'มนต์รักทรานซิสเตอร์' ภาพสังคมชนบทไทยในผลงานของ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’
หวนรำลึกถึง "มนต์รักทรานซิสเตอร์" หนึ่งในผลงานของ "วัฒน์ วรรลยางกูร" ที่สะท้อนถึงภาพสังคมไทยในหลากหลายมุม
ข่าวร้ายตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อทราบว่า “วัฒน์ วรรลยางกูร” เจ้าของรางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ.2550 ต้องจากไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ตามเวลาในฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นความสูญเสียของแวดวง นักคิด-นักเขียน นักวรรณกรรมไทย
ผลงานของ วัฒน์ วรรลยางกูร ได้รับการยอมรับอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สำหรับคนที่เติบโตมาในยุค 90s-2000s ผลงานที่ตราตรึงใจ และนึกถึงวัฒน์ในทุกๆครั้งคือนวนิยายเรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ซึ่งปรากฏแก่สาธารณะเมื่อ พ.ศ. 2524 ก่อนจะถูกนำสร้างเป็นภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2544 กำกับโดยหนึ่งในผู้กำกับแห่งยุค “เป็นเอก รัตนเรือง”
ทหารเกณฑ์คนเศร้า, น้ำค้างเดือนหก, ลืมไม่ลง, เป็นโสดทำไม และอีก ฯลฯ จากน้ำเสียงของ “สุรแผน เพชรน้ำไหล” พระเอกของเรื่อง เป็นเพลงในชุดภาพยนตร์มนต์รักทรานซิสเตอร์ที่ผู้เขียนฟังซ้ำหลายต่อหลายครั้ง
ใบโฆษณาภาพยนตร์มนต์รักทรานซิสเตอร์ เมื่อปี 2544
แม้จะเป็นเพลงเก่าในยุคก่อนหน้าภาพยนตร์ แต่เนื้อหาของเพลงยังสื่อถึงอารมณ์ของแก่นเรื่องที่ผู้แต่งจินตนาการได้เป็นอย่างดี สุรแผน เพชรน้ำไหล (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) คือตัวเอกที่สะท้อนบุคลิกของผู้ชายไทยบ้านนอกในยุคนั้น นั่นคือความอารมณ์ดี จริงใจ รักจริง ขณะที่สะเดา (สิริยากร พุกกะเวส) คือหญิงสาวบ้านนาที่ใสซื่อ และคิดถึงคนรัก ซึ่งเรื่องราวของทั้งคู่ก็น่าจะเป็นทำนองโรแมนติกคอมมาดี้ในแบบวิถีไทย แต่ทว่าเพราะความจน โชคชะตา และอำนาจของทางการ (การเกณฑ์ทหาร) ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ทำให้ใครคนหนึ่งต้องออกจากบ้านเพื่อเข้าเมืองกรุงฯ
ไม่ต้องแปลกใจถ้า มนต์รักทรานซิสเตอร์จะเป็นผลงานของวัฒน์ที่ใครๆก็จำได้ทั้งในเวอร์ชั่นสิ่งพิมพ์และภาพยนตร์ เพราะผลงานนี้ถือว่าสะท้อนสังคมไทยได้ดีเรื่องหนึ่ง ด้วยการสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละคร และพล็อตเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ไม่ซับซ้อน
ขณะที่บรรยากาศธรรมชาติและชีวิตชนบทที่เล่าเรื่องอย่างมีเสน่ห์ ทำให้ผู้ติดตามเกิดความรู้สึกอยากเอาใจช่วยให้ตัวละครให้รอดปลอดภัยในเมืองใหญ่ จนมีการนำต้นฉบับมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์ รวมไปถึงละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศ ทั้งในชื่อเดียวกันและคนล่ะชื่อ อันแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ที่ยาวนานของวรรณกรรมที่อยู่ในใจของผู้อ่านหลายคน
นิยายมนต์รักทรานซิสเตอร์ ภาพจากเฟสบุ๊ค Being in the Book
- วิทยุทรานซิสเตอร์ สัญลักษณ์ไทยชนบท
สื่อวิทยุคือสื่อสำคัญที่เข้าถึงผู้คนได้กว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นผู้คนระดับไหนก็สามารถเข้าถึงเครื่องรับสัญญาณในราคาถูกได้
เสียงเพลงที่ลอยล่องท่ามกลางทุ่งนา วิทยุที่ถูกวางไว้ใกล้ๆสัมภาระและกองฟาง คือภาพสะท้อนสังคมชนบท ที่มีวิทยุคือตัวกลางกระจายข่าวสารความรู้ เป็นความบันเทิงและเป็นส่วนในกระบวนการพัฒนาคนในประเทศอีกทางหนึ่ง
คำว่า “ทรานซิสเตอร์” ของในเรื่องก็คือ “วิทยุทรานซิสเตอร์” นั่นเอง ในยุคสังคมชนบท ที่สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และยังไม่มีโทรทัศน์ วิทยุทรานซิสเตอร์มีอิทธิพลต่อความคิดผู้คนเป็นอย่างมาก
เมื่อสื่อสารสาระได้ ก็ต้องสื่อสารและมอบความฝันได้ เช่นเดียวกับหนุ่มแผนที่ชอบฟังเพลงลูกทุ่งในวิทยุ เขาก็เฝ้าฝันจะเป็นนักร้อง
แม้จะแต่งงานกับ “สะเดา” แต่แผนก็ยังไม่ล้มเลิกความฝัน เสียงวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กซึ่งเป็นของขวัญวันแต่งงานเป็นสิ่งเดียวที่สร้างความบันเทิงให้กับคู่แต่งงานข้าวใหม่ปลามัน ในเวลาเดียวกับที่ทำให้เขาหลับตาฝันเห็นตัวเองโด่งดังเป็นนักร้องมีชื่อเสียง จนเมื่อสะเดาตั้งท้องเข้าสู่เดือนที่ 5 แผนก็ได้รับหมายเกณฑ์ไปเป็นทหาร และนี่เองที่จุดพลิกผันของชีวิตที่เริ่มต้นขึ้น ชีวิตที่เรียบง่ายก็ไม่เรียบง่ายอีกต่อไป กลายเป็นพล็อตของความห่างจากคนรัก โดยมี เสียงเพลงในวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ช่วยเชื่อมใจให้ถึงใจ
ฉากที่ แผน หนุ่มทหารเกณฑ์ร้องเพลงบนเวที (ภาพจากเว็ปไซต์ไฟว์ สตาร์)
- สังคมที่หวนหาอดีตอันแสนหวาน
ในวันที่เหนื่อยล้าจากการทำงานจะมีอะไรเยียวยาหัวใจได้ดีกว่าเพลงเพราะๆสักเพลงในวิทยุ หรือการหาหนังดีๆสักเรื่องบนโซฟา เปิดแอร์เย็นๆ
เพลงลูกทุ่งในสังคมชนชั้นแรงงานเป็นเช่นนั้น และในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ก็ตอบแทนความคิดของของคนยุคนั้นได้อย่างแนบเนียน และเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ทั้งหนังและเพลงอยู่ในความรู้สึกของผู้คนที่ติดตามงาน
ในช่วงที่หนังเข้าโรงฉาย ภาพของมนตร์รักทรานซิสเตอร์คือภาพฝันแทนอารมณ์ให้หวนหาอดีตสำหรับคนไทย ที่ยังตั้งตัวไม่ค่อยถูกกับพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตก (พ.ศ.2540) การมีหนังที่ภาพสวยๆ บอกเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาคือสิ่งที่เราอยากเห็นในวันที่ต้องเหนื่อยใจ ขณะเดียวกันหนังก็ยังคงการมีอารมณ์ขันในแบบตลกร้ายที่เป็นมุมมองเสียดสีสังคมไว้ เป็นอารมณ์ขันที่เข้าถึงง่ายของคนดูทั่วไป
มนต์รักทรานซิสเตอร์ ได้รับการพูดถึงในแวดวงภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น ได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และ และรางวัลภาพยนตร์ไทยจากชมรมวิจารณ์บันเทิง สาขานักแสดงชาย-หญิงยอดเยี่ยม
อารมณ์ความรักตามขนบหนุ่ม-สาว ในชนบทที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ (ภาพจากเว็ปไซต์ไฟว์ สตาร์)
ขณะที่ในเวทีระดับชาติได้รับรางวัล เช่น รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม จากงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิค ฟิล์ม เฟสติวัลและรางวัล Asain trade winds จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ซีแอตเทิล, Reader Jury of the Standard จากภาพยนตร์นานาชาติเวียนนา และทั้งหมดเป็นตัวแทนของความบันเทิงแบบไทยๆที่ออกสู่เวทีโลก
- เมืองหลวงไม่ใช่ฝันอันแสนหวาน
ถึงจะมีเพลงสวัสดีบางกอกที่มีท่อนร้องอย่าง "อย่าไปเลย บางกอก จะบอกให้..." ที่ย้ำเตือนถึงพิษภัยในเมืองหลวง แต่ใครล่ะ? จะหักห้ามความต้องการแสวงหาสิ่งใหม่ของนักผจญภัยได้
ถ้าอเมริกันดรีมคือการมีชีวิตที่ดี ร่ำรวยกว่าเดิมแบบวิถีคนอเมริกัน การเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ ก็น่าจะเป็นความฝันที่แสนหวานของคนไทยในยุคหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นนิยายหรือภาพยนตร์ มนต์รักทรานซิสเตอร์ แสดงให้เห็นถึงชีวิตและกรอบความคิดของคนชนบทที่ต้องการเข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเพื่อความฝันของตัวเอง หรือเพื่อฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับบางคนนี่ก็คือการถีบฐานะของตัวเองได้จริงๆ ประสบความสำเร็จจากการมีงานมีโอกาสที่ดีกว่าบ้านเกิดจริงๆ แต่ถึงเช่นนั้นก็มีอีกไม่น้อยที่ต้องดิ้นรนอย่างหนัก ถูกกดทับ ไม่สมหวัง จนต้องซมซานกลับไปยังที่จากมา และแผนเองก็เช่นกัน ในวันหนึ่งเขาก็กลับมาหาคนรัก คนเดียวกับที่เขาทิ้งไปตามความฝันเมื่อหลายปีก่อน
มนต์รักทรานซิสเตอร์ คืออีกภาพที่สะท้อนความไม่เท่ากัน ความยากจน ความเป็นชนชั้นของแต่ล่ะอาชีพในสังคม การมองหาสิ่งที่ดีกว่า
เป็นการผจญภัยของไอ้หนุ่มบ้านนอกแบบไทยๆ ที่เดินทางไปผจญภัยในสิ่งใหม่ โดยมีกลิ่นอายความคิดถึงบ้านและวันวานอันหอมหวานผ่านเสียงเพลงจาก “วิทยุทรานซิสเตอร์” เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความรู้สึกเอาไว้
อ้างอิง : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
วิกิพีเดีย มนต์รักทรานซิสเตอร์