“หน้าร้อน” ทีไร หวั่นใจค่าไฟพุ่ง รวมเทคนิคอยู่บ้านให้ “ประหยัดไฟ”

“หน้าร้อน” ทีไร หวั่นใจค่าไฟพุ่ง รวมเทคนิคอยู่บ้านให้ “ประหยัดไฟ”

เปิดแอร์เย็นๆ ช่วง “หน้าร้อน” อาจจะทำให้สุขกาย แต่ “ค่าไฟ” ที่เพิ่มขึ้นคงทำให้เจ้าบ้านไม่สบายใจนัก ชวนรู้เทคนิคการอยู่บ้านในหน้าร้อนที่ช่วยประหยัดค่าไฟ ทั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และทริคเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

ร้อนอะไรขนาดนี้...ความในใจของเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้อง Work From Home ทำงานที่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งเดือนมีนาคมนับเป็น “หน้าร้อน” อย่างเป็นทางการของประเทศไทย อากาศร้อนแบบนี้ วิธีคลายร้อนคงหนีไม่พ้นการเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ บางครอบครัวเปิดแอร์ดับร้อนตลอดเวลา ซึ่งพฤติกรรมดับร้อนเหล่านี้อาจจะทำให้หลายๆ คนกังวลใจเรื่องค่าไฟที่สูงขึ้น

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" แนะนำเทคนิคอยู่บ้านอย่างไรไม่ให้เปลืองไฟ พร้อมการปรับพฤติกรรมที่จะทำให้การอยู่บ้านในช่วงหน้าร้อนมีความสุขมากขึ้น

  • รู้จักเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟ

โดยอันดับเครื่องไฟฟ้ากินไฟ ที่ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) เตือนเราไว้ให้ระวังการใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนนี้ ได้แก่ 

  • เครื่องดูดฝุ่น ขนาด 1,400-2,000 วัตต์ ค่าไฟ 6-8 บาท /ชม.
  • เตารีดไฟฟ้า 1,000-2,800 วัตต์ ค่าไฟ 3.5-10 บาท/ ชม.
  • เครื่องเป่าผม ขนาด 1,600-2,300 วัตต์ ค่าไฟ 6-9 บาท /ชม.
  • เครื่องทำน้ำอุ่น ขนาด 3,500-6,000 วัตต์ ค่าไฟ 13.5 -23.5 บาท /ชม.
  • เครื่องซักผ้า ฝาบน -ฝาหน้า ขนาด 10 kg ค่าไฟ 2-8 บาท /ชม.
  • เครื่องปรับอากาศติดผนัง แบบ Fixed speed ขนาด 9,000-22,000 บีทียู/ชม. ค่าไฟ 2.5-6 บาท /ชม.
  • พัดลมตั้งพื้น ขนาดใบพัด 12-18 นิ้ว ค่าไฟ 0.15-0.25 บาท /ชม. โทรทัศน์ LED backlight TV ขนาด 43-65 นิ้ว ค่าไฟ 0.40 - 1 บาท /ชม.
  • เตาไมโครเวฟ ขนาด 20-30 ลิตร ค่าไฟ 3- 4 บาท /ชม.
  • ตู้เย็น 2 ประตู ขนาด 5.5 -12.2 คิวบิกฟุต ค่าไฟ 0.30-0.40 บาท /ชม.
  • หม้อหุงข้าว ขนาด 1.0-1.8 ลิตร ค่าไฟ 3 - 6 บาท /ชม.
  • เครื่องปิ้งขนมปัง ขนาด 760- 900 วัตต์ ค่าไฟ 3-3.5 บาท /ชม.
  • เตาแม่เหล็กไฟฟ้า 1-2 หัวเตา ขนาด 2,000-3,500 วัตต์ ค่าไฟ 8-14 บาท /ชม.
  • เทคนิคอยู่บ้านอย่างไรไม่ให้เปลืองไฟ

หลังจากที่เรารู้คร่าวๆ ว่ามีเครื่องไฟฟ้าประเภทใดบ้างที่กินไฟ แต่บางอย่างเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเปิดใช้งาน เช่น การเปิดแอร์ เพราะหน้าร้อนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 35 องศาฯ ดังนั้นแล้วการแนะนำให้ปิดแอร์แล้วเปิดพัดลมอาจจะไม่เพียงพอสำหรับบางคน แต่ถ้าลองเปลี่ยนเป็นการเปิดแอร์ และเปิดพัดลมไปด้วย โดยมีสูตรคือ แนะนำให้เปิดแอร์ที่อุณหภูมิประมาณ 27-30 องศาฯ พร้อมกับเปิดพัดลมเป่าเข้าหาตัวเรา วิธีนี้จะช่วยให้รู้สึกเย็นเร็วขึ้น

แต่ถ้าใครอยากเปิดแอร์ให้เย็นกว่านี้ก็ได้ โดยตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25-27 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้ไม่ควรตั้งอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เพราะจะยิ่งทำให้กินไฟมากขึ้น 

การตั้งอุณหภูมิแอร์ให้สูงขึ้นมากกว่า 25 องศาฯ ช่วยให้ประหยัดค่าไฟได้จริง โดยการตั้งอุณหภูมิสูงขึ้นทุกๆ 1 องศาทำให้ประหยัดได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอื่นๆ อีกเช่น

การเลือกใช้หลอดไฟ

ในกรณีที่ต้องเปิดไฟเพดานควรเลือกใช้หลอด LED เพราะประหยัดไฟกว่าหลอดธรรมดาทั่วไป แม้ว่าหลอด LED จะมีราคาแพงกว่าหลอดไฟธรรมดาแต่ในระยะยาวเรื่องการประหยัดไฟถือว่าคุ้มกว่ามาก ที่สำคัญหากเปลี่ยนมาใช้หลอด LED จะสามารถให้ความสว่างได้มากกว่าหลอดไฟธรรมดา และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ปิด Gadget ไร้สายเมื่อไม่มีการเชื่อมต่อ

บางคนใช้  iPad ทำงานสลับกับ Notebook หรือใช้หูฟังไร้สายเวลาประชุมออนไลน์ เมื่อเลิกใช้งานแล้วให้ปิดทันที เพราะอุปกรณ์ไร้สายที่ไม่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์จะยังคงทำงานอยู่และใช้กระแสไฟฟ้าในการหล่อเลี้ยงระบบ รวมถึงไม่เสียบปลั๊ก  Notebook  ทิ้งไว้ในกรณีที่แบตเตอรี่เต็มแล้ว เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง

ถอดปลั๊กไฟทุกครั้ง

หลายคนอาจคิดว่าแค่ปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งานก็เพียงพอแล้ว แต่ความเป็นจริง แม้ว่าเราจะปิดสวิตช์หลังใช้งานไปแล้ว แต่ก็ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนเพื่อให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ดังนั้นเราควรปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน นอกจากจะประหยัดไฟแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในบ้านได้อีกด้วย

ทำความสะอาดและจัดระเบียบตู้เย็น 

ตู้เย็นที่สกปรกและมีของอยู่มากจนเกินไปจะทำให้ตู้เย็นกินไฟมากขึ้น เพราะของที่มากเกินไปจะทำให้เครื่องทำความเย็นได้น้อยลง และยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอีกด้วย และที่สำคัญควรตรวจสอบรอยรั่วที่ขอบยางของตู้เย็น หากรั่วให้รีบเปลี่ยนทันที เพราะความเย็นที่รั่วไหลออกมาจะทำให้เครื่องต้องทำความเย็นเพิ่มขึ้นตลอดเวลา มอเตอร์ทำงานหนักและกินไฟ

เลือกมุมทำงานมุมเดียว และตั้งเวลาการใช้ไฟ

แม้จะทำงานที่บ้านแต่ก็ควรตั้งเวลาในการทำงาน เพื่อตั้งช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจนให้เหมือนอยู่ที่ทำงาน เช่น เริ่มงาน 9.00 น. เริ่มใช้ไฟฟ้า เช่น เปิดแล็ปแท็ป เสียบปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องใช้ต่างๆ นานา เว้นเที่ยง และปิดตอน 17.00 น. โดยการกำหนดเวลาที่ชัดเจนจะทำให้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดไฟส่วนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ก็จะช่วยประหยัดไปได้อีกทาง