"โฮเวิร์ด ชูลทส์" คัมแบ็ค! "สตาร์บัคส์" จัดทัพรับสถานการณ์ร้อนๆ
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตำแหน่งผู้นำองค์กรของ "สตาร์บัคส์" หลังจาก "โฮเวิร์ด ชูลทส์" กำลังหวนคืนสู่ตำแหน่งซีอีโอบริษัทอีกคำรบ ในสถานการณ์ "ดราม่ากาแฟ" ร้อนๆ ที่บาริสต้าหลายสาขาในสหรัฐ รวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขึ้นมา รวมกัน 7 ร้านสาขา
ว่ากันตามตรง ไม่มีคอกาแฟคนใดในโลกไม่รู้จักชื่อ สตาร์บัคส์ (Starbucks) เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ของโลก หนึ่งในสัญลักษณ์ของทุนนิยมอเมริกัน มีสาขาเฉียดๆ 34,000 แห่งทั่วโลก ทว่าในช่วงที่การทำธุรกิจยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ทั้งจากการแพร่ระบาดที่ยังไม่จบของเชื้อไวรัสโควิด-19 และไฟสงครามระอุในยุโรปตะวันออกที่รัสเซียบุกเข้าไปยูเครน บอร์ดบริหารสตาร์บัคส์ ได้ลงมติแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ จาก เควิน จอห์นสัน มาเป็น โฮเวิร์ด ชูลทส์ มีผล 4 เมษายน 2022 นี้เป็นต้นไป
เฉกเช่นกัน ในแวดวงนักบริหารมืออาชีพ ก็ไม่มีใครไม่รู้จัก "โฮเวิร์ด ชูลทส์" ผู้ปลุกปั้นให้ "สตาร์บัคส์" เติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นแบรนด์กาแฟระดับโลกที่ทำให้ "วัฒนธรรมการดื่มกาแฟผสมนมและวิปครีมพ่วงซอสกลิ่นรสต่างๆ แบบจัดเต็ม" แพร่ขยายไปทั่วโลก
"โฮเวิร์ด ชูลทส์" ตำนานสตาร์บัคส์ กลับมานั่งซีอีโอเป็นคำรบ 3 / ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Gage_Skidmore
หลายๆ คนตกหลุมรักในความเป็น "สตาร์บัคส์" เพราะคอนเซ็ปต์การวางร้านกาแฟให้มีสถานะเป็น "บ้านหลังที่สาม" หรีอ Third Place ที่อ้าแขนต้อนรับลูกค้าทุกคนให้เข้ามาใช้บริการ นั่งพักผ่อนหย่อนใจ แน่นอนจิบกาแฟอร่อยๆ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเท่าที่โลกดิจิทัลพึงมี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของสตาร์บัคส์มาตลอด จนเป็นโมเดลธุรกิจให้ "ร้านกาแฟ" ยุคใหม่เดินตามรอยในการบริหารร้าน
16 มีนาคมที่ผ่านมา "สตาร์บัคส์" ประกาศว่า เควิน จอห์นสัน ซีอีโอคนปัจจุบัน จะเกษียณอายุในเดือนเมษายนนี้ หลังจากดำรงตำแหน่งมา 5 ปีเต็ม และเพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ บริษัทได้แต่งตั้ง "โฮเวิร์ด ชูลทส์" ให้เป็นซีอีโอชั่วคราว จนกว่าจะมีการสรรหาซีอีโอคนใหม่ในไตรมาส 3 ปีนี้ พร้อมกันนั้น ชูลทส์ จะกลับเข้ามาอยู่ในบอร์ดบริหารอีกเช่นกัน และได้รับเงินเดือนในตำแหน่งซีอีโอ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ใช่ครับ ไม่ผิด 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 32 บาทไทย
ปัจจุบัน "สตาร์บัคส์" ที่มีสาขาทั่วโลกกว่า 33,000 แห่ง ใน 80 ประเทศ / ภาพ : TR on Unsplash
การแต่งตั้ง "โฮเวิร์ด ชูลทส์" ในวัย 68 ปี ชายผู้ทำให้ร้านกาแฟที่มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปไซเรน (Siren) ปีศาจในเทพปกรณัมกรีกเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกให้กลับมานั่งเก้าอี้ซีอีโอเป็นคำรบที่ 3 ถือเป็นข่าวใหญ่ของแวดวงธุรกิจระหว่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มากๆ ที่นักบริหารคนดังอย่าง ชูลทส์ ซึ่งเคยมีข่าวเตรียมลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 จะกลับมาบริหารงานเชนกาแฟที่เคยปั้นให้ยิ่งใหญ่มากับมืออีกครั้ง
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆในบริษัทยักษ์ใหญ่ ย่อมตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนอเมริกันที่ต่างพยายามค้นหาคำตอบว่า อยู่ดีๆ ชูลทส์ ไฉนจึงยอมกลับมา ทุกค่ายสำนักสื่อล้วนฟันธงลงไปว่า "ชูลทส์ คัมแบ็ค” เพื่อเคลียร์สถานการณ์ยุ่งๆภายในบริษัท หลังจากบาริสต้าและพนักงานหลายสาขา เดินหน้าโหวตจัดตั้ง สหภาพแรงงาน กันขึ้น ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ "อ่อนไหว" ต่อความรู้สึกของบรรดาผู้บริหารหลายคนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และพยายามหาทางให้พนักงานล้มเลิกความตั้งใจนี้ไปเสีย
หากพิจารณาในแง่การเลือกใช้คำพาดหัวข่าวของสื่ออเมริกัน จะเห็นว่าค่อนข้างหลากหลายทีเดียว มีทั้ง แก้ปัญหา, ประนีประนอม และ ปรับปรุงความสัมพันธ์ แต่ทุกคำโฟกัสไปที่ประเด็น "สหภาพแรงงาน" แล้วก็ไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ผู้นำองค์กรในตำนานอย่างชูลทส์ จะอยู่ชั่วคราวตามที่บริษัทแถลงไว้ หรืออยู่ยาวๆ กับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่อย่างเป็นทางการ 5 ปี
ซีแอตเทิลถือเป็นบ้านเกิดของ "สตาร์บัคส์" นอกจาก "ร้านกาแฟ" แห่งแรกของบริษัทเปิดทำการที่เมืองนี้แล้ว ยังเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อีกด้วย ทุกครั้งที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสตาร์บัคส์จากเมืองนี้ ดูจะเกิดแรงกระเพื่อมไม่เบาเลยทีเดียว ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง บาริสต้าและพนักงานของร้านสาขาแห่งหนึ่งในซีแอตเทิล ได้ออกเสียงโหวตตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขึ้นมา
ถือเป็นการโหวตตั้ง "สหภาพแรงงาน" ครั้งแรกในเมืองที่สตาร์บัคส์ถือกำเนิดขึ้น และเป็นสาขาที่ 7 เข้าไปแล้วสำหรับการออกเสียงตั้งสหภาพแรงงานของร้าน โดยเข้าร่วมกับเครือข่ายสหภาพแรงงานภาคบริการของสหรัฐ
เว็บไซต์เดอะซีแอตเทิล ไทม์ส รายงานว่า การลงคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ที่ประกาศโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ ถือเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มบาริสต้าที่เคลื่อนไหวก่อตั้งสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่โฮเวิร์ด ชูลทส์ กำลังกลับมาดำรงตำแหน่งซีอีโอ
พนักงานประจำสาขาบัฟฟาโล่ โหวตตั้งสหภาพแรงงานสำเร็จ / ภาพ : instagram.com/sbworkersunited/
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ร้านสาขาในเมืองบัฟฟาโล ของรัฐนิวยอร์ก ได้กลายเป็นสาขาแรกของ "สตาร์บัคส์" ที่บาริสต้าและพนักงานโหวตเสียงตั้งจัดตั้ง "สหภาพแรงงาน" กันขึ้น เล่นเอาเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นสหภาพแรงงานแรกๆ ของภาคบริการในยุคปัจจุบัน ถึงตอนนี้มีร้านสาขาอย่างน้อย 140 แห่ง ใน 27 มลรัฐทั่วสหรัฐ ได้ยื่นคำร้องขอจัดการโหวตเสียงตั้งสหภาพแรงงาน
ดูจากตัวเลขแล้ว ก็ยังถือว่าน้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับร้านสาขาในสหรัฐที่สตาร์บัคส์เป็นเจ้าของเองกว่า 9,000 แห่ง
ทำไมบาริสต้าหนุ่มๆ สาวๆ คิดอยากตั้งจัดตั้ง "สหภาพแรงงาน"
ปกติความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีเป้าประสงค์หลักๆ เพื่อช่วยให้พนักงานได้รับค่าจ้างอย่างยุติธรรม ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม มักมีพนักงานวัยทำงานเป็นกลไกขับเคลื่อน ใน "สตาร์บัคส์" ก็เช่นกัน เกิดขึ้นจากการรณรงค์ของกลุ่มบาริสต้าในเจเนอเรชั่น Z มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างเว็บไซต์, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม เป็นช่องทางนำเสนอความเคลื่อนไหวและกิจกรรมของกลุ่ม พร้อมตั้งชื่อกลุ่มว่า "SBWorkersUnited" หรือ สตาร์บัคส์ เวิร์คเคอร์ ยูไนเต็ด
ตลอดช่วง 2-3 ปีที่เชื้อไวรัสโควิดแพร่ระบาด ทำเอาภาคธุรกิจทั่วโลกปั่นป่วนไปตามๆ กัน หลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน แนวทางแก้ปัญหาหรือผ่อนคลายสถานการณ์แนวทางหนึ่งที่ผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่นิยมทำมาใช้ก็คือ ลดสาขา, ลดคน และลดชั่วโมงการทำงาน เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เชนร้านกาแฟชั้นนำรวมไปถึง "สตาร์บัคส์" เองก็หลีกหนีสถานการณ์นี้ไม่พ้นเช่นกัน
ทว่าในส่วนพนักงานประจำร้านเองก็เกิดความไม่แน่นอนในอาชีพ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการทำงาน จำเป็นต้องมีที่พึ่งพิงหรือเกราะป้องกันตัวเอง แล้ว "สหภาพแรงงาน" ก็สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เป็นสิทธิตามกฎหมายของพนักงาน
เมื่อต้นปีที่แล้ว พนักงานบริษัทกูเกิ้ลนสหรัฐ ก็ได้ตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาเช่นกัน ขณะที่บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอน พนักงานในบางมลรัฐกำลังรณรงค์เรื่องตั้งสหภาพแรงงานเช่นกัน
การก่อตั้ง "สหภาพแรงงาน" สำเร็จของพนักงาน "สตาร์บัคส์" และกูเกิ้ล เป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดของการเคลื่อนไหวด้านแรงงานที่เริ่มตื่นตัวขึ้นในสหรัฐ หลังจากเข้าสู่ยุคตกต่ำในทศวรรษที่ 1970 เนื่องจากภาคการผลิตซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของแรงงานอเมริกันได้โยกย้ายโรงงานออกไปยังต่างประเทศ ประกอบกับโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันในยุคนั้น ไม่ค่อยชอบใจสหภาพแรงงานเท่าใดนัก
"สตาร์บัคส์" นั้นมีวัฒนธรรมในการเรียกพนักงานทุกคนทุกระดับชั้นว่า หุ้นส่วน (partner) แทนคำว่า ลูกจ้าง (employee) ให้ความสำคัญกับความรอบรู้ของหุ้นส่วนในเรื่อง "กาแฟ" และ "การให้บริการลูกค้า" ขณะที่หนังสือที่เขียนโดยโฮเวิร์ด ชูลทส์ ชื่อ Pour Your Heart into It ซึ่งมีชื่อในหนังสือแปลฉบับภาษาไทยว่า รินหัวใจใส่ธุรกิจ ได้นำเสนอแนวคิดและเบื้องหลังความสำเร็จของสตาร์บัคส์
สตาร์บัคส์ เรียกพนักงานทุกคนทุกระดับชั้นว่าหุ้นส่วน แทนคำว่าลูกจ้าง / ภาพ : Asael Peña on Unsplash
เหมือนลิ้นกับฟันที่กระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดเวลา...มีผู้บริหารน้อยรายที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวตั้ง "สหภาพแรงงาน" แม้แต่ผู้บริหารบริษัทในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำโลกทุนนิยมหรือโลกเสรีก็ตาม ดูอย่างค่ายรถยนต์ใหญ่ "บิ๊กทรี" ของสหรัฐ อันประกอบด้วย ฟอร์ด, จีเอ็ม และ ไครสเลอร์ เวลาจะออกนโยบายสักอย่างที่มีผลกระทบต่อตัวพนักงาน ต้องนัดจัดประชุมร่วมกับสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐ เพื่อหาทางออกหรือข้อยุติร่วมกัน ไม่งั้นโดนประท้วงนัดหยุดงาน กระทบกระเทือนไปถึงสายการผลิตทั้งระบบ
หลังจากร้านสาขาในเมืองบัฟฟาโลโหวตเสียงตั้งสหภาพแรงงานได้ไม่กี่วัน เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า กลุ่มนักลงทุนนำโดยกองทุนทริลเลียม แอสเซต แมเนจเมนต์ ซึ่งทั้งหมดถือหุ้น "สตาร์บัคส์" รวมกันประมาณ 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำจดหมายเรียกร้องให้สตาร์บัคส์ยอมรับผลการลงมติตั้ง "สหภาพแรงงาน" ของพนักงาน นอกจากนั้น ยังแสดงความกังวลเรื่องที่บริษัทเข้าไปแทรกแซงการลงคะแนนเสียง ด้วยการปิดร้านและส่งผู้บริหารระดับสูงเดินทางไปยังเมืองบัฟฟาโล...เชนร้านกาแฟใหญ่รายนี้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้
ปลายปีก่อน คณะกรรมการแรงงานแห่งชาติสหรัฐ ออกคำสั่งให้ผู้บริหารสตาร์บัคส์หยุดแทรกแซงสิทธิของพนักงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ขณะที่สตาร์บัคส์บอกว่า บริษัทดำเนินการภายใต้กฎหมายแรงงานทุกประการ
คำขวัญรณรงค์ก่อตั้งสหภาพแรงงานของกลุ่มบาริสต้าเจน Z / ภาพ : instagram.com/sbworkersunited/
นอกเหนือจากประเด็นร้อนๆ อย่างสหภาพแรงงานแล้ว โปรเจกต์ใหญ่และใหม่ที่ "โฮเวิร์ด ชูลทส์" ต้องเข้ามาสานต่อจากซีอีโอคนปัจจุบันที่มีกำหนดเกษียณอายุการทำงานในเดือนเมษายนนี้ ก็คือ เป้าหมายการเปิดร้านสาขาทั่วโลกเพิ่มอีก 20,000 สาขา ภายในปี 2030 หรืออีก 8 ปีนับจากนี้ไป จากปัจจุบันที่มีสาขาทั่วโลกอยู่แล้วกว่า 33,000 แห่งใน 80 ประเทศ แน่นอน เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ การเพิ่มจำนวนพาร์ตเนอร์ประจำร้าน โดยเฉพาะบาริสต้า เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง พอๆ กับการรักษาจำนวนพาร์ตเนอร์ในขณะนี้ไม่ให้ลดน้อยถอยจำนวนลงไป
นับจากวันที่ "โฮเวิร์ด ชูลทส์" กู้เงิน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาซื้อกิจการ "สตาร์บัคส์" ในปี 1987 จนถึงวันที่ก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริษัทในปี 2018 สตาร์บัคส์เติบโตและโด่งดัง สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในทุกๆ ครั้ง กลายเป็นแบรนด์ยักษ์ระดับโลก มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 101.09 พันล้านดอลลาร์ เกิดจากฝีมือการบริหาร, ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ที่นำโดยชายชื่อ โฮเวิร์ด ชูลทส์ อย่างแท้จริง
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ บอร์ดบริหาร ตั้งความหวังว่า ด้วยความเชี่ยวชาญและความเฉลียวฉลาดในชั้นเชิงธุรกิจของ "โฮเวิร์ด ชูลทส์" จะพาให้ "สตาร์บัคส์" โลดแล่นผ่านสถานการณ์ร้อนต่างๆ ได้อย่างราบรื่นอีกครั้ง...