ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้
แฟชั่นแนว “Gender Fluidity” เสื้อผ้าไม่ระบุเพศ เทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่ “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” เลือกใส่ใน มิวสิควิดีโอเพลงใหม่ “I'll Do It How You Like It” และกำลังเป็นที่พูดถึงในโลกทวิตเตอร์ขณะนี้
สร้างความฮือฮาและกลายเป็นกระแสทั่วโซเชียลในทันทีหลังจากที่ “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลงใหม่ “ll Do It How You Like It” เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา จน #PPKritDoItOUTNOW สามารถติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยในเวลาไม่นาน และมียอดเข้าชมผ่าน 1 ล้านครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้พูดถึงคือแฟชั่นเครื่องแต่งกายของพีพี ที่เป็นแนว “Gender Fluidity” เสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก เห็นได้จากงานแฟชั่นโชว์หลายแห่งที่มีเสื้อผ้าแนวนี้แฝงอยู่ในแทบทุกโชว์ และงานลอนดอน แฟชั่น วีค (London Fashion Week) ประกาศว่าโชว์ในการจะไม่มีโชว์เสื้อผ้าแบบกำหนดเพศอีกต่อไป
"แฮร์ริส รีด" (Harris Reed) แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ออกแบบเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ได้รับรางวัล “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Leader of Change) จากงานบริติช แฟชั่น อวอร์ดส (British Fashion Awards) หนึ่งในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการแฟชั่น
แบรนด์ต่าง ๆ ก็ต่างรับกระแสนี้ด้วยเช่นกัน แบรนด์หรูอย่างกุชชี (Gucci) ได้ออกเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า และกระเป๋าที่ไม่มีกรอบของเพศครอบอยู่ ภายใต้ชื่อ “Gucci MX” ขณะที่ “Eytys” แบรนด์รองเท้าสัญชาติสวีเดน ได้ยกเลิกการระบุเพศในสินค้าของตน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามต้องการ มีอิสระมากขึ้น
อีกทั้งเหล่าบรรดาเซเลบริตี้ใส่เสื้อผ้าแนวนี้ไปงานประกาศรางวัล และงาน “เมตกาลา” (Met Gala) งานการกุศลที่ใหญ่ที่สุดของวงการแฟชั่น แต่ที่เกิดกระแสไปทั่วโลกคือการที่ “แฮร์รี สไตลส์” (Harry Styles) ใส่ชุดราตรีขึ้นปกนิตยสาร Vogue
ความจริงแล้วแฟชั่นแนว Gender Fluidity ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร และมีมานานแล้ว
แฮร์รี่ สไตลส์ บนปกนิตยสาร Vogue
--เครดิตรูป: นิตยสาร Vogue--
- ย้อนรอยประวัติศาสตร์เทรนด์ Gender Fluidity
แฟชั่นไม่ระบุเพศ (Gender Fluidity หรือ Androgynous) มีมาตั้งแต่ปี 2456 โดย “โคโค ชาแนล” (Coco Chanel) ตัดเย็บกางเกงสำหรับผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้สามารถเคลื่อนไหวและทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องลำบากสวมใส่กระโปรงยาวแบบยุควิคตอเรียน
หลังจากนั้น ในยุคทศวรรษที่ 1930 ดาราดังของวงการฮอลลีวูดอย่าง “แคทารีน เฮปเบิร์น” (Katharine Hepburn) และ "มาร์เลเนอ ดีทริช" (Marlene Dietrich) ได้แต่งตัวด้วยชุดสูทพร้อมหมวกทรงสูงแบบผู้ชาย ไม่เพียงแต่การใส่เสื้อผ้าผู้ชายเท่านั้น ทั้งคู่ยังมีทัศนคติหัวก้าวหน้า และท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงในสมัยนั้น
แคทารีน เฮปเบิร์น ในชุดสูท
เห็นได้จากวลีเด็ดของเฮปเบิร์นที่กล่าวกลับ เคลวิน ไคลน์ว่า “ทุกครั้งที่ฉันได้ยินผู้ชายพูดว่า เขาชอบให้ผู้หญิงใส่กระโปรง ฉันก็จะพูดว่า เอาสิ ลองใส่กระโปรงดู” ขณะที่ดีทริซมีฉากจุมพิตผู้หญิง ขณะที่เธอสวมชุดสูทของผู้ชาย ในภาพยนตร์เรื่อง “Morocco” (2473) ซึ่งได้กลายเป็นฉากที่หนึ่งที่น่าจดจำจากยุคสมัยนั้น
มาร์เลเนอ ดีทริช ในชุดสูท สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Morocco
เมื่อเข้าสู่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงต้องกลับไปสวมกระโปรง และทำหน้าที่แม่บ้านอีกครั้ง ตามนโยบายสร้างชาติของสหรัฐ ซึ่งทำให้กลุ่มเฟมินิสต์ คลื่นลูกที่ 2 (Second-wave Feminism) ออกมาเรียกร้องเรื่องเสื้อผ้าที่สามารถใช้ร่วมกันทุกเพศ (Unisex) และไม่ได้ต้องการภาพเหมารวมที่มองว่าผู้หญิงจะต้องเป็นทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือนเท่านั้น
ถัดมาปี 2509 “อีฟส์ แซ็งต์ โลร็องต์” (Yves Saint Laurent) ได้ให้กำเนิดชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงเป็นครั้งแรก ทำให้ผู้หญิงมีอิสระในการแต่งกาย และเห็นว่าผู้หญิงก็สามารถมีความแข็งกร้าว และมีความเป็นชายได้เช่นกัน และหลังจากนั้นผู้หญิงสามารถสวมใส่กางเกงได้เป็นปรกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป มาจนถึงปัจจุบัน
ชุดทักซิโด้ผู้หญิงตัวแรกของโลก
--เครดิตรูป: เว็บไซต์ Musee Yves Saint Laurent Paris--
- เมื่อผู้ชายละเมิดบรรทัดฐานทางสังคม
ขณะเดียวกัน ผู้ชายเริ่มมีแนวคิดการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ไม่จำกัดเพศด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “Peacock Revolution” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 จนถึง ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1970 ที่ผู้ชายเริ่มไว้ผมยาว กรีดอายไลเนอร์ แต่งตัวด้วยสีสันจัดจ้าน สดใส ผ้าพิมพ์ลายต่าง ๆ ขนนก ตลอดจนชุดกรุยกราย หรือชุดที่มีความเป็นหญิง นำทัพโดยนักร้องชื่อดังแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็น “เดอะ บีเทิลส์” (The Beatles), "เดวิด โบวี" (David Bowie) และ “จิมมี เฮนดริกซ์” (Jimi Hendrix)
เดวิด โบวี ในชุดบอดี้สูท สำหรับแสดงโชว์ในฐานะ Ziggy Stardust
ในช่วงดังกล่าว เป็นยุคที่การเป็นคนรักเพศเดียวกันไม่ได้ถือว่าเป็นอาชญากรรมอีกต่อไป มีการนำสไตล์การแต่งตัวของกลุ่มเกย์มาปรับใช้กับกลุ่มชายแท้ ซึ่งเป็นการท้าทายต่อบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมได้กำหนดไว้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสำรวจและค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอีกด้วย
ถัดมาในยุค 80 คงจะไม่มีใครโดดเด่นเท่ากับ “ปรินส์” (Prince) นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดัง เจ้าของเพลงฮิต “Purple Rain” และ “เกรซ โจนส์” (Grace Jones) นางแบบชาวจาเมก้า ผู้ปฏิวัติวงการเพลงและวงการแฟชั่นที่อยากจะใส่อะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ทำลายเส้นแบ่งของเพศชายและเพศหญิงไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ
Prince ในชุดสูทสีชมพูลายพิมพ์ พร้อมขนเฟอร์สีชมพู
เกรซ โจนส์ในลุคทรงผมลานบินที่เป็นที่จดจำของคนทั่วโลก
--เครดิตรูป: เฟซบุ๊ค Grace Jones--
ภาพของ "เคิร์ท โคเบน" (Kurt Cobain) นักร้องนำผู้ล่วงลับ แห่งวงเนอร์วานา (Nirvara) ไว้ผมยาว กรีดอายไลเนอร์ และสวมชุดเดรสตุ๊กตา พร้อมคีบบุหรี่ในมือ กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Gender Fluidity ของยุค 90 นี่สิ่งที่โคเบนตั้งคำถามถึงข้อจำกัดที่สังคมได้กำหนดเอาไว้ให้แต่ละบุคคล การแต่งกายของโคเบนจึงเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับชายแท้ อีกทั้งโคเบนและวงเนอร์วานายังเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ทำให้แนวคิดการต่อต้านการเหยียดเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ และการไม่กีดกันทางเพศได้รับความสนใจขึ้นด้วย
เคิร์ท โคเบน บนปกนิตยสาร The Face
- Gender Fluidity ในประเทศไทย
ในปัจจุบัน การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบบ Gender Fluidity กลายเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนรุ่นใหม่ที่เลือกใส่เสื้อผ้าเพียงเพราะต้องการใส่ ชอบในเสื้อผ้าตัวนั้น ๆ ไม่ได้เอาเรื่องความเป็นเพศมาเป็นตัวกำหนด ดังที่ “จอนนี่ โยฮันส์สัน” (Jonny Johansson) ผู้ก่อตั้ง “Acne Studios” แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของสวีเดน กล่าวว่า “ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเสื้อผ้าได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาเลือกเสื้อผ้าจากรูปทรง เนื้อผ้า การตัดเย็บ เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้เลือกเพราะต้องการให้สังคมมายอมรับ ว่าจะต้องใส่เสื้อผ้าตามเพศของตน”
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย มีดารานักแสดงหลายคนที่แต่งตัวแนวแฟชั่นไม่จำกัดเพศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “เจมส์ - ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ” “ตน - ต้นหน ตันติเวชกุล” “เขื่อน - ภัทรดนัย เสตสุวรรณ” และ พีพี - กฤษฏ์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจในสไตล์การแต่งตัวดังกล่าว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เข้าใจและต่อต้าน ดังที่ เขื่อนเคยให้สัมภาษณ์ใน รายการแฉ ว่า มีคนต่างชาติส่งข้อความขู่ฆ่าเพราะไม่ชอบที่แต่งตัวด้วยชุดเดรส
(ซ้ายบน) เจมส์ - ธีรดนย์, (ขวาบน) ตน - ต้นหน, (ซ้ายล่าง) “เขื่อน - ภัทรดนัย” และ (ซ้ายล่าง) พีพี - กฤษฏ์
ขณะที่เจมส์ ธีรดนย์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GQ ถึงประเด็นนี้ว่า แม้จะยังมีคนที่ไม่ชอบในสไตล์การแต่งของเขา มันคือความสุขส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องไปทำตามที่คนอื่นบอก ดังนั้นเวลาซื้อเสื้อผ้าเขาจึงไม่อายที่จะเดินเข้าร้านเสื้อผ้าผู้หญิง
เมื่อถามถึงเวลามีคอมเมนท์มาถามถึงรสนิยมทางเพศของเขา เขาตอบว่า “ผมชินแล้วครับ ผมโดนมาเยอะมาก ที่จริงถ้าไปลองดูคอมเมนท์พวกนั้น จะรู้เลยว่าการที่เรามีทัศนคติต่อคนคนหนึ่งที่แต่งตัวสาว แล้วคุณไปบอกว่าเขาแต่งตัวสาว มันทำให้รู้เลยว่าทัศนคติต่อ LGBTQ+ ของคุณเป็นอย่างไร มันสะท้อนกันหมดเลยนะ ว่าสังคมเราถูกปลูกฝังกันมาแบบไหนหรอ ถึงมีความคิดที่ไม่เปิดขนาดนี้”
การเข้ามาของแฟชั่นแบบ Gender Fluidity อาจจะยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับคนทั่วไป แต่แฟชั่นแบบนี้ทำให้เกิดความตระหนักและท้าทายมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เพียงแค่เทรนด์ แต่มันคือตัวตนของใครหลายคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทุกคนย่อมมีสิทธิสวมใส่เสื้อผ้าที่ตนเองต้องการ และมีความสุขเมื่อได้สวมใส่
ที่มา: BBC, Bustle, Teen Vogue, The Guardian, The Matter, The People, Translate Media, Vogue Scandinavia