‘จัดดอกไม้ จัดชีวิต’ สไตล์อิเคโนโบ
ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องวิถีชีวิตอันละเมียดละไม สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกได้คือการจัดดอกไม้ (อิเคบานะ) ที่มีอยู่ด้วยกันหลายสำนัก แต่ต้นตำรับคือสำนัก “อิเคโนโบ” ซึ่งการจัดดอกไม้ของที่นี่เปรียบเสมือนการจัดชีวิต
ในโอกาสครบรอบ 34 ปีการก่อตั้งสมาคมนกยูงอิเคโนโบอิเคบานะ สาขากรุงเทพ และครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย สาธิตการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น “อิเคบานะ” จากสำนักการจัดดอกไม้ “อิเคโนโบ” ที่ถือเป็นต้นกำเนิดศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น โดย คุราตะ คัทซึฮิโตะ จากจ.เกียวโต มาบรรยายถึงประวัติและเทคนิคในการจัดดอกไม้อิเคบานะ พร้อมทั้งสาธิตผลงานใช้ดอกไม้ไทยนำมาจัดในรูปแบบต่างๆ ด้วยความเชี่ยวชาญ
สำนักการจัดดอกไม้ “อิเคโนโบ” เป็นสำนักเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดในราวศตวรรษที่ 6 ภายหลังจากที่ศาสนาพุทธเผยแพร่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลักษณะทางธรรมชาติที่มีสี่ฤดูกาลของญี่ปุ่น และปรัญชาทางความคิดของชาวญี่ปุ่นประกอบกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามกาลเวลา ปัจจุบันเจ้าสำนักอิเคโนโบเข้าสู่รุ่นที่ 45
ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของอิเคบานะมาจากการที่พระนำดอกไม้ไปถวายบนแท่นบูชาของวัด Rokkakudo ใน จ.เกียวโต ณ ริมสระน้ำ (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Ike) ที่มีกระท่อม (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Bo) หลังเล็ก ผู้คนจึงเรียกพระรูปนั้นว่า อิเคโนโบ เมื่อถึงสมัยมุโรมาจิ ดอกไม้พัฒนาเป็นเครื่องตกแต่งห้อง เสื่อทาทามิ พร้อมๆ กับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เซนโน อิเคโนโบ ปรมาจารย์ในสมัยนั้นได้สร้างปรัชญาแห่งการจัดดอกไม้และแสดงให้เห็นถึงวิถีแห่งอิเคบานะมาจนถึงทุกวันนี้
ระหว่างสาธิตคัทซึฮิโตะ เล่าว่า อิเคโนโบ เป็นสำนักเดียวที่จัดดอกไม้สามรูปแบบ ได้แก่ จิยูกะหรือฟรีสไตล์ เป็นรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด แสดงออกได้หลากหลายตั้งแต่แนวคลาสสิกไปจนถึงแนวร่วมสมัย แบบโชกะ เน้นความรู้สึกเข้าถึงธรรมชาติ และแบบริกกะ ภาคภูมิใจในความสง่างามและความละเมียดละไมของขนบธรรมเนียมประเพณี
"คนญี่ปุ่นโดยทั่วมองดอกไม้ใบหญ้าเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกษตรกรรม อยู่เป็นหลักแหล่งไม่ได้เลื่อนลอย ที่อยู่อาศัยจึงปลูกต้นไม้ ดอกไม้ เป็นนิสัยอยู่แล้ว" คัทซึฮิโตะเล่าถึงนิสัยใจคอของคนญี่ปุ่นที่มีต่อดอกไม้ใบหญ้า ส่งผลถึงปรัชญาการจัดดอกไม้ของสำนักอิเคโนโบที่ไม่ใช่แค่จัดดอกไม้ แต่เป็น “การจัดชีวิต” การจัดดอกไม้เป็นการเรียนปรัชญาชีวิตของคนญี่ปุ่นไปในตัว
“ร่างกายคนเราเปลี่ยนไปแต่แม้โรยราก็มีความสวยงาม หรือความบิดเบี้ยวสะท้อนถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ทารกน่ารักสดใส วัยรุ่นกระตือรือร้น วัย 30 เริ่มมีประสบการณ์ วัย 40-50ปี เริ่มคิดถึงบั้นปลายชีวิต แต่ละวัยสวยงาม การชื่นชมความงามของแต่ละวัยเป็นเรื่องสำคัญ” อิเคโนโบนำดอกไม้ใบไม้ต่างช่วงวัยมาจัดด้วยกัน ทั้งดอกแรกแย้มและใบอ่อน ที่เปรียบเสมือนชีวิตทารกเพิ่งเกิด รวมถึงดอกบานเต็มที่และที่เริ่มเหี่ยวเฉา แสดงถึงชีวิตของคนเราที่มีเกิด แก่ เจ็บ
อีกหนึ่งปรัชญาชีวิตที่ปรากฏขณะคัทซึฮิโตะจัดดอกไม้แบบริกกะ ใช้ต้นสนที่ใบไม่เหี่ยวแห้งเป็นแกนกลาง ประกอบกับกิ่งก้านสาขาที่แผ่ออกไปหมายถึงการยอมรับซึ่งกันและกัน แสดงถึงตรรกะของคนญี่ปุ่นในการอยูร่วมกันต้องยอมรับ ไม่แก่งแย่ง
เมื่อพูดถึงสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนแปลงไป คัทซึฮิโตะยอมรับว่าส่งผลต่อสไตล์การจัดดอกไม้ของอิเคโนโบ เนื่องจากการสร้างบ้านและวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิม รวมไปถึงปัญหาโลกร้อน มีผลต่อการจัดดอกไม้แบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ต้นสนญี่ปุ่น
“พอโลกร้อนต้นไม้ก็หายาก ราคาแพงขึ้น จัดแบบ Traditional ได้ยากขึ้น ส่วนการจัดแบบสมัยใหม่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเพราะสามารถเลือกดอกไม้ที่มีขายตามร้านค้าได้” ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย
สำหรับคนที่สนใจอยากจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น คัทซึฮิโตะแนะนำว่า ทุกคนสามารถจัดได้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนที่มีหัวทางศิลปะเท่านั้น
"เพราะทุกคนเริ่มต้นมาก็ไม่มีความรู้ด้านศิลปะอยู่แล้ว คนที่มาชมงานวันนี้หากสนใจควรเริ่มต้นที่หาอาจารย์มาสอน" ซึ่งในการจัดดอกไม้นั้นคัทซึฮิโตะแอบบอกเคล็ดลับ!!!
“ดอกไม้แต่ละดอกมีเอกลักษณ์หน้าตา ถ้าเราพูดคุยกับเขาเราก็เริ่มเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ถ้าเราคิดว่าเขาพูดคุยไม่ได้ เขาก็ไม่คุยด้วย แต่ถ้าเราคุยไปเรื่อยๆ เขาก็จะบอกอารมณ์และสิ่งที่ถูกต้อง บอกให้รู้ว่าเขาอยากให้เราจัดยังไง”