Single’s Inferno กับดราม่า “เหยียดสีผิว” ผลพวงเมื่อ K-Pop ก้าวสู่ระดับโลก
กรณีศึกษาจากรายการ Single’s Inferno เมื่อวัฒนธรรมเกาหลีได้รับความนิยมไปทั่วโลกผ่านหนัง ซีรีส์ เพลง K-Pop แต่กลับกลายเป็นว่าค่านิยม “ชอบความขาว” ในสังคมเกาหลี ถูกคนดูฝั่งตะวันตกมองว่าเป็นการ “เหยียดสีผิว”
การประสบความสำเร็จระดับโลกของ K-content ทำให้วัฒนธรรม ค่านิยมของชาวเกาหลีใต้ได้รับการเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น เราจึงได้เห็นมาม่าเกาหลี (รามยอน) กิมจิ ไก่ทอดเกาหลี มีขายกันอย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ
แต่ขณะเดียวกัน ค่านิยมบางอย่างของชาวเกาหลีใต้ที่แตกต่างจากมาตรฐานสากลก็อาจจุดประเด็นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้มากกว่าเดิมเช่นกัน โดยตัวอย่างนี้มีให้เห็นจากรายการ Single's Inferno ทาง Netflix ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงไปทั่วโลก และกำลังเจอเข้ากับดราม่าเรื่อง “เหยียดสีผิว” อยู่ในขณะนี้
- “ผมชอบเพราะเธอดูขาว บริสุทธิ์”
"Single's Inferno" เป็นรายการหาคู่ด้วยการนำหนุ่มสาว 12 คนไปปล่อยบนเกาะร้างที่ถูกเรียกว่าเกาะนรก แล้วมีเกม มีภารกิจต่างๆ ให้ทำเพื่อศึกษานิสัยใจคอกัน ก่อนจะให้เลือกจับคู่กับคนที่ตัวเองพึงพอใจไปเดทบนเกาะสวรรค์ที่มีทุกอย่างครบครัน ไม่ลำบากเหมือนบนเกาะนรก
ส่วนดราม่าเรื่อง “เหยียดผิว” นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเปิดตัว Ep.1 กันเลยทีเดียว เมื่อผู้เข้าแข่งขันชาย 2 คนพูดว่าชอบผู้เข้าแข่งขันหญิงที่ชื่อ “จียอน” เพราะว่าเธอผิวขาว
“ผมชอบคุณจียอน ผิวเธอขาวมากเลย เห็นเธอเดินมาแล้วแบบว้าว เธอดูขาวและบริสุทธิ์ นั่นเป็นความประทับใจแรก สวยมากๆ เลยครับ” คือคำตอบของ “มุนเซฮุน” เมื่อถามถึงหญิงสาวที่เตะตาเขาที่สุดในการเจอกันครั้งแล้ว
เช่นเดียวกับผู้เข้าแข่งขัน “ชเวชีฮุน” ที่บอกว่าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง “เธอขาวมาก ผมชอบคนที่ผิวขาวแบบนี้”
สำหรับคนเอเชีย รวมถึงบ้านเรา ที่การมีผิวขาวถือเป็น beauty standard อย่างหนึ่ง อาจดูตอนนี้ผ่านไปโดยไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนดูในประเทศที่การพูดถึงสีผิวของบุคคลอื่นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พวกเขารู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากจนเกิดดราม่า “เหยียดสีผิว” ในรายการ Single’s Inferno ตามมา
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีศิลปิน K-Pop และดาราเกาหลีที่ต้องออกมาขอโทษเพราะเจอดราม่าจากแฟนต่างชาติ เมื่อพวกเขากระทำในสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องต้องห้ามในบางประเทศ หรือขัดต่อหลักปฏิบัติที่เป็นสากลโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากค่านิยมบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นเรื่องปกติในประเทศของตัวเอง
แต่เมื่อคอนเทนต์จากประเทศเกาหลีใต้ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างแบบนี้แล้ว ใครกันเป็นฝ่ายที่ต้องปรับตัว?
ฝั่งคนเสพย์คอนเทนต์ที่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับในความต่างทางวัฒนธรรมของประเทศอื่น หรือจะเป็นทางฝั่งเกาหลีใต้ที่อาจจะต้องมีการฉุกคิดว่า หรือค่านิยมบางอย่างในสังคมก็ควรต้องปรับให้มีความเป็นสากล หากอยากให้ K-content เป็นที่ถูกใจคนทั่วโลก
- “เหยียดผิว” หรือ “ค่านิยม”
สำหรับเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ Korea JoongAng Daily ได้ไปสัมภาษณ์ขอความคิดเห็นจากศาสตราจารย์ Han Geon-soo ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแห่งชาติ Kangwon ที่ให้ข้อมูลว่า การชอบคนผิวขาวในสังคมเกาหลีใต้นั้นมีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว และเป็นเพียง “ค่านิยม” หรือ “มาตรฐานความสวยงาม” ในสังคม ไม่ใช่ “การเหยียดผิว” แบบที่สังคมตะวันตกมองกัน
“นานมาแล้ว ในสังคมเกษตรกรรม การมีผิวขาวหมายถึงการไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งมีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะทำได้ ดังนั้น รูปลักษณ์ภายนอกที่บ่งบอกถึงการมีอำนาจแบบนั้นจึงถูกมองว่าสวย และเป็นสิ่งที่มาตรฐานความสวยงาม (beauty standard) ถูกกำหนดขึ้น
อย่างในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ความเจ้าเนื้อก็กลายเป็นมาตรฐานความสวยเช่นกัน เพราะมันหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งอาหาร (อีกนัยยะหนึ่งก็คือการมีอำนาจ) เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาหารกินมากจนอวบอ้วนได้”
ศ.ฮันอธิบายต่อว่าค่านิยมชอบคนผิวขาวยังคงมีอยู่มากในสังคมเกาหลีปัจจุบัน แต่การจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นการ “เหยียดสีผิว” หรือเป็นความ “อยากดูผิวขาวเหมือนฝรั่ง” นั้นไม่ถูกต้อง เพราะการชอบคนผิวขาวนั้นเกิดมานานนมก่อนที่ประเทศเกาหลีจะติดต่อกับชาวตะวันตกเสียอีก และไม่ได้เป็นการเหยียดสีผิวในบริบทเดียวกับที่คนสมัยใหม่คิดเลย
“มันมีต้นกำเนิดจากความอยากดูเหมือนคนที่ไม่ต้องทำงานกลางแจ้ง ไม่ใช่การยกย่องชื่นชมชาวตะวันตก อันที่จริงแล้ว ชาวเกาหลียุคโชซอน (ค.ศ. 1392-1910) ที่ได้เห็นชาวตะวันตกเป็นครั้งแรกกลับมองว่ารูปลักษณ์ของพวกเขาดูประหลาดด้วยซ้ำ”
เท่านั้นยังไม่พอ หากพิจารณาจากภาพเขียน "Portrait of a Beauty" ที่ถ่ายทอดความงามในอุดมคติของสตรีเกาหลีในยุคโชซอนออกมา สิ่งที่เราเห็นก็คือภาพผู้หญิงผิวขาว นัยน์ตาเรียวเล็ก ซึ่งมีมาก่อนที่อิทธิพลของชาวยุโรปจะเข้ามาแล้วเช่นกัน
“ผมเข้าใจนะว่าทำไมผู้ชมต่างชาติถึงได้ตีความการชอบคนผิวขาวออกไปแบบนั้น เพราะในสังคมหลากเชื้อชาติแบบพวกเขา เรื่องสีผิวนั้นเกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) แต่ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามีการเหยียดเชื้อชาติในเกาหลี ซึ่งเราต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป รวมไปถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประเมินมาตรฐานความสวยกันใหม่ด้วย”
- ต้องปรับตัวไหมเมื่อ K-culture ก้าวสู่ระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแฟนหนัง แฟนละคร แฟนเพลงเกาหลีที่อยู่ทางแถบเอเชียจะไม่ได้นำเรื่องผิวขาวไปเชื่อมโยงกับการเหยียดสีผิวแบบฝั่งตะวันตก แต่พวกเขาก็ยังมองว่าเกาหลีใต้เป็นสังคมที่ “คลั่งความขาว” เกินพอดีเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการแต่งภาพไอดอล หรือนักแสดงให้ออกมาขาวเนียนเกินจริง เรื่อยไปจนถึงการใช้รองพื้นที่ขาวเกินสีผิวจริงหลายเฉด ทั้งๆ ที่ศิลปินเกาหลีต่างก็มีผิวขาวใสกันมากอยู่แล้ว จนเกิดภาพศิลปินหน้าลอย บริเวณใบหน้ากับลำคอมีสีผิวไม่เท่ากันออกมาให้แฟนๆ แซวกันเล่นขำๆ อยู่บ่อยๆ
สำหรับ Jung Ho-jai นักเขียนและนักวิจัยด้านเอเชียศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Asia Studies) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า จากมุมมองของคนเกาหลี การกล่าวหาว่าพวกเขาเหยียดสีผิวนั้นไม่ยุติธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้คิดว่าคนทั่วโลกจะมาดูรายการเกาหลี
“ย้อนกลับไปตอนที่มีแต่ชาวเกาหลีดูรายการเกาหลี การพูดเรื่องสีผิวไม่ได้เป็นปัญหาเลยเพราะเรา (ชาวเกาหลี) ไม่ได้คิดเรื่องเชื้อชาติกันในสังคมที่มีเพียงชาติพันธุ์เดียว แต่พอมีแพลตฟอร์มสตรีมมิงทั่วโลกขึ้นมา มันเลยกลายเป็นปัญหา”
แต่ถึงแม้ว่าการชอบคนผิวขาวของชาวเกาหลีจะไม่ได้มีรากฐานมาจากการเหยียดสีผิว แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะปรับเปลี่ยนค่านิยมเรื่องมาตรฐานความสวย หรือ beauty standard กันใหม่
“เราอาจจำเป็นต้องมองย้อนกลับไปว่ามาตรฐานความสวยงามของเราเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องที่ผู้หญิง ถูกตัดสินด้วยรูปร่างหน้าตาของเธอในสายตาของผู้ชาย อีกอย่างหนึ่ง การที่มีประชากรต่างชาติในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันก็สมควรแล้วที่จะพิจารณาประเด็นพวกนี้กัน” ศ.ฮัน กล่าว
เช่นเดียวกับนักเขียน Jung ที่มองว่าเป็นเรื่องดีที่เริ่มมีการถกกันในประเด็นนี้ เพราะตอนนี้ผู้เสพย์ K-culture นั้นมีหลากหลาย แล้วดราม่าเรื่องการเหยียดผิวก็ไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของ K-content
“ไม่ว่าจะเป็นการชมหรือติ เราควรชื่นชมความงามของคนๆ หนึ่งโดยไม่ต้องเอ่ยพาดพิงไปถึงเรื่องสีผิวเลย”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ Korea JoongAng Daily
#SinglesInferno
#Netflix
#ซงจีอา
#จียอน
#มุนเซฮุน