAFFIC ร่วมกับ ZSL และ UNDP โดยการสนับสนุนของโครงการคุ้มครองสัตว์ป่าโลก (GWP) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กองทุนเพื่อการคัดค้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแห่งสหราชอาณาจักร (IWTCF) และโครงการกิจการระหว่างประเทศเพื่อบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (USFWS)