เรื่องย่อ - เบื้องหลังละคร ‘เลือดสุพรรณ 2567’ ติวเข้มบทเพลงอมตะ ‘ดวงจันทร์’
จากพระเอกละครสู่ผู้กำกับการแสดง ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ พาชิมลางละคร ‘เลือดสุพรรณ’ เวอร์ชั่น 2567 คีตศิลปินอาวุโสติวเข้มนักแสดงเลือดใหม่ขับร้องบทเพลงอมตะ ‘ดวงจันทร์’ กรมศิลป์เตรียมเปิดม่านเดือนกรกฎาคมนี้ในถิ่นเมืองสุพรรณ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี
กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต เตรียมจัดการแสดงละครเรื่อง เลือดสุพรรณ ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี เดือนกรกฎาคมนี้
พนมบุตร จันทรโชติ
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงการจัดแสดงละครเรื่อง ‘เลือดสุพรรณ’ ในปีพ.ศ.2567 ว่า
“เนืองจากโรงละครแห่งชาติโรงใหญ่ปิดซ่อม เราเหินห่างจากแฟนละครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของกรมศิลป์ไปพอสมควร แต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้เราถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ เป็นปีทองของสำนักการสังคีต 2 ปีติดต่อกัน เพราะเราได้นำการแสดงชั้นสูงคือโขนไปเล่นยังโบราณสถานที่เป็นมรดกโลก เป็นต้นว่าที่อยุธยา ศรีเทพ และอีกหลายแห่ง
นอกจากโขน นักแสดงของกรมศิลปากรมีความสามารถมากกว่านั้น และนอกจากโรงละครที่กรุงเทพฯ เรายังมีโรงละครแห่งชาติอีก 2 แห่ง คือที่สุพรรณบุรีและนครราชสีมา
เราจึงใช้โอกาสที่โรงละครใหญ่ปิดซ่อม ทำการแสดงละครเวทีเรื่องเลือดสุพรรณ ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี
อธิบดีกรมศิลปากร เยี่ยมชมการถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ละคร "เลือดสุพรรณ" 2567
บทประพันธ์เรื่องนี้เป็นของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เคยเล่นหลังสุดย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วโดยครูปกรณ์ พรพิสุทธิ์ และนางสาวไทย 2 ท่าน คือ คุณอรอนงค์ ปัญญาวงส์ คุณปนัดดา วงศ์ผู้ดี
การนำบทละครเรื่องนี้กลับมาเล่นใหม่เพราะแฟนๆ โหยหากับการดูละคร และการแสดงครั้งนี้แสดงโดยนักแสดงเลือดใหม่ของกรมศิลปากร สวยหล่อถูกใจคนยุคใหม่
การแสดงของสำนักการสังคีตฯ ไม่มีวันตาย สืบทอดรุ่นต่อรุ่น ครูปกรณ์ที่เคยเป็นพระเอก ตอนนี้เป็นผู้กำกับการแสดง และปรมาจารย์หลายท่านช่วยกันสืบทอด”
ละคร ‘เลือดสุพรรณ’ พ.ศ.2567
ละครเรื่อง "เลือดสุพรรณ" พ.ศ.2567
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้อนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่การแสดงละครเรื่อง เลือดสุพรรณ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ที่มีต่อกรมศิลปากรอย่างมากมาย เนื่องในวาระต่างๆ
พุทธศักราช 2567 กรมศิลปากร จึงกำหนดจัดการแสดงละครเรื่อง ‘เลือดสุพรรณ’ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบการบรรเลงและขับร้องเพลงไทย และเพลงไทยสากล โดยวงดุริยางค์ไทย และวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต
- นำแสดงโดยนาฏศิลปินรุ่นใหม่ ปริญเมศร์ จูไหล รับบท มังราย, นงลักษณ์ กลีบศรี รับบทดวงจันทร์, วัชรวัน ธนะพัฒน์ รับบทมังมหาสุรนาท
- กำกับการแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์
- อำนวยการแสดงโดย ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต
ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ จากพระเอกละครสู่ผู้กำกับการแสดง
ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ (ซ้ายสุด)
การแสดงละครเรื่อง เลือดสุพรรณ ความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบของละครกรมศิลป์ที่แสดงมาในอดีตถึงปัจจุบันที่ไม่มีหยุดพักครึ่งการแสดง
“ละครในแนวกรมศิลปากร เราไม่มีพักครึ่งการแสดง สองชั่วโมงก็สองชั่วโมง สามชั่วโมงก็สามชั่วโมง ถ้าเราวางตัวละครดีๆ ถ่ายทอดบทบาทอารมณ์ได้ถึงจริงๆ ดำเนินเรื่องได้สนุกสนาน เชื่อว่าในสองชั่วโมงหรือสองชั่วโมงครึ่งไม่น่าเบื่อหรอกครับ คนดูจะเพลิดเพลิน” ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’
ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ เป็นนักแสดงชื่อดังของกรมศิลปากร รับบทพระเอกของละครกรมศิลป์หลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งเคยรับบท ‘มังราย’ พระเอกของละครเรื่อง ‘เลือดสุพรรณ’ ซึ่งครั้งนี้ปกรณ์ในวัย 68 ปี นำประสบการณ์ทั้งหมด รับหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดง
มังรายช่วยเหลือเชลยไทยที่ถูกข่มเหง (วันแถลงข่าว)
ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า ละครเรื่องเลือดสุพรรณ พ.ศ.2567 มีด้วยกัน 6 ฉาก ได้แก่
- ฉาก 1-2 เป็นฉากเดียวกัน คือ ฉากริมน้ำสุพรรณบุรี เพียงแต่เปลี่ยนเวลาเป็นกลางวันกับเวลาค่ำ
- ฉากค่ายมังมหาสุรนาท ที่ว่าราชการ
- ฉากป่า แดนประหารมังราย
- ฉากป่า ที่พ่อแม่ของดวงจันทร์ตาย
- ฉากประจันหน้า สุดท้ายที่คนไทยพลีชีพเพื่อชาติ
ดวงจันทร์ และพ่อแม่
“เราแสดงตามบทประพันธ์ดั้งเดิมของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เราให้เกียรติและเคารพในบทประพันธ์ของท่าน ไม่มีการเขียนใหม่เพื่อการแสดง ผมไม่ได้แตะต้องในสิ่งเหล่านี้ ผมแตะในเรื่องอารมณ์ตัวแสดง ท่าทางของนักแสดง การใช้เสียง เราไม่เคยเปลี่ยนแปลงบทประพันธ์ของท่านไม่ว่าเล่นกี่ครั้ง หรือใครจะเป็นผู้แสดง” ปกรณ์กล่าว
บทละครเรื่องเลือดสุพรรณ มุ่งหมายให้ผู้อ่านและผู้ชมการแสดงเกิดความสมัครสมานสามัคคี มีไมตรีต่อกัน เสียสละชีวิตเพื่อชาติ
ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็น “คุณธรรม – มนุษยธรรม” ของคนผู้มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ควรรังแก กดขี่ข่มเหงทารุณผู้ซึ่งตกเป็นเชลยสงคราม ผ่านการสร้างความประทับใจสะเทือนใจด้วยธีมความรักในสนามรบ นี่คือสิ่งที่คนดูละครเรื่องเลือดสุพรรณจะได้รับกลับไปนอกเหนือจากความบันเทิง
ปกรณ์ พรพิสุทธิิ์ - อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ "เลือดสุพรรณ" พ.ศ.2557
ปกรณ์ พรพิสุทธิิ์ - อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ ฉากร้องเพลง "ดวงจันทร์"
“ผมแสดงละครเรื่องเลือดสุพรรณหลายครั้ง แต่ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ผมแสดงกับคุณอรอนงค์ ปัญญาวงศ์ และคุณปนัดดา วงศ์ผู้ดี และศิลปินในกรมศิลป์เกี่ยวกับงานเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม” ปกรณ์ กล่าวถึงการแสดงละครเรื่องนี้เมื่อปีพ.ศ.2557
เมื่อต้องมารับบทเป็นผู้กำกับการแสดง ปกรณ์กล่าวว่า “เหนื่อยครับ ดูทุกตัวละคร ดูทั้งเรื่อง ดูทุกอย่าง เป็นนักแสดงดูแลแค่ตัวเอง จำท่ารำตัวเอง เพียงแต่เราไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะตลอดชีวิตของเราเติบโตมาจากนักแสดง เราจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไร เราเล่นมาหลายครั้ง รู้ว่าละครเรื่องควรจะต้องทำแบบไหน”
ที่ขาดไม่ได้คือบทเพลงอมตะจากละครเรื่องนี้มี 5 บทเพลงด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเพลง ดวงจันทร์ ที่พระเอกและนางเอกของเรื่องเป็นผู้ถ่ายทอด
ติวเข้มเพลงเอก “ดวงจันทร์”
ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ ติวเข้มการขับร้องบทเพลง "ดวงจันทร์"
เพี้ยซ - ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ คีตศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต สังกัดวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร รับหน้าที่สอนนักแสดงขับร้องบทเพลงในละครเรื่องเลือดสุพรรณ ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงบทเพลงชื่อ “ดวงจันทร์” ซึ่งเป็นที่คาดหมายของนักชมละคร ว่า
“เพลงดวงจันทร์เป็นเพลงเอกซึ่งหลายๆ ท่านร้องตามได้ มีนักร้องอาชีพหลายท่านนำไปร้อง อาทิ ชรินทร์ นันทนาคร อรวี สัจจานนท์ ทำให้คนรู้จักเพลงนี้เยอะมาก
เป็นบทเพลงที่พูดถึงความรักของมังรายและดวงจันทร์ในเรื่อง เราก็จะได้ยินเขากระเง้ากระงอดกันอยู่ในเพลง”
ละครเรื่อง “เลือดสุพรรณ” ครั้งนี้ นำแสดงโดยนักแสดงรุ่นใหม่ของกรมศิลปากร จำเป็นจะต้องได้รับการถ่ายทอดการสอนและคำแนะนำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเป็นบทเพลงที่เขียนทั้งคำร้องและโน้ตโดยครูนักประพันธ์ระดับนักปราชญ์และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
“ด้วยความที่น้องเป็นศิลปินรุ่นใหม่ของกรมศิลปากร บางทีในการเอื้อนคำภาษาไทยมีคำสั้นคำยาว มีการเอื้อนโน้ตที่น้องอาจจะยังไม่คุ้น แต่เพี้ยซเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์มาตั้งแต่ ม.1 เราจะได้รับการสอนบทเพลงของหลวงวิจิตรวาทการมาตั้งแต่ ม.1 ถึงจบปริญญาตรี เราจะมีความคล่องในเรื่องบทเพลงต่างๆ ปัจจุบันดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ก็ยังบรรเลงเพลงหลวงวิจิตรวาทการเป็นหลัก”
ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ แนะนำเทคนิคการร้องเพลงให้กับพระเอก-นางเอก
สิ่งที่ครูเพี้ยซให้ความสำคัญคือ การเอื้อนคำและเสียงร้อง ให้เหมือนกับโน้ตที่ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์ไว้
“บทเพลงของหลวงวิจิตรวาทการมีคำที่สวยงาม สิ่งที่เน้นคือเรื่องการเอื้อน คำไทย คำควบกล้ำ คำสั้นคำยาว เช่นคำว่าพักตร์ เราต้องปิดคำด้วย ก. ในการแสดงละครเวทีทำเหมือนที่เราทำปกติไม่ได้ เวลาเราอยู่ในโรงละคร คนเต็มโรงละคร เสียงก็จะดูดเราไปอีก เราทำแค่ 100% ไม่ได้ เราต้องทำ 200% ก็จะปรับให้เขามีความเป็นการแสดงละครมากขึ้น
คือไม่ได้สอนร้องเพลงอย่างเดียว สอนแอ็คติ้งในการร้องเพลงเข้าไปด้วย และปรับเรื่องทำนองซึ่งเป็นอีกส่วนที่สำคัญ ร้องผิดโน้ตยังอยู่ในคอร์ด ฟังไม่เพี้ยน แต่มันไม่ใช่ เราก็ต้องปรับให้น้องร้องตรงกับโน้ตที่ท่านประพันธ์ไว้”
ครูเพี้ยซ – ณัฐธิกา กล่าวถึงลูกศิษย์ทั้งสองว่า “น้องเป็นนาฏศิลปิน เป็นนักแสดงเลือดใหม่ของกรมศิลปากร น้องขยันมากพร้อมปรับตลอด น้องบอกเป็นครั้งแรกที่แสดงละครและร้องเพลง สอนไม่กี่ครั้ง เท่าที่ดูน้องร้องถูกโน้ตหมดแล้ว เหลือแค่พลกำลังและเทคนิคต่างๆ ที่เราจะใส่ให้น้องต่อไป”
ในการจัดแสดงละครเรื่องเลือดสุพรรณครั้งนี้ ทั้ง 5 บทเพลง จะบรรเลงโดยวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากร แบบเต็มวง ร่วมกับวงเครื่องดนตรีไทย เป็นการผนวกองค์ความรู้ทุกแขนงของการสังคีตมารวมกันในละคร ซึ่งการแสดงลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ
มังราย – ดวงจันทร์ พ.ศ.2567
ปริญเมศร์ จูไหล - นงลักษณ์ กลีบศรี
นักแสดงเลือดใหม่กรมศิลปากรผู้รับบทมังราย ได้แก่ ปริญเมศร์ จูไหล และผู้รับบทดวงจันทร์ คือ นงลักษณ์ กลีบศรี ซึ่งเข้าสังกัดกรมศิลปากรมาได้เพียง 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ
ปริญเมศร์ กล่าวว่า นี่เป็นผลงานละครกรมศิลป์เรื่องแรกของเขา ก่อนหน้านี้เขาเคยแต่แสดงโขน โดยรับบทเป็นพระลักษมณ์ อาทิ ตอนตามกวาง ลักสีดา ถวายพลยกรบข้ามสมุทร
ขณะที่นงลักษณ์มีประสบการณ์แสดงระบำและละครรำในงานอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.๒) งานสมโพชและงานบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชที่วัดพระแก้ว
“ยังไม่เคยมีผลงานเกี่ยวกับการร้องเพลงจริงจังเลยค่ะ การร้องเพลงค่อนข้างยากพอสมควร อันดับแรกต้องท่องเนื้อเพลงให้ได้ พยายามพูด-ร้องให้ชัด ใช้ลมจากข้างใน ร้องให้ดังๆ ซึ่งต้องร้องทั้ง 5 เพลงเอกในละครเรื่องนี้” นงลักษณ์ กล่าวถึงการรับบทเป็น “ดวงจันทร์” ในละครเรื่องเลือดสุพรรณ
“ผมก็ร้อง 5 เพลง เพลงคู่ 1 เพลง และมีเพลงร้องร่วมกับนักร้องวงดนตรีไทยคนละท่อน” ปริญเมศร์ กล่าวและยอมรับว่าเคยร้องเพลงเล่นทั่วไปบ้าง เป็นเพลงสตริง แต่ร้องจริงจังกับเพลงไทยที่มีรายละเอียดและการหายใจแบบเพลงไทยลักษณะนี้ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
นอกจากบทเพลงที่ต้องทำหน้าที่ให้ดี พระเอก-นางเอกยังกล่าวด้วยว่า บล็อคกิ้งบนเวที ความรู้สึกเข้าพระเข้านาง บทที่เข้ากับตัวร้าย เดี๋ยวรักเดี๋ยวเสียใจ ถูกประหาร อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว น้ำเสียงหากเผลอพูดเบาไปจะฟังไม่ชัด ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องซักซ้อมและปรับปรุงก่อนเปิดการแสดงจริง
สุดท้าย พระ-นางคู่ใหม่นี้ฝากแฟนละครกรมศิลป์ช่วยมาเป็นกำลังใจให้ด้วย
รอบการแสดง ละคร 'เลือดสุพรรณ' 2567
มังราย : ดวงจันทร์ งามพักตร์พิศเพียงพระจันทร์
ดวงจันทร์ : อย่ามาแกล้งยอฉัน ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง เมื่อเมฆขยาย จันทร์จะฉายท้องฟ้า
เตรียมตัวไปฟังบทเพลงนี้เต็มๆ และชมละครเรื่อง “เลือดสุพรรณ” ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น.
ด้วยเสียงตอบรับดีเกินคาด 800 ที่นั่งของรอบวันเสาร์ที่ 6 ก.ค. บัตรเต็มทุกที่นั่ง กรมศิลปากรได้เพิ่มรอบการแสดงใน วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 รอบ 14.00 น. บัตรราคา 80 บาท 60 บาท และ 40 บาท
สอบถามรายละเอียดการจองบัตรได้ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0 3553 5114 , 0 3553 5116 (วันและเวลาราชการ) เฟสบุ๊ก เพจ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี
เนื้อเรื่องย่อละครเรื่อง “เลือดสุพรรณ”
มังระโธ กดขี่เชลยไทย
กล่าวถึงพม่ายกทัพมาตีไทยและยึดเมืองสุพรรณไว้ได้ จึงกวาดต้อนคนไทยมาเป็นเชลยและใช้ให้ทำงานอย่างหนัก ดวงจันทร์ และบิดามารดาที่ชราแล้วก็ถูกต้อนมาในครั้งนี้ด้วย ณ ที่แห่งนี้
ทำให้ดวงจันทร์ได้พบกับ มังราย นายกองพม่าผู้มีจิตใจงดงามเมตตาต่อคนไทย ได้คอยห้ามปรามมิให้ทหารพม่าข่มเหงคนไทยอยู่เสมอ
มังระโธ นายกองพม่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำของมังราย จึงเกิดขัดแย้งจนถึงขั้นต่อสู้กัน มังระโธสู้ไม่ได้จึงหลบไปด้วยความอาฆาต
มังรายและดวงจันทร์เกิดความรักและเข้าใจซึ่งกันและกัน ดวงจันทร์จึงขอร้องให้มังรายปล่อยคนไทยทั้งหมด
ด้วยความรักที่มังรายมีต่อดวงจันทร์จึงยินดีกระทำตามคำของสาวคนรัก ทั้งที่รู้ดีว่าโทษที่ตนจะได้รับนั้นถึงขั้นประหารชีวิต ดวงจันทร์จึงจากมังรายไปด้วยความอาลัยรัก
มังราย, มังมหาสุรนาท, มังระโธ
เมื่อ มังมหาสุรนาท แม่ทัพพม่าบิดาของมังรายทราบข่าว ว่ามังรายได้ปล่อยคนไทย ซึ่งเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง จึงสั่งลงโทษประหารชีวิตเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ทหารผู้อื่น
เมื่อดวงจันทร์ย้อนกลับมายังค่ายพม่าเพื่อขอรับโทษแทนมังรายด้วยความกตัญญูรู้คุณ แต่มังมหาสุรนาทไม่ยินยอม มังรายถูกนำตัวไปประหารชีวิต และดวงจันทร์ได้เข้าขัดขวางเพชฌฆาตแต่ไม่สำเร็จ
เมื่อมังรายสิ้นชีวิตแล้ว ดวงจันทร์วิ่งเข้ากอดร้องไห้คร่ำครวญด้วยความอาลัยรัก และคิดสู้กับพม่าจึงชักชวนชาวสุพรรณให้ร่วมต่อสู้กับพม่าทั้งที่ไม่มีอาวุธด้วยความกล้าหาญ แต่สุดท้ายก็ถูกพม่าสังหารทั้งหมด