ค่านิยมที่นำไปสู่ความวิบัติ | บวร ปภัสราทร

ค่านิยมที่นำไปสู่ความวิบัติ | บวร ปภัสราทร

เชื่อกันว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีกลยุทธ์ที่ดี มีคนเก่งพอที่จะเดินหน้าตามกลยุทธ์นั้น มีวัฒนธรรมการทำงานที่สนับสนุนให้เกิดความสำเร็จมักปรากฏเป็นรูปธรรมให้เห็นได้จากค่านิยมที่ผู้คนเชื่อมั่น และใช้เป็นแนวทางในการคิด ตัดสินใจและการทำงาน

เราจึงมักได้เห็นแต่ถ้อยคำค่านิยมที่ดูน่าประทับใจ แต่ในความเป็นจริงนั้น ค่านิยมไม่ได้มีแค่เท่าที่ปรากฏเป็นถ้อยคำสวยหรูนั้น แต่ยังมีค่านิยมที่เชื่อกันจนเป็นสรณะ และฝั่งแน่นจนแทบกลายเป็นสามัญสำนึกในการงานของผู้คนในสังคมนั้นด้วย 

ถ้าเป็นค่านิยมที่เชื่อแล้วนำไปสู่การพัฒนาก้าวหน้าไปในอนาคต สังคมนั้น องค์กรนั้นก็ก้าวไกลไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็มีค่านิยมที่ใครเชื่อใครนำไปปฏิบัติ วิบัติจะตามมา มาช้าบ้างเร็วบ้างสุดแล้วแต่บริบทของสังคมนั้นๆ แต่สุดท้ายแล้วตอนจบเหมือนกันคือ

กลยุทธ์โดดเด่นแค่ไหน คนเก่งเพียงใด สังคมนั้น องค์กรนั้นก็ยังพบกับความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะไปยึดมั่น เชื่อมั่นในค่านิยมแห่งความวิบัติ

“ฟังเสียงคนโวย วางเฉยพลังเงียบ” เป็นตัวอย่างหนึ่งของค่านิยมวิบัติ เพราะใครเชื่อใครปฏิบัติตามนี้ คนโวยจะเป็นใหญ่ คนส่วนใหญ่จะไร้ความสำคัญ ทุ่มเทสารพัดเพียงเพื่อตอบสนองลูกค้าโวยวายที่เป็นลูกค้าส่วนน้อย ในขณะที่ละเลยไม่ใส่ใจความพึงพอใจ และความผูกพันของลูกค้าส่วนใหญ่ นานวันความสัมพันธ์กับลูกค้าส่วนใหญ่ย่อมจืดจางลง 

อย่าเชื่อว่าสงบคนโวยต้องมาก่อนใส่ใจคนส่วนใหญ่ ถ้าเด็กร้องไห้ได้กินก่อนเด็กนั่งเฉยๆ ต่อไปเด็กทุกคนจะพร้อมใจกันร้องไห้เพื่อจะได้กินก่อนบ้าง แม้ว่าเสียงโวยวายสามารถเรียกร้องความสนใจได้เร็ว

แต่เสียงที่ต้องใส่ใจจริงๆ คือเสียงท่ามกลางความเงียบของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเสียงที่กำหนดว่าสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นให้ได้นั้นคืออะไร เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความสำเร็จขึ้นจากเสียงของจอมโวย

การเชื่อมั่นในความสมบูรณ์แบบดูเหมือนจะเป็นค่านิยมที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่วันนี้ใครที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์แบบ คนนั้นจะทำงานใดๆไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนอื่นชิงตัดหน้าไปหมด ต้องปรับใหม่ว่า “ไม่สมบูรณ์แบบในวันนี้ แต่ก็ดีพอจะสร้างความสำเร็จขึ้นได้” 

วันนี้ แว่นตาวีอาร์จากวงการไฮเทคของโลก ประกาศตัวออกมาก่อนจะพร้อมที่จะผลิตขายกันจริงๆ ไม่รอแม้แต่จะให้มีของพร้อมขายก่อนจะป่าวประกาศ การไม่ยึดมั่นในความสมบูรณ์แบบช่วยให้มองเห็นจุดเด่นก่อนที่จะไปมองหาอะไรที่ต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม 

พวกสมบูรณ์แบบนิยม เห็นใครสักคนที่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ก็ยังจ้องจับว่าพูดภาษาอังกฤษผิดไปสองคำ จากทั้งหมดที่พูดมาเป็นชั่วโมง จะหาใครมาทำงานก็มัวแต่หาจุดบกพร่องมากกว่าที่จะดูขีดความสามารถที่โดดเด่น

สมบูรณ์แบบนิยมผสมกับความลำเอียง จะเป็นกำแพงกั้นไม่ให้เห็นความเก่งใดๆ ของคนที่ไม่ใช่พรรคพวก เห็นแต่คนอื่นบกพร่องสารพัด เลยได้แต่คนที่ไม่เก่งจริงมาทำงาน

มีจำนวนไม่น้อยที่หยิ่งผยองกับความสำเร็จที่ผ่านมา จนเชื่อไปว่า “ความสำเร็จเดิม ช่วยสร้างความสำเร็จใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเสมอ” ดูแคลนคนอื่นที่ไม่เคยมีโอกาสได้สร้างความสำเร็จให้ปรากฏ ว่ามือไม่ถึง งานนี้ต้องฉันเท่านั้น เพราะฉันมีความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นการรับประกัน

เลยเสี่ยงในเรื่องที่ไม่ควรเสี่ยง เว้นในเรื่องที่ไม่ควรเว้น จนเปิดโอกาสให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ความสำเร็จเดิมจะช่วยสร้างความสำเร็จใหม่ได้ เฉพาะเมื่อมีบริบทที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม 

วันใดก็ตามที่บริบทเปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จเดิมช่วยได้แค่ตรรกะและกระบวนคิด ส่วนวิธีการทำงานต้องคิดหาหนทางใหม่ขึ้นมาทดแทนวิธีเดิมๆ ที่เคยสร้างความสำเร็จมาให้ ใครที่ผยองกับความสำเร็จที่ผ่านมา มักจะไปสรรหาเรื่องเล็กเรื่องน้อยมายกเป็นความสำเร็จ เพื่อให้ตนเองสบายใจว่าวันหน้าจะสามารถสร้างความสำเร็จใหม่ๆ ขึ้นได้

ค่านิยมที่สร้างความวิบัติที่พึงหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง คือ “อยู่รอดได้เพราะมีฉัน” ถ้าเชื่อใหม่ว่า “ไม่มีฉันก็รอดได้” แล้วจะได้เห็นความสำเร็จใหม่ๆ ตามมาอีกมากมาย
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร 
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]