ชวนดูนิทรรศการ'ศรีเทพกับมรดกโลก' ก่อนไปชมโบราณสถานจริง จ.เพชรบูรณ์
ก่อนไปชมเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ลองแวะชมนิทรรศการเล็กๆ “ศรีเทพกับมรดกโลก” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดถึงวันที่14 มกราคม 2567
เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพิ่งประกาศเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 เนื่องจากเป็นเมืองสมัยทวารวดีอายุกว่าพันปี และมีส่วนผสมของศิลปะเขมรและศิลปะอินเดีย
ล่าสุดกรมศิลปากรได้จัดนิทรรศการเล็กๆ เรื่อง “ศรีเทพกับมรดกโลก” จนถึงวันที่ 14 มกราคม 2567 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
แม้ในนิทรรศการจะมีประติมากรรมจัดแสดงเพียง 8 ชิ้น แต่มีข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ทำให้รู้จักเมืองโบราณศรีเทพมากขึ้น เพราะทางนักวิชาการกรมศิลปากร นำเสนอข้อมูลเข้าใจง่ายๆ
ความโดดเด่นเป็นสากลเมืองโบราณศรีเทพ
มาทำความรู้จักเมืองโบราณศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เมืองยุคทวารวดีที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม จนได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก
เนื่องจากเมืองโบราณศรีเทพ จัดเป็นเมืองยุคทวารวดีที่ครบถ้วนที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นมรดกโลกในประเภทกลุ่มของทรัพย์สิน ที่มีความโดดเด่น อันประกอบด้วย
นิทรรศการ ศรีเทพกับมรดกโลก ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
1. เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของลำน้ำเหียง สาขาหนึ่งของแม่น้ำป่าสักห่างออกมา 1.5 กิโลเมตร มีพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกประมาณ 2,963 ไร่
ว่ากันว่าเมืองโบราณศรีเทพ ผังเมืองเดิมเป็นรูปเกือบวงกลม เรียกว่าเมืองใน ต่อมาขยายเมืองอีกชั้นทางทิศตะวันออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนเรียกว่า เมืองนอก
ภายในโบราณสถานศรีเทพ ปรากฎศาสนสถานกว่า 112 แห่ง ที่สร้างขึ้นเนื่องจากพุทธศาสนา มีทั้งแบบเถรวาท มหายาน และฮินดู โดยศาสนสถานสำคัญคือ โบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง
2. โบราณสถานเขาคลังนอก อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพด้านทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ในเขตตำบลศรีเทพ มีพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกประมาณ 63 ไร่
เนื่องจากเป็นศิลปะยุคทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะเด่นมีการย่อเก็จ จัดทำฐานบัววลัย และมีการประดับส่วนฐานด้วยอาคารจำลองปราสาท แสดงถึงมณฑลของจักรวาล ตามคติความเชื่อพุทธมหายาน อาจดัดแปลงมาจากอิทธิพลศิลปะอินเดียตอนใต้ ศิลปะชวาภาคกลาง และมีการพัฒนาจนกลายเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว
3 โบราณสถานถ้ำเขาสมอรัตน์ ทางทิศตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพ ตำแหน่งเดียวกับโบราณสถานเขาคลังนอก มีพื้นที่ขึ้นเป็นมรดกโลก 2389 ไร่
เขาสมอรัตน์เป็นศาสนสถานประเภทถ้ำเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่แสดงถึงคติความเชื่อของพุทธมหายาน และภูเขาศักดิ์สิทธิ์ หรือมีความเป็นศูนย์กลางจักรวาลของเมืองศรีเทพ
ภายในถ้ำมีประติมากรรมนูนต่ำสลักบนผนังถ้ำ ประกอบด้วยพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ธรรมจักร และสถูป นอกจากนี้เส้นทางขึ้นเขาสมอรัตน์ยังเป็นทางเดินธรรมชาติ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์
พระสุริยเทพ เทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่เมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์
ลำดับกาลของเมืองโบราณศรีเทพ
- สมัยพุทธศตวรรษที่ 9-11
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพื้นที่เมืองใน เมืองโบราณศรีเทพ พบหลักฐานเกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและพิธีกรรมการฝังศพในพื้นที่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว
หลักฐานสำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกสุนัข กระดูกไก่ ลูกปัดหินกึ่งมีค่า ทำจากหินอะเกต และหินคาร์เนเลียน กำไลและแหวนสำริด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานโบราณวัตถุ สันนิษฐานว่า มีการขุดคูน้ำเป็นขอบเขตเมือง มีแผนผังเป็นรูปเกือบวงกลม น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาในยุคสมัยนั้น
- สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี มีการขยายแนวคูน้ำ ทำให้เกิดพื้นที่เมืองนอก นอกจากพบโบราณสถานกว่า 112 แห่ง ยังพบประติมากรรมที่มีความโดดเด่น รูปแบบเฉพาะช่างสกุลศรีเทพ
และมีการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ทางทิศเหนือ คือโบราณสถานเขาคลังนอกที่เปรียบประดุจศูนย์กลางของจักรวาลจากวัฒนธรรมอินเดีย รวมถึงประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ที่ถ้ำสมอรัตน์ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14
- สมัยวัฒนธรรมเขมร พุทธศตวรรษที่ 16-18
อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาในภาคกลางของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีเอกสารประวัติศาสตร์เขมรกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เข้ามารุกรานอาณาจักทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นเหตุให้งานศิลปทวารวดี เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
และพบศิลปกรรมเขมรในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ที่เมืองศรีเทพหลายแห่ง อาทิ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ฤาษี และพบโบราณสถานชิ้นสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ทับหลังที่ปรางค์องค์เล็ก ปรางค์สองพี่น้อง แสดงว่ายุคนั้นมีการนับถือพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย
- พุทธศตวรรษที่ 18-ปัจจุบัน
หลังพุทธศตวรรษที่ 18 เกิดอาณาจักรสุโขทัย ศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายจากเมืองศรีเทพมาอยู่ทางตอนเหนือของเพชรบูรณ์
ตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์สุโขทัย เนื่องจากพบโบราณสถานในสมัยสุโขทัยที่วัดมหาธาตุ จ.เพชรบูรณ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19 สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี และโบราณสถานภายในเมืองศรีเทพ พบว่า ชั้นดินที่มีการใช้งานสมัยวัฒนธรรมเขมรเป็นชั้นวัฒนธรรมชั้นสุดท้าย
รวมถึงไม่มีศิลปะ สถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย สมัยรัตนโกสินทร์ ที่เมืองศรีเทพอีกเลย แสดงว่า เมืองถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18
เหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพ.
.......................
- นิทรรศการ เรื่อง “ศรีเทพกับมรดกโลก” จัดแสดงถึงวันที่ 14 มกราคม 2567 เวลา 09.00–16.00 น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- เปิดทำการวันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ - วันอังคาร)