ชวนกันมา ตะโกนร้อง ‘เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก’ ปลดแอกไก่ฟาร์ม
‘เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก’ เป็นงานศิลปะที่ 4 ศิลปินร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมเนื้อไก่ เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้ถึง 5 มี.ค. 66
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection- Thailand) ร่วมกับ 4 ศิลปิน จัดงานศิลปะ ‘เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก’ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
แสดงผลงานไปจนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2566 เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย เสนอทางออกเพื่อความยั่งยืนของระบบอาหาร ที่เกื้อกูลกันทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
นำทีมโดย มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ร่วมกับ 'นักรบ มูลมานัส' ศิลปินนักปฏิรูปงานศิลป์กับผลงาน The Last Suffer โต๊ะอาหารมื้อสุดท้าย
ครูเซียง หมอลำหุ่น ศิลปินพื้นบ้าน คณะเด็กเทวดา รังสรรค์งานศิลป์ ‘ชีวิต A4’ ผ่าน Installation Art นำสุ่มไม่ไผ่และเครื่องจักสานฝีมือชาวบ้านมาประกอบเป็นไก่ขนาดยักษ์สูงกว่า 3 เมตร
Cr. Kanok Shokjaratkul
'นนทวัทธ มะชัย' กลุ่มลานยิ้มการละคร 'Kult Of Chicken' อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ ควรลด ละ เลิก การเลี้ยงไก่ที่ไม่คำนึงถึงชีวิตใคร
'อาจารย์ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง' ศิลปาธร ปี 2547 ร่วมกับกลุ่มละครอนัตตา นำเสนอลิเกแนวแฟนตาซีโรแมนติก เรื่อง 'เจ้าชายลอ กับ ไก่วิปลาส'
กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ 'Laan และ Beagle Hug' ร่วมขับกล่อม และนิทรรศการภาพวาด หัวข้อ 'เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม'
Cr. องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
- ไก่ในจานของเรา ถูกเลี้ยงมาอย่างไร
โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า งานวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
"เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม โดยเฉพาะไก่ ไก่ในโลกใบนี้ถูกเลี้ยงมาเป็นอาหารคนหลายหมื่นล้านตัวต่อปี แล้ว 2 ใน 3 มีความทุกข์ทรมานจากการเลี้ยง เพราะอุตสาหกรรมฟาร์มไม่ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพสัตว์
Cr. Kanok Shokjaratkul
ไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ อยู่ด้วยความแออัด มีการใช้ยาปฏิชีวนะ เลี้ยงให้หน้าอกใหญ่กว่าขา ทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ เดินไม่ได้ ขาพิการ
ส่งผลมาถึงผู้บริโภค เกิดเป็นปัญหา 'เชื้อดื้อยา' กิจกรรมวันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะปลดแอกความทุกข์ทรมานของสัตว์ฟาร์ม ซึ่งเราทุกคนสามารถช่วยกันได้"
Cr. Kanok Shokjaratkul
เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า งานในวันนี้เป็นซีรีส์สองที่รณรงค์เรื่องสัตว์ฟาร์ม
"ครั้งนี้เราเลือกใช้ศิลปะ เพราะศิลปะให้ความสุขและความสุนทรีย์ ช่วยสื่อสารประเด็นทางสังคมได้ องค์กรรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับศิลปินทุกท่าน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตั้งแต่คุณกอล์ฟ นนทวัทธ, ครูเซียง, คุณนักรบ, น้องมารีญา ที่ร่วมงานกันมาอย่างต่อเนื่อง ยังมีนิทรรศการของเยาวชน และกลุ่มอนัตตาด้วย
ทุกท่านมาร่วมกันตีโจทย์สวัสดิภาพไก่และออกแบบผลงานสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เชื่อมโยงมาถึงสุขภาพของมนุษย์”
Cr. Kanok Shokjaratkul
มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า วันนี้มาในนามทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและศิลปิน
"มารีญาโชคดีที่ได้มาเจอกับกลุ่มพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ทำให้ได้ศึกษาเรียนรู้ขับเคลื่อนในเรื่องสำคัญ คือ สวัสดิภาพของสัตว์
Cr. Kanok Shokjaratkul
มนุษย์ทุกคนบนโลกพึ่งพาสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าระบบนิเวศหรือการรับประทานอาหาร เราไม่ได้อยากให้หยุดกินเนื้อสัตว์ แต่อยากให้ทุกคนเริ่มคิดว่า เนื้อสัตว์ที่เรารับประทาน มันมีสวัสดิภาพอย่างไร
มารีญาได้ทำงานศิลปะร่วมกับคุณนักรบ ชื่อผลงานว่า 'The Last Suffer' เป็นรูปภาพพระเยซูรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย และพูดว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นในโลกของเรา
Cr. องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
เราก็อยากให้ 'The Last Suffer' ของเรา ให้คนที่มานั่งรับประทานได้เห็นถึงสิ่งที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นำมาเลี้ยงไก่ ไก่ต้องผ่านอะไรมาบ้าง มันมีผลกระทบอะไรบ้าง
และหวังว่ามันจะเป็นจานสุดท้ายที่จะมีความทุกข์ทรมานแบบนี้ ในงานนี้มีงานศิลปะหลายชิ้นที่อยากให้ทุกคนไปชม และมีหลายรสชาติ เชิญมาดูงานของพวกเราด้วยนะคะ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
นักรบ มูลมานัส ศิลปิน นักปฏิรูปงานศิลปะ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมงานกับมารีญา
"เราติดตามมารีญาและภารกิจองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมาตลอด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึก ทั้งองค์กรและคุณมารีญาได้ให้ข้อมูลเยอะมาก
งานศิลปะชิ้นนี้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง รู้สึกดีมากที่ได้ทำประเด็นนี้ ข้อมูลและแรงบันดาลใจที่เราได้รับมามี 2 ข้อมูล คือ
Cr. Kanok Shokjaratkul
1) ตั้งแต่ไก่เกิดจนสิ้นอายุขัย เขาอยู่บนพื้นที่แคบ ๆ ขนาดเท่ากระดาษA4 ไม่ได้ออกไปไหนหรือได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติเลย ก็เหมือนกับเราที่ไม่มีเสรีภาพที่จะไปไหนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย
2) อายุขัยของไก่ตามธรรมชาติคือ 7 ปี แต่กระบวนการในฟาร์มทำให้เขามีอายุแค่ 40 วัน เราลดวงจรเขาลงไปด้วยสารเคมีและอะไรต่าง ๆ ซึ่งมีผลมาถึงมนุษย์
งานศิลปะชิ้นนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับคนหมู่มาก งานศิลปะนี้เราทำกันหลายคนมาก เราถือว่าเป็นงานกลุ่ม"
Cr. Kanok Shokjaratkul
ครูเซียง หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา กล่าวว่า หลังจากที่เราได้รู้ว่าไก่ในฟาร์มมันมีระยะเดินเท่ากับกระดาษ A4 ก็สร้างสรรค์งานนี้ขึ้นมา
"ผมอยู่ที่อิสาน ในชนบท อิจฉาไก่ มันมีอิสระ มันกระโดด มันบินขึ้นต้นไม้ พาลูกตัวเองไปคุ้ยเขี่ยกินได้ทุกที่ แต่พอมาดูไก่ที่เขาเลี้ยงในฟาร์มก็หดหู่มาก
Cr. Kanok Shokjaratkul
มันมีขาก็เหมือนไม่มี เดินสั้น ๆ เหมือนไก่พิการ เดินไปนิดเดียวก็ล้ม กระดูกมันน่าจะอ่อนมาก เพราะเขาเลี้ยงให้หน้าอกใหญ่
งานศิลปะชิ้นนี้ เราเอาวัสดุในธรรมชาติ พวกสุ่มไก่ หญ้าคา ฟาง เอามาทำ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าไก่ตัวนี้ตัวใหญ่แต่ขามันนิดเดียวเอง
Cr. Kanok Shokjaratkul
เรารู้ว่าไก่ มันเป็นอาหารของเรา แต่ก่อนที่จะมาเป็นอาหาร ก็อยากให้ชีวิตมันดีกว่านี้ อย่างน้อยมันก็เป็นสัตว์ที่มีชีวิตเหมือนกับเรา อยากให้ทุกคนไปเขียนข้อความเกี่ยวกับไก่ อยากบอกอะไรบอกได้เลย"
งานศิลปะ ‘เอ้ก-อี-เอ้ก อ๊ากกก’ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร