ถอดบทเรียน ‘กองถ่ายซีรีส์เกาหลี’ กับปม 'ทารุณกรรมสัตว์'
จากเหตุการณ์ทรมานม้าจนตายในการถ่ายซีรีส์เกาหลี “The King of Tears, Lee Bang-won” จนเกิดกระแสวิจารณ์ไปทั่วโซเชียล ย้อนรอยเหตุการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีและฮอลลีวูด ปัญหาซ้ำซากที่แก้ไม่ตก
(บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์)
เมื่อวันพุธที่ 19 ม.ค. "องค์กรพิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์แห่งเกาหลี" หรือ KAWA (Korean Animal Welfare Association) ได้เผยคลิปวิดีโอเบื้องหลังการถ่ายทำของซีรีส์เรื่อง The King of Tears, Lee Bang-won โดยในคลิปเป็นฉากที่ม้าสีดำวิ่งด้วยความเร็ว แล้วเสียหลักอย่างกะทันหัน ทำให้ม้าล้มฟาดลงพื้นอย่างแรง
เมื่อสังเกตในคลิปจะพบว่า ที่ขาหลังของม้ามีเชือกผูกไว้ เมื่อม้าวิ่งมายังจุดที่กำหนด ทีมงานจำนวนมากจะช่วยกันดึงเชือก เพื่อกระชากให้ม้าล้มลง แม้ว่าหลังจากการถ่ายทำม้าจะสามารถลุกขึ้นได้ แต่ม้าตัวดังกล่าวได้ตายลงในสัปดาห์ต่อมา จากอาการบอบช้ำภายใน
ทันทีที่คลิปดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นที่พูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์ในเกาหลีใต้อย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์
ต่อมา ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ม.ค. ทาง "สถานีโทรทัศน์ KBS" ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า
“ทางสถานีเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด โดยทางกองถ่ายได้จัดเตรียมและตรวจสอบสภาพพื้นที่ก่อนการถ่ายทำแล้ว แต่ส่วนหัวของม้ากระแทกกับพื้นรุนแรงเกินกว่าที่คาดคิดไว้”
สถานีได้ระงับการออกอาการซีรีส์ The King of Tears, Lee Bang-won เป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวมถึงตอนพิเศษของซีรีส์ที่จะออกอากาศในช่วงวันหยุดเดือนก.พ. ที่จะถึงนี้ก็จะถูกระงับด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ฉากดังกล่าวที่อยู่ในซีรีส์ตอนที่ 7 ได้ถูกตัดออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าความรับผิดชอบของ KBS อาจยังไม่พอ มีประชาชนไปตั้งกระทู้ในเว็บไซต์คำร้องสาธารณะของประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ (Blue House) 2 กระทู้ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยกระทู้หนึ่งเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศซีรีส์เรื่องนี้ และอีกกระทู้เรียกร้องให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยของสัตว์สำหรับการถ่ายทำในอุตสากรรมบันเทิง ซึ่งมีผู้ลงชื่อทั้ง 2 กระทู้แล้วมากกว่า 65,000 และ 143,000 รายชื่อแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 21.00 น.)
หลังจากมีแถลงการณ์ของ KBS ออกมา "องค์กรสนับสนุนสิทธิสัตว์แห่งเกาหลี" หรือ KARA (Korea Animal Rights Advocates) ได้ออกมาตอบโต้ว่า แม้ KBS จะบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่กลับมีการวางแผนอย่างรอบคอบ และทำร้ายม้าอย่างมีเจตนา พร้อมทั้งกล่าวว่ากองถ่ายได้เลือกม้าแข่งที่ปลงเกษียณชื่อว่า "คามิ" (Kami) มาเข้าฉาก ตลอดชีวิตของคามิถูกใช้เป็นเครื่องสร้างความบันเทิงแก่มนุษย์ หวังว่าหลังจากนี้จะไม่มีสัตว์ที่ต้องมาตายเหมือนคามิอีก สังคมควรพัฒนาไปถึงจุดที่ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์แล้ว
ขณะที่ KAWA ออกมาเปิดเผยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สัตว์ถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากในกองถ่าย จากเหตุการณ์นี้ทางองค์กรจะพยายามผลักดันให้เกิดมาตรการความปลอดภัยแก่สัตว์ในกองถ่าย
โดยทั้งสององค์กรได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อสถานีโทรทัศน์ KBS เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการทารุณกรรมสัตว์ในกองถ่ายโดยทีมโปรดิวเซอร์เรื่องนี้ ในซีรีส์เรื่อง “ชองโดจอน ยอดขุนนางปฐมกษัตริย์” (Jeong Do-jeon) ที่ออกฉายในปี 2557 มีฉากม้าร่วงกระแทกพื้นในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
- การทารุณกรรมสัตว์ในกองถ่ายของฮอลลีวูด
การทารุณกรรมไม่ได้มีแค่ในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีเท่านั้น แต่วงการบันเทิงฮอลลีวูดก็มีการทำร้ายสัตว์ระหว่างการถ่ายทำเช่นเดียวกัน ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2502 ในภาพยนตร์ในตำนานอย่าง “เบนเฮอร์” (Ben Hur) มีการฆ่าม้าไปกว่า 100 ตัว ตลอดการถ่ายทำ เพียงเพราะม้านั้นเดินกะเผลกเท่านั้น และยังมีอยู่เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง
“แรมโบ้ นักรบเดนตาย” (First Blood) ปี 2525 มีหนูถูกฆ่าไปจำนวนมาก ด้วยการเผา บีบให้แหลกคามือ และเหวี่ยงติดกำแพง
ในปี 2546 มีรายงานว่ากองถ่าย “คืนชีพกองทัพโจรสลัดสยองโลก” (Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl) ถ่ายทำฉากระเบิดในมหาสมุทรตลอดการถ่ายทำ 4 วัน จนทำให้สัตว์น้ำตายไปจำนวนมาก
ขณะที่ ปี 2556 ในการถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของจักรวาลมิดเดิล เอิร์ธ อย่าง “เดอะ ฮอบบิท: การผจญภัยสุดคาดคิด” (The Hobbit: An Unexpected Journey) มีสัตว์ตายไปทั้งหมด 27 ตัว รวมถึงแกะและแพะที่ตายไปจากการขาดน้ำและอ่อนเพลีย และจมน้ำในลำธาร และในปีเดียวกันนั้นเอง เสือโคร่งในเรื่อง “การเดินทางของพาย พาเทล” (Life of Pi) เกือบจมน้ำตายขณะถ่ายทำ โดยไม่มีใครคอยดูแล
และกรณีล่าสุด ในภาพยนตร์เรื่อง “หมา เป้าหมาย และเด็กชายของผม” (A Dog's Purpose) ที่เข้าฉายในปี 2559 มีการฉุดกระชากสุนัขพันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ดในเรื่องให้ลงไปในน้ำที่เต็มไปด้วยฟองคลื่น ทั้ง ๆ ที่สุนัขตื่นกลัว และพยายามหนี
เหตุการณ์การทารุณกรรมสัตว์ระหว่างการถ่ายทำในฮอลลีวู้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้ จะมี โครงการ "No Animals Were Harmed" ขององค์กร “Animal American Humane Association” หรือ AHA เป็นโครงการที่หน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลความปลอดภัยของสัตว์ในกองถ่ายของภาพยนตร์ฮอลลีวูด รวมถึงมีแนวทางในการดูแลและปกป้องสัตว์แต่ละชนิดที่ใช้ในกองถ่าย มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แล้วก็ตาม
หากภาพยนตร์เรื่องใดที่ AHA พบว่ามีการทารุณกรรมสัตว์จนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทาง AHA ก็จะไม่ออกใบรับรองให้ แต่ไม่ได้มีบทลงโทษใด ๆ สำหรับภาพยนตร์หรือกองถ่ายที่มีการทารุณกรรมสัตว์ นอกจากนี้ สื่อหลายสำนัก และองค์กรพิทักษ์สัตว์ต่าง ๆ เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ AHA ว่าไม่มีการตรวจสอบที่รอบคอบ หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ในกรณีของ ฮอบบิท ที่มีสัตว์ตายไป 27 ตัว กลับได้รับใบรับรองว่าไม่มีสัตว์ตัวได้รับอันตรายจากการถ่ายทำ หรืออย่างกรณีเสือโคร่งเกือบจมน้ำตายใน การเดินทางของพาย พาเทล AHA ก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้ต่อสาธารณชน
AHA ได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจาก AHA เป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากค่ายภาพยนตร์ต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ทารุณกรรมสัตว์ในกองถ่าย จึงอาจทำให้ AHA เลือกที่จะ “หลับตาข้างหนึ่ง” แทนที่จะออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สัตว์ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงขององค์กร
ที่มา: Eluxe Magazine, Hollywood Reporter, Korea Joongang Daily, PBS, Straits Times, The Denver Channel