ปกป้องโบราณสถาน "หัวเขาแดง" มรดกล้ำค่าของชาวสงขลา
โบราณสถานเขาแดง มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของชาวสงขลา ที่มีการลักลอบขุดดิน และใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ทำลายพื้นที่ ทำให้ภาคประชาชนรวมตัวกันปกป้องพื้นที่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการลักลอบขุดดินบริเวณโบราณสถาน เขาแดง และ เขาน้อย จ.สงขลา ออกไปขาย รวมถึงมีการตัดถนนขึ้นไปยังยอดเขาแดง ทำลายป่า ทำลายพื้นที่ในเขตโบราณสถาน แต่ไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ
กระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2564 มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักศิลปากรภาค 11 สงขลา โดย "พงษ์ธันว์ สำเภาเงิน" รับตำแหน่งล่าสุดจึงมีการแจ้งความดำเนินคดี
ที่สถานีตำรวจภูธรสิงหนคร จ.สงขลา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 แต่ผู้อำนวยการฯกลับถูกข่มขู่คุกคาม ซึ่งก่อนหน้าปี 2557 กรมศิลปากรได้เคยเข้าแจ้งความแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ
ภาคประชาชนจึงได้รวมตัวกันปกป้องโบราณสถาน เขาแดงและเขาน้อย ที่มีอายุกว่า 1,400 ปี ด้วยการจัดเสวนา “ปกป้องหัวเขาแดง #Save_Singora” บอกเล่าเรื่องราว
บรรยากาศการเสวนา Cr. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
และเป็นกำลังใจให้แก่ “พงศธันว์ สำเภาเงิน” ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรภาคที่ 11 สงขลา และตัวแทนประชาชน “บรรจง นะแส” ที่ถูกข่มขู่คุกคามฟ้องร้อง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา
- ขุดดินไปขายตั้งแต่ปี 2539
ที่เขตเมืองสงขลาเก่า กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตทั้งเขาในปี พ.ศ. 2535 มีพื้นที่ 2,460 ไร่ ชาวบ้านเล่าว่า สถานที่แห่งนี้ถูกลักลอบขุดดินไปขายตั้งแต่ปี พ.ศ.2539
จนกระทั่ง พงศธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรภาคที่ 11 สงขลา ได้เข้ามาทำหน้าที่ปรับปรุงพื้นที่จุดทางขึ้นทางลงหลักเขาแดง จึงได้พบกับความเสียหายจากการทำลายล้าง
Cr. Pr.Songkhla
“ผมเข้าพื้นที่วันที่ 14 ก.พ. เราเห็นร่องรอยบริเวณทางเดินหมุดเขาแดง และจุดที่เป็นรอยแผลขุดดินขึ้นมา แทบไม่เชื่อสายตา มันอึ้ง ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ผมดำเนินการแจ้งความไปทั้งหมด 3 คดี
คือส่วนเขาแดง ที่ทำทางตัดขึ้นไป 1,500 เมตรเศษ ๆ เวียนไปรอบเขา กับอีกจุดหนึ่งที่โบราณสถานเขาน้อย ขึ้นไปแล้วก็ช็อค เป็นครั้งที่สอง เป็นการทำเขาให้เป็นทางเดินรถ
Cr. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ
(8) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม ผมจำเป็นต้องถ่ายทอดออกไปให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ความจำเป็นคือ พยานบุคคลและหลักฐาน เพราะในพื้นที่ไม่มีกล้องวงจรปิด ขนาดผมแจ้งความดำเนินคดีก็ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้
ความผิดเสร็จสิ้นไปแล้ว ไม่ปรากฎตัวผู้กระทำความผิด หากท่านใดมีพยานบุคคล มีพยานหลักฐาน ขอให้ติดต่อมา"
- หัวเขาแดง แหล่งโบราณสถาน
“ที่ผ่านมา เสียงระเบิดหินที่ดังสะเทือนไปถึงกุฏิอีกฟากหนึ่งบริเวณเขาน้อย ทำให้เจ้าอาวาสต้องออกมาปกป้องพื้นที่ไม่ให้ถูกทำลาย"
ดร.บุญเลิศ จันทระ อาจารย์สถาบันทักษิณคดีศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ เล่าให้ฟัง และกล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าที่นี่มีโบราณสถานอันล้ำค่าแค่ไหน
“ตอนนี้เขาน้อยดูเหมือนจะถูกแบ่งไปซีกหนึ่ง กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ เป็นมรดกที่ล้ำค่า เจดีย์เขาน้อยเป็นศิลปะร่วมสมัยยุคสมัยเดียวกับอาณาจักรศรีวิชัย แบบเดียวกับในอินโดนีเซีย
โบราณสถานเก่าแก่ขนาดนี้ มีไม่มาก ในภาคใต้มีแค่สองแห่งคือ ที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี กับที่นี่ เป็นสถาปัตยกรรมที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาทางพุทธศาสนา เป็นทุนทางสังคม
จ.สงขลา เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม คือ มีทั้งพุทธและมุสลิม อยู่กันอย่างสันติ ตลาดหัวเขา เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น มีวัฒนธรรมทางอาหารที่หลากหลายจากต่างชาติ เป็นมรดกที่ลูกหลาน ควรใช้อย่างสร้างสรรค์
เรายังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเสน่ห์อีกมาก เช่น กริช สกุลช่างสงขลา เคยมีการส่งออกไปขายที่ บอร์เนียว เล่มละ 7-8 แสนบาท สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
ต้นทุนทางวัฒนธรรม ที่เรามีอยู่ ดันไปทำลายทิ้ง โดยมองค่าแค่ดินลูกรังที่จะขาย ปล่อยให้คนมีอิทธิพล ที่เชื่อมโยงกับรัฐได้ สามารถใช้พื้นที่ได้หมด เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของกรมศิลปากร"
- ป้อมปืน สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า
ดร.จเร สุวรรณชาต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มองว่า พื้นที่ของเขาแดง และเมืองเก่าสงขลา มีลักษณะเป็นปากอ่าว ฝั่งหนึ่งคือ บ่อยาง ฝั่งตรงข้ามคือ หัวเขาแดง ตรงกลางเป็น ทะเลสาบสงขลา
“มีไม่กี่แห่งในโลกที่มีลักษณะแบบนี้ บรรพบุรุษของเราชาญฉลาดเลือกทำเล วางป้อมปืน 14 แห่งบนเขา สถาปัตยกรรมของป้อมปืน เรารับวัฒนธรรมมาจากยุโรป
ซึ่งในจ.เชียงใหม่, อ.โคราช จ.นครราชสีมา,จ.นครศรีธรรมราช มีการใช้อิฐในการสร้างเมืองเก่า แต่สงขลาใช้หิน จึงมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ
เราเคยจัดงานวิชาการ เชิญฝรั่ง,จีน,ญี่ปุ่นมาดู ทุกคนขึ้นไปแล้ว ว้าวหมดเลย บอกว่านี่คือ มรดกโลก แหล่งถัดไปของเรา เขามอง บ่อยาง เป็น Living Heritage เมืองที่ยังมีชีวิต
ส่วนอีกฝั่งเป็น แหล่งโบราณสถาน Culture Landscape ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม เหล่านี้ คือความเจริญของมนุษย์ที่ผูกพันกับที่ตั้ง โดยอาศัยภูมิศาสตร์และสถาปัตยกรรม
พื้นที่หัวเขาแดง จึงมีความสำคัญ อายุ 1,400 ปี มี เจดีย์อาณาจักรศรีวิชัย เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีความหนาแน่น มีการสร้างโบราณสถานไว้เป็นประจักษ์พยาน
นอกจาก ถ้ำคูหา ที่สทิงพระ ยังมี เจดีย์เขาน้อย ผมเห็นแล้วสะเทือนใจมาก เหลือพื้นที่แค่ 30 กว่าเมตร และพร้อมที่จะสไลด์ตัว โบราณสถานอยู่ตรงคาบผนังเหวเล็กนิดเดียวและชันมาก
ประเทศนี้ไม่ควรจะปล่อยเราแค่ 4 คนบนเวทีนี้ต่อสู้เพียงลำพัง ตอนนี้สงขลาเราเกินรับมือสำหรับประชาชนตัวเล็กๆ แล้ว"
- ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้
ดร.สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา กล่าวว่า ทุนของสงขลา มีอยู่สองทุนที่ชัดเจนคือ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และ ทุนทางวัฒนธรรม
“ความเสียหายที่เกิดขึ้น จะประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ไหม สภาพพื้นที่ที่โดนไถ มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ประเมินเบื้องต้นเฉพาะตัวดินที่หายไปในส่วนของเขาแดง ประมาณ 4 ล้านบาท ตรงบริเวณปราสาทเขาน้อยประมาณ 25 ล้านบาท
ในทางกายภาพ เวลาขุดดินออกไป ไม่ได้ขุดแค่ดิน ต้นไม้ก็หายไป นั่นคือการทำลาย สิ่งแวดล้อมก็หายไป มูลค่ามีตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่น แล้วแต่ต้นไม้ที่ถูกตัดออกไป
ต้นไม้ที่ตัดไปหนึ่งต้น ขายได้กี่บาท สมมติสองแสนบาท ความเย็น, ระบบนิเวศ, มีเสียงนก, มีความสุข ในต่างประเทศเขาวัดต้นไม้หนึ่งต้นดูที่ประโยชน์ในตัวไม้ที่เอาไปขาย, อุณหภูมิ, ระบบนิเวศ, น้ำใต้ดิน คำนวณได้หมด 4 ล้านบาทหรือ 25 ล้านบาท
อย่างต้นไม้ช่วยลดอุณหภูมิให้กับพื้นที่ข้างเคียง มีมูลค่าค่อนข้างสูง ถ้าไปดูรอบๆ เมืองที่เจริญแล้วจะมีสวนสาธารณะโอบล้อม เพื่อลดอุณหภูมิของเมืองและลดการใช้พลังงาน
นั่นคือประโยชน์ที่เราจะได้จากการเก็บรักษาต้นไม้เอาไว้ แต่ถ้าเราไถออกไป แสดงว่าความเสียหายเกิดขึ้น ไม่เฉพาะตัวไม้หรือดินลูกรัง ยังมีระบบนิเวศและประโยชน์ทางอ้อมอีกที่มันหาย"
อย่างไรก็ตาม ดร.สินาด มองว่า โบราณสถาน มีมูลค่าโดยรวมทางเศรษฐศาสตร์
“มูลค่าเขาแดง เขาน้อย มี ประโยชน์ทางตรง คือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ มีพื้นที่สีเขียว ชาวบ้านได้เก็บของป่า เมืองได้ประโยชน์จากการประหยัดพลังงาน เพราะมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ บ้าน ไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ มีสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ถ้าตัดต้นไม้ออกไป ก็ต้องจ่ายเพิ่ม นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้น
Cr. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ส่วน ประโยชน์ทางอ้อม ทำให้ระบบนิเวศดี กักเก็บน้ำใต้ดินให้เราใช้ เราไม่ได้ใช้โบราณสถานหรือสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมนำน้ำมาให้เรา น้ำที่หายไป ก็คำนวณได้จากพื้นที่ป่าที่หายไป ก็ประเมินความเสียหายได้
และสิ่งที่คนมองเห็น สภาพที่สมบูรณ์ ก็มีผลต่ออสังหาริมทรัพย์ ถ้าวิวฝั่งตรงข้ามเป็นเขาแหว่งๆ โล้นๆ กับธรรมชาติที่เขียวสวย มูลค่าพื้นที่ก็จะสูงขึ้น การทำลายทำให้มีผลเสียต่อการท่องเที่ยว รวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ด้วย
พื้นที่ เขาแดง เขาน้อย ที่มีสภาพสมบูรณ์ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จำเป็นต้องใช้แลนด์สเคปทั้งหมด สภาพที่ดีจะมีมูลค่า ถ้าทำลายวันนี้ ในอนาคตก็หมดโอกาส"