2 เม.ย. วันคล้ายวันพระราชสมภพ กรมสมเด็จพระเทพฯ และวันอนุรักษ์มรดกไทย
2 เม.ย. เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และวันอนุรักษ์มรดกไทย กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมศิลปากรกำหนดจัด “งานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย” เฉลิมพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพฯ สืบสานมรดกไทยผ่านเสวนาวิชาการ 18 เรื่อง การแสดงนาฏศิลป์-ดนตรี 2-8 เม.ย.2567
KEY
POINTS
- "2 เมษายน" วันคล้ายวันพระราชสมภพ "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"
- คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 กำหนดให้ "วันที่ 2 เมษายนของทุกปี" ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ "กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ" เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะทรงเป็นแบบอย่างการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติตลอดมา
- กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร กำหนดจัด "งานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย" ระหว่างวันที่ 2-8 เม.ย. 2567 เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่ "กรมสมเด็จพระเทพฯ"
- ประกอบด้วยการเสวนาทางวิชาการ “สุดยอดการค้นพบใหม่” ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร 18 เรื่อง และการแสดงนาฏศิลป์-ดนตรีตลอดสัปดาห์
ตามที่คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 กำหนดให้ วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย”
เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีคุณูปการอย่างอเนกอนันต์และทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา
ทรงมีพระอัจฉริยะภาพและทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา
ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรักและหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น
รวมทั้งการจัดกิจกรรมเนื่องใน “วันอนุรักษ์มรดกไทย” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่ กรมสมเด็จพระเทพฯ ที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติ
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จึงกำหนดจัด งานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน 2567 ประกอบด้วยการเสวนาทางวิชาการและการแสดงนาฏศิลป์ – ดนตรี
การเสวนาทางวิชาการ “สุดยอดการค้นพบใหม่” ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร
ระหว่างวันที่ 3 – 8 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ จัดการเสวนาวันละ 3 หัวข้อ รวม 18 เรื่อง
วันพุธที่ 3 เมษายน 2567
- 10 สุดยอดโบราณวัตถุหายากที่สูญหายไปจากความทรงจำ เวลา 10.00-12.00 น.
- คติการวางศิลาฤกษ์ปราสาทหินวัฒนธรรมเขมรโบราณ เวลา 13.30-15.30 น.
- ผ่าโลกใต้พิภพเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ โบราณคดีเมืองกับการพัฒนา เวลา 16.00-18.00 น.
เสวนาทศวรรษแห่งการค้นพบเรือโบราณพนมสุรินทร์
วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567
- ทศวรรษแห่งการค้นพบเรือโบราณพนมสุรินทร์ : เรือโบราณที่เก่าที่สุดในประเทศไทย เวลา 10.00-12.00 น.
- การค้นพบภาพเขียนสี และแหล่งฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกในภาคกลางของประเทศไทย ถ้ำเลียงผา เขาผาแรด อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เวลา 13.30-15.30 น.
- การค้นพบแหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย ที่แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร เวลา 16.00-18.00 น.
วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567
- แผนผังสุสานโปรเตสแตนท์ เวลา 10.00-12.00 น.
- ข้อมูลใหม่จากวรรณกรรมอำพราง เวลา 13.30-15.30 น.
- หีบพระสมุดคลังความรู้มหัศจรรย์จากอดีต เวลา 16.00-18.00 น.
เสวนาเมืองโบราณยะรัง
วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2567
- เหล็ก - ทองเหลือง สุดยอดการค้นพบใหม่ด้านโลหะวิทยาในแหล่งโบราณคดีภาคเหนือของประเทศไทย เวลา 10.00-12.00 น.
- ข้อมูลใหม่ด้านโบราณคดีของเมืองโบราณยะรัง เมืองโบราณสำคัญที่ปลายด้ามขวาน เวลา 13.30-15.30 น.
- ภาพ STENCIL ลวดลายที่พบใหม่ ณ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร เวลา 16.00-18.00 น.
วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567
- 70 แหล่งศิลปะบนหินค้นพบใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เวลา 10.00-12.00 น.
- ถ้ำหมอเขียว การค้นพบใหม่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ของประเทศไทย เวลา 13.30-15.30 น.
- การค้นพบหลักฐานใหม่สมัยทวารวดีในรอบทศวรรษ เวลา 16.00-18.00 น.
วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2567
- การค้นพบแหล่งโบราณคดีสีบัวทอง แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดอ่างทอง เวลา 10.00-12.00 น.
- โลงไม้กับวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พิษณุโลก เวลา 13.30-15.30 น.
- เปิดโลกใบใหม่เที่ยวพิพิธภัณฑ์ไทยง่ายเพียงปลายนิ้ว เวลา 16.00-18.00 น.
การแสดงละครพันทาง เรื่องราชาธิราช
การแสดงนาฏศิลป์และดนตรี
ระหว่างวันที่ 2 – 7 เมษายน 2567 เวลา 18.00 – 20.00 น. ณ เวทีกลางแจ้ง โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร มีการแสดงที่น่าสนใจ เช่น การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ การแสดงละครนอก เรื่องแก้วหน้าม้า การแสดงละครตำนานพื้นบ้าน เรื่อง สงกรานต์ ละครเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง
วันอังคารที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 08.00 – 20.00 น.
- การบรรเลง – ขับร้อง วงดุริยางค์สากล (ก่อนพิธีเปิด)
- การบรรเลงดนตรีไทย “เพลงเทพสมภพ เถา”
- การแสดงชุดเทพนารีถวายพระพร
- การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพาลีสอนน้อง นำแสดงโดยศิลปินสำนักการสังคีต กำกับการแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ อำนวยการแสดงโดย ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต
วันพุธที่ 3 เมษายน 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย “โหมโรงเพลงเทิด ส.ธ.”
- การแสดงละครนอก เรื่องแก้วหน้าม้า ตอนถวายลูก-ถอดรูป
วันพฤหัสฯ ที่ 4 เมษายน 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย “โหมโรงเพลงมหาสังข์” วงปี่พาทย์ไม้แข็ง
- การแสดงละครพันทาง เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา
การแสดงละครตำนานพื้นเมือง เรื่องสงกรานต์
วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย “เพลงนาคพัน 3 ชั้น”
- ละครเบิกโรง เรื่องพระไพศรพณ์เทพเจ้าแห่งธัญชาติ
- การแสดงละครตำนานพื้นเมือง เรื่องสงกรานต์ ตอน “เชิญศีรษะท้าวกบิลพรหม”
วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2567
- รำอาศิรวาทราชสดุดีจักรีวงศ์
- ละครเทพนิยายเบิกโรง เรื่องกำเนิดสุริยะและโสมเทพ
- การแสดงละคร เรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง
วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย “โหมโรงเพลงศรีสุขสังคีต”
- การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดเล่ห์รักยักขินี นำแสดงโดยศิลปินสำนักการสังคีต กำกับการแสดงโดย กฤษกร สืบสายพรหม อำนวยการแสดงโดย ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต
ศิลปินคอนเสิร์ตเพชรในเพลง
วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2567
- การแสดงคอนเสิร์ตเพชรในเพลง ร่วมส่งความสุขด้วยบทเพลงไพเราะ ณ สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 17.30 – 19.30 น.
- โดยศิลปินแห่งชาติและศิลปินรางวัลเพชรในเพลง รวงทอง ทองลั่นทม, วิรัช อยู่ถาวร, วินัย พันธุรักษ์, พิเชฏฐ สุขแพทย์, โฉมฉาย อรุณฉาน
- ศิลปินคุณภาพ หนู มิเตอร์, ธนพร แวกประยูร, รัชนก ศรีโลพันธุ์, รวมมิตร คงชาตรี, สุทธิชา รอดภัย, อนันต์ อาศัยไพรพนา, ปรัชญา ธรรมโชติ, กิตติธัช แก้วอุทัย, เปาวลี พรพิมล
- บรรเลงโดยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร
ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคนซึ่งล้วนมีส่วนเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมของชาติเข้าร่วมกิจกรรมใน งานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และร่วมใจกันอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟู ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังความรักและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยให้แก่ลูกหลาน เพื่อรักษาไว้เป็นมรดกล้ำค่าให้ยั่งยืนสืบไป