เพาะกล้าไม้แล้วแจก มุมเพลินๆ 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' ผู้อำนวยการไอลอว์(iLaw)
นักกฎหมายไอลอว์(iLaw)ที่เก็บเมล็ดมาเพาะต้นกล้า แบ่งปันให้คนสนใจ ทั้งไม้หายาก ไม้โบราณ ไม้ผล ไม้ดอก เพาะเพลินๆ เพราะรัก อยากให้คนปลูกต้นไม้เยอะๆ
จะมีนักกฎหมายสักกี่คนที่อธิบายภาษายากๆ ทางกฎหมายให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์(iLaw) หนึ่งในคนที่หน้าที่เหล่านี้ และยังทำต่อไป
ส่วนอีกมุม เขาชอบเรื่องต้นไม้และป่า มักจะเก็บเมล็ดพันธุ์ ทั้งไม้หายาก ไม้ใหญ่ ไม้ผล ไม้ดอก มาเพาะไว้ แล้วแจกให้คนสนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีเงื่อนไขต้องปลูกจริง ปลูกให้เหมาะกับพื้นที่ และไม่ใช่เพื่อการค้า (ดูได้ที่เพจ See-sow-seeds เพาะเพลินๆ )
การพูดคุยครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่อดไม่ได้ที่จะถามถึงเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สักเล็กน้อย...
วันว่างของ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฏหมาย และผู้อำนวยการไอลอว์(iLaw)
ยิ่งชีพให้ความเห็นว่า ที่มาของระบบสว. คงเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ได้ยาก แต่เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ คงดีกว่าสว.ชุดที่เพิ่งหมดอายุ ซึ่งมาจากทางตรงทางเดียว
"ก็หวังว่า สว.ชุดต่อไปจะมีความหลากหลายมากขึ้น และเมื่อใดมีประเด็นที่ต้องให้สว.โหวต ก็หวังว่าจะตัดสินไปตามเหตุผลของเรื่องนั้น ไม่ได้ตัดสินตามผู้มีอำนาจ"
กลับมาที่มุมเพลินๆ ที่คุยกันจริงจัง คือ การเพาะเมล็ดพันธุ์ อีกมุมผ่อนคลายของนักกฎหมายไอลอว์ที่เมื่อใดมีโอกาสเดินทางก็จะเก็บเมล็ดพันธุ์ มาเพาะเพลินๆ ตามประสาของเขา ไม่ได้หวังแก้ปัญหาโลกร้อน แต่มีต้นไม้เยอะๆ ย่อมดีกว่าไม่มี
- เพาะเพลินๆ ลดความรุ่มร้อนในใจ
ในช่วงปี 2563 โควิดระบาด หลายคนมีเวลาว่างเยอะ ไม่ต่างจากยิ่งชีพที่กำลังเบื่อหน่ายเรื่อง กฎหมายและการเมือง จึงไปเข้าคอร์สเรียนรู้เรื่องต้นไม้ที่โรงเรียนปลูกป่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น Forest Plantation School ของอาจารย์นพพร นนทภา เพราะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องต้นไม้ แม้จะชอบธรรมชาติและป่าเขา
"กิจกรรมแรกตอนเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ผมทำชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พอมาเรียนธรรมศาสตร์ก็อยู่ชมรมแนวๆ นี้จนมาทำงานด้านกฎหมาย ทั้งๆ ที่ชอบเรื่องนี้ แต่ห่างหายไปนาน
ไปเรียนปลูกต้นไม้กลับมาก็ไม่ได้คิดว่าจะทำจริงจัง ช่วงโควิดอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ วิชาที่เรียนมาก็เลยลองทำ เมื่อปลูกแล้วงอกเติบโต ก็คิดแค่ว่า มีต้นไม้ มีป่า ดีกว่าไม่มี เพราะอากาศร้อนมาก
เราก็ไม่มีที่ดินที่จะปลูก เมื่อปริมาณต้นไม้ที่เพาะไว้เยอะเกินกว่าจะปลูกและดูแล ใครมีที่ดินและพร้อมจะมารับต้นไม้ ก็แจกให้ฟรี ผมจะพาไปดูที่ปลูกไว้และเลือกให้
ยกตัวอย่าง ถ้ามีพื้นที่สิบไร่ ผมก็จะเลือกให้ 30 ชนิด บางคนปลูกต้นไม้ไม่เป็น ชอบไม้ผลอยากปลูก ผมก็มีไม้ผลไว้ให้ แต่ไม่เยอะ ไม้ผลต้องดูแลเยอะ ตายง่าย
อย่างเงาะ มังคุด ลิ้นจี้ ถ้ามีเวลาดูแลปลูกรอบๆ บ้านได้ แต่ถ้าเอาไม้ผลไปปลูกในที่นา ผมไม่ค่อยสนับสนุน ที่นาควรปลูกพืชชนิดอื่นที่มีความทนทาน"
(ต้นไม้ที่ยิ่งชีพเพาะไว้ บางชนิดก็ถูกขอไปแล้ว สอบถามที่เพจดังกล่าว)
กล้าไม้สายพันธุ์ดีๆ แบ่งปันกันได้
งานที่สนุกที่สุดสำหรับยิ่งชีพ คือ ออกเดินทางเสาะแสวงหาเมล็ดพันธุ์ เมื่อเจอแล้วก็เลือกอย่างพิถีพิถัน คัดเฉพาะแม่ไม้พันธุ์ดีๆ เท่านั้น
“ไม่ใช่ว่าเจอเมล็ดต้นนั้นต้นนี้ แล้วเก็บมาเลย ต้องดูว่าต้นแม่พันธุ์แข็งแรง สวยงามหรือไม่ ถ้าเป็นต้นไม้ที่อยู่ริมถนนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแข็งแรง ต้นไม้อยู่ในเมืองจะเครียด พันธุ์ไม่ค่อยดี
ต้นแม่พันธุ์ที่ตามหาส่วนใหญ่อายุกว่า 30 ปี ควรสูง ชะลูด ตรง อย่างผมไปเชียงใหม่ ถ้ามีเวลาก็แวะไปเก็บเมล็ดพันธุ์ แถวๆคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีต้นพะยอม กระพี้เขาควาย ต้นไม้โบราณขนาดใหญ่ ซึ่งบริเวณนั้นเคยเป็นป่า
หรือที่หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีต้นตะเคียนสองต้น ต้นกระโดน แม้จะไม่สูง แต่เป็นต้นไม้โบราณ หรือโซนบ้านพักข้าราชการ ตรงนั้นมีต้นประดู่ใหญ่"
อย่างในกรุงเทพฯ ไม่ว่าสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ,สวนหลวง ร. 9 ,สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ แต่บางต้นหายาก ก็เก็บมาเพาะเหมือนกัน ถ้าคนที่มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ ถ้าคิดจะปลูกยางนา ก็น่าจะปลูกไม้อื่นสักสิบเปอร์เซ็นต์
คนที่ปลูกไม้ใหญ่ส่วนใหญ่รู้จักยางนา ตะเคียน ประดู่ มะค่า พะยูง ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจ แต่ผมมีไม้หายาก อย่างงิ้วป่า(คนส่วนใหญ่ตัดทิ้ง สงสัยไม่ค่อยชอบชื่อ) หรือสมอพิเภก ถ้าจะปลูกไม้ดอกมีหลายอย่าง ทองกวาว คูน ทนแล้ง ทนสภาพร้อนๆ ได้"
กล้าไม้ดีๆ ตั้งใจเพาะขนาดนี้ ไม่ได้เพาะขาย ทั้งๆ ที่บางต้นกว่าจะเก็บเมล็ดพันธุ์และปลูกขึ้นก็ใช้เวลา อย่างมะตาด กว่ายิ่งชีพจะได้เมล็ดพันธุ์และนำมาปลูก เขาบอกว่า ลำบากมาก แต่พอหาในกูเกิ้ลขายต้นละ 6-10 บาท
"เราจะดูว่า คนที่มาขอจะปลูกต้นอะไรถึงรอด ถ้ามองว่าเอาไปปลูกในสภาพที่ดินแบบนั้นไม่รอดก็ไม่ให้ ยกตัวอย่างพื้นที่แห้งแล้งมาก ไม่มีเวลาดูแล แล้วอยากปลูกมังคุด ผมก็ไม่ให้
และเมื่อเอาไปปลูกแล้ว อยากให้ถ่ายรูปมาดูกันว่า รอดหรือเติบโต เหมือนสัญญาใจ ก็มีหลายคนถ่ายรูปกลับมาให้ดู หรือไม่ก็หายไปเลย เราก็ไม่ได้เครียด"
เพาะกล้าไม้ งานปราณีตที่เลือกได้
เมื่อถามว่า เป็นนักกฎหมาย แล้วมานั่งปลูกต้นไม้แจกให้คนสนใจฟรีๆ ไม่รู้สึกเป็นภาระหรือ เขาบอกว่า สนุกมากกว่า เพราะการได้คุยกับทุกคนที่มาขอต้นไม้ ทำให้ได้ทำการบ้านเรื่องต้นไม้เพิ่มขึ้น เคยมีคนถามว่า พื้นที่น้ำแฉะๆ ต้องปลูกต้นอะไร ผมก็ไปถามคนที่รู้ดีกว่า หรือไม่ก็หาข้อมูลในกูเกิล
"พื้นที่น้ำแฉะๆ ต้องปลูกมะกอกน้ำ ตีนเป็ดน้ำ ทองหลามน้ำ มะขาม คนกรุงเทพฯ พื้นที่น้อย แนะนำให้ปลูกแคนา ปีปทอง (ไม่ใช่ปีป)ขึ้นตรง รากไม่ทำลายบ้าน"
นอกจากนี้ยังมีกล้าไม้ที่เขาพยายามสรรหา อยากนำเมล็ดมาเพาะ ตามประสาคนชอบปลูกต้นไม้
นั่นก็คือ ต้นพระเจ้า 5 พระองค์ ยิ่งชีพบอกว่า ปีนี้หาเจอแล้ว และปลูกสำเร็จ เป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นตามลำธาร เคยเห็นในอุทยานแห่งชาติ เมล็ดเพาะยาก เนื้อแข็งมาก ลองนำมาปลูกสองสามปี เพิ่งปลูกได้ หรือกระบก เพาะเมล็ดมาสองสามรอบ ยังไม่สำเร็จ
และเมื่อถามว่า ถ้ามีโอกาสจะซื้อที่ดินไว้ปลูกต้นไม้ไหม...
ยิ่งชีพ บอกว่า กำลังหาพื้นที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ เพราะอาจารย์ที่สอนเรื่องต้นไม้บอกว่า ถ้าจะซื้อที่ดินเพื่อสร้างป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ต้องประมาณ 7 ไร่ขึ้นไป ถ้าแค่หนึ่งไร่ ก็ปลูกต้นไม้ได้ แต่สร้างระบบนิเวศไม่ได้
แล้วจะทำยังไงให้คนไทยปลูกต้นไม้มากขึ้น เขา คิดว่า หากคนที่มีที่ดินเยอะๆ ปลูกต้นไม้ใหญ่มากขึ้นคงดีกว่าทิ้งพื้นที่ให้ว่างเปล่า ซึ่งการดูแลช่วง 2-3 ปีแรกสำคัญมาก
"ตอนนี้ภาครัฐเก็บภาษาที่ดินพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 3 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำเป็นพื้นที่เกษตรจะเก็บภาษีถูกลง ผมมองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่น่าจะเขียนไว้เลยว่า ถ้าที่ดินปลูกต้นไม้ใหญ่จะยกเว้นภาษี
เมื่อไม่เขียนไว้ชัดเจน คนมีที่ดินว่างๆ ก็ปลูกกล้วย มะม่วง พอเป็นพิธี ถึงเวลาหญ้าขึ้นรกต้นไม้ตายหมด ในทางปฎิบัติยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อีก ไม่ใช่เอาต้นกล้ามาปักๆ ถ่ายรูปแล้วได้รับการยกเว้นภาษี"
นอกจากให้ความสำคัญกับแหล่งเมล็ดพันธุ์ ยิ่งชีพยังให้ความใส่ใจดินที่ปลูก จะนำมาผสมเชื้อเห็ด ขุยมะพร้าวให้ได้สัดส่วน
"ดินถุงหนึ่งที่เพาะเมล็ด ผมจะใส่ใจและปราณีตเรื่องนี้ รวมถึงกะระยะเวลา เพราะต้นไม้ต้นหนึ่งเมื่อเพาะแล้วควรมีระยะเวลาปีกว่าๆ เพื่อนำลงดิน ไม่อย่างนั้นรากหดไม่เติบโต ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร
เป็นทฤษฎีที่เรียนมา เพื่อทำให้เราเชื่อมั่นว่า ต้นกล้าที่แจกจะแข็งแรงกว่าต้นกล้าที่ซื้อ หรือต้นกล้ารับฟรีจากป่าไม้ที่ปลูกปีละหมื่นกว่าต้น จึงไม่ค่อยปราณีต บางต้นอ่อนแอ"
................
ภาพ : เพจ See-sow-seeds เพาะเพลินๆ