14 นิทรรศการความเคลื่อนไหวเชิงสถาปัตยกรรมใน งานสถาปนิก’66
งานสถาปนิก’66 หรือ Architect Expo 2023 เต็มอิ่มนิทรรศการเชิงสถาปัตยกรรมจาก 5 องค์กรวิชาชีพสถาปัตยกรรม ทั้งการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณ การต่อไม้แบบไทย สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ วัสดุก่อสร้าง พัฒนาเมือง วิทยานิพนธ์
เนื่องจากเล็งเห็นว่าโลกกำลังหลุดพ้นจากภายใต้เงาของโรคระบาด ดังนั้น 5 องค์กรวิชาชีพทางด้าน สถาปัตยกรรม ในประเทศไทย ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากร แห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก จึงร่วมกันจัด งานสถาปนิก’66 หรือ Architect Expo 2023 ขึ้นในเดือนเมษายน 2566
เพื่อเป็นเวทีที่จะนำเหล่านักออกแบบกลับมารวมตัวกันเพื่อพูดคุย ตั้งคำถาม ช่วยกันหาคำตอบและแนวทางที่มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติวิชาชีพทุกแขนงทั้งในปัจจุบันและอนาคต
หนึ่งในการออกแบบตกแต่งร้านภายในงานสถาปนิก'66
สำหรับ งานสถาปนิก’66 ในปีนี้ ทางคณะผู้จัดงานฯ เลือกหัวข้อในการจัดงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสังคมของคนไทย ในหมวดของ 'วัฒนธรรมด้านอาหาร' เพราะเมื่อมาพบปะสังสรรค์กัน คนไทยมักจะรับประทานอาหารร่วมกัน
แม้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมและความชื่นชอบทางด้านอาหารไทยจะมีความหลากหลาย แต่อาหารไทยที่คนไทนและผู้คนทั่วโลกชื่นชอบมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย คือ 'ส้มตำ' ในปีนี้
งานสถาปนิก’66 จึงขอเชิญชวนทุกท่านไปร่วมสนุกกับงานภายใต้แนวคิด “ตำถาด : Time of Togetherness”
ภายในงานสถาปนิก’66 นอกจากการออกร้านของบริษัทห้างร้านที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม ยังประกอบด้วยนิทรรศการสำคัญเชิงสถาปัตยกรรรมและกิจกรรมมากมาย แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
“ตำถาด : Time of Togetherness”
ส่วนนิทรรศการหลัก ประกอบด้วย
1. นิทรรศการธีมงาน Time of Togetherness
ที่มาที่ไปของการรวมตัวกันของ 5 สมาคมวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมที่ก่อให้เกิดการพูดคุย ตั้งคำถามและช่วยกันหาคำตอบ เพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาชีพและสังคมโดยรวมทั้งปัจจุบันและอนาคต เช่น เรื่อง Sustainable จัดแสดงผ่านสื่อกราฟิก Key Visual หลักของงานและวัสดุปิดผิว
บ้านปากช่อง แรงบันดาลใจจากเส้นตัดกันของแนวภูเขา (นิทรรศการ All Member: Design Showcase)
พิพิธภัณฑ์ Modern Aluminum Thailand (นิทรรศการ All Member: Design Showcase)
2. นิทรรศการ All Member: Design Showcase
นำเสนอผลงานของสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมมัณฑนากรฯ สมาคมภูมิสถาปนิกฯ สมาคมสถาปนิกผังเมืองฯ ทั้งประเภทนิติบุคคลและบุคคลภายใต้ธีมงานที่กำหนดและส่วนที่อธิบายถึงธีมหลักการจัดงานสถาปนิก’66
3. Human Library: Let’s talk and share
ผู้พูดจะเป็นใครก็ได้ (อาจไม่ใช่คนดัง) ที่ผ่านเหตุการณ์ในชีวิตที่อาจยากลำบากหรือต้องใช้ความพยายามสูงในการฝ่าฟันมา สุดท้ายสามารถผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ จนตกผลึกและไม่มีอัคติ กระทั่งสามารถพูดหรือแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อื่นได้อย่างเป็นกลาง พร้อมแชร์สิ่งนั้น และตอบคำถามต่างๆ
การพูดคุยนี้เป็นกลุ่มย่อย หรือ คู่สนทนา เพราะเรื่องบางเรื่องอาจลงลึกในประเด็นที่เป็นส่วนตัว แนวความคิดสอดคล้องกับ Don’t Judge a book by a cover
4. นิทรรศการสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA)
จัดแสดงผลงานการประกวด TIDA Awards and TIDA Thesis Awards
นิทรรศการ TIDA Salone การจับคู่ดีไซเนอร์กับโพรดักต์ที่น่าสนใจเพื่อนำมา showcase
บริการให้ข้อมูล รับสมัครสมาชิก ขายของที่ระลึก
ผลงานประกวดออกแบบเมืองพัทยา (TUDA)
นิทรรศการ TUDA
5 นิทรรศการสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA)
การจัดแสดงผลงานวิทยานิพนธ์ ผลงานออกแบบ และการศึกษาวิจัยจากสถาบันการศึกษา
จัดแสดงผลงานประกวดออกแบบเมืองพัทยา, โครงการ Creative city นาเกลือ พัทยา, การจัดประกวดแบบโครงการป้ายรถประจำทาง เทศบาลขอนแก่น, โครงการประกวดแบบลานกีฬากรุงเทพมหานคร, BlueScope Design Award 2022 และเมืองอื่นๆ ที่ TUDA ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมการพัฒนาเมือง
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการโดย TALA
แผนปรับปรุงสวนริมคลองรอบกรุง ย่านปากคลองตลาด เขตพระนคร โดย TALA
6. นิทรรศการสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA)
นิทรรศการและพื้นที่วิชาการ ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการภูมิสถาปัตยกรรมที่ดำเนินการร่วมกับภาคีวิชีพอื่นๆ อาทิ โครงการเกษตรยั่งยืน โครงการลานกีฬากรุงเทพมหานคร
นิทรรศการแสดงแผนที่ความสัมพันธ์ของโครงสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ณ ปัจจุบัน และหรืออนาคต และพื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกสมาคมฯ
ภาพจากนิทรรศการ ASA Experimental Design
นิทรรศการวิชาการ ประกอบด้วย
7. ASA Experimental Design: Not Only Human
การแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติที่เปิดให้สมาชิกสมาคมฯ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมส่งผลงาน แสดงแนวคิดในการออกแบบภายใต้กรอบธีมงานที่กำหนด
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการย่านเก่าเล่าเรื่อง
ภาพจาก "ย่านเก่าเล่าเรื่อง"
นิทรรศการ สมาคม วิชาชีพ ประกอบด้วย
8. นิทรรศการย่านเก่าเล่าเรื่อง ในโครงการ ASA Vernadoc
นำเสนอผลงานการเก็บข้อมูลของอาคารที่ทรงคุณค่าด้วยวิธี Vernadoc คือการเก็บข้อมูลอาคารด้วยการเขียนมือ ใช้ปากกา ดินสอ เขียนแบบ สำรวจและใช้เวลาศึกษาอยู่กับอาคารสถานที่จริงจนแล้วเสร็จ โดยทีม ‘สถาปัตย์ (ลาดกระบัง) อนุรักษ์’
วัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ผู้อยู่อาศัยในย่านชุมชนเก่าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านภาพวาดต้นฉบับของย่านชุมชนเก่า เรือนแถวไม้ ตึกแถว สถานีรถไฟ วิถีชีวิตของผู้คน
รวมทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญและช่วยกันหาแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่า ที่เน้นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน
9. นิทรรศการรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566
นำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ที่คัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ
ภาพจากนิทรรศการ TOY ARCH 2022
10. นิทรรศการ TOY ARCH 2022
นำเสนอผลงานการออกแบบของนิสิตนักศึกษาคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ประกอบด้วย Thesis of the Year in Architecture Award 2022 (TOY ARCH2022) การประกวดวิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ดีเด่นแห่งปี 2022 และ สภาคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย Council of Deans of Architecture of Thailand (CDAST)
การต่อไม้แบบ 'หางเหยี่ยว' ของช่างไม้ไทย
11. นิทรรศการรอยต่อไม้ในงานสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น By Unesco และ ไร่แม่ฟ้าหลวง
เป็นผลงานการศึกษา ค้นคว้า และรวบรวมรอยต่อไม้แบบจารีตนิยม ซึ่งพบในงานสถาปัตยกรรมไม้ในประเทศไทย นำมาจัดสร้างหุ่นจำลองรอยต่อ มาตราส่วนจริง เพื่อถอดรหัสภูมิปัญญาช่างไม้ในอดีต เพื่อการบันทึกมรดกทางวัฒนธรรม และเพื่อการสื่อสารคุณค่าภูมิปัญญางานไม้ของชาติ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นำไปสู่ความเข้าใจและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าของชาติในลำดับต่อไป
วัตถุจัดแสดงในนิทรรศการ Asa Platform Selected Materials
12. Asa Platform Selected Materials 2023
โครงการคัดเลือกวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่น่าจับตามองในปี 2023 เพื่อแนะนำแก่สมาชิกสมาคมและสาธารณชน
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชื่อว่า 'วัสดุที่ดี' คือจุดเริ่มต้นของอาคารและการก่อสร้างที่ดี
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการนิทรรศการอัศจรรย์เมืองน่าอยู่
13.นิทรรศการ Wow: Wonder of Well Being อัศจรรย์เมืองน่าอยู่
เมืองที่น่าอยู่ แตกต่างจาก ‘เมืองที่อยู่ได้’ เพราะมีการวางแผนตั้งแต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค และความร่วมมือจากผู้อยู่อาศัยในการหาแนวทางพัฒนาเมืองให้มีชีวิตชีวาและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงอย่างทันยุคทันสมัย การสร้างความเข้าใจว่าเมืองที่น่าอยู่เป็นอย่างไร จึงมีความจำเป็นที่จะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเมืองแบบมีเป้าหมายและมีภาพเมืองที่ดีร่วมกัน
ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการโดย JIA
14. Architecture Guide to the UN17 Sustainalble Development Goals Japan Version
สถาบันสถาปนิกแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Institute of Architects-JIA) ได้เผยแพร่คู่มือแนะนำสถาปัตยกรรม SDGs (Sustainable Development Goals เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ในปี 2019 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการจัดพิมพ์คู่มือแนะนำสถาปัตยกรรม SDGs โดย UIA (สมาพันธ์สถาปนิกนานาชาติ) ตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาเป้าหมาย UN 17 ถูกรวบรวมจากโครงการที่ได้รับรางวัลทั่วประเทศญี่ปุ่น
หลังจากการตีพิมพ์คู่มือนี้ นักศึกษาของ Graduate School of Tokyo City University (TCU มหาวิทยาลัยโตเกียว) ได้พัฒนาหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ของตนเอง
ที่น่าสนใจคือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของชนพื้นเมืองในอดีตอาจเป็นทางออกของสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยโตเกียวหวังว่าแนวคิดของ JIA และนักเรียนจะสร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชนพื้นเมือง
ASA shop ในงานสถาปนิก'66
ส่วนงานพื้นที่กิจกรรมและบริการ
1. ASA Shop, ASA Bookshop, ACT Shop - พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกสมาคมฯ หนังสือวิชาการจากสถาบันการศึกษา
2. ASA Club - พื้นที่ Meeting Point และจุดพักผ่อนประจำของชาวอาษา
3. สถาปนิกอาสา – พื้นที่บริการให้คำปรึกษาเรื่อง่แบบบ้านจากสถาปนิกอาสา
สภาสถาปนิกอาสา ในงานสถาปนิก'66
ส่วนงานสัมมนาวิชาการ
1. ASA + ACT International Forum 2023
งานสัมมนาวิชาการ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศ ภายใต้ธีมงาน ตำถาด : Time of Togetherness ในงาน ASA + ACT International Forum 2023 จะจัดให้อยู่รูปแบบ Hybrid Forum ที่จะสามารถเข้าร่วมฟังสัมมนาแบบ On-site และแบบ Online ได้ในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศ
2. ASA + ACT Seminar 2023
งานสัมมนาวิชาการ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ภายใต้ธีมงาน ตำถาด : Time of Togetherness โดยงานสัมมนา จะเป็นรูปแบบ Hybrid Forum ที่จะสามารถเข้าร่วมฟังสัมมนาแบบ On-site และแบบ Online ได้ในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศเช่นกัน
งานสถาปนิก’66 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี