"ไพลิน วีเด็ล" Hope Frozen แม้ความคิดต่าง เรายังมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
exclusive talk กับ “ไพลิน วีเด็ล” ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังภาพยนตร์ “Hope Frozen ความหวังแช่แข็ง” ที่คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากเวที Emmy Awards สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยและคนไทยบนเวทีระดับโลกแห่งนี้
“เปอร์เซ็นต์ที่เราคิดไว้ว่าจะได้คือศูนย์ค่ะ” เป็นคำตอบชัดถ้อยชัดคำที่เราได้รับจาก ไพลิน วีเด็ล ผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยด้วยการนำ “Hope Frozen: A Quest To Live Twice” หรือ “ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง” ไปคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากงาน International Emmy Awards ครั้งที่ 49 มาครองเมื่อปลายปีที่แล้ว
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คอนเทนต์เกี่ยวกับประเทศไทย จากฝีมือคนไทย เป็นผู้ชนะรางวัลสำคัญบนเวทีใหญ่ระดับโลกเวทีนี้ หรืออาจจะพูดได้ว่า ไพลินเป็นผู้กำกับไทยคนแรกที่ชนะรางวัลสำคัญที่สุดในแวดวงสารคดีก็ว่าได้
Photo credit: International Academy of Television Arts & Sciences
Hope Frozen: A Quest To Live Twice เป็นผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของไพลิน วีเด็ล ที่ได้รับการเผยแพร่ไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลกผ่านทาง Netflix โดยเนื้อหาเป็นบันทึกเรื่องจริงของครอบครัว “เนาวรัตน์พงษ์” ที่แช่แข็งเซลล์สมองของ “น้องไอนส์” เด็กหญิงเมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ ลูกสาววัย 2 ขวบ ที่เสียชีวิตจากมะเร็งสมองด้วยเทคนิค “ไครออนิกส์” ด้วยความหวังว่าหนูน้อยจะมีโอกาสกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในอนาคต ในวันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าพอ
ด้วยเนื้อหาที่โดดเด่น การถ่ายทอดผ่านมุมมองทั้งทางวิทยาศาสตร์ และความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักของพี่ชายที่มีต่อน้องสาว ซึ่งส่งถึงใจคนดูได้อย่างแท้จริง ทำให้ Hope Frozen คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น เวที HOT DOCS ประเทศแคนาดา เทศกาล Oxford Film Festival ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ
แต่ถึงกระนั้น ไพลิน วีเด็ล ก็ยังไม่คิดว่าผลงานของเธอจะได้รับรางวัลเอ็มมี่อยู่ดี
“เราคิดว่าเค้าเสนอเรื่องไทยเพื่อเพิ่มความหลากหลายไปอย่างนั้นแหละ แต่ไม่คิดว่าเราจะชนะ” ไพลินที่แม้แต่ตอนให้สัมภาษณ์แบบ exclusive talk กับ กรุงเทพธุรกิจ ก็ยังตื่นเต้นไม่หายกับสิ่งที่เกิดขึ้นบอก
“เรานึกไม่ถึงเพราะเรื่องจากเมืองไทยไม่เคยชนะมาก่อน แล้วคู่แข่งก็เก่งหมดเลย งบก็เยอะ โอกาสที่จะชนะมันน้อยมาก ประเด็นที่เขายกมาก็สำคัญทั้งนั้น เช่น บราซิลทำเรื่องโควิด เราไม่นึกเลยว่ามันจะเป็นไปได้
คือเรามีภาพตัวเองว่าเราเป็นนักทำสารคดีที่ยังดิ้นรนอยู่เลย หาทุนไม่ได้ ไปเสนอช่องต่างประเทศเค้าก็ไม่เอาเพราะมันเป็นภาษาไทย คนดูไม่อยากอ่านซับ พอชนะเราก็ เอ๊ะ! เรื่องของเราได้ด้วยเหรอ แล้วมันเป็นเวทีโลกด้วย”
Credit: Netflix
- คอนเทนต์ไทยไประดับโลกได้แน่นอน
รางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากเวที Emmy Awards เพิ่มความมั่นใจให้กับไพลินในการนำเสนอเรื่องแบบไทยๆ ที่มาจากคนไทย ไปสู่ช่องทางที่คนทั่วโลกได้ดู แต่ถึงกระนั้นเธอก็บอกว่ามันไม่ได้มีแค่ Hope Frozen เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมันคือพลังรวมของคนทำหนังทั้งประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ “เด็กใหม่” Girl From Nowhere, ภาพยนตร์ One For the Road ของบาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับฉลาดเกมส์โกง), สารคดี Come and See หรือ เอหิปัสสิโก ของไก่-ณฐพล บุญประกอบ
“คอนเทนต์ไทยที่สามารถที่ดึงความสนใจจากทั่วโลกมาได้ไม่ใช่มีแค่ Hope Frozen เรื่องเดียว แต่มันคือหลายๆ เรื่องที่มารวมพลัง ทำให้คนทำหนังไทยได้เห็นว่า เรื่องจากเมืองไทยมีความสามารถที่จะทำให้คนทั่วโลกให้ความสนใจ หรือไทยเราก็มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่แพ้ใครนะ”
- ไม่ได้ต้องการแค่คอนเทนต์
ด้วยความที่เรื่องราวใน Hope Frozen นั้นละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างมาก แล้ว ไพลิน วีเด็ล ทำอย่างไรทางครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ถึงยอมเปิดใจให้ถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้
คำตอบที่ได้รับทำเอาเรา (ผู้สัมภาษณ์) ถึงกับจุกอกแล้วย้อนกลับมามองตัวเองในฐานะของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักข่าวเช่นกัน โดยไพลินให้คำตอบเรามาว่า
“ตอนฉายหนังให้ครอบครัวดูครั้งแรก ครอบครัวบอกมาว่า ขอบคุณที่อยู่ต่อเพราะนักข่าวคนอื่นมาวันเดียวแล้วกลับ”
“เหมือนเค้ามีจุดยืน คนดูจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเค้าก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยเค้ามีจุดยืนที่ทำให้คนเพิ่มความเข้าใจ คุณไม่ต้องเห็นด้วยกับเค้า แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นความรักที่เค้ามีต่อลูก”
ไพลินบอกด้วยว่าสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ทางครอบครัวไว้วางใจในตัวเธอคือวิธีการทำงานที่มีความโปร่งใสร้อยเปอร์เซ็นต์
“ถ้าเราไม่รู้อะไรก็จะบอกว่าไม่รู้ ตอนที่มีคำถามว่าหนังจะไปออกที่ไหนเราก็บอกว่าไม่ทราบ เราไปสมัครขอทุนที่ไหนเราก็บอกครอบครัวตลอดว่าชนะแพ้ ได้ทุนมาจากไหน ได้เท่าไร เค้าก็จะเห็นว่าเรานำทุนนี้มาใส่ในโปรดักชั่นการถ่ายทำ แล้วเราก็ใช้เวลาค่ะ”
“พอเราใช้เวลากับใครคนหนึ่ง 2 ปีกว่าในการถ่ายทำ เค้าจะเห็นว่าสิ่งที่สื่อออกไปมันใกล้เคียงกับความจริงที่สุด เค้าเห็นว่าเราไม่ได้มาเพื่อที่จะนำพาดหัวข่าวที่รุนแรงออกไปอย่างเดียว เราอยากอยู่กับเค้า เราเข้าใจเค้า พอเค้าเห็นความพยายาม และความเพียรของเราในแต่ละปีเค้าก็ไว้ใจ”
credit: Netflix
สำหรับฟี้ดแบ็คจากครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์หลังจากที่ Hope Frozen ออกฉายนั้น คุณไพลินบอกว่าทางครอบครัวขอบคุณมา
“เหมือนความรักของเค้า เรื่องราวของน้องอัยน์เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกได้รับรู้ เค้าภูมิใจในสิ่งนั้น แต่นอกเหนือจากนั้นเค้าไม่ได้บอกเรา เราก็กลัวตั้งแต่แรกเลย เราเริ่มมาทำสารคดีเรื่องนี้เพราะครอบครัวนี้พิเศษที่ทำให้คนดูสามารถไปคิดเองว่าสำหรับเค้า เค้าเชื่ออะไรบ้าง การมีชีวิตคืออะไร ความตายคืออะไร ให้คนไปคิดเอง
การทำสารคดีครั้งนี้ไม่ได้ให้คำตอบ แต่เป็นการยกคำถาม เราก็กลัวตั้งแต่แรกว่ามันจะมีผลกระทบอะไรกับครอบครัวบ้าง เค้าโดนสื่อโจมตีมาหลายรอบแล้ว ไม่อยากไปซ้ำเติม แต่เราก็โชคดี ถึงแม้จะมีคนดูที่อาจจะมีความคิดทางลบกับครอบครัวตอนแรก ถ้าไปดูสารคดีเรื่องนี้แล้ว ถึงจะยังไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยก็เข้าใจมากขึ้น เห็นถึงความรักที่มีต่อลูก แล้วอาจจะเห็นโพรเซส (กระบวนการ) ความคิดของครอบครัวว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจครั้งนั้น”
“พอเราใช้เวลากับคนใดคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าเค้าจะคิดต่างแต่เราก็เห็นเค้าเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะว่าประเด็นที่ยกมามันเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ทั้งนั้น มันเกี่ยวกับการมีชีวิต การสูญเสีย ซึ่งมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้มีประสบการณ์คล้ายๆ กัน ถ้าเราทำความเข้าใจกันแบบมนุษย์ๆ ไม่ได้ก็จะแย่ สังคมก็จะไม่พัฒนาไป เราก็โ่ชคดีที่ฟีดแบ็คที่ได้มา positive หมดเลย เค้าพูดตรงกันว่าเป็นครอบครัวที่รักลูกจริงๆ”
Credit: Netflix
- “แมทริกซ์” พระเอกของ Hope Frozen
เชื่อแน่ว่าหลายคนที่ได้รับชม Hope Frozen แล้วอาจมีความรู้สึกตรงกัน นั่นคือ คิดว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก แต่ไปๆ มาๆ ทำไมถึงถูก น้องแมทริกซ์ พี่ชายของน้องไอนส์ ตกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
เรื่องนี้เราได้รับการเฉลยจากปากคุณไพลิน วีเด็ลว่าเราไม่ได้คิดไปเอง เพราะจริงๆ แล้วไพ่ลับของเธอก็คือน้องแมทริกซ์นั่นเอง
“หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับไครออนิกซ์ เกี่ยวกับคุณพ่อ แต่ในใจเราที่จริงมันคือเรื่องของแมทริกซ์ พอเราใช้เวลากับครอบครัวมากกว่าสองปี เราเหมือนกล้องที่ได้ถ่ายชีวิตของเค้า ได้เห็นน้องแมทริกซ์เติบโตมาหน้ากล้องเลย มันคือการสังเกตชีวิตของเด็กผู้ชายคนนึงที่รักน้องมากจนอยากจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่น้องจะมีชีวิตขึ้นมาใหม่
ตอนแรกน้องไม่ได้เป็นตัวเอกในเรื่องเราเลย แต่พอเราได้ถ่ายทำกับครอบครัวมาเกือบสองปี น้องเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพราะเค้าโตขึ้น สามารถเล่าเรื่องของเขาได้อย่างสบายใจมากขึ้น บุคคลิกของเขาที่เห็นก็เป็นบุคคลิกของเค้าจริงๆ เราไม่ได้ปั้นเค้ามา ไม่ได้อะไรเลย โมเมนต์ที่เราถ่ายไปก็เป็นความจริงหมดเลย เราก็แค่เสนอในสิ่งที่ใช่ ที่จริง ที่เค้าโอเค”
คุณไพลินเล่าด้วยว่าเวลาเดินทางไปโปรโมทในประเทศต่างๆ หนึ่งในเรื่องที่คนเข้ามาถาม มาพูดคุยกับเธอมากที่สุดก็คือเรื่องน้องแมทริกซ์นั่นเอง
Credit: Netflix
- จากนักข่าวสู่คนทำสารคดีมือฉมัง
ไพลิน วีเด็ล เป็นนักข่าวสัญชาติไทย-อเมริกันที่ทำงานกับสื่อระดับโลกอย่าง อัลจาซีราห์, National Geographic และ The New York Times ก่อนจะหันมาจับงานด้านสารคดี ภาพยนตร์ และกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์สารคดีชื่อ 2050 Productions ในกรุงเทพฯ
ไพลินบอกกับเราว่าสิ่งที่ผลักดันให้เธอมาทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Hope Frozen นี้คือความอึดอัดใจจากความเป็นนักข่าว
“ตอนแรกเราเป็นช่างภาพข่าว เราต้องอธิบายข่าวโดยใช้ภาพใดภาพหนึ่ง เป็นภาพนิ่ง ต่อมาเราก็สอนตัวเองให้ทำวีดิโอ ก็มีเวลาเพิ่มขึ้น มี 90 วินาทีที่จะเล่าเรื่องข่าวให้คนดูฟัง พอเป็นนักข่าวมีเวลาน้อยในการเล่าเรื่อง เราก็รู้สึกอึดอัดที่มันยังมีประเด็นนู่นนี่นั่นที่เรายังไม่ได้เอ่ยถึงเลย พอเสนอให้กับคนดูเค้าก็เข้าใจแบบตื้นๆ มีความเข้าใจประมาณนึง แต่เข้าใจลึกซึ้งเนี่ยมันยาก เพราะมันมีเวลาแค่ 90 วิฯ ที่จะเล่าเรื่อง
จากนั้นเราก็ทำสารคดีที่มันยาวขึ้นๆ ทำให้ช่องข่าวอัลจาซีราห์บ้าง เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิคบ้าง เป็นสารคดีประมาณ 30 นาทีก็ยังรู้สึกไม่พออีก แล้วพอมาพบกับครอบครัวนี้แล้วรู้สึกว่ามันมีประเด็นอะไรเยอะแยะมากมายที่เราอยากทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น แล้วการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงมันต้องใช้เวลา
ส่วนคำถามที่ว่ามีความคิดจะทำ Hope Frozen ภาค 2 ต่อไหม เพราะเธอเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าที่ถ่ายทำมาถึงแค่นี้ก็เพราะงบหมด
แต่คำตอบที่เราได้รับก็แสดงให้เห็นถึงตัวตนของ ไพลิน วีเด็ล ว่าเธอนึกถึงความรู้สึกของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์เป็นอันดับแรกเสมอ ไม่ได้มองพวกเค้าเป็นคอนเทนต์ในการผลิตงานของตัวเองแต่อย่างใด
“คิดว่าสงสารทางครอบครัวมากกว่า คือถ้าจะทำภาคสองได้ก็คงอีกร้อยปี พันปี (หัวเราะ) ช่วงนี้ทางครอบครัวคงใช้ชีวิตธรรมดาเหมือนเดิม คงไม่มีประเด็นอะไรใหม่ๆ แล้วค่ะ”
Credit: Netflix
สุดท้ายก่อนจาก “ไพลิน วีเด็ล” บอกกับเราว่าอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่อยากทำ Hope Frozen คือ ตอนแรกก่อนที่จะไปพบกับครอบครัวเธอเองก็มีความคิดที่คล้ายๆ กับทุกคนว่า ครอบครัวนี้คิดอะไร ทำไมถึงตัดสินใจแช่แข็งน้องไอนส์ไว้ แต่พอไปพบครอบครัว ทำความเข้าใจ ใช้เวลากับพวกเขาแล้วก็มีความเข้าใจมากขึ้น
“สิ่งที่ผลักดันให้เราใช้เวลาและทำสารคดีขึ้นมา คืออยากให้ทุกคนทราบว่า ถึงแม้ว่าเราจะได้เจอคนที่คิดต่างจากเรา ในที่สุดแล้ว เค้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน พอเราใช้เวลากับเค้า พอเห็นว่าเค้าก็รักลูกเหมือนเรานะ พอเราอยู่บนโลกใบนี้ที่มีความแตกแยกกันเยอะ ก็อยากจะฝากไว้ว่า
ถึงแม้เราจะมีความคิดต่าง ก็ยังมีความเป็นมนุษย์ที่เราเป็นเหมือนกัน”
Credit: Netflix
- เกร็ดภาพยนตร์
Hope Frozen ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ มากมาย ดังต่อไปนี้
- รางวัลแนวคิดยอดเยี่ยมจากอาเซียน จาก Asian Side of the Doc ปี 2016
- รางวัลแนวคิดยอดเยี่ยมจากเอเชีย จาก Tokyo Docs ประเทศญี่ปุ่น ปี 2017
- ผลงานยอดเยี่ยมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก The Whickers ปี 2017
- รางวัลภาพยนตร์สารคดีต่างประเทศยอดเยี่ยม จาก HOT DOCS ประเทศแคนาดา ปี 2019 (รางวัลนี้ทำให้มีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์โดยอัตโนมัติ)
- รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเทศกาล Montevideo World Film Festival ประเทศอุรุกวัย ปี 2019
- รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเทศกาล Trujillo International Independent Film Festival ประเทศเปรู ปี 2019
- รางวัลภาพยนตร์ดีเด่นจากคณะกรรมการนักศึกษา เทศกาล INSCIENCE - International Science Film Festival ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี 2019
- รางวัลผลงานการผลิตร่วมดีเด่น จากเทศกาล Guangzhou Docs ประเทศจีน ปี 2019
- รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเทศกาล FESCISA - San Antonio Independent Film Festival ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2020
- รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเทศกาล Oxford Film Festival ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2020
- รางวัลสารคดียอดเยี่ยม International Emmy Awards 2021