โขนรามเกียรติ์ตอน“สะกดทัพ”เปิดให้ชมแล้ว มีฉากไหนอลังการบ้าง
โขนรามเกียรติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ” เปิดให้ชมการแสดงรอบแรกแล้ว(30 ตุลาคม ุ65) แค่ฉากหนุมานแปลงร่าง ขอบอก เทคนิคไม่ธรรมดา
เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถประจำปี2565ตอน “สะกดทัพ”
ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565
และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม2565 จัดแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- ฉากอลังการโขนสะกดทัพ
โดยครั้งนี้ได้เตรียมไฮไลท์พิเศษหลายฉาก ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูกระบวนท่ารำที่หาชมได้ยาก เช่น เพลงหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ที่เก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
รวมถึงฉากการแสดงที่มีการเพิ่มสีสันให้อลังการตระการตาได้แก่ ฉากหนุมานแปลงร่างใหญ่โต4พักตร์8กร สูงเทียมฟ้า เคลื่อนไหวด้วยกลไกทันสมัย และฉากหนุมานอมพลับพลา ที่จะโชว์ความประณีตอลังการของการสร้างสรรค์ฉากที่ชวนตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งการต่อสู้เพื่อผ่านอุปสรรคหลายด่านที่เพิ่มความสนุกสนานในการผจญภัยของหนุมานให้ตื่นเต้นเร้าใจมากยิ่งขึ้นเช่น ด่านช้างตกมัน ด่านภูเขาเพลิงกระทบกัน ด่านยุงตัวเท่าแม่ไก่ ด่านหนุมานรบมัจฉานุที่สระบัว เป็นต้น
ฉากหนุมานแปลงร่างใหญ่โต4พักตร์8กร สูงเทียมฟ้า
โขนรามเกียรติ์ สะกดทัพ
การแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” ครั้งนี้ เป็นการนำบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1)มาจัดทำบทการแสดงโขนตอนนี้
ซึ่งเคยจัดแสดงในปี2554ในชื่อตอน“ศึกมัยราพณ์” นั้นแสดงตามบทละครพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่2)ซึ่งมีความแตกต่างกับบทในครั้งนี้ มีการออกแบบสร้างสรรค์ฉาก และการแสดงให้ถ่ายทอดจินตนาการเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนออกมาโลดแล่นบนเวทีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังสะกดชื่อ “ไมยราพ” ตามอักขรวิธีตามต้นฉบับรัชกาลที่1
เรื่องราวความเป็นมาของรามเกียรติ์ก่อนถึงตอน สะกดทัพ เริ่มจากทศกัณฐ์ ราชาแห่งยักษ์ผู้ครองกรุงลงกา ลักพานางสีดามเหสีของพระรามไปไว้ในกรุงลงกา พระรามกับพระลักษมณ์ได้พบกับหนุมานซึ่งนำสุครีพและพลสวาวานรมาสวามิภักดิ์ โดยพระรามใช้ให้หนุมาน องคต และชมพูพาน ไปสืบเส้นทางที่จะข้ามไปกรุงลงกา
กระทั่งได้พบกับนางสีดาซึ่งพำนักอยู่ในสวนขวัญ พร้อมถวายแหวนและผ้าสไบเพื่อเป็นการแจ้งข่าวว่าพระรามกำลังติดตามมา ก่อนกลับหนุมานได้ทำลายสวนขวัญและถูกอินทรชิตจับตัวไปถวายทศกัณฐ์
แต่หนุมานก็ใช้เล่ห์กลจุดไฟเผาตนเอง และเผากรุงลงกาในที่สุด จากนั้นจึงกลับมาเฝ้าพระราม เมื่อพญาพิเภก ผู้เป็นน้องของทศกัณฐ์ถูกขับออกมาจากกรุงลงกาและสวามิภักดิ์กับพระรามแล้ว
พระรามจึงได้เสด็จยาตราทัพจองถนนยกพลวานรข้ามมหาสมุทรมาประชิดกรุงลงกา โดยตั้งกองทัพอยู่ที่เชิงเขามรกต พระรามให้องคตเป็นทูตเชิญสารไปถึงทศกัณฐ์ขอให้ส่งนางสีดาคืน ทศกัณฐ์ไม่ยอมส่งคืนทั้งได้คิดอุบายเผด็จศึก และหาทางกำจัดพระรามต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพรทอดพระเนตรการแสดงโขนตอน“สะกดทัพ”ซึ่งมี 2 องก์ รวม 13 ฉาก
- ตอนสะกดทัพแบ่งเป็น 2 องก์ 13 ฉาก
องก์ที่1ประกอบด้วย
ฉากที่ 1 ขบวนทัพไมยราพ
ฉากที่ 2 ท้องพระโรงกรุงลงกา
ฉากที่ 3 โรงพิธี
ฉากที่ 4 ห้องบรรทมพระราม
ฉากที่ 5 พลับพลาพระราม
ฉากที่6 หนุมานอมพลับพลา
องก์ที่ 2 ประกอบด้วย
ฉากที่ 1 หนุมานทำลายด่าน
ฉากที่ 2 สระบัว
ฉากที่ 3 สระน้ำนอกเมืองบาดาล
ฉากที่ 4 หน้าประตูเมือง
ฉากที่ 5 ปราสาทไมยราพ
ฉากที่ 6 ป่าดงตาล
ฉากที่ 7 เทพชุมนุมจบการแสดง
การแสดงโขนมูลนิธิฯ“สะกดทัพ” เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของหนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม ที่ต้องฝ่าฟันด่านต่าง ๆเพื่อช่วยพระรามกลับมาจากเมืองบาดาล หลังจากถูกไมยราพ พญายักษ์แห่งเมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์ ลอบเข้ามาสะกดทัพและลักพาตัวไป
แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่านต่าง ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่ ต้องติดตาม!
- การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ”จะเปิดการแสดงรอบแรก ในวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.comบัตรราคา 1,820 / 1,520 / 1,020 / 820 / 620 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร)
- ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊กKhon Performanceโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
(จากซ้าย) ดร.สุรัตน์ จงดา, ประเมษฐ์ บุณยะชัย, ท่านผู้หญิงอินทิรา พลธร, ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ, ท่านผู้หญิง รวิจิตร์ สุวรรณบุปผา, ดร.อนุชา ทีรคานนท์, ดร.เกิดศิริ นกน้อย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ และภรรยา
กณิการ์ วีรวรรณ และ ถกลเกียรติ วีรวรรณ