ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินผู้ทำบ้านให้รูปอยู่
ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินผู้มีความสุขกับการเกิดมาเป็นคนทำงานศิลปะ รำลึกผลงานและชีวิต 87 ปี อุทิศให้งานจิตรกรรม วรรณศิลป์ และเจตนารมณ์สูงสุดในชีวิตกับ "การทำบ้านให้รูปอยู่" ก่อนชีวิตคืนสู่ธรรมชาติ
ศิลปินผู้มีความรักและศรัทธาต่อ “ศิลปะ” ประเทือง เอมเจริญ นอกจากมีความสุขกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ ยังอุทิศตนให้กับงานอย่างเต็มที่ ทั้งผลงานด้านจิตรกรรม วรรณศิลป์ บทกวี และข้อเขียนต่าง ๆ ได้รับการยกย่องให้ศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งของแวดวง ศิลปะร่วมสมัย ของเมืองไทย เป็นที่รักของเพื่อนศิลปิน ศิลปินรุ่นพี่ และเป็นที่เคารพของศิลปินรุ่นหลัง
ประเทือง เอมเจริญ สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นที่รักไว้มากมาย จนวันหนึ่งมีความคิดว่า “ต้องทำบ้านให้รูปอยู่” ซึ่งเป็นที่มาแห่งการเกิดขึ้นของ หอศิลป์เอมเจริญ ในขณะที่เขามีอายุ 73 ปี เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจได้เข้าชมและศึกษางานด้านศิลปะ
“ผมมีความสุขกับการเกิดมาเป็นคนทำงานศิลปะ และมีความอบอุ่นกับสังคมเพื่อนศิลปินในโลกศิลปะ การสร้างหอศิลป์เอมเจริญ ทำบ้านให้รูปอยู่ เป็นเจตนารมณ์สูงสุดของชีวิต ผมทำงานอย่างต่อเนื่องมาตลอดชีวิต จึงคิดว่างานศิลปะที่ผมทำไว้มากมาย ต้องมีบ้านอยู่อย่างปลอดภัย หอศิลป์ฯ เป็นสิ่งที่ผมปรารถนาจะสร้างให้สำเร็จก่อนชีวิตจะคืนสู่ธรรมชาติตามกฎแห่งสัจจะ”
ประเทือง เอมเจริญ เผยเจตนารมณ์สูงสุดในชีวิต ไว้ในแผ่นพับที่มอบให้กับผู้เดินทางไปร่วมงานเปิด “บ้านศิลปินแห่งชาติ หอศิลป์เอมเจริญ” ณ ตำบลสำรอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2550
หอศิลป์เอมเจริญ จ.กาญจนบุรี
หอศิลป์เอมเจริญ มีลักษณะเป็นอาคารแฝด จัดแสดงนิทรรศการชีวประวัติและรวบรวมผลงานที่ได้สร้างสรรค์มาตลอดชีวิต รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติ พื้นที่จัดแสดงผลงานปฏิมากรรมร่วมสมัยกลางแจ้ง และมีจุดชมวิวริมน้ำแม่กลอง
ผลงานศิลปะของ ประเทือง เอมเจริญ แบ่งออกเป็น 7 ยุค โดยศิลปินแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ ดังนี้
- เผชิญความทุกข์ยาก
- เรียนรู้จักรวาล
- ศิลปนุษยชาติ
- สัญลักษณ์นามธรรม
- แรงบันดาลใจจากอเมริกา
- คุณธรรมสร้างสรรค์
- สู่ความอิสระ
ประเทือง เอมเจริญ ในวัยประมาณ 27 ปี หลังลาออกจากการเป็นช่างเขียนโรงหนังโฆษณา เริ่มไว้ผมยาว
ประเทือง เอมเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2478 ย่านฝั่งธนบุรีของกรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนเทศบาลวัดสุทธาราม สำเหร่ ธนบุรี เป็นศิลปินที่ศึกษาศิลปะด้วยตนเองอย่างมุ่งมั่นและอดทน เริ่มจากการทำงานเป็นลูกมือเตรียมสีให้ช่างเขียนป้ายโฆษณา วาดภาพประกอบในโรงหนัง
จงทำความว่างเปล่าให้เป็นความหวัง และทำความสำเร็จให้เป็นความว่าง : รูปภาพและบทกวี โดย ประเทือง เอมเจริญ
จากการศึกษาค้นคว้างานทางศิลปะอย่างหนัก ศึกษาปรัชญาชีวิตทั้งศิลปะของอินเดีย จีน และศึกษาธรรมชาติ โดยเฉพาะ ‘ดวงอาทิตย์’ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพลังแสงสว่าง จนเกิดมุมมองในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เป็นรูปแบบของตนเอง
การมองโลกในแง่ดี เชื่อในคุณงามความดี สร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบการผสมผสานระหว่างสิ่งที่รับรู้จากธรรมชาติและอารมณ์ความรู้สึกของตนเองด้วยสีสันสดใส สร้างรูปทรงต่างๆ อย่างอิสระและทรงพลัง ได้กลายมาเป็นผลงานศิลปะชุดต่างๆ อันมีคุณค่ายิ่ง เป็นที่ปรารถนาของนักสะสมงานศิลปะ และสร้างชื่อเสียงระดับโลก
นักธุรกิจซึ่งสะสมงานศิลปะ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ เคยกล่าวชื่นชอบศิลปิน ประเทือง เอมเจริญ ในฐานะเป็นศิลปินที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ไว้ในคอร์ส "แบ่งปันประสบการณ์การลงทุนเพื่อต่อยอดการลงทุน ทางรอดฝ่าวิกฤตกับทรัพย์สินทางเลือก" (Alternative Investment ‘ARTS’ จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ) และยอมรับว่าสะสมผลงานของศิลปินไว้หลายชิ้น เคยได้รับการทาบทามจากสถาบันการประมูลคริสตี้ส์เพื่อนำออกประมูล แต่ได้ตอบปฏิเสธไป
ภาพ : ขุนเขาในฤดูฝน
รางวัลและการประกาศเกียรติคุณที่ ประเทือง เอมเจริญ ได้รับ อาทิ
- พ.ศ.2510 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม
- พ.ศ.2511 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม
- พ.ศ.2511 รางวัลการประกวด องค์การโทรศัพท์สากล ไอทีที
- พ.ศ.2517 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม
- พ.ศ.2519 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม
- พ.ศ.2538 โล่เกียรติคุณบริจาคช่วยปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่เสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม สมาคมเผยแพร่และส่งเสริมศิลปะวัตถุ
- พ.ศ.2539 รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) สำนักงานคณะกรรมาการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ.2541 โล่ขอบพระคุณในโอกาศให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดทำกิจกรรม “วาดวิถีไทย” Phonelink
- พ.ศ.2542 โล่เกียรติคุณในการอนุเคราะห์ภาพเขียนเพื่อจัดพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.2543 โล่เกียรติคุณในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานแสงสีสร้างสรรค์ ทบวงมหาวิทยาลัย
- พ.ศ.2544 ประกาศเกียรติคุณด้านจิตรกรรม พิพิธภัณฑ์ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาพ "จุติ" ปีพ.ศ.2513
นอกจากนี้ยังได้รับ ปริญญากิติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลคลองหก, ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิติมศักดิ์ สาขาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ สาขาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ทั้งยังได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดงานต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นศิลปินรับเชิญเขียนภาพเพื่อการกุศลมากมาย เป็นผู้ถ่ายทอดงานศิลปะให้แก่ผู้สนใจตามโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
สิ่งเหล่านี้ ประเทือง เอมเจริญ ได้ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะ นับเป็นศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะอย่างสืบเนื่องยาวนานตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี จึงได้รับยกย่องเคารพด้วยคำว่า “อาจารย์” และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพ.ศ.2548
ภาพถ่าย อ.ประเทือง เอมเจริญ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2559 ขณะอายุ 81 ปี
เวลาเช้าประมาณ 04.00 น. ของวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 วงการศิลปะไทยพบข่าวเศร้าจากการถึงแก่กรรมของ อ.ประเทือง เอมเจริญ ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ กรุงเทพฯ เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สิริรวมอายุ 87 ปี ทายาทกำหนดจัดพิธีฌาปนกิจศพ ณ วัดนิมมานรดี กรุงเทพฯ
------------------
ขอบคุณภาพ-อ้างอิง
หอศิลป์เอมเจริญ
Art Collectors (ศิลปะ)
วารสารวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
หอศิลป์ Baramee of Art