“จาคี” นักออกแบบจิวเวลรี่ : ผู้ไม่สยบยอม"มะเร็งระยะสุดท้าย"
"จาคี" ก็ไม่ต่างจากคนอื่น ไม่นึกไม่ฝันว่า วัยหนุ่มจะเป็น"มะเร็งระยะสุดท้าย" เขาผ่านโรคร้ายมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่อาการป่วยไม่ธรรมดา และเมื่อหายป่วยเขายังเปิด“เพจจาคี มะเร็งไดอารี่”
จักร-จาคี ฉายปิติศิริ นักออกแบบจิวเวอรี่ ที่เคยป่วยเป็นมะเร็งเมื่ออายุ 27 ปี ทั้งๆ ที่เป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย ความหวังริบหรี่ รักษาตัวอยู่ 1 ปี แม้ไม่ง่ายที่จะผ่านพ้นไปได้ แต่เขาก็ทำได้ และติดตามจนมั่นใจว่ามะเร็งไม่กลับมาอีก 4 ปี
จากวันนั้นถึงวันนี้ 15 ปีที่เขาห่างหายจากมะเร็ง และ 6-7 ปีที่ผ่านมาเขาทำเพจ จาคี มะเร็งไดอารี่ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งด้วยภาษาที่ง่ายๆ โดยไม่ได้หวังผลใดๆ
ย้อนไปถึงช่วงแรกที่ป่วยเป็นมะเร็ง เขาไม่ต่างจากคนทั่วไป ช็อคและตกใจสุดขีด เพราะตอนนั้นอายุยังน้อย ไม่ได้คิดว่า อีกไม่กี่ปีจะจากโลกนี้ไป ...
“คำว่า ระยะสุดท้าย คนทั่วไปจะรู้สึกว่า ทำอะไรไม่ได้แล้ว เวลาฟังก็รู้สึกแย่ที่วาระสุดท้ายมาถึงแล้ว ผมอยากบอกทุกๆ คนว่า ไม่ควรใช้คำนี้”
เมื่อไม่ยอมสยบกับคำว่า “ระยะสุดท้าย ” เขาผ่านโรคร้ายมาได้อย่างไร และนี่คือบทสนทนาระหว่าง จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจและจาคี...
เป็นมะเร็งตอนอายุ 27 ปี ?
ผมก็เหมือนคนทั่วไป ตอนหนุ่มๆ ก็ทำงานอยากสร้างเนื้อสร้างตัว และวันหนึ่งมีอาการปวดท้องมาก ก็เลยไปหาหมอ แล้วพบว่า เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
ก็คิดว่ายังอายุน้อย คงไม่เป็นอะไรมาก ตอนนั้นคนรอบข้างก็ไม่บอกเรา และผมก็ไม่ใช่คนชอบคิดล่วงหน้า พอหาหมอหลายครั้ง หมอก็เริ่มบอกว่าเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะรับมือไหว
พอเจอหมอผมก็ถามว่า จะอยู่ได้นานแค่ไหน หมอบอกว่า “ตอบไม่ได้ ต้องดูว่าการรักษาจะคุ้มโรคได้ไหม ก็เลยคิดว่า จะพ้นปีนี้ไหม”
ใช้เวลารักษาตัวนานกี่ปี
ตรวจเจอมะเร็งปลายปี 2549 ตรวจละเอียดเดือนมกราคมปี 2550 แล้วรักษาตัวประมาณ 1 ปี ไม่ได้ทำงานต้องเข้าออกโรงพยาบาล โชคดีงานที่ทำเป็นงานฟรีแลนด์ ตอนนั้นคนรอบข้างให้หยุดทำงาน ไม่อยากให้เครียดกับการรักษา
พอจบการรักษาก็กลับมาทำงาน ไม่อยากอยู่แบบไม่มีคุณค่า พยายามใช้ชีวิตปกติ ต้องทำงานอะไรสักอย่าง ตามสถิติการรักษามะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนใหญ่รักษาไม่ค่อยหาย และแย่ลงเรื่อยๆ
แล้วทำไมคุณหายจากมะเร็งได้
มะเร็งมีหลายชนิด โอกาสการหายแตกต่างกัน ผมเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผมถูกตัดส่วนที่เป็นเนื้อร้ายไปเยอะ เนื้อส่วนที่เหลือผมต้องรับเคมีบำบัด ตอนนั้นฆ่าเชื้อมะเร็งที่เหลือได้มากแค่ไหน ผมก็ตอบไม่ได้
หลังจากนั้นหมอให้ยาต่อ แล้วผมทนกับการรักษาได้จนจบ ฆ่าเชื้อมะเร็งที่เหลือได้ กว่าจะถึงจุดที่เรียกว่าหายต้อง 5 ปี ไม่ใช่ว่ารักษาจบวันนั้นแล้วหาย
ช่วงเวลาที่ท้อ อะไรทำให้คุณสู้เต็มที่
การรักษาไม่ใช่ราบรื่น ทั้งเจ็บ ทั้งปวด เส้นเลือดหาไม่เจอ หมอต้องควานหา ผมก็มีจุดที่ท้อ ต้องผ่าตัดเพิ่มตรงหน้าอก เพื่อให้ยาเคมีบำบัดง่ายขึ้น เมื่อ 15 ปีที่แล้วยาเคมีบำบัดที่รับ ผมข้างเคียงเยอะ ต่างจากเคมีบำบัดปัจจุบัน
จำได้ว่าวันที่เราท้อมากๆ ผมบอกแม่ว่า เหนื่อย ปรากฏว่า แม่เข่าทรุด หลังจากนั้นเราไม่กล้าพูดว่าเหนื่อยอีกเลย เพราะแม่เหนื่อยกว่าเรา
กำลังใจมาจากคนในครอบครัว คนรอบข้าง เขาอยากให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไป อยากให้เราสู้ ซึ่งบางทีเราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเราอย่างเดียว
ถ้าตอนนั้นไม่ป่วยเป็นมะเร็งจะคิดแบบนี้ไหม
ไม่ว่าเราจะสูงสุด ต่ำสุด มีตำแหน่งอะไรในสังคม วันที่เราทุกข์ เราเจ็บ ครอบครัวอยู่ข้างเราเสมอ อันนี้คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในวันๆ นั้น วันที่ผมร้องไห้ วันที่ผมกลับมาสู้ พ่อแม่และน้องยังอยู่ข้างๆ ผม
อีกเรื่องที่ผมได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ก็ต้องก้าวต่อไป หยุดไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นยังไง มีคนมากมายไม่ได้คิดว่าผมจะหายป่วย ผมเองก็คิดว่า ชีวิตคงไปต่ออีกปีเดียวสองปี
ชีวิตมีสองด้านเสมอ อยู่ที่ว่าเราเลือกที่จะไปข้างหน้าแบบมีความสุขกับคนรอบข้าง หรือใช้เวลาที่เหลืออยู่แบบทุกข์ๆ ในวินาทีสุดท้าย
ถ้าต้องจากไปจริงๆ ก็ขอจากไปอย่างมีความสุข ไม่อยากให้ใครมาเสียใจกับเราในช่วงสุดท้ายของชีวิต
หลังจากหายป่วยจากมะเร็งระยะสุดท้าย มีคนถามคุณเรื่อยๆ ว่าดูแลสุขภาพอย่างไร
เรื่องนี้มีองค์ประกอบหลายอย่าง กำลังใจจากคนรอบข้าง การรักษาของคุณหมอ รวมทั้งต้นทุนสุขภาพ ผมไม่ได้ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ได้ใช้ร่างกายเยอะ อันนี้อาจเป็นส่วนเสริมทำให้ร่างกายฟื้นเร็ว
ถ้าถามว่า ต้องกินอาหารอย่างไร ผมเน้นกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่จำเป็นต้องเป็นมังสวิรัติ กินให้หลากหลาย อย่ากินซ้ำๆ แบบเดิมๆ หมอบอกไม่ดีต่อสุขภาพ
แม้จะมีคนถามเรื่องนี้บ่อยๆ ผมเต็มใจตอบคำถาม ผมตั้งใจแล้วว่า ถ้าผมหายป่วย ผมจะบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์
เคยมีบางคนบอกว่า ถ้าหายจากมะเร็งแล้ว ต้องกินผักตลอดชีวิต แล้วจะหายป่วยทำไม ผมก็เลยตั้งปณิธานไว้เลยว่า ถ้าฉันหายจากมะเร็ง ฉันจะไม่สุดโต่ง
ไม่สุดโต่งในเรื่องการกิน ?
ไม่เลยครับเจ็บป่วยก็รักษา รักษาเพื่อที่จะมีชีวิตปกติต่อไป
ไม่จำเป็นต้องงดเนื้อสัตว์หรือเป็นมังสวิรัติ นั่นก็คือเคล็ดไม่ลับของคุณ ?
บางทีการไม่กินเนื้อสัตว์หรือเป็นมังสวิรัติสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง อาจได้สารอาหารไม่เพียงพอ และการกินมังสวิรัติ รับรองไม่ได้จะไม่ป่วยเป็นมะเร็ง มีหลายคนที่ก่อนหน้านั้นกินมังสวิรัติก็เป็นมะเร็ง หลังจากนั้นก็เลยกินปกติ เพราะเขารู้ว่าไม่ตอบโจทย์
ถ้าถามผมว่า ตัวช่วยหลังจากเป็นมะเร็งต้องทำอย่างไร หลักๆ คือมีกำลังใจ ดูแลทั้งตอนรักษาและหลังการรักษา ยกตัวอย่าง บางคนต้นทุนสุขภาพไม่ดี แต่เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า ก็ย่อมดีกว่าคนที่ทำแบบเดิม
มีเรื่องไหนที่ดูแลเป็นพิเศษ
มายด์เซ็ตต้องเปลี่ยน ก่อนหน้าที่จะป่วย ผมไม่ออกกำลังกาย เมื่อป่วยแล้ว ผมรู้เลยว่า การออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ
แรกๆ ผมเริ่มออกกำลังกายเบาๆ รำไทเก็ก ก็รู้สึกดี เลือกกินอาหารให้เหมาะกับวิถีชีวิต ผมไปหาหมอติดตามอาการตลอด ผมคิดว่าจะทำแบบนี้จนกว่าจะจากโลกนี้ไป
ตอนเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คิดว่าจะหายป่วยไหม
ไม่คิดว่าจะหายป่วย ถ้าตอนนั้นหมอบอกว่าผมจะอยู่ได้แค่ปีหนึ่ง ผมจะบอกคนรอบข้างว่า ผมทำดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องทุกข์กับผมหรอก
หลังจากหายป่วย คุณมาทำเพจ “จาคี มะเร็งไดอารี่” เพื่อบันทึกเรื่องราวในชีวิตหรือเพื่อเล่าประสบการณ์ให้คนเป็นมะเร็ง?
ผมทำเพจ เพราะผมต้องตอบคำถามคนป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่ป่วยซ้ำไปซ้ำมา ถ้าไม่อยากตอบบ่อยๆ ก็เขียนบทความลงเฟซบุ๊ค ยิ่งทำก็ยิ่งมีคนตามอ่าน ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้คาดหวัง ก็แค่เล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา อ้างอิงที่หมอพูดกับผม เพื่อให้คนเอาไปใช้ประโยชน์ แค่นั้นครับ
ผมอยากสื่อสารกับคนที่อยากรู้ว่า ผ่าตัดเป็นยังไง รักษาแบบไหน ก็มีคนป่วยบางคนอยากคุยกับผมอีก
จนเป็นที่มาของการไลฟ์สดเรื่องการดูแลสุขภาพในเพจจาคี มะเร็งไดอารี่
พอผมทำเพจให้ความรู้คนป่วยมะเร็งมา 6-7 ปี ก็มีงานหลังบ้านเพจที่ผมจัดเวลาให้ลูกเพจที่ inbox เข้ามา บางคนมาพร้อมอาการซึมเศร้า บางคนคาดหวัง ผมเจอทุกรูปแบบ ผมโชคดีที่เคยได้รับการอบรมการให้คำปรึกษาผู้ป่วย ต้องจัดการอารมณ์ความรู้สึกยังไง
เมื่อต้องตอบคำถามใน inbox เยอะๆ ผมจึงหาทางไลฟ์สดทุกวันอาทิตย์ เปิดโอกาสให้คนอยากรู้ซักถาม พอกลัวคนเบื่อก็ชวนคนมีความรู้มาช่วยกันเล่าเรื่อง
เพจที่ทำก็ลงทุนเอง ทำด้วยใจอย่างเดียว ตอนหลังเริ่มมีคนให้การสนับสนุน ผมใช้ความรู้ตอนทำงานกับเครือข่ายผู้ป่วย ได้ไปคุยในวงสัมมนากับแพทย์ ในฐานะผู้ป่วยมะเร็ง
ถ้าใครก็ตามป่วยเป็นมะเร็ง คุณมีคำแนะนำอย่างไร
เมื่อรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็ง แรกๆ จะตกใจ ช็อก ก็เสียใจให้พอ จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น แล้วเริ่มมีสติ หลังจากทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ให้วางแผนการรักษาจะใช้สิทธิบัตรทอง บัตรประกันสังคม หรือบัตรข้าราชการ
คนที่เครียด หรือกังวล เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และอีกอย่างถ้าจะหาข้อมูลมะเร็งให้หาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่ากลัวจนเกินเหตุ อย่าเอาเคสคนอื่นมาเปรียบเทียบ แล้วทำให้ไม่ยอมรับการรักษา เพราะแต่ละคนมีรายละเอียดต่างกัน
เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก็มีโอกาสรอด?
คำว่า ระยะสุดท้าย เวลาคนไข้ฟังก็รู้สึกแย่ที่วาระสุดท้ายมาถึงแล้ว ผมอยากบอกทุกๆ คนว่า ไม่ควรใช้คำนี้
เพราะถ้าพูดถึงมะเร็งระยะสุดท้าย คนทั่วไปจะรู้สึกว่า ทำอะไรไม่ได้แล้ว อย่างมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถ้าตรวจเจอก็เป็นระยะ 3-4 เป็นระยะแพร่กระจายแล้ว
ดังนั้นบอกไม่ได้หรอกว่า เมื่อเป็นมะเร็งระยะ 3-4 จะรักษาไม่หาย มียาและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องเสียชีวิตเสมอไป