ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

ครั้งแรกในรอบหลายสิบปี นิทรรศการพิเศษ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam ภาพถ่ายวิถีชีวิต สถานที่ ผู้คนและเหตุการณ์สำคัญในช่วงรัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5 ผ่านสายตา “ช่างภาพหลวง” ในราชสำนักสยาม มากกว่า 60 ภาพ จากต้นฉบับภาพเก่าอายุนับร้อยปี

เปิดให้เข้าชมแล้ว ครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษของเมืองไทย กับการจัดแสดงภาพถ่ายภาพเก่าหายาก ต้นฉบับจริงอายุนับร้อยปี นำมาให้ชมกันมากกว่า 60 ภาพ ใน นิทรรศการพิเศษ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam From Athada Khoman's & Weerawit Futrakul's Collection ดื่มด่ำกับบรรยากาศวิถีชีวิต สถานที่ ผู้คนและเหตุการณ์สำคัญในช่วง รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5 ผ่านสายตา “ช่างภาพหลวง” ในราชสำนักสยาม

นิทรรศการนี้เป็นการเปิดกรุภาพถ่ายเก่าในคอลเลคชั่นของ 2 นักสะสมแถวหน้าของเมืองไทย ได้แก่คุณ อรรถดา คอมันตร์ แห่ง G111 Gallery Antiques & Collectibles ห้อง 411 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และคุณ วีรวิชญ์ ฟูตระกูล แห่งร้านสนามหลวง ห้อง 421 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก

กำเนิดภาพถ่ายยุคแรกของไทย

อรรถดา คอมันตร์ เขียนถึงการกำเนิดภาพถ่ายยุคแรกของไทย หรือ Early Photography in Siam ไว้ว่า การถ่ายรูปเผยแพร่เข้ามายังกรุงสยามในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2388 (ค.ศ.1845) ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) หรือ 6 ปีหลังจากชาวตะวันตกคิดค้นการถ่ายภาพระบบดาแกร์โรไทพ์ 

บาทหลวงหลุยส์ ลาร์นอดี เป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ได้นำอุปกรณ์ถ่ายภาพเข้ามาจากฝรั่งเศสสู่แผ่นดินสยามเป็นครั้งแรก

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

ภาพจากนิทรรศการ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam

แต่ไม่ปรากฏหลักฐานทั้งในและต่างประเทศว่า “รัชกาลที่ 3” ทรงสนพระทัยเรื่องการถ่ายรูป หรือทรงเคยพระราชทานพระราชานุญาตให้ฉายพระรูปหรือไม่ 

เนื่องจากชาวสยามในเวลานั้นไม่ยอมรับในวิชาแขนงนี้ ไม่ค่อยมีใครยอมให้ถ่ายรูป เพราะเกรงว่าจะถูกเอาไปทำร้ายในทางไสยศาสตร์ อีกทั้งยังยึดติดกับความเชื่อที่ว่า หากถูกปั้นรูปหรือวาดรูปของตัวเองแล้วจะทำให้อายุสั้นหรือมีอันเป็นไป

จวบจนรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ครองราชย์ พ.ศ.2394 - 2411) พระองค์ทรงสนพระทัยในวิทยาการแขนงใหม่ ๆ รวมทั้งทรงอนุญาตให้ช่างภาพฉายพระรูป และยังมีรับสั่งให้ส่งพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมพระราชสาส์นไปเจริญพระราชไมตรีกับประมุขของชาติมหาอำนาจในยุโรปและอเมริกา ซึ่งนับเป็นกุศโลบายทางการทูตอย่างหนึ่งที่แสดงให้ชาติต่าง ๆ เห็นว่าประเทศสยามมิได้เป็นประเทศล้าหลังป่าเถื่อน 

อีกทั้งยังทรงเป็นตัวอย่างให้ชาวสยามเลิกเชื่อเรื่องงมงาย และหันมาสนใจในวิทยาการสมัยใหม่ในแขนงอื่น ๆ อีกหลายด้าน

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 อรรถดา คอมันตร์ นำชมนิทรรศการ Treasure of Memories:

พัฒนาการของ “การถ่ายภาพ” สมัยรัชกาลที่ 4

คุณอรรถดา คอมันตร์ ได้เขียนถึงพัฒนาการของ “การถ่ายภาพ” ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ไว้ด้วยว่า เนื่องด้วยการถ่ายภาพด้วยกระบวนการ “ดาแกร์โรไทพ์” มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น สิ้นเปลืองเวลาในการตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์ การขัดแผ่นเงิน ต้องเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน ไอปรอทที่ใช้เป็นโลหะหนักซึ่งมีพิษอาจทำให้ช่างภาพตาบอดและทำลายระบบทางเดินหายใจ 

ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถนำภาพไปอัดเพิ่มได้ ทำให้ภาพถ่ายมีราคาแพงมาก และจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม 

ชาวตะวันตกจึงพยายามคิดค้นและดัดแปลงวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกหลายวิธี เพื่อความสะดวกในการใช้และทำให้การถ่ายภาพมีราคาถูกลง

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

ภาพจากนิทรรศการ Treasure of Memories:

ราวปีค.ศ.1851 (พ.ศ.2394) เฟรดเดอริค สก็อต อาร์เชอร์ (Frederick Scott Archer) ได้คิดค้นการถ่ายภาพด้วย ระบบฟิล์มกระจกเปียก (Wet Plate) เป็นผลสำเร็จ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จนมาแทนที่ระบบดาแกร์โรไทพ์ในเวลาอันรวดเร็ว

ภาพถ่าย Wet Plate เกิดจากการใช้ “สารโคโลเดียน” ซึ่งเป็นของเหลว ยึดสารไวแสงและเกลือเงินเฮไลด์ให้ยึดติดบนกระจก การถ่ายภาพแบบใหม่นี้จึงจำเป็นต้องทำในขณะที่ฟิล์มกระจกยังเปียกอยู่ เป็นขั้นตอนที่ยังซับซ้อนอยู่มาก ผู้ถ่ายภาพและผู้อัดภาพจะเป็นคนๆ เดียวกันที่ต้องมีทักษะและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี 

ภาพที่ได้ จะนำไปอัดลงบน “กระดาษอัลบูมิน” ซึ่งเป็นกระดาษเคลือบผิวด้วยวัสดุธรรมชาติอันมีส่วนผสมของไข่ขาวและเกลือเงินเฮไลด์ 

กระบวนการนี้สามารถอัดภาพได้หลายภาพ เช่น ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส  

การอัดภาพลงบนกระดาษอัลบูมินนิยมใช้เรื่อยมาจนถึงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 ภาพจากนิทรรศการ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam

เปิดชื่อช่างชักรูปยุคแรกของสยาม

ช่างถ่ายภาพ หรือ “ช่างชักรูป” ยุคแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น มีจำนวนน้อยมาก อาทิ บาทหลวงลาร์นอดี, นายโหมด (พระยากระสาปน์กิจโกศล) สันนิษฐานว่าเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ, กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา และนายจิตร (ฟรานซิส จิตร หรือหลวงอัคนีนฤมิตร) 

นายจิตร นับเป็น ช่างภาพอาชีพคนแรกของไทย โดยมีร้านเป็นเรือนแพตั้งอยู่ทางด้านเหนือของโบสถ์ซางตาครูซ ทั้งยังเป็นช่างภาพชาวไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 19 และมีผลงานหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังมากที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีช่างถ่ายภาพชาวต่างชาติที่เข้ามารับจ้างเป็นครั้งคราว แต่มิได้เปิดสตูดิโอเป็นการถาวรในประเทศสยาม เช่น เฟเดอร์ เจเกอร์ (Feder Jagor) และปีแอร์ รอซิเอร์ (Pierre Rossier) ทั้งสองคนเข้ามาสยามในปีพ.ศ.2404  

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 นิทรรศการ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

นายรอซิเอร์เป็นช่างภาพคนสำคัญที่มีความใกล้ชิดกับ มารี เฟียร์แมง โบคูรท์ นักสัตววิทยาและนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสที่จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของประเทศสยามไว้มากมาย ณ ห้วงเวลานั้น และได้ส่งบทความต่าง ๆ ไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส 

รวมไปถึงการร่วมมือระหว่างนายรอซิเอร์กับนายอองรี มูโอต์  นักสำรวจชื่อดังชาวฝรั่งเศส ผู้เผยแพร่ "ภาพนครวัด" ให้เป็นที่รู้จักในสายตาโลกตะวันตกผ่านสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2405 เป็นต้นมา โดยอาศัยภาพถ่ายของนายรอซิเอร์มาเป็นต้นแบบเขียนเป็นภาพลายเส้นประกอบบทความ

ยังมีช่างภาพที่มีชื่อเสียงอีกคนเป็นชาวอังกฤษนามว่า จอห์น ทอมสัน (John Thomson) เดินทางเข้ามาในสยามระหว่างปีพ.ศ.2408 – 2409 ได้รับการยอมรับว่าเป็นช่างภาพฝีมือเยี่ยมและเป็นหนึ่งในช่างภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดที่เข้ามาถ่ายภาพในประเทศแถบเอเชียตะวันออก โดยภาพถ่ายของเขาได้แพร่หลายไปในสื่อต่าง ๆ มากมาย

นอกจากบุคคลข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีช่างภาพชาวต่างชาติที่เข้ามาถ่ายภาพในประเทศสยามในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น คาร์ล เฮนริค บิสมาร์ค (Carl Heinrich Bismark) และ เอ. แซคเลอร์ (August Sachtler) เป็นต้น

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

พัฒนาการของ “การถ่ายภาพ” สมัยรัชกาลที่ 5

เทียบเวลานับแต่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา นักประดิษฐ์ชาวตะวันตกมีความพยายามมุ่งมั่นที่จะคิดค้นกระบวนการทำแผ่นฟิล์มและการใช้น้ำยาสารเคมีแบบอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนลดขั้นตอน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

พ.ศ.2414 หรือในราวต้นรัชกาลที่ 5 การผลิตฟิล์มกระจกแบบแห้ง (Dry Plate) ก็ประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนน้ำยาไวแสงจากสารโคโลเดียนเป็น “สารเจลลาติน” 

มีการผลิตเลนส์หลายรูปแบบเพื่อช่วยถ่ายภาพขนาดต่าง ๆ ให้ทันกับความต้องการของจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ภาพถ่ายมีราคาถูกลงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก 

มีการผลิตกระดาษภาพถ่ายขนาดมาตรฐาน เช่น ภาพการ์ดนามบัตร (Cartes-de-Visite) ขนาดประมาณ 2.25 x 4.25 นิ้ว เป็นที่นิยมในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ถึงกลางรัชกาลที่ 5 และภาพแคบิเนต (Cabinet Card) ขนาดประมาณ 4.5 x 6.5 นิ้ว เป็นที่แพร่หลายทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 5

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 ภาพจากนิทรรศการ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam

ภาพถ่าย : หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์

คุณอรรถดา คอมันต บรรยายไว้ด้วยว่า ความสำเร็จของวิวัฒนาการภาพถ่าย เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่อุบัติขึ้นบนโลก การถ่ายภาพยุคแรกเปรียบได้กับงานสร้างสรรค์อันประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์ ช่างถ่ายภาพต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในวิทยาศาสตร์ การผสมสารเคมี การคำนวนค่าแสง และการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมีศิลปะ จึงสามารถรังสรรค์ผลงานออกมาได้ดี 

ภาพเหล่านี้ยังบันทึกหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ  ณ ห้วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อประเทศสยาม  

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 ภาพจากนิทรรศการ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5

การใช้ภาพถ่ายเพื่อเป็นสื่อทางการทูตระหว่างสยามกับชนชั้นผู้นำของชาติตะวันตกเป็นกุศโลบายและวิเทโศบายที่สามารถยกระดับประเทศสยามให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่น การส่งพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในการเจริญพระราชไมตรีกับประมุขของชาติมหาอำนาจในยุโรปและอเมริกา 

รวมทั้งการบันทึกเรื่องราวไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เช่น การบันทึกภาพถ่ายสุริยุปราคา ในปี พ.ศ.2411 เป็นต้น  

นอกจากภาพถ่ายบุคคลแล้ว ภาพถ่ายที่มีองค์ประกอบของ สถานที่สำคัญ ยังสามารถบอกอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของคน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เป็นหลักฐานอ้างอิงยืนยันเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี 

เพื่อนำมาตอบโจทย์ของคนรุ่นต่อ ๆ มาได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เปรียบดังวลี “ภาพหนึ่งภาพบอกเรื่องราวได้เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง” หรือ “ภาพเพียงภาพเดียวดีกว่าคำพูดนับพันคำ”

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 นิทรรศการ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam

ชมภาพถ่ายยุคแรกแผ่นดินสยาม บันทึกโดย “ช่างภาพหลวง” ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 อรรถดา คอมันตร์ และ วีรวิชญ์ ฟูตระกูล

นิทรรศการที่คนรักประวัติศาสตร์และการถ่ายภาพไม่ควรพลาด 

นิทรรศการพิเศษ Treasure of Memories: 19th Century Photographs of Siam From Athada Khoman's & Weerawit Futrakul's Collection หรือนิทรรศการ 60 ภาพถ่ายเก่าหายาก ต้นฉบับจริงอายุนับร้อยปี จัดแสดงให้ชมที่ RCB Photographers' Gallery 1 บนชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก สี่พระยา ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน - 20 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 - 20.00 น.

พิเศษสำหรับผู้ที่สนใจ มีรอบนำชมนิทรรศการโดยคุณ ปิติรัชต์ จูช่วย บรรณาธิการ สำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ และภัณฑารักษ์ ในวันที่ 3, 4, 5, 10, 11, 12, 17, 18 ธันวาคม 2565 เวลา 11.00 น. และ 14.00 น. สอบถามการสำรองจำนวนเข้าชม โทร.08 9479 6266

credit photo : ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก