สื่อ กับกระแส Woke Culture | ศ.สุกัญญา สุดบรรทัด ราชบัณฑิต
สำหรับพ่อแม่ลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายายที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่บ้านยังมีหนังสือวรรณคดีขุนช้างขุนแผน พล นิกร กิมหงวน ซึ่งถึงวันนี้เก่าเก็บแห้งกรอบอยู่บนหิ้ง
ในมโนสำนึกยังอบอวลด้วยกลิ่นโคลนสาบควายและเรื่องราวของไอ้ขวัญอีเรียม ลูกหลานยั้วเยี้ยอยู่ในห้องรับแขกเป็นความรื่นรมย์ของชีวิตหลังเกษียณ ถึงวันนี้มีเด็กมาท้าทายอยู่หน้าจอมือถือ มาด่าทอฉีกทึ้งภาพฝันเดิมที่คุ้นเคย เรื่องเล่ายุคโลกาภิวัตน์ชวนให้หมางเมินผู้อาวุโส ต่อไปนี้จะไม่ไหว้ครูแล้ว ไม่เอาแล้วญาติผู้ใหญ่หัวโบราณเกิน
คนที่คุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ครั้งโบราณเป็น “คนดี” แห่งอดีตที่เข้าวัดปฏิบัติธรรมอยู่เนืองนิตย์ ย่อมไม่อาจระงับความสะเทือนใจอันใหญ่หลวงนั้นเสียได้
มีอะไรบางอย่างปลิวมากับกระแสลมตะวันตก มันคือกระแสตาสว่าง ที่เรียกกันว่า โว้ก (Woke-Wokeism) ตื่นรู้จากความมืดบอดที่ยอมทนกับการกดขี่มาช้านาน โว้กชูการถอดรื้อระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และขนบดั้งเดิมจนถึงฐานราก ไปสู่คติของเสรีภาพ ความเสมอภาค ที่ตื่นเตลิดไปจนสุดขั้ว
อาจตรงใจคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เหลือจะอดทนกับความฉ้อฉลและหยิ่งยะโสของกลุ่มอีลิต พวกที่อยู่ในกาต้มน้ำปิดฝาที่ถูกต้มจนเดือดพล่าน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอนาคตระดับจักรวาลนฤมิต
โว้กทำทุกอย่างเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าอุดมการณ์หลัก มันเป็นกระแสโลก อาศัยสื่อโซเชียลและการผลิตซ้ำวาทกรรมแห่งมายาคติเข้าครอบครองปริมณฑลการสื่อสาร ก่อให้เกิดจลาจลในหลายประเทศ
สื่อในกระแสโว้ก หมายรวมช่องทางสื่อสารทุกแพลตฟอร์ม ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ แหล่งสารมาจากประชาชน และองค์กรขนาดใหญ่อย่างสถาบันทางการเมือง สถาบันการศึกษา บริษัทห้างร้าน สื่อของพวกโว้กเหมือนเปลวไฟลุกโชนบนเชื้ออารมณ์แห่งความผิดหวัง เจ็บปวด โกรธแค้น เกลียดชัง
ขบวนการขับเคลื่อนด้วยวาทกรรม “ชีวิตคนดำก็มีค่า" (Black Lives Matter) ดำเนินไปอย่างร้อนแรงหลังการฆาตกรรมเทรวอน มาร์ติน (Trayvon Martin) ยุวชนผิวดำชาวอเมริกันวัย 17 ปี ที่ลอสแองเจลิส ในปี 2555 เขาทำผิดกฎจราจรและถูกตำรวจผิวขาวยิงทิ้ง วาทกรรมนี้ถูกปั่นเป็นกระแสมหาชนโดยอาศัยสื่อสังคมเป็นฐานช่องทางหลัก แฮชแท็ก #BlackLivesMatter and #MeToo กระจายออกทุกช่องทางสื่อ
ในโลกของสื่อ ปรากฏทั้งมนุษย์และอมนุษย์ “สื่อเสี้ยม” สร้างข่าวปลอม สร้างผู้ติดตามผีคือไม่มีตัวจริง บางพวกเป็นอมนุษย์ คือ AI หรือบอต ที่ทำหน้าที่ส่งซ้ำหรือให้ข้อมูลระดับลวงลึก ปั่นหัวคน จนเข้าไปควบคุมได้
อมนุษย์พวกนี้ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน ขยายตัว และขยายภาพฝันแห่งมายาคติไปได้นับแสนนับล้านโดยผ่านแค่คีย์บอร์ดและมือกด แล้วใคร เจนไหนเล่าที่เกิดมาพร้อมกับอาวุธมหาประลัย คือ คอมพิวเตอร์?
สื่อมนุษย์และอมนุษย์ ทำสงครามที่มองไม่เห็น จริงๆ แล้วมันเหมือนเด็กฉลาดกำลังเล่นเกมประลองยุทธ์ระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรม ในเกมมีแม่ทัพและไพร่พล ใช้สารพัดกุศโลบายเพื่อป่ายปีนสันเขาขึ้นไปหยิบโคตรเพชรพระอุมา มีผู้ชนะและผู้แพ้ แพ้แล้วก็ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ ยังมีเวลาอันยาวไกลสำหรับกัปตันโว้ก
กระแสโว้กไหลบ่าเข้าไปในยุโรป ฝรั่งเศสในเดือน ก.ค.2566 เยาวชนวัย 17 เชื้อสายอัลจีเรียนและโมรอคคาน ถูกตำรวจยิงตายจากการผิดกฎจราจร พวกผิวสีผสมโรงกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเอียงซ้าย ก่อการจลาจลทั่วฝรั่งเศสทั้งในกรุงปารีสและในหัวเมืองใหญ่
หลายคนกล่าวหาว่า โว้กเป็นตัวไวรัสที่จะคุกคามโลก จะโค่นล้มเสรีภาพในทุกประเทศเพราะมันซ่อนอยู่ในกำบังของเสรีภาพ เป็นอาวุธร้ายทางการเมือง ก่อสงครามทางวัฒนธรรมที่ทั้งสุดขั้วและเลยเถิด
การนำเอารูปแบบวัฒนธรรมใหม่ไปครอบวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนนั้นเหลือจะรับ พวกนักคิดนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาพากันนั่งขวาง ไม่ให้โว้กเข็นครกขึ้นเขาไปได้ง่ายๆ โว้กเจอการต่อต้านที่โหดไม่ผิดกัน
ฝ่ายขวาจัดใช้สื่อที่มีประสิทธิภาพอาจจะมากกว่าของโว้กด้วยซ้ำ แต่ Content จืดชืด เพราะมัวแต่รักษาของเดิมๆ ที่คนเริ่มเบื่อและเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดที่สามารถขยายแผลได้ งุ่มง่ามไปตามวัย ไม่เร้าอารมณ์ปุถุชนวิสัยอย่างรุนแรงเหมือนโว้กที่เข้ากันได้ดีกับคนรุ่นใหม่
ยากจะปฏิเสธว่าในประเทศไทยไม่มีร่องรอยกระแสโว้ก วาทกรรมด้อยค่าขนบธรรมเนียมประเพณีล่องลอยอยู่ในกระแสสื่อ การดึงสิ่งสักการะของผู้คนลงจากหิ้งบูชาในระหว่างการประกาศสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
ด้านหนึ่งก็คือ สังคมควรทำความเข้าใจกับภาพฝันในอุดมคติของเยาวชนที่กำลังพุ่งเข้าชนกำแพง แต่อีกด้านหนึ่งก็คือความเจ็บปวดของคนต่างเจนที่ขวัญกระเจิงเพราะศรัทธาเดิมถูกละเมิดต่อหน้าต่อตา
สงครามระหว่างโว้กกับอนุรักษนิยมกำลังดำเนินไปและยังไม่มีท่าทีจะหยุดยั้ง มันลุกลามจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เลื่อนไหลจากโลกมายาที่มองไม่เห็นลงสู่แผ่นดินที่กำลังลุกเป็นไฟ นักการเมืองมองเห็นโอกาสในการเข้าสู่อำนาจด้วยการเข้ากลุ่มโว้กหรือต่อต้านโว้ก
สงครามทางวัฒนธรรมที่มีสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือกำลังเป็นปฐมเหตุของความขัดแย้งในโลกสมัยใหม่ เป็นเหมือนรอยแตกในแผ่นดินที่ระอุไปด้วยไฟ ลุกไหม้แล้วทำทีเหมือนจะหยุดแล้วก็ลุกโพลงขึ้นมาอีก
เสมือนว่า จะไม่มีวันสิ้นสุด