1 โบสถ์ 2 วิหาร 3 สไตล์ จิตรกรรมฝาผนังที่วัดโพธิ์คอย สุพรรณบุรี
ไปวัดเดียวเหมือนได้ชมนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยถึง 3 งาน สร้างสรรค์โดย ‘ศิลปิน’กลุ่มจิตอาสาฟ้าประทาน ผู้น้อมนำงานศิลปะถวายเป็นพุทธบูชา
เร็วกว่านี้มีอีกไหม งานอาสาวาดจิตรกรรมฝาผนัง 1 โบสถ์ 2 วิหาร 3 วันเสร็จ ที่ วัดโพธิ์คอย จ.สุพรรณบุรี
อีกหนึ่งสถิติที่น่าจดจำของ ศิลปินกลุ่มจิตอาสาฟ้าประทาน หลังจากฝากฝีมือไว้ในโบสถ์วัดท้ายเกาะใหญ่ จ.ปทุมธานี ที่ใช้เวลาวาด 3 วันเสร็จ มาถึง วัดโพธิ์คอย จ.สุพรรณบุรี ครั้งนี้ใช้เวลาเท่าเดิม แต่เพิ่มจาก 1 โบสถ์ คือ 2 วิหาร ผลลัพธ์เป็นที่น่าติดตาม
ภาพจิตรกรรมภายในวิหารพระนอน วัดโพธิ์คอย
ศิลปินกลุ่มจิตอาสาฟ้าประทาน เป็นการรวมตัวของรุ่นพี่รุ่นน้องคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร นำโดย อลงกรณ์ หล่อวัฒนา, ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ และ ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล แต่ละคนก็ชักชวนเพื่อนๆ ที่มีจิตศรัทธาในการทำงานศิลปะเป็นพุทธบูชามาร่วมงานกัน
โดยมีผลงานฝากไว้ที่วัดท้ายเกาะใหญ่ จ.ปทุมธานี วัดพิกุลโสคัณธ์ วัดบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ วัดโพธิ์คอย จ.สุพรรณบุรี
ศิลปินกลุ่มจิตอาสาฟ้าประทาน กับผลงานจิตรกรรมในโบสถ์วัดท้ายเกาะใหญ่ จ.ปทุมธานี
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดพิกุลโสคัณธ์ จ.พระนครศรีอยุธยา
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
ความน่าสนใจ คือ พวกเขาจะใช้เวลาทำงานแต่ละวัดให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 วัน โดย 3 วัดได้แก่ วัดท้ายเกาะใหญ่ วัดพิกุลโสคัณธ์ วัดบางบาล จะวาดเพียงโบสถ์ หรือ วิหาร แห่งเดียว ยกเว้นวัดโพธิ์คอยนับว่ามีความพิเศษ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ลงมือวาดโบสถ์ และวิหาร 2 หลัง ในคราวเดียวกัน
ศิลปินกลุ่มจิตอาสาฟ้าประทาน นำโดย อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ และ ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล
จากเดิมที่มี อลงกรณ์ หล่อวัฒนา เป็นแกนหลักในการวางโครงเรื่องและภาพ ตลอดจนวางแผนแบ่งงานว่าใครมีหน้าที่วาดเส้น ลงสีอะไร ตรงไหนอย่างเป็นระบบ ครั้งนี้ใช้ระบบการทำงานเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมศิลปินหลักขึ้นมา โดยมี ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ รับผิดชอบในการออกแบบสร้างสรรค์วิหารพุทธบำเพ็ญ
ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล ดูแลวิหารพระนอน ส่วนอลงกรณ์รับหน้าที่วาดภาพจิตรกรรมบริเวณหน้าบันและโบสถ์ โดยทั้งหมดมีทีมจิตรกรอาสาที่มากันด้วยใจร่วมสนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยทำให้งานแล้วเสร็จได้ภายใน 3 วันสมดังความตั้งใจ
“สาเหตุหลักที่ทำให้งานเสร็จไวเป็นเพราะพี่อลงกรณ์กับพี่ห่มสวรรค์เป็นคนที่มีความลึกซึ้งในพุทธศิลป์ ผลงานของแต่ละคนก็เกี่ยวกับพุทธศาสนา ปริศนาธรรมอยู่แล้ว งานจิตรกรรมฝาผนังจึงเหมือนเป็นงานที่เขาทำอยู่เป็นประจำมีความเชี่ยวชาญทำให้งานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว” ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล บอกกับเรา
พร้อมเล่าถึงการทำงานในวิหารพระนอนหลังได้รับการซ่อมแซมอาคารแล้วเสร็จว่า
ภาพเทวดา บุคคลและสรรพสัตว์ มาร่วมส่งเสด็จพระพุทธเจ้าสู่นิพพาน
“วิหารเดิมไม่เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีเพียงพระนอนปางปรินิพพาน ผมจึงใช้สีน้ำเงินเป็นสื่อถึงความเงียบสงบ ขณะเดียวกันก็มีต้นโพธิ์ที่โน้มกิ่งลงมาเพื่อเป็นร่มเงาให้แก่พระพุทธองค์ขณะดับขันธ์ปรินิพพาน
ในภาพจะมีทั้งบุคคลและสัตว์ทั้งหลายที่พากันมาส่งเสด็จสู่นิพพาน โดยผนังตรงข้ามของพระนอนจะวาดภาพพระศรีอารยเมตไตรยพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปมารออยู่”
จิตรกรรมสีสันสดใสภายในวิหารพุทธบำเพ็ญ แสดงภาพ 'โพธิ์ไหว' หลังพระประธาน
จากวิหารพระนอนขนาดเล็กที่ถ่ายทอดความรู้สึกสงบ มาสู่ วิหารพุทธบำเพ็ญ ที่มีความสูง 10 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ที่แต่งแต้มด้วยสีสันสุดสดใส สีสะท้อนแสงเหล่านี้มีความหมายที่ ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ ต้องการปรับเปลี่ยนความมืด ความรู้สึกหดหู่ของวิหารหลังเดิมให้กลายเป็นความสดใส
พระอินทร์เล่นพิณ 3 สาย
ในขณะเดียวกันก็ใช้ศิลปะร่วมสมัยถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติขณะพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยวาดรูปพระอินทร์ขณะเล่นพิณ 3 สายไว้ที่ผนังฝั่งตรงข้ามพระพุทธรูป เพื่อเตือนสติในการเลือกเดินสายกลาง ดั่งสายพิณที่ตึงหรือหย่อนเกินไปก็ไม่ดี ส่วนผนังด้านข้างเป็นภาพเทพชุมนุมที่เปรียบเสมือนกำลังใจที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
โดยเบื้องหลังพระประธานมีภาพวาด “โพธิ์ไหว” ซึ่งศิลปินต้องการสื่อถึงความรู้สึกอ่อนไหวของพระพุทธองค์กระทั่งมาพบปริศนาธรรมจากการบรรเลงพิณ 3 สายของพระอินทร์ นับเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยรูปทรงของสีและเส้นที่น่าตื่นตาไม่น้อยเลยทีเดียว
ภาพปริศนาธรรมภายในโบสถ์ปฏิจจสมุปบาท
ส่วนพระอุโบสถ อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ยังคงใช้เส้นและสี ดำกับขาว เป็นสื่อที่นำเสนอปริศนาธรรมว่าด้วยเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท อันเกี่ยวเนื่องจากโมหะ โลภะ โทสะ
“ลายเส้นจะมีทั้งรูปบุคคลแขนขายาว เท้าใหญ่ มือใหญ่ เราต้องการสื่อถึงกายสังขาร เท้าใหญ่ หมายถึงการเดินทาง มือใหญ่สื่อถึงการกระทำ บางคนเดินทางเยอะ ทำงานเยอะ แต่ไม่พบความสำเร็จ อาจเป็นเพราะขาดความคิด พิจารณา เราจึงวาดรูปดวงตาไว้ในมือแทนความหมายว่า การที่เราลงมือทำนั้น เกิดจากการดูและสังเกต สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจธรรมะมากยิ่งขึ้น” ศิลปินเจ้าของผลงานแนวจิตวิญญาณเชิงสัญลักษณ์กล่าว
จิตรกรรมฝาผนังที่โบสถ์มีการแทรกลายเส้นของศิลปินรุ่นใหม่ Soul Crazy หนึ่งใน 'กลุ่มศิลปินจิตอาสาฟ้าประทาน' ที่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์งานบุญในครั้งนี้
วัดโพธิ์คอย เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2363 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง หากมีการผูกเรื่องให้เข้ากับนิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยนำตอนที่นางพิมพิลาไลยปลูกต้นโพธิ์เสี่ยงทายคอยการกลับมาของขุนแผนในคราวที่ยกทัพไปตีเมืองเชียงทอง ต้นโพธิ์ที่ปลูกไว้จึงได้ชื่อว่า “โพธิ์คอย”
ในปี 2565 กลุ่มจิตศรัทธา นำโดย มิตรชัย ภักตร์เจริญ นักธุรกิจเจ้าของร้านอาหารและที่พักริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้อาสามาซ่อมแซมโบสถ์และวิหารที่ทรุดโทรมให้กลับมาใช้งานได้อย่างมั่นคงปลอดภัย พร้อมกับได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่น ม.ศิลปากร อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของไทย และศิลปินรุ่นน้องมาร่วมกันสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อน้อมเป็นพุทธบูชา
“งานนี้ไม่มีค่าตัวใดๆ ทุกคนมาทำกันด้วยใจศรัทธา ระหว่างทำงานไปก็อิ่มใจกลับถึงบ้านก็สบายใจ บุญเกิดแล้วตรงนั้น เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันยิ่งใหญ่ มันมีประโยชน์ต่อคนในยุคถัดไป ภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยเก่าเปรียบเสมือนครูที่สอนให้เราได้เรียนรู้ จนในวันที่เรามีฝีมือพอที่จะถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปได้ เราจึงสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งนี้ด้วยพลังแห่งความศรัทธา”
ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล กล่าวทิ้งท้ายพร้อมฝากเชิญชวนผู้สนใจเข้าชมจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัย 1 โบสถ์ 2 วิหาร 3 สไตล์ ที่บ่งบอกความเป็นศิลปินในพ.ศ.ปัจจุบัน
วัดโพธิ์คอย
- ที่ตั้ง : ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
- โทร : 0 3552 2959