ย้อนเวลา”แม่ชีศันสนีย์”ปักธงธรรมสร้าง”เสถียรธรรมสถาน”

ย้อนเวลา”แม่ชีศันสนีย์”ปักธงธรรมสร้าง”เสถียรธรรมสถาน”

ตอน”แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต”เริ่มสร้าง”เสถียรธรรมสถาน” ท่านเคยเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจที่จะทำสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิง และปัจจุบันไปไกลกว่าที่คิด

“ที่นี่เริ่มจากทุ่งนาโล่งๆ ร้อนและแล้ง ไม่มีอะไรเลย ตอนนั้นครูบาอาจารย์กำลังจะมรณภาพ ท่านแนะนำให้ซื้อที่ดิน แต่เราไม่รู้ว่าซื้อทำไม ก็เถียงท่าน เพราะท่านเคยบอกว่า สมบัติเป็นทุกข์” แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เคยเล่าให้ฟังในวันที่ท่านเริ่มสร้างเสถียรธรรมสถาน
ช่วงปีนั้น พระครูภาวนาภิธาน วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ครูบาอาจารย์ของแม่ชีศันสนีย์กำลังจะมรณภาพ (ปี2529) ตอนนั้นพระครูบอกแม่ชีศันสนีย์ว่า

"ถ้าเธอมีปัญญา สมบัติ(ที่ดิน)ก็ไม่เป็นทุกข์"

แม่ชีไม่เข้าใจ แต่ก็ปฎิบัติตามคำสั่งของอาจารย์ซื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่ 
“หลวงพ่อเอ็นดูเราในฐานะเด็กดื้อ เวลาสอนอะไร เราก็จะเถียง เราจะไม่เชื่อง่ายๆ แต่ท่านสอนโดยทำให้ดู มีความสุขให้เห็น

สุดท้ายเราก็เถียงท่านไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำนั้นสร้างการเปลี่ยนแปลง จากคนที่จมอยู่ในความทุกข์ กลายเป็นอิสระจากทุกข์ ทำให้เราไม่เป็นทุกข์”
 

ซื้อที่ดินสร้างเสถียรธรรมสถาน

แม้การเข้าสู่ร่มธรรมจะทำให้ทุกข์น้อยลง แต่แม่ชีศันสนีย์ก็ยังรู้สึกผูกพันกับครูบาอาจารย์ ตอนพระครูภาวนาภิธานมรณภาพ แม่ชีไม่อาจกั้นน้ำตาไว้ได้
"ท่านรู้ว่ากำลังจะจากไป จึงให้เราซื้อที่ดิน ท่านจากไปในท่านั่งสมาธิ ปฎิเสธเครื่องมือทางการแพทย์ และหลวงพ่ออยู่ในใจเราตลอด

หลังจากนั้นเราลุกขึ้นมาทำงานเลย เพราะท่านได้วางแผนให้เราแล้ว เราจะทำตัวไร้สติปัญญาได้อย่างไร เราเริ่มให้คนมาถมที่ดิน ปลูกต้นไม้บนผืนดินว่างเปล่า"
จากทุ่งนาว่างเปล่า ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีต้นไม้ เริ่มสร้างศาลาจาก มีพระธุดงค์เริ่มมาปักกลด และคนมาปฏิบัติธรรม จึงทยอยสร้างกุฎิ โรงครัว และชุมชนเล็กๆ 
ตอนนั้นแม่ชีศันสนีย์เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ลานไม้หอม จนกระทั่งพระพิมลธรรม (อาสภเถร) พระอาจารย์ของพระครูภาวนาภิธานมาเยี่ยม จึงตั้งชื่อให้ว่า เสถียรธรรมสถาน สถานที่อันมีธรรมอันมั่นคง 
ย้อนเวลา”แม่ชีศันสนีย์”ปักธงธรรมสร้าง”เสถียรธรรมสถาน”

"ตอนแรกเราไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์บอก เมื่อทำงานก็เริ่มเข้าใจและรู้ว่า ครูบาอาจารย์มองการณ์ไกล เราเรียนรู้จากการทำงาน เมื่อก่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม เรามั่นใจแล้วว่า ธรรมะช่วยคนได้ ก็เริ่มฝึกปล่อยวางในงาน ลงทุนในเหตุ ปล่อยวางในผล"

ย้อนเวลา”แม่ชีศันสนีย์”ปักธงธรรมสร้าง”เสถียรธรรมสถาน”

เสถียรฯต้องเป็นป่าในเมือง

ในช่วงแรกๆ แม่ชีศันสนีย์ทำงานหนัก เพื่อสร้างเสถียรธรรมสถาน โดยมีธรรมะเป็นแกนหลักในการช่วยเหลือผู้คน

ตอนนั้นเรื่องไหนที่ท่านไม่รู้ ก็พยายามศึกษาหาความรู้  และเรื่องใดทำไม่ได้ ท่านก็พยายามทำให้ได้ 
"เมื่อไม่มีธรรมชาติ ก็ต้องสร้างธรรมชาติ เราปลูกต้นไม้ไม่เป็น ก็พยายามปลูกให้เป็น ธรรมะทำให้รู้จักการถ่อมตัว

ไม่อยู่กับธรรมชาติแบบละโมบ เสถียรฯต้องเป็นป่าในเมือง เรามีต้นไม้เป็นครู จะสร้างอาคารอะไรทำลายป่าไม่ได้เลย ตอนนั้นมีต้นไกร ต้นสาละ บางต้นมีอายุกว่า 24 ปีเพราะความพยายามที่จะสร้างผืนดินแห่งธรรม เสถียรธรรมสถานจึงกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางธรรมที่แวดล้อมด้วยต้นไม้และกลิ่นอายแห่งความรักของเพื่อนมนุษย์ 
"ทำงานมาหลายสิบปี สุดท้ายเรารู้แล้วว่า ไม่มีใครหรอกที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ ถ้าเขาเข้าใจธรรมะ" แม่ชีศันสนีย์ เคยเล่าให้ฟัง

ย้อนเวลา”แม่ชีศันสนีย์”ปักธงธรรมสร้าง”เสถียรธรรมสถาน”

(พื้นที่หุบเขาโพธิสัตว์ จ.เพชรบุรี)

การปักธงธรรมบนผืนดินที่ว่างเปล่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับนักบวชหญิง แต่แม่ชีศันสนีย์ได้ทำให้เห็นว่า ถ้าตั้งใจจริง และเข้าใจธรรมะเหมือนเช่นครูบาอาจารย์ที่สอนไว้ก่อนมรณภาพว่า "ถ้าเธอมีปัญญา สมบัติก็ไม่เป็นทุกข์"
เมื่อแม่ชีศันสนีย์ได้ลงมือทำงานทางธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี ทำให้เสถียรธรรมสถานกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่คนทั้งประเทศรู้จัก

เราไม่ได้มาบวช เพื่อเลี้ยงเด็ก 

หากตอนนั้นแม่ชีศันสนีย์ปฏิเสธที่จะดูแลเด็กถูกทิ้ง บ้านสายสัมพันธ์คงไม่เกิด แต่เพราะท่านได้ไตร่ตรองและคิดแล้วว่า พุทธศาสนาต้องเยียวยาผู้คนในสังคมได้ด้วย
แม่ชีศันสนีย์ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ตอนที่เริ่มทำสถานปฏิบัติธรรม เคยมีคนเดินมาเคาะประตูเสถียรธรรมสถาน แล้วบอกว่า

"มีเด็กถูกทิ้งในโรงพยาบาล แม่ชีจะช่วยอะไรได้บ้าง" 
ตอนนั้นท่านตอบว่า "เราไม่ได้มาบวช เพื่อเลี้ยงเด็ก"

หลังจากตอบคำถามไปแล้ว คืนนั้นแม่ชีนอนไม่หลับ ครุ่นคิดและไตร่ตรองปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นวันรุ่งขึ้นกลับไปบอกว่า

"จะช่วยเหลือเช่าบ้านให้เอาเด็กที่ถูกทิ้งมาอยู่ด้วยกัน แล้วเรียกแม่ที่จะทิ้งลูกมาคุย จากนั้นเกลี่ยกล่อม แล้วบอกว่า ให้ลูกกินนมแม่ก่อนเถอะ 

พอลูกกินนมแม่เสร็จ แม่คนนั้นหนีออกไปถูกรถชนเสียชีวิต เราเศร้ามาก กลับมาบอกคนที่มาช่วยงานเสถียรฯ ให้ช่วยกันสร้างบ้านสายสัมพันธ์ท้ายทุ่ง ตอนนั้นทุกคนในบ้านน่ารักมาก เสียสละช่วยกันทำงาน  
ถ้าไม่มีคนรากหญ้าก็ไม่มีเสถียรฯ พวกเขาอยู่กันมานาน มีความสุขหรือเปล่าไม่รู้ ต้องไปถามดู เราไม่หลอกเขา ถ้าเราหลอกเขา สักพักเขาก็จากไป ที่เราทำงานเยอะ ไม่ใช่เราเก่ง ยิ่งเราทำงานมาก ยิ่งยืนยันว่า คนในโลกทุกข์"

ย้อนเวลา”แม่ชีศันสนีย์”ปักธงธรรมสร้าง”เสถียรธรรมสถาน”

ทายาททางธรรม

เมื่อต้องแก้ปัญหาให้คนทุกข์มากมายในโลกใบนี้ ทีมงานจึงต้องแข็งแกร่ง เข้าใจทั้งเรื่องชีวิตและธรรมะ รวมถึงมีใจในการทำงาน

นั่นเป็นสิ่งที่แม่ชีศันสนีย์พยายามวางรากฐาน เพื่อสร้างทายาททางธรรม และเป็นที่มาของการศึกษาทางธรรมในนาม สาวิกาสิกขาลัย เปิดสอนปริญญาโท พุทธศาสนามหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนาและศิลปะแห่งชีวิต (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว)
"แม้คนเหล่านี้จะไม่ได้เป็นนักบวช แต่แม่หวังว่า พวกเขาจะเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นเท่าที่เขาจะทำได้ 
แม่เห็นจากนิสิตสาวิการุ่นแรก ถ้าเราฝึกคนได้แบบนี้ ก็ต้องทำต่อ เมื่อพวกเขามาเรียนร่วมกัน ทุกข์ร่วมกัน ทำงานรับใช้ผู้อื่นได้

แม้การสร้างสาวิกาสิกขาลัยตอนน้้นจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ทำ ทั้งๆ ที่เราคิดสวนทางกับนักวิชาการ พวกเขามุ่งเน้นว่าต้องมีห้องเรียน ห้องสมุด แต่เราบอกว่าต้องมีใจมาเรียนรู้กับเราก่อน ก็เอาลูกศิษย์มาเรียนแล้วทดลองกันไป" แม่ชีศันสนีย์ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟัง และบอกว่า

ย้อนเวลา”แม่ชีศันสนีย์”ปักธงธรรมสร้าง”เสถียรธรรมสถาน”

"เราอยากอริยะชนที่เข้าใจทั้งเรื่องชีวิตและธรรมะในเชิงลึก เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น "

นี่คือที่มาของเสถียรธรรมสถาน และก่อนที่ท่านจะจากไป เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ท่านกำลังสร้างสถานปฏิบัติธรรมอีกแห่ง คือ หุบเขาโพธิสัตว์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันทายาททางธรรมกำลังสานต่อเจตนารมณ์

..........................

ภาพจากเฟซบุ๊ค เสถียรธรรมสถาน