ชมงานศิลป์จากเปรู 'กระทิงน้อยแห่งปูการ่า'
ชมงานศิลป์จากเปรู ประติมากรรม ‘กระทิงน้อยแห่งปูการ่า’ พร้อมศิลปินไทย ‘สปัญญ์ อินทวงษ์’ และ ‘รศ.สุขุมาล สาระเกษตริน’ ออกแบบกระทิงน้อยผสมผสานกับพระโคแรกนาขวัญของไทย ที่ 'สยามดิสคัฟเวอรี่'
สยามพิวรรธน์ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทย จัดงาน Torito de Pucará: Ambassador of the Peruvian Highlands นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะการเพ้นท์ลวดลายเซรามิกบนหุ่นวัวที่จัดแสดงไปทั่วโลก
งานศิลป์จากเปรู ผลงานประติมากรรมเซรามิก กระทิงน้อยแห่งปูการ่า จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเปรูที่มีต่อกันอย่างแน่นแฟ้นยาวนาน และสร้างโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสกับศิลปะวัฒนธรรมระดับโลก (Opportunity Platform) จัดแสดงที่ สยามดิสคัฟเวอรี่
เซซิเลีย ซูนิลดา การ์เรตา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรู (ซ้าย) ร่วมเปิดงาน
นิทรรศการงานศิลปะ Torito de Pucará: Ambassador of the Peruvian Highlands เป็นโครงการส่งเสริมวัฒนธรรม จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศของเปรู ผ่านสำนักงานแห่งเมืองปูโน ร่วมกับเทศบาลเมืองเลอัล บิยา เด ปูการา และสมาคมช่างฝีมือปูการาทั้ง 10 แห่ง
ซึ่งรวบรวมเซรามิกมากกว่า 500 ชิ้น โดยช่างฝีมือที่ได้รับการส่งเสริมและสืบสานประเพณีเครื่องปั้นดินเผาโบราณตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ผลงานที่รวบรวมได้ทั้งหมดจะแบ่งออกไปจัดแสดงนิทรรศการยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ผลงาน Torito de Pucará หรือ กระทิงน้อยแห่งปูการ่า ที่จัดแสดงในประเทศไทยเป็นผลงานที่หมุนเวียนจัดแสดงยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีต้นกำเนิดจากเมืองเชกา ปูปูฆา จังหวัดอาซันกาโร แคว้นปูโน
ได้รับการสร้างสรรค์เป็นผลงานประติมากรรมเซรามิก ที่มีรูปร่างเหมือนกระทิง ตกแต่งด้วยลวดลายและดอกไม้หลากสีสัน ซึ่งแต่ละเฉดสีและลวดลายจะมีความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น
กระทิงน้อยแห่งปูการ่าผสมผสานกับพระโคแรกนาขวัญของไทย
สีฟ้า : สัญลักษณ์แห่งสุขภาพและความสุข ส่งเสริมสุขภาพกายและใจ สร้างอารมณ์เชิงบวก
สีขาว : ความหมายของความสงบสุขและการป้องกัน
สีเหลือง : ความอุดมสมบูรณ์ มักวางไว้ในบ้านเพื่อดึงดูดความสำเร็จและความมั่งคั่ง
สีแดง : ความรักและการปกป้อง ชาวเปรูเชื่อว่ากระทิงสีแดงช่วยขับไล่พลังด้านลบ
สีดำและสีม่วง : สัญลักษณ์แห่งความสูงส่ง ภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณ
สีเขียว : ความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง
กระทิงน้อยแห่งปูการ่า เป็นผลงานศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจ รวมถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้า ซึ่งในทุกขั้นตอนล้วนต้องใช้ฝีมือการปั้นด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท หลังจากที่ปั้นเป็นรูปทรงกระทิงแล้ว ศิลปินจะตกแต่งรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะวางไว้จนแห้งแล้วนำไปเข้าเตาเผา
จากนั้นจึงนำมาทาสีและเคลือบพื้นผิว และนำกลับไปเข้าเตาเผาอีกครั้ง ปัจจุบันสามารถพบเห็นผลงานประติมากรรมเก่าแก่นี้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ในเมืองตอนใต้อย่างเมืองกุสโก เมืองปูโน เมืองอายากูโช และเมืองอาปูริมัก
โดยชาวบ้านนิยมนำมาใช้ตกแต่งภายในบ้านหรือบนหลังคา เป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันภัยและนำมาซึ่งความผาสุกของครอบครัว ช่วยปกปักรักษาฝูงสัตว์ ทั้งยังใช้เป็นของตกแต่งในงานแต่งงานเพื่อความเป็นสิริมงคล
และนิยมนำกระทิงน้อยแห่งปูการ่าฝังดินเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูอีกด้วย
สีสันแห่งเกชัว ผลงานของ สปัญญ์ อินทวงษ์
ภายในงานจัดแสดงผลงานประติมากรรม กระทิงน้อยแห่งปูการ่า โดยฝีมือศิลปินชาวเปรูจำนวน 20 ชิ้นงาน และเชิญ สปัญญ์ อินทวงษ์ ศิลปินนักวาดภาพประกอบ นักออกแบบชื่อดังของไทย มาร่วมออกแบบกระทิงน้อยแห่งปูการ่า ในชื่อผลงาน Into the Rainbow สีสันแห่งเกชัว
กระทิงน้อยสีแดง ช่วยขับไล่พลังด้านลบ
แรงบันดาลใจจากสีสันและรูปแบบของวัฒนธรรมการทอผ้าของเกชัว ผสมผสานกับการนำรูปทรงเรขาคณิตและลวดลายของดอกไม้ที่ถักทออย่างวิจิตรงดงามอยู่บนเสื้อผ้าของเกชัว
ยังมีผลงานประติมากรรมการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเปรูและไทย โดย รศ.สุขุมาล สาระเกษตริน อาจารย์ประจำภาควิชานฤมิตรศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Torito de Pucará กระทิงน้อยแห่งปูการ่าผสมผสานกับพระโคแรกนาขวัญของไทย ผนวกรวมกับพวยกา ในงานเครื่องปั้นดินเผา Moche (โมเช) ของเปรู จนกลายเป็นงานประติมากรรมแห่งวัฒนธรรมมาจัดแสดงอีกด้วย
Workshop ระบายสีกระทิงน้อย
อีกทั้งจัดกิจกรรม Workshop เชิญผู้สนใจร่วมระบายสีกระทิงน้อยปูนปั้นจำลอง สร้างสรรค์ลวดลายและสีสันในแบบฉบับของตัวเอง ในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2566 และวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 วันละ 2 รอบ รอบที่ 1 เวลา 15.00-16.00 น. รอบที่ 2 เวลา 16.00-17.00 น. จำกัดรอบละ 50 ท่าน (รวมวันละ 100 ท่าน) ณ ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
และสามารถรับกระทิงน้อยในแบบฉบับของตัวเองกลับไปเป็นของที่ระลึกอีกด้วย
ชมนิทรรศการ กระทิงน้อยแห่งปูการ่า ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กรกฎาคม 2566 ณ ชั้น 5 สยามดิสคัฟเวอรี ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม