ต่อให้แข็งตาย ฉันต้องได้ดื่ม... "อเมริกาโน่เย็น" เมนูสุดปลื้มเกาหลีใต้
เป็นเรื่องปกติในเกาหลีใต้ที่จะปิดท้ายมื้ออาหารด้วยกาแฟสักถ้วย ไม่ว่าด้วยรสนิยมหรือกระแส แต่ กาแฟเย็น เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมมากๆ ในประเทศนี้ โดยเฉพาะ "อเมริกาโน่เย็น"
ความนิยมของ อเมริกาโน่เย็น (Iced Americano) ทำให้เกิดคำแสลงหรือวลีฮิตที่กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียจนพูดกันติดปากทั่วไปในเวลาต่อมา ในประโยคที่ว่า "uhl-jook-ah" หมายถึง "ต่อให้แข็งตาย ฉันต้องได้ดื่มอเมริกาโน่เย็น" ...ทำนองว่ากระทั่งอากาศที่หนาวเย็นก็หยุดฉันจากการดื่มกาแฟแก้วโปรดไม่ได้
แม้มีส่วนผสมเพียง 3 อย่างเท่านั้น มีน้ำแข็งก้อน, น้ำเปล่า และเอสเพรสโซหนึ่งหรือสองช้อต แต่ "อเมริกาโน่เย็น" ก็กลายเป็นเมนูกาแฟต่อยอดเอสเพรสโซ่ที่ชงง่ายและฮิตกันสุดๆ ไม่แพ้เมนูอเมริกาโน่ร้อนที่ประกอบด้วยช้อตเอสเพรสโซ่และน้ำร้อน
อเมริกาโนเย็นเป็นเมนูที่คนเกาหลีใต้สั่งมาดื่มกันมากที่สุด / ภาพ : SingSing Wade Kim on Unsplash
แต่คำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ ทำไมคนอยู่ดีๆ คอกาแฟเกาหลีถึงคลั่งไคล้เครื่องดื่ม “กาแฟเย็น” สูตรนี้กันมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแวดวงบันเทิงเกาหลี, ดาราไอดอล และนักแสดงซีรีส์ ด้วยแล้ว สุดปลื้มกันจริงๆ เพราะปรากฏภาพเดินถือ “อเมริกาโน่เย็น” กันเป็นว่าเล่น แถมในซีรีส์ก็มีฉากนักแสดงสั่งมาดื่มกันไม่ว่างเว้น ทั้งๆ ที่ในร้านกาแฟยุคใหม่และยุคเก่าก็มีเมนูกาแฟให้เลือกมากชนิดหลากประเภทด้วยกัน
...เพราะติดใจในรสชาติ หรือดื่มงายแล้วก็เย็นชื่นใจ หรือแค่กระแสมาแรงที่สักพักหนึ่งก็หล่นหายไปเองตามกาลเวลาเช่นที่เคยเกิดมาแล้ว แต่หลายคนก็บอกว่า "อเมริกาโน่เย็น" เมนูนี้คนเกาหลีสั่งมาดื่มกันมากที่สุด เข้าข่ายกลายเป็นกาแฟประจำชาติเกาหลีไปเรียบร้อย
ไอซ์ อเมริกาโน่ เมนูขวัญใจศิลปินเคป็อปและดาราซีรีส์เกาหลี / ภาพ : Hyeongmin on Unsplash
ว่ากันตามตรง สำหรับเมนูนี้ คอกาแฟบ้านเราชอบดื่มกันมานานหลายสิบปีแล้ว เป็นอีกเมนูขวัญใจสาวออฟฟิศที่มักสั่งมาดื่มหลังมื้อกลางวัน แรกๆ ก็เติมน้ำเชื่อมเพิ่มความหวานกันเยอะหน่อย หลังๆ พอกระแสสุขภาพมาแรง เลยหันไปสั่ง “อเมริกาโน่เย็น” แบบหวานน้อย หรือแบบไร้หวานกันเลยทีเดียว ร้านกาแฟก็ชอบ เพราะชงง่าย ขายคล่อง ส่วนผสมก็ไม่เยอะ
ปกติ “อเมริกาโน่” ก็คือเอสเพรสโซ่เติมน้ำร้อน “อเมริกาโน่เย็น” ก็เพิ่มน้ำและเติมน้ำแข็งก้อนลงไป แต่ในเกาหลีใต้เท่าที่เห็น อเมริกาโน่เย็นเหมือนเป็นชื่อเรียกรวมๆ ของกาแฟดำบวกน้ำกับน้ำแข็งเสียมากกว่า เพราะใช้อุปกรณ์ชงและชนิดกาแฟหลากหลาย ตั้งแต่เครื่องชงเอสเพรสโซ่, หม้อต้มม็อคค่าพ็อท ไปจนถึงกาแฟผงสำเร็จรูป ขอเรียกว่าเป็นอเมริกาโน่เย็นสไตล์เกาหลีก็แล้วกันครับ
การดื่มกาแฟถือเป็นวัฒนธรรมที่เข้มข้นของเกาหลีใต้ เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชียที่หันมาดื่มกาแฟแทนการจิบชา ในปัจจุบัน แดนกิมจิมีร้านกาแฟไม่ต่ำกว่า 50,000 แห่ง แยกเป็นร้านกรุงโซล ราว 18,000 แห่ง จากตัวเลขที่มากขนาดนี้ นอกจากสะท้อนว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมแล้ว ยังสื่อถึงอัตราการบริโภคกาแฟต่อหัวของชาวเกาหลีใต้ ที่พุ่งแซงหน้าเมืองกาแฟของสหรัฐอเมริกาอย่างซีแอตเทิ้ลหรือซาน ฟรานซิสโก้ ด้วยค่าเฉลี่ยการขายกาแฟในประเทศปีละ 600,000 ตัน มีอัตราการบริโภคต่อหัว 2.3 กิโลกรัม
กาแฟอเมริกาโน่เย็นเสิร์ฟพร้อมเค้ก จากร้าน cafe.yiso ย่านยองกีโด ใกล้ๆกรุงโซล / ภาพ : instagram.com/cafe.yiso
กว่าที่ชาวเกาหลีจะทำความรู้จักกาแฟในฐานะเครื่องดื่มก็ล่วงเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 19 หลังจากพระเจ้าโคจงแห่งโชซ็อนทรงลี้ภัยไปอยู่ในสถานทูตรัสเซียประจำกรุงโซลในปี ค.ศ. 1895 ท่ามกลางการคุกคามจากทหารจักรวรรดิญี่ปุ่น และเป็นสถานทูตนี้เอง ที่สะใภ้ชาวเยอรมันของกงสุลชาวรัสเซียได้เสิร์ฟกาแฟให้พระองค์ดื่ม ตามบันทึกระบุว่า พระองค์กลายเป็นชาวเกาหลีคนแรกที่ได้ดื่มกาแฟอย่างเป็นทางการ อีกไม่กี่ปีต่อมา โรงแรมใหญ่ๆ ตามท่าเรืออินชอนก็เริ่มจำหน่ายกาแฟกัน ยุคสมัยนั้นท่าเรือนี้เป็นย่านการค้าและการทูตที่สำคัญทีเดียว
ราวปี ค.ศ. 1902 ภายใต้การสนับสนุนของพระเจ้าโคจง คาเฟ่ดั้งเดิมต้นตำรับสไตล์เกาหลีหรือที่เรียกกันว่า "ดาบัง" (dabang) ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงแรมซันแท็ก แถบย่านจองดง ของกรุงโซล เป้าหมายเพื่อเป็นสถานที่ดื่มกาแฟของทูตชาวต่างชาติ รูปแบบคล้ายๆ ภัตตาคารหรูที่เสิร์ฟเครื่องดื่มชา/กาแฟ และอาหาร พร้อมกับมีวงดนตรีบรรเลงเพลงให้ฟังด้วยทุกๆ วัน ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ร้านสไตล์นี้ได้กระจายตัวออกไปยังย่านต่างๆ เช่น เมียงดง, จงโน และชุงมูโร กลายเป็นสถานที่พบปะกันของคนเกาหลีทั่วไป เนื่องจากไม่ค่อยมีสถานที่ให้ได้ใช้เวลานอกบ้านมากนักในเวลานั้น แล้วตอนนั้นกาแฟที่ดื่มกันส่วนใหญ่ก็เป็นกาแฟผงสำเร็จรูป
...นี่เป็นประวัติความเป็นมาโดยคร่าวๆ ของกาแฟในสังคมเกาหลี ก่อนที่ร้านรวงสไตล์ตะวันตกที่ขายกาแฟแบบในปัจจุบัน จะเข้ามามีอิทธิพลและกระจายไปทั่วประเทศ
วัฒนธรรมกาแฟเกาหลีใต้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปีค.ศ.1999 เมื่อสตาร์บัคส์จากฝั่งสหรัฐอเมริกา เป็นเชนกาแฟต่างประเทศแห่งแรกที่เปิดตัวในเกาหลีใต้ หลังผุดสาขาย่านชินชอน แหล่งชอปปิงของวัยรุ่น คาเฟ่ใหม่มาพร้อมรูปแบบใหม่ๆ ตั้งแต่ขายกาแฟเทคเอ้าต์, ลูกค้าบริการตนเอง, ไม่มีบริกรแต่งตัวหรูๆ มาคอยต้อนรับ, นั่งแช่อยู่ที่ร้านได้นานๆ เพื่ออ่านหนังสือ, ทำงาน หรือสนทนากัน กลายเป็นแหล่งชุมนุมหรือนัดพบปะกันแหล่งใหม่ของวัยรุ่นและวัยทำงาน ส่งผลให้มีร้านกาแฟสมัยใหม่เกิดขึ้นราวดอกเห็ดทั่วประเทศ และทำให้ร้านกาแฟสไตล์ดั้งเดิมอย่างดาบัง จำต้องปรับตัวตาม หันไปโฟกัสเรื่องคุณภาพกาแฟและการตกแต่งภายในร้านด้วย
ปัจจุบัน สตาร์บัคส์มีสาขาในเกาหลีใต้ประมาณ 1,300 แห่ง ไม่น่าเชื่อครับว่า เมนูกาแฟที่ทำยอดขายเป็นอันดับหนึ่งของสตาร์บัคส์ในเกาหลีใต้เมื่อปี ค.ศ. 2021 ก็คือ "คาเฟ่ อเมริกาโน่" ที่ครองแชมป์ยอดขายสูงสุดติดต่อกัน 13 ปีเข้าไปแล้ว มีลาเต้ตามมาเป็นอันดับ 2 ตัวเลขที่พอจะค้นคว้าได้นั้นก็ย้อนหลังไปในปีค.ศ. 2017 ที่สตาร์บัคส์ ในเกาหลี เปิดเผยว่า มียอดขายอเมริกาโน่เพียงปีเดียว 83.6 ล้านแก้ว
อย่างไรก็ตาม สตาร์บัคส์ไม่ได้แยกแยะลงให้ชัดเจนลงไปว่า เป็นอเมริกาโน่ร้อนหรือเย็น แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนชื่อว่า อเมริกาโน่เย็นน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสความคลั่งไคล้ของชาวเกาหลี
บรรยากาศร้าน Eulji Dabang หนึ่งในร้านกาแฟสไตล์ดั้งเดิมของเกาหลีใต้ / ภาพ : www.facebook.com/adventureskoreatour
ผู้เขียนลองเข้าไปสำรวจตรวจตราใน Quora.com เว็บไซต์ถามตอบปัญหาออนไลน์ที่เปิดให้เราตั้งคำถาม รวมถึงตอบคำถามที่เราอยากตอบ ก็เจอะเจอคำถามเกี่ยวกับคนเกาหลีและอเมริกาโน่เย็นหลายหัวข้อด้วยกัน มีอยู่คำถามหนึ่งเปิดหัวไว้ว่า "ทำไมคนเกาหลีจึงหมกหมุ่นอยู่กับการสั่งอเมริกาโน่เย็นมาดื่ม?" ก็มีผู้เข้ามาตอบบางคนเสนอความเห็นว่า เอสเพรสโซ่มันขมไป, มัคคิอาโต้ก็หวานเกิน กลัวอ้วน, แฟร็ปปูชิโน่ก็วิปครีมเยอะมาก เห็นแล้วนึกถึงไขมัน, ลาเต้นั้นใส่นมทำให้ย่อยยาก, เป็นกาแฟโปรดของคนที่ไม่ชอบนม ทางเลือกสุดท้ายจึงไปลงเอยที่ “อเมริกาโน่เย็น”
บางคนให้เหตุผลว่า เพราะ “อเมริกาโน่เย็น” ไม่ใส่นมสด ที่สำคัญมีราคาไม่แพง เหมาะที่จะเป็นเครื่องดื่มเพิ่มพลังงานในกลุ่มคนทำงาน ขณะที่นักเรียนนักศึกษาดื่มเพื่อให้ตาสว่างในช่วงทำการบ้านดึกๆ ซึ่งดูแล้วเป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับรสชาติของกาแฟเอาเสียเลย
ผู้เขียนจึงขอรวมรวมความคิดเห็นมาสรุปเป็นหัวข้อสั้นๆ 4 ข้อด้วยกัน คือ
1. เป็นเมนูกาแฟราคาถูกที่หาดื่มได้ตามร้านกาแฟ ประมาณว่าราคาไม่แรง พอรับไหว
2. เป็นกาแฟไม่หวาน ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่น้ำเชื่อมไซรัป ไม่ต้องกังวลเรื่องควบคุมน้ำหนัก
3. เป็นเอสเพรสโซ่ที่ถูกเจือจางด้วยน้ำและน้ำแข็ง จึงไม่ขมและไม่เข้มข้น ทำให้ดื่มได้ตลอดวัน
ในอีกมุมหนึ่ง เรื่องรสชาติอเมริกาโน่เย็น "สไตล์เกาหลี" อาจสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกับคนอิตาลีที่นิยมรสชาติอันเข้มขลังของเอสเพรสโซ่ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำไมกาแฟที่นี่เบาบางเยี่ยงนี้
ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าเมนู “อเมริกาโน่เย็น” ที่มาแรงในเกาหลีใต้ช่วงไม่กี่ปีนี้ เกิดจากการสร้างกระแสของซูเปอร์สตาร์ดารานักร้องจนทำให้บรรดาแฟนคลับหันมาชอบตามไปด้วย ใช่หรือไม่... แต่ที่แน่ๆ มีเน็ตไอดอลและเค-ดราม่าเกาหลีมากมายที่สุดปลื้มอเมริกาโน่เย็น ชอบดื่มเป็นชีวิตจิตใจ ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 รายที่เข้าขั้นพีคสุดๆ คือ นา แจ-มิน นักแสดงและบอยแบนด์วงเอ็นซีที, ฮยอนจินจากเกิร์ลกรุ๊ปวงดังลูน่า และ จีซู ศิลปินสาวพี่ใหญ่วงแบล็กพิงก์
จำได้ว่า เคยชมภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลีเรื่องหนึ่ง ชื่อในเวอร์ชั่นไทยว่า "Vincenzo วินเซนโซ ทนายมาเฟีย" ทาง Netflix มีพระเอกหน้าหวาน ซงจุงกิ รับบทวินเซนโซ่ มาเฟียอิตาลี ส่วนจอนยอบิน นางเอกเจ้าบทบาท รับบท ฮงชายอง ทนายความสาวจอมดีเดือด ฉากหนึ่งของซีรีส์ตอนที่ 4 บอกเลยว่า สุดฟินดูแล้วอินมาก เหมือนได้เห็นวัฒนธรรมกาแฟอิตาลีชนกับวัฒนธรรมกาแฟเกาหลีดังปังๆ
เรื่องมีอยู่ว่า ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ทั้งสองคนเดินเข้าไปสั่งกาแฟด้วยกัน มาเฟียหนุ่มสั่งเอสเพรสโซ่ดับเบิลช้อตมาดื่ม ส่วนทนายความสาวขอสั่งอเมริกาโน่เย็นสดชื่น ทำให้วินเซนโซ่มองความสายตาประหลาดใจ ก่อนพูดว่า "ในอิตาลี อเมริกาโน่ไม่ต่างอะไรกับน้ำเสีย" ทนายสาวที่ยืนข้างๆ ก็ฝีปากใช่ย่อย เลยสั่งกาแฟใหม่กึ่งประชดกึ่งแดกดันว่า "ขอน้ำเสียเย็นหนึ่งทีค่ะ" ก่อนที่ทั้งคู่จะถือกาแฟแก้วโปรดมานั่งที่โต๊ะหน้าร้าน ขณะสนทนากัน วินเซนโซ่ก็จิบเอสเพรสโซไปเรื่อย ส่วนทนายสาวก็ยกแก้ว “อเมริกาโน่เย็น” ขึ้นซดไปอึกใหญ่ ก่อนจะบ้วนทิ้งอย่างไม่เสียดายในรสชาติ
ฉากนี้ถือว่าแซ่บจริงๆ เดินเรื่องเชือดเฉือนได้ดุเด็ดเผ็ดมันในอารมณ์ สมเป็นซีรีส์สไตล์เกาหลีไม่ผิดฝาผิดตัว
ฉากนั่งจิบกาแฟในซีรีส์เกาหลียอดฮิต "Vincenzo วินเซนโซ ทนายมาเฟีย" / ภาพ : ขอบคุณภาพจาก Netflix
สำหรับใครที่อยากไปลอง “อเมริกาโน่เย็น” ถึงเกาหลีใต้ดูบ้าง คนที่นั่นมีศัพท์เฉพาะเวลาที่ใช้สั่งเมนูนี้มาดื่ม คือ “아 아” ออกเสียงว่า Ah-ah เป็นคำย่อของ aiseu amerikano ที่แปลว่าไอซ์ อเมริกาโน่ นั่นเอง ส่วนผู้เขียนยอมรับเลยว่าชอบใจเกาหลีใต้มาก เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมน่าตื่นตาตื่นใจและเปี่ยมด้วยสีสัน
ถ้ามีโอกาสไปเทื่ยวอีกครั้ง แน่นอนก็อยากลองดูว่ารสชาติ “อเมริกาโน่เย็น” ที่นั่นเหมือนหรือต่างกับบ้านเราอย่างไรบ้าง...จริงๆ