รวมคาแรคเตอร์ศิลปะ ‘ความเหงาที่เราเลือก’ ใน The Art of A(Loneliness)
สำรวจมิติ 'ความเหงา' กับ The Art of A(Loneliness) นิทรรศการศิลปะที่เกิดจากความร่วมมือของ Lonely Boy และนักสร้างสรรค์คาแรคเตอร์รุ่นใหม่อีก 5 ท่านจากภาคอีสานที่มีแฟนคลับติดตามมากมาย ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567 จัดแสดงในร้านกาแฟสุดเท่ของขอนแก่น
The Art of A(Loneliness) เป็นชื่อนิทรรศการหนึ่งในงาน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567” หรือ Isan Creative Festival 2024 (ISANCF2024) จัดขึ้นภายใน ร้านกาแฟ Lonely Boy ย่านกังสดาล ติดรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
“เริ่มจาก CEA เห็นตัวคาแรคเตอร์ Lonely Boy เลยเข้ามาติดต่อ หลังจากคุยกันแล้ว จึงได้มีการจัดนิทรรศการนี้ขึ้นภายใต้คอนเซปต์ Lonely เป็นการสำรวจ ความเหงา ของคนในสังคมและคนในพื้นที่ย่านกังสดาลแห่งนี้” ถิรเดช อธิชาสกลชัย กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการ The Art of A(Loneliness)
ถิรเดช อธิชาสกลชัย กับคาแรคเตอร์ Lonely Boy
ถิรเดช สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย สนุกกับการออกแบบดิจิทัลอาร์ตควบคู่กันไป หลังสร้าง คาแรคเตอร์ Lonely Boy จึงตัดสินใจเปิดร้านกาแฟชื่อเดียวกันได้ราว 8 เดือนที่ผ่านมา
จริงๆ เขาตั้งใจเปิดร้านกาแฟมานานแล้ว แต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงพักโครงการไว้ก่อน
จนกระทั่งเวลาเอื้ออำนวย จึงหยิบคอนเซปต์ Lonely ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวที่เคยคิดไว้มาพัฒนาเป็นคาแรคเตอร์ Lonely Boy
ถิรเดช อธิบายว่า Lonely Boy เป็นตัวแทนของคนอับโชคที่ยังหาคนที่มีความเหงาที่เหมือนกันยังไม่เจอ แต่การเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เหมือนคนอื่น ไม่ได้ตอบโจทย์กับความรู้สึกภายใน การต้องเสียความเป็นตัวเอง จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่จะต้องแลก
เด็กชายขี้เหงาคนนี้เลือกเรียนรู้ที่จะอยู่กับ ความเหงา ที่มี และเรียนรู้ที่จะโอบกอดความเหงาภายใต้ชื่อ Lonely Boy
ร้านกาแฟ Lonely Boy
กล่าวได้ว่า Lonely Boy คือเด็กชายขี้เหงาแห่ง กังสดาล ย่านชุมชนที่แสนจะครึกครื้นในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น แม้กระทั่งชื่อซอยที่ร้านกาแฟตั้งอยู่ยังเรียกกันต่อๆ มา “ซอยวุ่นวาย” และพัฒนากลายเป็นนิทรรศการ The Art of A(Loneliness) ในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567
“เราตั้งคำถามขึ้นมา ในพื้นที่ที่วุ่นวายขนาดนี้มีความเหงาอยู่หรือเปล่า ทุกคนเคยได้สำรวจไหมความเหงาจริงๆ คืออะไร การที่เราไม่มีคนอยู่ด้วยข้างๆ หรือเปล่า หรือการที่เรามีคนอยู่รายล้อมเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครเข้าใจเราเลยสักคน” ถิรเดช กล่าวถึงคอนเซปต์นิทรรศการ The Art of A(Loneliness)
นิทรรศการ The Art of A(Loneliness) เป็นการร้อยเรียงและสำรวจมิติ ความเหงา ผ่านการแสดงออกของผู้คนในสังคมเมือง ด้วยผลงานศิลปะจากการตีความ ‘ความเหงา’ ที่แตกต่างกันของ ศิลปิน 6 คน คือ Lonely boy, วาดน้อง, NHAMM, AVEGEE, TURRY HARDZ และ SIRI X Clay i NAMIA Studio
TURRY HARDZ : Door to Solitude
ประตูสู่ความสันโดษ ของ TURRY HARDZ
ศิลปินรุ่นใหม่ชาวอีสานใช้ชื่อว่า TURRY HARDZ เติบโตจากการสร้างสรรค์ภาพดิจิทัลในอินสตาแกรม ตีความ Lonely คือ ความสันโดษ คือช่วงเวลาหนึ่งที่ได้หลบหนีบทบาทหน้าที่ หลบหนีผู้คนชีวิตความวุ่นวายในเมืองใหญ่
ความสันโดษ จึงเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้ครุ่นคิด ทบพวนความต้องการและเป้าหมายต่างๆ จะได้ยินเสียงความต้องการจริงๆ ของตัวเอง ว่าให้คุณค่ากับอะไร
แนวคิดถ่ายทอดเป็นผลงานภาพวาดผสมศิลปะจัดวางในธีม Door to Solitude หรือประตูสู่ความสันโดษ โดยศิลปินทำประตูเล็กๆ ด้วยกระดาษสีสันสดใส ติดไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ของร้านกาแฟ
เมื่อเปิดประตูกระดาษออกดูข้างใน จะพบภาพวาดคาแรคเตอร์รูป 'หนู' สวมใส่เสื้อผ้าที่บ่งบอกอาชีพต่างๆ
Lonely boy : Lonely by Choice
คาแรคเตอร์ Lonely Boy
“ในนิทรรศการนี้ งานของผมใช้คอนเซปต์ Lonely by Choice ล้อเลียนความหมาย Single by Choice (จงใจโสด) แต่ Lonely by Choice มีความหมายที่บางครั้งการที่เราแปลกแยกแล้วไม่มีใครเข้าใจ การที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเข้าให้ได้กับสังคม ทำให้สูญเสียความเป็นตัวเอง ก็ไม่ใช่ เราจึงจงใจเลือกอยู่กับตัวเอง” ถิรเดช กล่าวถึงคาแรคเตอร์ Lonely Boy เด็กชายนั่งกอดเข่า ที่เห็นอยู่ในร้านบริเวณหน้าสเตชั่นเครื่องดื่มและเบเกอรี่
บนผนังพื้นที่ด้านในสุดของร้าน ยังมีภาพวาดภายใต้คาแรคเตอร์ Lonely Boy อีก 20 ภาพ เป็นโลลี่บอยในหลากหลายอาชีพที่ถิรเดชเห็นอยู่รายรอบย่านกังสดาล เช่น ไรเดอร์ หมอ วินมอเตอร์ไซด์ ผู้สูงวัย พระสงฆ์ ฯลฯ ชวนให้เกิดบทสนทนาอาชีพเหล่านี้มีความเหงาให้เผชิญอย่างไรหรือไม่
Lonely Boy สำรวจความเหงาคนอาชีพต่างๆ
ภาพ ‘Lonely Boy ถือดาบ’ มาได้อย่างไร ถิรเดชอธิบายว่าเขาหยิบเหตุการณ์จริงที่มีข่าวฮือฮาผู้ชายถือดาบวิ่งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2567 จนกลายเป็นไวรัล มาเป็นแรงบันดาลใจ
แรกที่เป็นไวรัล ทำให้เกิดข้อสงสัยและคิดกันไปต่างๆ นานา ว่าเขาคือใคร ทำไมทำเช่นนั้น เพราะความเหงา เพราะปัญหาสภาพจิตใจ หรือเพราะอะไร
ความจริงแล้ว ชายคนนั้นเป็นเพียงนักวิ่งปกติคนหนึ่งที่นึกสนุกแต่งกายเลียนแบบ โรโรโนอา โซโร คาแรคเตอร์นักล่าโจรสลัดจากแอนิเมชันดังเรื่อง One Piece
Lonely Boy กับความในใจของผีสะพานขาว
บนผนังยังมีภาพลายเส้นสัญลักษณ์ภูติผี!
“ผมสะท้อนมุมมองความเหงาของ ผีสะพานขาว ไม่เคยมีใครทักฉันเลย ฉันอยู่ตรงนี้มาตั้งนาน” ถิรเดชเริ่มต้นเล่าที่มาของภาพวาด
ใครเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น คงทราบเรื่องชวนขนหัวลุกของ ‘สะพานขาว’ ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เรื่องมีอยู่ว่า หนุ่มสาวคู่หนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์มาด้วยความเร็ว มีใครไม่รู้เอาลวดสลิงไปขึงช่วงกลางสะพาน ตัดคอผู้หญิงคนนั้นขาด แต่ผู้ชายยังไม่รู้ตัวว่าแฟนของตนตายแล้ว เพราะก้มหน้าขับรถด้วยเร็ว จึงไม่โดนสลิง เมื่อขับไปถึงปั๊มน้ำมันพอจะลงจากรถ จึงเห็นแฟนตัวเองคอขาด
จากนั้นก็มีอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดขึ้นบนสะพานขาว บางคนขับรถเข้าไปในมหาวิทยาลัยตอนดึก ใกล้ข้ามสะพานขาว วิทยุในรถดับไปเฉยๆ เมื่อลองเปิดใหม่ เสียงที่ได้ยินคือเพลง ธรณีกรรแสง จึงปิดวิทยุเพื่อตัดปัญหา
เมื่อรถวิ่งไปเรื่อยๆ แสงไฟหน้ารถส่องเห็นคนสองคนเดินอยู่ไม่ไกล จู่ๆ เครื่องยนต์ดับ แต่เสียงเพลงธรณีกันแสงกลับดังขึ้นเอง
เมื่อคนสองคนเดินเข้ามาใกล้ เขาจึงเห็นชายหญิงคู่หนึ่ง ผู้ชายไม่มีแขน ผู้หญิงกำลังหิ้วหัวของตัวเอง (ที่มา: เว็บไซต์ Alist academy)
ใครมีโอกาสไปชมนิทรรศการ The Art of A(Loneliness) หากสงสัยในความเหงาของ Lonely Boy ภาพอื่นๆ ลองแลกเปลี่ยนความเห็นกับคุณถิรเดชเพิ่มเติม
วาดน้อง
สำรวจความเหงาของ 'น้อง'
ศิลปินซึ่งใช้ชื่อ วาดน้อง ร่วมสำรวจความเหงาด้วยการแปร ภาพวาดรูปสัตว์ ที่ศิลปินรัก เช่น สุนัข แมว เป็นงาน ประติมากรรม ที่มีความน่ารักตามภาพวาด ซึ่งศิลปินใช้คำเรียกสัตว์เหล่านั้นว่า “น้อง”
เล่า ‘ความเหงา’ ของสัตว์เลี้ยงที่ถูกเลี้ยงตัวเดียว ต้องการอยากมีเพื่อน ศิลปินอธิบายเพิ่มเติมด้วยการพูดแทนความรู้สึกของ 'น้อง' ว่า
“เลามาคาเฟ่ สนุกจัง แต่กัวๆๆ งือ คิดถึงบ้าน อู้หูว ไคอะ แม่ๆไปไหน” (เรามาคาเฟ่ สนุกจัง แต่กลัวๆๆ งือ คิดถึงบ้าน อู้หูว ใครอ่ะ แม่ๆ ไปไหน)
"นี่คือเสียงในหัวของสัตว์เลี้ยงหลากหลายที่มายังคาเฟ่ ความคิดที่คาดเดาไม่ได้ของน้องๆ สัตว์เลี้ยงที่กลัวปนตื่นเต้น อารมณ์เปลี่ยนไปมาได้ตลอด เจอสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่ไม่คุ้นหน้า คนที่ไม่คุ้นเคย ถึงจะมีสิ่งมีชีวิตมากมายมาหายใจร่วมกันที่นี่ แต่ในใจกลับเหงาอย่างน่าประหลาด แค่แม่เดินไปห้องน้ำก็ร้องไห้อุ๋งอิ๋งแล้ว" เป็นคำอธิบายที่ศิลปินขยายความ
ผลงานของศิลปิน 'วาดน้อง'
ประติมากรรมน้องๆ เหล่านี้ ได้รับการจัดวางเป็นอิริยาบถต่างๆ ภายในบริเวณร้านกาแฟ ให้ผู้เข้าชมตีความตามจินตนาการและประสบการณ์ส่วนตัว เช่น บางตัวอยู่ในท่าทางเกาะผนังกระจก มองเข้ามาในร้าน เหมือนอยากหาเพื่อนเล่น หรืออยากรู้อยากเห็นว่าข้างในร้านทำอะไรกัน หรือเป็นความรู้สึกอย่างอื่น แล้วแต่จะตีความ
ประติมากรรมบางชิ้นวางอยู่ตัวเดียวท่ามกลางดงหญ้า บางตัวจัดวางเป็นคู่แต่หันหน้าไปทิศเดียวกัน ฯลฯ ให้ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการตีความกัน ไม่มีถูกไม่มีผิด ลองไปค้นหาดู 'น้อง' อยู่ตรงไหนกันบ้าง
AVEGEE : Think Boy Lonely Boy
คาแรคเตอร์ Think Boy Lonely Boy
ปกติศิลปินซึ่งใช้นามว่า AVEGEE (อเวจี) สร้างสรรค์ผลงานภาพวาด เป็นเจ้าของภาพวาดคาแรคเตอร์ Think Boy ซึ่งบริเวณศีรษะมักเปิดให้เห็นด้านในว่ากำลังคิดอะไร
ในนิทรรศการนี้ AVEGEE สร้างสรรค์ประติมากรรมคาแรคเตอร์ Think Boy Lonely Boy เด็กน้อยผู้ต้องเผชิญกับโลกที่เต็มไปด้วยสีสัน แต่ภายในกลับรู้สึกโดดเดี่ยวโดยไม่ทราบสาเหตุ และต้องการใครสักคนที่เข้าใจ ช่วยนำบางสิ่งมาเติมเต็มช่องว่างภายในใจที่ขาดหายไป
บริเวณที่รูปหัวใจของประติมากรรมสามารถเปิดออกได้ เป็นสัญลักษณ์ว่า ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถเติมเต็มความโดดเดี่ยวนี้ได้
SIRI X Clay i NAMIA Studio : Alone but not Lonely
คาแรคเตอร์ Tomato Twins
SIRI หรือ สิรินาฏ สายประสาท คือศิลปินผู้สร้างสรรค์คาแรคเตอร์ Tomato Twins โดยมีแรงบันดาลใจจากลูกสาวฝาแฝด 2 คนที่ตอนเด็กๆ มีแก้มแดงเหมือนลูกมะเขือเทศ
ศิลปินมองว่า การเกิดมาพร้อมกันเป็นคู่ การอยู่เป็นคู่กันตลอด ทำให้ฝาแฝดไม่เคยเหงา การที่มีพวกเขาเป็นเพื่อน ก็จะทำให้ไม่เหงาด้วยเหมือนกัน
จึงนำคอนเซปต์ความเหงาที่เป็นชื่อของร้านกาแฟ มารวมกับความไม่เคยเหงาของ Tomato Twins โดยตีความว่า ถึงแม้แยกตัวเองอยู่เพียงลำพัง แต่ก็จะไม่เดียวดาย หรือ Alone but not Lonely
ภาพวาดน้องเม่นจิ๋ว จาก Clay-i กับ Tomato Twins
ครั้งนี้ SIRI ยังชวนเพื่อนมาด้วยอีกตัว เป็น น้องเม่นจิ๋ว จาก Clay-i สตูดิโอเซรามิกสุดน่ารัก ถือเป็นการคอลแล็บส์กับงานเซรามิกครั้งแรกของสิริและ Clay-i Studio
ผลงานประกอบด้วยงานเพ้นท์สีอะคริลิค ขนาด 80X100 เซนติเมตร ใช้โทนสีที่ต่างไปจากสีสดใสแบบ Tomato Twins โดยตั้งใจให้เป็นโทนสีของดินพื้นบ้านที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งในงานเซรามิกของ Clay-i ที่จัดแสดงร่วมกัน
NHAMM : Kram Boy in Khonkaen
ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ ร่วมระบายความเหงากับ Kram Boy
ครูสอนศิลปะและคนทำงานศิลปะแห่งจังหวัดสกลนคร ซึ่งใช้นามพู่กันว่า NHAMM (อ่านว่า แหนม) ผู้สร้างสรรค์คาแรคเตอร์ Kram Boy หรือ ก่ำบอย เด็กชายที่เกิดมาพร้อมกับเพื่อนพี่น้องมากมายในแม่น้ำอันกว้างใหญ่ เติบโตตามวัยและออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ มากมาย
ครั้งนี้ 'ก่ำบอย' เดินทางมาขอนแก่น ชวน ‘คนเหงา’ มาทำงานศิลปะลงบนผ้าใบด้วยกัน ด้วย ‘รหัสสี’ ที่ช่วยบอกระดับความเหงาของทุกคน เชิญระบายความในใจไว้รอบๆ ก่ำบอย
ขนมเค้กรูปไดโนเสาร์
นิทรรศการ The Art of A(Loneliness) จัดแสดงที่ ร้านกาแฟ Lonely Boy เลขที่ 140/491 ถนนอดุลยาราม ย่านกังสดาล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. (ปกติร้านเปิดบริการถึง 18.00 น.)
ภายในร้านกาแฟ Lonely Boy มีเครื่องดื่มประเภทกาแฟ (ร้อนและเย็น) อาทิ คอฟฟี่ลาเต้, อเมริกาโน, มอคค่า ลาเต้, คาปูชิโน, คาราเมล มัคคิอาโต, อเมริกาโนน้ำส้มคั้น, อเมริกาโนน้ำมะพร้าว, แฟลตไวท์, เอสเพรสโซ
เครื่องดื่มประเภทไม่ใช่กาแฟ อาทิ มัทฉะลาเต้, เกนไมฉะ (Genmaicha), โฮจิฉะ, โกโก้ลาเต้, เวอร์จิน โมฮิโต
เมนูเบเกอรี่ออกแบบเป็นรูปทรงน่ารัก เช่น Lonely Dinosaur (195 บาท) เค้กรูปตัวไดโนเสาร์สีเขียววางบนเค้กอัลมอนด์ครัมเบิล, Teddy Love เค้กรูปหมีนอนบนเค้กช็อกโกแลต เป็นอาทิ
นั่งจิบเครื่องดื่ม ชิมขนมเค้ก ร่วมสำรวจ 'ความเหงา' ไปกับผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ
ขนมเค้กรูปหมี
มัทฉะ พรีเมียม