12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก
ครั้งแรก เดินชมความงาม Night Museum ‘วังพญาไท’ ผ่าน 12 จุดการแสดงแสงสีเสียง งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท โชว์สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ผสานโกธิค Projection Mapping รำลึกพระราชกรณียกิจ ย้อนความประทับใจพระราชนิพนธ์มัทนะพาธา สักการะ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองประจำพระราชวังพญาไท
KEY
POINTS
- ครั้งแรกกับการเดินชมความงาม Night Museum ‘วังพญาไท’ ผ่านการแสดงแสงสีเสียงเต็มรูปแบบ จำนวน 12 จุดการแสดง ในงาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM
- เปิด ประวัติพระราชวังพญาไท พร้อมรายละเอียดสถาปัตยกรรมของพระตำหนักพิมานจักรี พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ สวนโรมัน และที่มาพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖
- Projection Mapping รำลึกพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสร้างวังพญาไท และ รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงสถาปนาวังพญาไท ขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท ย้อนความประทับใจพระราชนิพนธ์ มัทนะพาธา
- สักการะ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองประจำพระราชวังพญาไท พระพุทธรูปนาคปรก และ ท้าวหิรัญพนาสูร พร้อมประวัติความเป็นมา
รูปแบบ Night Museum ในการจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน งานครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM วิจิตรตระการตาด้วยการแสดงแสงสีเสียง เทคนิค Projection Mapping, ศิลปะจัดวาง (installation art) การติดตั้งไฟส่องสว่างงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การแสดงจินตลีลา
เพื่อให้ประชาชนได้รู้จัก พระราชวังพญาไท ซึ่งมีสถาปัตยกรรรมงดงามและน่าศึกษามากยิ่งขึ้น ผ่านการเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในฐานะผู้ทรงริเริ่มให้มีการก่อสร้าง ‘พระตำหนักพญาไท’ หรือ วังพญาไท และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยก ‘พระตำหนักพญาไท’ ขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท ในรัชสมัยของพระองค์
พระราชวังพญาไท พ.ศ.2567
ทั้งยังจัดขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพด้านการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าและระบบแสงสีเสียงที่ทันสมัยทัดเทียมงานระดับโลกโดยฝีมือคนไทย บนสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ออกสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาชื่นชมความงดงามของ พระราชวังพญาไท ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Museum)
งานแสดง แสงสีเสียงครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลัก คือ Free Area และ Ticket Area
Projection Mapping บนอาคารรูปโดม
Free Area (ชมฟรี) มีด้วยกัน 2 โซน
โซนที่ 1 : อาคารรูปโดม พระที่นั่งพิมานจักรี
จัดการแสดง Architecture Lighting & Projection Mapping (จุดแสดงที่ 1) การฉายภาพแสง กับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหวแสดงพระราชกรณียกิจใน รัชกาลที่ 5 พระผู้ทรงวางรากฐานความเจริญของประเทศให้ทัดเทียมอาณาอารย อาทิ การประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การรถไฟ
โดยการฉายภาพเคลื่อนไหวด้วยศิลปะร่วมสมัยเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจดังกล่าวขึ้นไปยังพื้นผิวสถาปัตยกรรม อาคารรูปโดม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พระที่นั่งพิมานจักรี’
Projection Mapping บนอาคารรูปโดม
พระที่นั่งพิมานจักรี ก่อสร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 6 เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค ลักษณะพิเศษคือมี อาคารรูปโดม มีลักษณะเป็นอาคารทรงกลม สูง 3 ชั้น หลังคาเป็นยอดโดมแหลมประดับแป้นเกล็ดไม้
พื้นที่อาคารรูปโดมไม่ใหญ่นัก ชั้นล่างเป็นห้องพระโอสถ(มวน) ชั้นที่ 2 เป็นห้องทรงพระอักษร ยังปรากฏตู้หนังสือโค้งแบบติดฝาผนัง เป็นตู้สีขาวลายทอง มีอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร.๖ ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทุกตู้
ด้านข้างเป็นห้องบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 3 หรือห้องใต้หลังคาโคม ซึ่งเป็นหอพระ (ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูป ร.6) สมัยนั้นเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จประทับ ณ พระราชวังพญาไท เจ้าพนักงานจะเชิญธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสาเหนือยอดโดม
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ในงาน 101 ปี วังพญาไท
โซนที่ 2 : พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
จัดการแสดง Architecture Lighting & Interior Lighting (จุดแสดงที่ 2) นิทรรศการแสงไฟส่องสว่างเพื่อนำเสนอสถาปัตยกรรมอันงดงามภายใน พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ โดยการเปิดแสงไฟโทนสีต่างๆ สาดส่องไปทั่วทั้งพื้นที่ภายใน พร้อมเสียงดนตรีบรรเลงหลากหลายบทเพลง อาทิ เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหู
เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เดิมเป็นทำนองเพลงเก่าสมัยอยุธยา อยู่ในตับเพลงเรื่องกระแตไต่ไม้ ซึ่งประกอบด้วยเพลงกระแตไต่ไม้ ขับนก และ 'ขับไม้บัณเฑาะว์' ซึ่งมีท่วงทำนองเชิงโน้มน้าวจิตใจให้มีปณิธานแน่วแน่ในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความเคารพ
ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งขยายจากเพลงตับกระแตไต่ไม้สองชั้นเป็นสามชั้น กลายเป็นเพลงโหมโรงเมื่อปีพ.ศ.2456
ผู้เรียบเรียงการบรรเลงเพลงขับไม้บันเฑาะว์เชิงดนตรีสากลท่านแรกคือ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยากร) เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ราวพ.ศ.2484
การแสดงแสงสีเสียงภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
หลังคาโค้งทรงประทุนภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
แสงสีที่จัดแสดงภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
ขณะที่ครูมนตรี ตราโมท แต่งขยายจากเพลงขับไม้บันเฑาะว์สองชั้นเป็นเพลงโหมโรงโดยแต่งให้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ของกรมศิลปากรนำไปเล่นเมื่อพ.ศ.2491
วงไหมไทย หรือ ไหมไทยออร์เคสตร้า ก่อตั้งโดย ดนู ฮันตระกูล เป็นวงดนตรีที่นำเพลงไทยเดิม เพลงลูกกรุง และเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ มาเรียบเรียงเพื่อเล่นกับวงออร์เคสตรา โดยแผ่นเสียงชุด ‘ไหมไทย 1’ ที่จัดทำเมื่อปีพ.ศ.2531 มีเพลงขับไม้บันเฑาะว์รวมอยู่ด้วย
ต่อมา ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้นำทำนองเพลงขับไม้บันเฑาะว์มาใส่คำร้องเป็นเพลง ‘ตื่นเถิดไทย’ ที่ขึ้นต้นว่า “เราเผ่าไทย ต่างคนจากแดนไกล ต่างมารวมใจ สามัคคีทุกหมู่เหล่า พวกเราพร้อมพรั่ง...” หลายคนที่เดินอยู่ที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ในงานแสดงแสงสีเสียง ‘101 ปี พระราชวังพญาไท’ จึงน่าจะคุ้นหูกับท่วงทำนองเป็นอย่างยิ่ง
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระนามาภิไธย สผ
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เดิมคือ ‘ท้องพระโรง’ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2453 เมื่อครั้ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี (พระราชมารดา รัชกาลที่ 6) ประทับอยู่ ณ วังพญาไท โดยยังปรากฏ อักษรพระนามาภิไธย สผ (พระนามเดิม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ที่หน้าบันภายในพระที่นั่งองค์นี้
สถาปัตยกรรมภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบไบเซนไทน์ มีโดมอยู่ตรงกลางเพดานพระที่นั่งฯ รับด้วยหลังคาโค้งประทุนทั้ง 4 ด้าน โดยมีเสาโรมันรับหลังคาทรงโค้งนี้ไว้ บนผนังตกแต่งด้วยงานจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา
บริเวณกลางพระที่นั่งฯ เป็นโถงขนาดใหญ่ ล้อมรอบทั้ง 4 ด้านด้วย ‘ชั้นลอย’ ลักษณะคล้ายระเบียง มีราวระแนงกันตก
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เคยเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในงานพระราชกุศล เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา วันธรรมดาใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ บางครั้งเป็นโรงละครและโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส
ระยิบระยับรับแสงแห่งอุโมงค์ (จุดแสดงที่ 3) จุดเริ่มของ Ticket Area
Ticket Area (เสียค่าเข้าชม) จำนวน 4 โซน
โซนที่ 3 : ภายในพระที่นั่งพิมานจักรี สัมผัส Night Museum จำนวน 3 จุดจัดแสดง
เริ่มด้วย ระยิบระยับรับแสงแห่งอุโมงค์ (จุดแสดงที่ 3) จุดแสดงนี้เปรียบเสมือนทางเข้าชมงาน Night Museum ‘101 ปี พระราชวังพญาไท’ ของ Ticket Area
จุดแสดงนี้ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยเทคนิคการจัดแสดงแสงไฟจาก ‘สายไฟประดับ’ ทิ้งตัวลงมาจากเพดานโถงทางเดินของพระที่นั่งพิมานจักรี เว้นระยะความสูงจากพื้นพอสำหรับการเดินลอดผ่านสายไฟประดับเหล่านี้ราวกำลังเดินอยู่ในอุโมงค์แห่งแสง
แสงจากไฟประดับยังสะท้อนผ่าน ‘กระจกเงา’ ที่วางขนาบไปตลอดทางเดิน ดูละลานตาราวแสงไฟแผ่ขยายออกไปไม่สิ้นสุด อุโมงค์แห่งแสงนี้ออกแบบและจัดวางโดยทีมงาน ณ สัทธา อุทยานไทย จ.ราชบุรี (Na Satta)
“เราใช้สายไฟประดับแบบปกติทั่วไปนำมาจัดองค์ประกอบให้มีมิติด้วยการใช้กระจกเงา และเจาะจงใช้ ‘สีน้ำเงินขาบ’ ซึ่งเป็นสีที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรด และเป็นสีที่อยู่ในธงชาติไทย เนื่องจากพระองค์ท่านทรงเป็นผู้กำหนดการเรียงสีบนธงชาติไทย จึงขอเปิดด้วยสีน้ำเงินขาบที่บริเวณทางเข้างาน” ดิวัน ขัตติยากรจรูญ ตัวแทน ณ สัทธา กล่าว
ส่วนที่เลือกจัดองค์ประกอบไฟประดับให้มีลักษณะทิ้งตัวลงมาเป็นสาย คุณดิวันกล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจจากวรรคทองของวรรณคดีเรื่อง เวนิสวานิช บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพันธ์ไว้ในตอนที่นางเปอร์เซียพูดโน้มน้าวให้ ‘ไชล็อก’ เกิดความกรุณาปรานีต่อ ‘บัสสานิโย’ ความว่า
"อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”
พระอัจฉริยภาพพระราชนิพนธ์ (จุดแสดงที่ 4)
ผ่านพ้นอุโมงค์แห่งแสงด้วยความอิดออด(เพราะอยากเก็บภาพให้ถูกใจที่สุด) เท่ากับคุณเดินอยู่ใน ‘พระที่นั่งพิมานจักรี’ เรียบร้อยแล้ว จุดแสดงงานต่อมาได้แก่ พระอัจฉริยภาพพระราชนิพนธ์ (จุดแสดงที่ 4) อยู่ในห้องทางขวามือของอุโมงค์แห่งแสง
ห้องนี้ชื่อ ‘ห้องธารกำนัล’ มีสถานะเป็นห้องรับแขกของพระที่นั่งพิมานจักรี อยู่ตรงกลางพระที่นั่งฯ เป็นที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ภายในห้องธารกำนัลจัดแสดงเทคนิค Projection Mapping โดยการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 อาทิ วิวาหพระสมุท, โคลงภาษิตนักรบโบราณ, โคลงสยามานุสสติ, โรเมโอและจูเลียต, เวนิสวานิช เป็นการฉาย Projection Mapping ลงบนโต๊ะยาวที่จัดวางไว้กลางห้อง
เหนือช่องหน้าต่าง ‘ห้องธารกำนัล’ ประดับลายปูนปั้นอักษรย่อพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖ และปรากฏเป็นลายประดับทางสถาปัตยกรรมอยู่ทั่วไปในพระราชวังพญาไท
อักษรย่อพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖ มีความหมายแทนพระบรมนามาภิไธยอย่างย่อว่า “พระบาทสมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ 6” เริ่มใช้เมื่อทรงเปลี่ยนพระบรมนามาภิไธยใหม่เป็น “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ” แทนพระบรมนามาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เมื่อปีพ.ศ.2459
ภาพบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 6 ฉลองพระองค์วันประกาศเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1
ชนะพล โยธีพิทักษ์ ผู้ประสานงานพระราชวังพญาไท กล่าวว่า ภายใน ‘ห้องธารกำนัล’ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หาชมที่อื่นไม่ได้ นั่นก็คือ ภาพบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 6 ทรงสวมใส่ฉลองพระองค์ในวันประกาศนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460
ทรงฉลองพระองค์สีมงคลคือสีแดง ทรงสังวาลนพรัตน์ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงถือใบมะตูม ศาสนาพราหมณ์ใช้ใบมะตูมแทนเทพ 3 องค์ พระนารายณ์ พระอิศวร พระศิวะ
สง่างามยามยล (จุดแสดงที่ 5)
ออกจากห้องธารกำนัล เดินไปตามเส้นทางที่กำหนด พบจุดจัดแสดงถัดมา ชื่อ สง่างามยามยล (จุดแสดงที่ 5) จุดแสดงนี้ผู้เข้าชมงานจะได้รับชมเรื่องราวในอดีตของ พระราชวังพญาไท ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีผ่านการยิง Projection Mapping บนผนังของอาคารพระที่นั่งพิมานจักรีที่ใช้ผ้าสีขาวเป็นพื้นจอ
พลังแห่งพญามังกร (จุดแสดงที่ 6) ในโซนที่ 4
โซนที่ 4 : สวนโรมัน เชิญชม Night Museum จำนวน 2 จุดจัดแสดง
ด้านขวามือของจุดจัดแสดง ‘สง่างามยามยล’ เป็นประตูทางออกเชื่อมสู่ ‘สวนโรมัน’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี
ขณะเดินออกประตูทางเชื่อม ให้มองทางขวามือ จะพบจุดจัดแสดงชื่อ พลังแห่งพญามังกร (จุดแสดงที่ 6) เป็นประติมากรรมนูนต่ำชิ้นเก่าแก่ เป็นรูปสลัก “พญามังกร 5 เล็บ ถือวชิราวุธ” ออกแบบโดย กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แทนปีนักษัตรมะโรง ปีเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘มังกร 5 เล็บ’ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์
ในพระราชวังพญาไท พบลายมังกรประดับบนเพดานห้องพระบรรทม เป็นประติมากรรมนูนต่ำที่บ่อน้ำพุ บริเวณมุขทางเข้าที่เชื่อมโยงกับสวนโรมัน ณ พระที่นั่งพิมานจักรี (หรือจุดแสดงที่ 6) รวมทั้งประดับเป็นส่วนประกอบของรูปปั้นที่สระน้ำ
Projection Mapping จากเรื่องมัทนะพาธา
การแสดงจินตลีลาโดยนางรำประกอบ Projection Mapping
เดินต่อเนื่องเข้าไปยังสวนโรมัน เป็นจุดจัดแสดงชื่อ สวนรื่นรักมัทนา (จุดจัดแสดงที่ 7) สัมผัสบรรยากาศของพระราชวังพญาไท ผสมผสานจินตนาการในโลกศิลปะของการแสดงแสง สี เสียงอันน่าอัศจรรย์ ด้วยการยิง Projection Mapping ไปบนอาคารด้านหลังของพระที่นั่งพิมานจักรี ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ประกอบการแสดงจินตลีลาบนระเบียงของพระที่นั่ง
โดยนำบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรื่อง “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพ Mapping ถือเป็นอีกหนึ่งโซนไฮไลต์ในการจัดแสดง Night Museum งานครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM ครั้งนี้
การแสดงแสงสีเสียงประกอบการยิง Projection Mapping และจินตลีลา จัดแสดงวันละ 5 รอบ คือเวลา 19.00 น. 19.30 น. 20.00 น. 20.30 น. และ 21.00 น.
ทั่วบริเวณสวนโรมันยังประดับประดาให้ตื่นตาตื่นใจด้วยดอกกุหลาบสีแดงทำมือ จำนวน 2,466 ดอก มาจากตัวเลขปีพ.ศ.2466 ที่ทรงนิพนธ์เรื่อง ‘มัทนะพาธา’ สำเร็จ
ส่วนหนึ่งของดอกกุหลาบ จำนวน 2,466 ดอก
ศาลาภายในสวนโรมัน
‘สวนโรมัน’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี เข้าใจว่าเดิมเป็น 1 ใน 3 ของพระราชอุทยานในพระราชวังพญาไท สำหรับพักผ่อนอิริยาบท
การจัดแต่งภูมิทัศน์เป็นลักษณะเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาในสวนที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน เป็นศาลาทรงกลม ตรงกลางมีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเทียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคา กำหนดขอบเขตด้วยเสาคอรินเทียนรองรับเพียงคานที่พาดอยู่ด้านบน ศาลานี้ใช้เป็นเวทีการแสดงกลางแจ้งในบางโอกาส
บันไดทางขึ้นสู่ศาลา ประดับตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมัน ตรงข้ามศาลามีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ในแนวแกนเดียวกับศาลาหลังคาทรงโดม
แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8)
โซนที่ 5 : สวนหน้าอาคารสมิตสโมสร เชิญชม Night Museum จำนวน 1 จุดจัดแสดง (แต่มี 3 ชุดงาน)
การจัดแสดงในโซนนี้ชื่อ แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8) จุดจัดแสดงนี้มีมีงานศิลปะจัดวาง (Installation art) จำนวน 3 ชุดงาน เป็นผลงานการออกแบบและจัดทำโดยทีมงาน ณ สัทธา อุทยานไทย จ.ราชบุรี
ชุดแรกเป็นการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวงประดับประดาบริเวณสนามหญ้าด้านขวาของอาคารสมิตสโมสร โดยแสงไฟนี้นำเสนอในรูปแบบของดอกบัว แสงไฟนับพันดวง เท่ากับมีดอกบัวทำด้วยมือนับพันดอกเช่นกัน
ลานดอกบัว แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8)
“ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์การแสดงการเคารพ เราออกแบบไว้ใช้กับสถาปัตยกรรมไทย ประติมากรรมไทย และสถานที่ที่มีเอกลักษณ์ของไทย การเชิญดอกบัวมาเป็นอินสตอลเลชั่นเนื่องจากไปที่ไหน คนไทยสัมผัสได้ง่าย เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน” ดิวัน ตัวแทน ‘ณ สัทธา อุทยานไทย’ อธิบาย
งานชุดที่สาม ของ แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8)
งานชุดที่สอง อยู่ทางด้านซ้ายมือของลานพันบัว เป็นการสาดแสงไฟเข้าสู่ต้นไม้ใหญ่ที่รายล้อมด้วยองค์ประกอบก้านไลติ้งแอลอีดีสีเหลือง โยกไหวไปมาด้วยระบบมอเตอร์ ดูเหมือนหิ่งห้อยฝูงมหึมากำลังโบยบิน
สุดปลายสนามหญ้าด้านในสุดเป็นงานชุดที่สาม มีงานศิลปะจัดวางจอกระจกสมาร์ทกลาสของ BSG ผสานเทคนิค Projection Mapping ฉายวรรคทองบทพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘มัทนะพาธา’ ของในหลวงรัชกาลที่ 6
พระนาคปรกนำโชคคุ้มครอง (จุดจัดแสดงที่ 11) ในโซนที่ 6
โซนที่ 6 : สักการะ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังพญาไท
โซนที่ 6 เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังพญาไท ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อออกจากโซนที่ 5 เพียงข้ามถนนภายในโรงพยาบาลฯ ก็จะเข้าสู่โซนที่ 6 โซนนี้มีจุดจัดแสดงแสงไฟ จำนวน 4 ชุดการแสดง
ชุดการแสดงแรก พรหมพฤกษ์ตระการตา (จุดจัดแสดงที่ 9) การย้อมแสงไฟใส่ต้นไม้, ชุดการแสดงที่สอง แดนโกเมศวิเศษพร (จุดจัดแสดงที่ 10) ดื่มด่ำไปกับความงดงามของดอกบัวประดิษฐ์ด้วยเทคนิคไฟย้อมสี สองชุดการแสดงแสงไฟนี้อยู่สองข้างทางเดินซ้ายและขวา(ตามลำดับ)เพื่อเดินไปสู่การสักการะ 2 รูปสลักเคารพสำคัญประจำพระราชวังพญาไท ซึ่งเป็นชุดการแสดงแสงไฟส่องสว่าง 2 ชุดสุดท้ายของงานครั้งนี้
พระนาคปรกนำโชคคุ้มครอง (จุดจัดแสดงที่ 11)
นั่นก็คือการแสดงแสงไฟชุด พระนาคปรกนำโชคคุ้มครอง (จุดจัดแสดงที่ 11) พระพุทธรูปปางนาคปรกองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไท สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศแด่รัชกาลที่ 6 ตามดำริของ พลตรี ปัญญา อยู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าในสมัยนั้น
โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปรินายก องค์พระอุปัชฌาย์และผู้ประทานแบบในการก่อสร้าง ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อองค์พระ ณ ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 พระราชวังพญาไท และทรงเป็นองค์ประธานในพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2533
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช’
พระพุทธรูปองค์นี้จำลองแบบมาจากพระมหานาคชินะ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างไว้เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก พระประจำวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันเสด็จพระราชสมภพ
พลังเมตตาจากท้าวหิรัญพนาสูร (จุดจัดแสดงที่ 12)
ก่อนอำลางาน ‘101 ปี พระราชวังพญาไท’ เชิญรับ พลังเมตตาจากท้าวหิรัญพนาสูร (จุดจัดแสดงที่ 12) อสูรศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษา รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสด็จประพาสป่าในมณฑลพายัพเมื่อพ.ศ.2449
บันทึกเกี่ยวกับพระราชวังพญาไท ระบุว่า ครั้งนั้นผู้ตามเสด็จผู้หนึ่งกล่าวว่า ฝันเห็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โตแจ้งว่าชื่อหิรันย์ เป็นอสูรชาวป่า จะมาตามเสด็จ เพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงมากล้ำกรายพระองค์และข้าราชบริพาร
ครั้งทรงทราบความ จึงมีพระราชดำรัสให้จัดธูปเทียนและอาหารไปเซ่นที่ในป่าริมพลับพลา และเวลาเสวยค่ำทุกวันได้โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องเสวยไปตั้งเช่นเสมอ
หลังจากที่เสด็จประพาสมณฑลพายัพแล้ว ข้าราชบริพารก็พร้อมกันเชิญ ‘หิรันยอสูร’ ให้ตามเสด็จเมื่อเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ด้วยเสมอ และโปรดให้เช่นหิรันยอสูรอย่างเช่นเมื่อครั้งเสด็จมณฑลพายัพเป็นธรรมเนียมตลอดมา
ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า ท้าวหิรันยพนาสูร (สะกดตามลายพระราชหัตถเลขา) มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ
ท้าวหิรัญพนาสูร รูปหล่อขนาดใหญ่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
ชนะพล โยธีพิทักษ์ ผู้ประสานงานพระราชวังพญาไท กล่าวว่า แรกเริ่มรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูร สูงประมาณ 20 เซนติเมตร มีจำนวน 4 องค์ องค์แรกเดิมประดิษฐานอยู่ข้างพระที่ในห้องพระบรรทมของรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันอยู่ที่ ที่ ‘วังรื่นฤดี’ ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6)
องค์ที่สอง โปรดให้อัญเชิญไว้ในรถพระที่นั่ง ภายหลังนำไปประดิษฐานไว้ที่หมวดรถยนต์หลวง โดยอัญเชิญไว้บนหิ้งบูชา
องค์ที่สาม รัชกาลที่ 6 โปรดให้อัญเชิญไว้ที่กรมมหาดเล็กหลวง ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งราชกรัญยสภา ในพระบรมมหาราชวัง, องค์ที่สี่ อยู่ที่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา อดีตอธิบดีกรมมหาดเล็กหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6
ต่อมาในปีพ.ศ.2465 เมื่อการสร้างพระราชวังพญาไทสำหรับประทับเป็นการถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์ และมีพระราชพิธีบวงสรวงขอเชิญท้าวหิรันยพนาสูรเข้าสิงสถิตย์ในรูปสัมฤทธิ์นี้เพื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไทตั้งแต่นั้นสืบมา
“ทั้งพระพุทธรูปปางนาคปรกและท้าวหิรัญพนาสูรต่างก็ได้รับการสักการะบูชาและขอพรจากผู้เจ็บไข้ได้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่เสมอ เพราะต่างก็เป็นรูปเคารพที่มีความเชื่อด้านการปกปักรักษา” ชนะพล โยธีพิทักษ์ กล่าว
101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM
การจัดแสดงแสงไฟในงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM รวบรวมทีมจัดแสงไฟยอดฝีมือระดับแถวหน้าของเมืองไทยซึ่งได้รับเชิญและมอบหมายหน้าที่ให้จัดแสดงงานในเทศกาลดีไซน์ใหญ่ๆ ทั้งเชิงครีเอทีฟและคอมเมอร์เชียล อาทิ อาม่า สตูดิโอ (AMA Studio), ดีไซนด์ คิท (DecideKit), ฟอส ไลท์ติ้ง ดีไซน์ (FOS Lighting Design), ไลท์ซอร์ส (LightSource) และ ณ สัทธา อุทยานไทย
นอกจาก จุดแสดงแสงไฟทั้ง 12 จุด ผู้เข้าชมงานยังสามารถพักผ่อนและดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ที่ ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง ณ บริเวณส่วนหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี โดยกำหนดเปิดให้บริการเป็นพิเศษในช่วงเวลา 16.00 - 20.30 น. ของทุกวัน และ สตรีทฟู้ด ในรูปแบบฟู้ดทรัค บริเวณพระตำหนักเมขลารูจี
101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM
ร่วมภาคภูมิใจกับ งานเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ผ่านกาลเวลาอันทรงคุณค่า สู่เรื่องเล่าของประวัติศาสตร์บทใหม่ที่มีชีวิตในบรรยากาศ Night Museum ได้ตั้งแต่ วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึง วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ระหว่างเวลา 18.00 - 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ
Ticket Area บัตรผู้ใหญ่ ราคา 200 บาท เด็กอายุไม่เกิน 12 ขวบ บัตรราคา 100 บาท สามารถซื้อบัตรที่หน้างาน หรือจองบัตรผ่าน 3 ช่องทาง คือ
ภาพ : ธิติ วรรณมณฑา