ไขปริศนา 25 ความลับ โมนา ลิซา ภาพวาดโดย ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ เธอคือใคร?
การเปิดเผยความลับครั้งแรกของโลก Mona Lisa (โมนาลิซา) ภาพวาดโดย ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ เมื่อ 500 ปีกว่า เหตุใดกลายเป็นผลงานชิ้นเอกอันโดดเด่นในปัจจุบัน ไขปริศนาอีกมากมาย พร้อมความลับที่ใครๆ อยากรู้ เธอคือใครกันแน่ มีคำตอบอยู่ใน Da Vinci Alive Bangkok ที่ไอคอนสยาม
KEY
POINTS
- โมนา ลิซา (Mona Lisa) เป็นหนึ่งในความลึกลับอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ แม้ว่าได้รับการตรวจสอบจากผู้ชื่นชมมากกว่า 9 ล้านคน/ปี แต่เธอยังคงเป็นปริศนาในหลายๆ ด้าน สร้างปัญหาให้กับนักประวัติศาสตร์มาโดยตลอด
- พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์อนุญาตให้วิศวกรชาวฝรั่งเศส ปาสคาล คอตต์ ใช้กล้องมัลติสเปกตรัลถ่ายรูปภาพวาด Mona Lisa และใช้เทคโนโลยี Layer Amplification Method เพื่อศึกษาภาพวาดบันลือโลกภาพนี้
- เทคโนโลยี Layer Amplification Method ทำให้รู้แล้วว่าจริงๆ เลโอนาร์โด ดา วินชี วาดภาพเหมือนบุคคลหลายเวอร์ชั่นโดยวางทับกัน 4 ขั้นตอน และพบ 25 ความลับของ โมนา ลิซา (25 Secrets of the Mona Lisa) พร้อมเผยความลับที่ใครๆ อยากรู้ เธอคือใครกันแน่ ได้รับการนำเสนออยู่ในนิทรรศการ Da Vinci Alive Bangkok
อีกหนึ่งความพิเศษของ Da Vinci Alive Bangkok (ดา วินชี อะไลฟ์ แบงคอก) นิทรรศการศิลปะดิจิทัล อิมเมอร์ซีฟ ครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ไอคอนสยาม คือนิทรรศการในโซนที่มีชื่อว่า ความลับของ โมนา ลิซา (The Secrets of the Mona Lisa)
นิทรรศการ ‘ความลับของ โมนา ลิซา’ เผยเรื่องราวการผจญภัยของภาพนี้ การใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสต์และการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการเผยความลับที่ทำให้ภาพสุดพิเศษนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก แม้กระทั่งไขปริศนาว่าเธอคือใครกันแน่
ปาสคาล คอตต์ ถ่ายภาพวาด โมนา ลิซา ต้นฉบับ ด้วยกล้องมัลติสเปกตรัล
วิศวกรชาวฝรั่งเศส ปาสคาล คอตต์ (Pascal Cotte) เป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิพิเศษเพียงไม่กี่คนซึ่งได้รับอนุญาตจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้ถ่ายภาพ ภาพวาด โมนา ลิซา (Mona Lisa) ซึ่งเป็นภาพต้นฉบับของศิลปินเจ้าของตำนานอัจฉริยะเหนือกาลเวลา เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
ภาพวาด Mona Lisa ได้รับการถอดออกจากกรอบ เพื่อให้คอตต์สามารถใช้กล้องมัลติสเปกตรัล (Multispectral Camera) ถ่ายภาพด้วยความละเอียดพิเศษที่ 240 ล้านพิกเซล
ภาพที่ถ่ายได้นี้ เป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและวิเคราะห์ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ของ คอตต์ รวมถึงการสร้างภาพพิมพ์อินฟราเรดขนาดยักษ์
โมนา ลิซา ภาพวาดที่เป็นปริศนาอย่างที่สุด
คุณสมบัติของแสงอินฟราเรด สามารถทะลุผ่านชั้นผิว เพื่อเผยให้เห็นภาพวาดและเม็ดสีที่ซ่อนอยู่ การรีทัช และการบูรณะ
การตรวจสอบแต่ละชั้นของภาพวาด ทำให้คอตต์ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่คาดไม่ถึงเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ที่ทำให้ ภาพวาด โมนา ลิซา กลายเป็นผลงานชิ้นเอกอันโดดเด่นที่รู้จักในปัจจุบัน
เธอสวมหมวกหรือผ้าคลุมกันแน่ รอยจ้ำที่มุมตาและที่คางเกิดจากอะไร ฯลฯ รวมทั้ง ภาพวาดสตรีดั้งเดิมที่ถูกวาดทับ จนกลายเป็นภาพ โมนา ลิซา ไปในท้ายที่สุด!
ปาสคาล คอตต์ สรุปไว้เป็น 25 ความลับของ โมนา ลิซา (25 Secrets of the Mona Lisa) ซึ่งได้รับการนำเสนออยู่ในนิทรรศการ Da Vinci Alive Bangkok
ภาพวาด โมนา ลิซา กับภาพวาดของ ลิซา เกอราร์ดินี เลเยอร์ที่สามของภาพ โมนา ลิซา
25 ความลับของ โมนา ลิซา ที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิว
1. มองเห็นกระดานไม้ป็อปลาร์ทั้งหมดที่ ดา วินชี ใช้เป็นบอร์ดวาดภาพ โมนา ลิซา รวมถึงขีดจำกัดของชั้นรูปภาพและการเตรียมแบบเจสโซ่ (Gesso ส่วนผสมของสีขาวที่ใช้เคลือบพื้นผิวแข็ง) จึงเป็นข้อพิสูจน์เป็นครั้งแรก ว่ากระดานไม้ป๊อปลาร์ไม่เคยถูกตัดออก
2. มีการบูรณะไปจนถึงส่วนบนสุดของท้องฟ้า และสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ มากมายได้
3. รอยแยกบนกระดาน 11 เซนติเมตร (4.3 นิ้ว) ได้รับการบูรณะด้วยการบูรณะซ้อนถึง 2 ครั้ง
4. ผ้าคลุมศีรษะ ประกอบด้วยชั้นสีที่ละเอียดถึง 2 ชั้น ซึ่งบางครั้งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นหมวก
5. รอยจ้ำที่มุมตาและที่คาง เผยให้เห็นว่าเป็นอุบัติเหตุจากสารเคลือบเงา สิ่งนี้ขัดแย้งกับทฤษฎีที่ว่า โมนา ลิซา ทนทุกข์ทรมานจากสภาวะคอเลสเตอรอลสูง
ภาพถ่ายของ ปาสคาล คอตต์ ไม่เพียงเผยให้เห็นเลเยอร์สีที่สาม คือการค้นพบภาพเหมือนของ ลิซา เกอราร์ดินี ที่ถูกวาดทับ แต่ยังพบอีกสองภาพที่ถูกวาดทับอีกด้วย
6. การแสดงออกทางสีหน้าของ โมนา ลิซา โดยเฉพาะรูปลักษณ์ดวงตาของเธอ แตกต่างจากต้นฉบับมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน
7. รอยแตกบนริมฝีปากและดวงตาที่ลดลง เป็นไปได้ว่าจะมีการบูรณะ หรือสารเคลือบเงาอาจจางลงตามอายุ
8. เดิมทีใบหน้าของ โมนา ลิซา ถูกทาสีให้กว้างกว่าที่ปรากฏในปัจจุบันเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาพวาดในปัจจุบันไม่ได้เป็นตัวแทนที่สมบูรณ์ในแบบของวิธีที่ เลโอนาร์โด ดา วินชี วาดบุคลิกและการแสดงออกของเธอตั้งแต่แรก
9. โดยเฉพาะรอยยิ้มของ โมนา ลิซา แสดงออกชัดเจนและโดดเด่นยิ่งขึ้น
ภาพ LAM เผยให้เห็นตาข่ายคลุมผม ลักษณะผ้าโพกศีรษะทั่วไปในขณะนั้น และแสดงโครงร่างผมตามหน้าผากที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับภาพ โมนา ลิซา ในปัจจุบัน
10. ภาพผ้าคลุมหน้า มีความคมชัดมากกว่าภาพวาดเก่าที่เราเห็นในปัจจุบันมาก แสดงให้เห็นถึงความพยายามของ เลโอนาร์โด ในการขีดเส้นขอบของผ้าคลุมหน้า
11. เราเห็นความโปร่งใสของ ‘ผ้าคลุมหน้า’ ที่วาดลงบนภูมิทัศน์ด้วยเทคนิคการเคลือบกระจก ซึ่งเป็นเทคนิคการวาดภาพแบบเคลือบ แสดงให้เห็นว่า เลโอนาร์โด ลงสีผ้าคลุมหน้าหลังจากวาดภูมิทัศน์เสร็จสิ้น ข้อมูลนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดของการสร้างสรรค์ภาพเขียนนี้
12. ลายสานทอสลับที่ไม่เคยเห็น ปรากฏขึ้นมาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า ผ้าคลุมหน้านั้นถูกลงสีในภายหลัง
13. สามารถระบุภาพร่างของลายสานทอสลับได้
14. ลูกไม้ ปรากฏให้เห็นบนชุดของ โมนา ลิซา
ภาพ LAM แสดงให้เห็นการตกแต่งด้านข้างส่วนบนของแขนเสื้อและส่วนที่เหลือของริบบิ้นโค้งที่ยึดแขนเสื้อให้เข้าที่ที่ถูกวาดทับ
15. เม็ดสีน้ำมันบางชนิดมีความโปร่งใสมากขึ้นตามอายุ สามารถดูในคอลัมน์ดังกล่าวเพื่อสังเกตได้
16. มีการเปิดเผยภาพร่างของเสาในคอลัมน์ด้านซ้าย
17. ราวบันได มีความชัดเจนมากขึ้น เผยให้เห็นโครงสร้างของไม้ปาร์เก้
18. ที่พักแขนด้านขวา และรูปอาร์มแชร์ที่ลอดใต้ผ้าคลุม มองเห็นได้ชัดเจน
19. สามารถเห็นร่องรอยการซ่อมแซมตรงข้อศอกของเธอ ถูกทำขึ้นหลังจากที่ชายหนุ่มชาวโบลิเวียขว้างก้อนหินใส่เธอในปี ค.ศ.1956
20. เลโอนาร์โดยังวาดนิ้วชี้ของมือขวาไม่สมบูรณ์
เครื่องหมายกากบาทในดวงตาภาพวาด โมนา ลิซา ที่แสดงว่าถูกวาดทับภาพบุคคลอื่น
21. เราจะเห็นถึงจุดที่ เลโอนาร์โด เปลี่ยนใจในเรื่องตำแหน่งของนิ้วชี้และนิ้วกลาง
22. ผ้าห่มที่คลุมเข่าของ โมนา ลิซา ลอดเข้าไปใต้ข้อมือขวาของเธอ สิ่งนี้จะอธิบายตำแหน่งที่สูงขึ้นของปลายแขนและข้อมือที่งอของเธอ ขณะที่คลุมส่วนท้องของเธอ
23. นิ้วมือซ้ายจับผ้าห่มไว้บนเข่าของเธอ ดังที่เราเห็นได้จากตำแหน่งการจับจีบของผ้าห่มที่สัมพันธ์กับนิ้วของเธอ
24. เสาเล็กๆ ของที่พักแขน มองเห็นได้อย่างชัดเจน
25. ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งถูกมองข้ามไปจนกระทั่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ด้วยเทคโนโลยี LAM มุ่งความสนใจตรงไปที่ส่วนจัดแสดงในดวงตาของ โมนา ลิซา พบเครื่องหมายกากบาท 2 อันในดวงตาแต่ละข้าง ศิลปินมักใช้เป็นเครื่องหมายจุดศูนย์กลางดวงตา แต่กากบาทเหล่านี้ไม่ตรงกับจุดศูนย์กลางดวงตาของโมนา ลิซา แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากากบาททั้งสองแทนตำแหน่งดวงตาของภาพบุคคลก่อนหน้านี้!
ห้องแห่งความลับของ โมนา ลิซา ใน Da Vinci Alive Bangkok
ทำความรู้จัก โมนา ลิซา เธอคือใคร?
โมนา ลิซา เป็นหนึ่งในความลึกลับอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ แม้ว่าได้รับการตรวจสอบจากผู้ชื่นชมมากกว่า 9 ล้านคน/ปี แต่เธอยังคงเป็นปริศนาในหลายๆ ด้าน สร้างปัญหาให้กับนักประวัติศาสตร์มาโดยตลอด
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เก็บรักษา ภาพวาด โมนา ลิซา ที่วาดไว้ราวปีค.ศ.1503 และพรรณาถึง ลิซา เกอราร์ดินี (Lisa Gherardini) ภรรยาพ่อค้าผ้าฟลอเรนซ์ผู้มั่งคั่งนามว่า ฟรานเชสโก เดล โจกอนโด (Francesco del Giocondo) ว่าคือสตรีที่นั่งอยู่ในภาพ
อย่างไรก็ตาม เลโอนาร์โด ดา วินชี กล่าวในปี 1517 ว่าเขาวาดภาพเหมือนตามคำร้องขอของ จิวเลียโน เด เมดิซี ผู้อุปถัมภ์ของเขาในกรุงโรมระหว่างปี 1513 - 1516 ซึ่งเป็นชายที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ลิซา เกอราร์ดินี
อาจมีเหตุผลที่ดีสำหรับความคลุมเครือนี้ เพราะด้วยเทคโนโลยี Layer Amplification Method (LAM -เทคนิคการขยายชั้นเลเยอร์) ตอนนี้เรารู้แล้วว่าจริงๆ เลโอนาร์โดวาดภาพเหมือนบุคคลหลายเวอร์ชั่น โดยวางทับกัน
ภาพในเลเยอร์ที่สองของ ‘โมนา ลิซา’ พบมีการประดับไข่มุก จึงตั้งชื่อภาพเลเยอร์ที่สองว่า ‘ภาพบุคคลประดับมุก’ หรือ Portrait with Pearls และพบสัญลักษณ์ดาวห้าแฉกหลายดวงในบริเวณมุมมืดที่สุดของภาพวาด
จนในที่สุด การวิจัยของ ปาสคาล คอตต์ ได้ปรับเรื่องราวที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับตัวตนของ โมนา ลิซา โดยแสดงให้เห็นว่าเลโอนาร์โดวาดภาพ โมนา ลิซา ใน 4 ขั้นตอนด้วยกัน
- ภาพร่างแรกเริ่มของบุคคลปริศนา ซึ่งใหญ่กว่าภาพในเลเยอร์สุดท้ายเล็กน้อย แต่มีท่าทางคล้ายกัน
- ภาพบุคคลที่สองที่มีไข่มุก ซึ่งทำให้ภาพร่างต้นฉบับหายไป คาดว่าเป็นภาพเทพธิดา นักบุญ หรือพระแม่ เนื่องจากพบ สัญลักษณ์ดาวห้าแฉก หลายดวงในบริเวณมุมมืดที่สุดของภาพวาด ดาวห้าแฉกเป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์จากสวรรค์ ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้าหรือบนหิ้งของพระแม่มารีในภาพวาดของชาวฟลอเรนซ์ช่วงปี 1490-1520 เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าภาพเหมือนนี้เป็นของเทพธิดา นักบุญ หรือพระแม่
- ภาพเหมือนของ ลิซา เกอราร์ดินี ที่เพื่อนร่วมชาติของเธอได้เห็นและบรรยายโดยศิลปิน จอร์โจ วาซารี ในปีค.ศ.1550 โดยมีเครื่องแต่งกายและทรงผมตามแบบฉบับฟลอเรนซ์ของปีราว 1502 -1506
- โมนา ลิซา ที่เรารู้จักในปัจจุบัน หันศีรษะและจ้องมองไปทางคนดูมากขึ้น ไหล่ขยับไปทางขวา มีผ้าคลุมศีรษะและลำตัวเพื่อปกปิดการแต่งกายและทรงผมก่อนหน้านี้
Da Vinci Alive Bangkok ที่ไอคอนสยาม
ยังมีเรื่องราวของภาพ โมนา ลิซา อีกมากมายใน นิทรรศการศิลปะดิจิทัล อิมเมอร์ซีฟ Da Vinci Alive Bangkok (ดา วินชี อะไลฟ์ แบงคอก) ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2567
เปิดจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่ Thai Ticket Major และ LiveImpact Event ราคาบัตร VIP 1,580 บาท, บัตรทั่วไป 1,080 บาท และบัตรนักเรียน/นักศึกษา 480 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.1338