ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 โชว์วิธียก ‘เก้าอี้ม้าหิน’ เข้าบ้าน โดย South SITizen
การต่อยอดและเห็นคุณค่า ‘วัสดุพื้นถิ่น’ ภาคใต้ อาทิ ลูกปัดมโนราห์ เชือกกล้วย ใบกะพ้อ บาติก นำมาให้นักออกแบบรุ่นใหม่สร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัย ดูความเป็นไปได้ในการสร้างสินค้าธุรกิจใหม่จากงานหัตถกรรมดั้งเดิม ในนิทรรศการ ‘South SITizen ลองนั่งแล’ ในงาน PTDW2024
ทั่วทุกภูมิภาคของไทยมี วัสดุพื้นถิ่น หลากหลายและมีเอกลักษณ์, ภาคใต้ ก็เช่นเดียวกัน ช่างหัตถศิลป์ในแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนต่างใช้มรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดกันต่อมาแปรวัสดุเหล่านั้นเป็นผลิตภัณฑ์และเครื่องใช้ไม้สอยที่สอดรับกับวิถีชีวิตและเทศกาลประเพณี
เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 หรือ Pakk Taii Design Week 2024 (ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค : PTDW2024) อยากทราบว่า หาก ‘วัสดุพื้นถิ่น’ อยู่ในมือนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านมืออาชีพรุ่นใหม่ วัสดุพื้นถิ่นเหล่านี้สามารถกลายเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่พอที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมได้อย่างไรบ้างหรือไม่
Mobella Galleria x SarnSard (credit: PTDW)
กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ร่วมกันท้าทายโจทย์นี้ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization): CEA ผู้จัดงาน PTDW2024 คือ Mobella Galleria x SarnSard ประกอบด้วย อนุพล อยู่ยืน, กฤษฎา หนูเล็ก, วิศรุต ทวีวรสุวรรณ และ มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ ร่วมกันสำรวจ ‘วัสดุพื้นถิ่น’ จำนวน 15 ประเภท ได้แก่
- เส้นยางพารา วิสาหกิจชุมชนจักสานยางพารา จ.สตูล
- ไม้ยางพารารีไซเคิล Plantoys จ.ตรัง
- เปลือกไข่จากอุตสาหกรรมทำไข่เค็ม จ.สุราษฎร์ธานี
- บาติกข้าว จ.นครศรีธรรมราช
- ผ้าเปอลางี ผ้าบาติกจังหวัดยะลา
- ผ้าทอซาโอริ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าซาโอริ จ.พังงา
- บาติกสีธรรมชาติ กลุ่มมัดย้อมผ้าสีธรรมชาติบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช
- ผ้าบาติกเดอ นารา จ.ปัตตานี
- กระจูด วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จ.พัทลุง
- กะลามะพร้าว บ้านควนขนุน จ.พัทลุง
- ลูกปัดมโนราห์ กลุ่มลูกปัดมโนราห์ นาโยง (โคกสะบ้า)
- ใบเตยปาหนัน Sarnsard จ.ตรัง
- หางอวน กลุ่มผลิตภัณฑ์หางอวนบ้านหน้าทับ นครศรีธรรมราช
- หนังตะลุง บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน นครศรีธรรมราช
- เชือกกล้วย กอร์ตานี ผลิตภัณฑ์เชือกกล้วย จ.สงขลา
Mobella Galleria x SarnSard ศึกษาและนำวัสดุพื้นถิ่นทั้ง 15 ประเภท มาออกแบบและผลิตเป็น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นงานจริง จัดแสดงให้ชมภายใต้ชื่อ นิทรรศการ South SITizen ลองนั่งแล เปิดพื้นที่เชิงประสบการณ์ที่ชวนคุณมานั่ง ชวนคุณมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากได้เห็นได้สัมผัสเฟอร์นิเจอร์รูปแบบสากลที่สร้างจาก ‘วัสดุพื้นถิ่น’ อันหลากหลายและมีเอกลักษณ์ โดยนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านมืออาชีพ ที่ทำงานร่วมกับช่างฝีมือพื้นถิ่น
Phli (ผลิ)
แนวคิดผลงาน Phli (ผลิ) คือเก้าอี้นั่งพักผ่อนริมทะเล ผ่านการออกแบบรูปทรงให้ดูเบา ผ่อนคลาย นำเสนอการใช้ เชือกกล้วย ในมุมมองใหม่ๆ ที่มากกว่าการใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อต่อยอดวัสดุท้องถิ่นให้ใช้งานในการตกแต่งภายในได้อย่างมีเอกลักษณ์
ฝีมืองานถักเชือกกล้วยของกลุ่มกอร์ตานี
วัสดุพื้นถิ่นภาคใต้ในเฟอร์นิเจอร์ตัวนี้คือ เชือกกล้วยจากกลุ่ม กอร์ตานี ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนผู้สูงอายุที่มีฝีมือจักสานผลิตภัณฑ์ด้วยเชือกกล้วยธรรมชาติ 100% ในจังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่ทำเป็นกระเป๋าหลากหลายรูปทรง ชะลอม ไม่มีการอบกำมะถัน ไม่มีการย้อมสีเชือกกล้วย มีอายุการใช้งานราว 5 – 20 ปี
สำหรับผลงาน Phli นักออกแบบขอให้กลุ่มกอร์ตานีถักเชือกกล้วยเป็นรูปทรงของ 'ดอกไม้ทะเล' แล้วตกแต่งเข้ากับโครงของเก้าอี้เบาะนั่งทรงวงกลม ดูสวยงามและน่าผ่อนคลาย
Kood-Kud (คุดคัด)
แนวคิดผลงานเฟอร์นิเจอร์ชื่อ Kood-Kud (คุดคัด) มาจากราชินีผลไม้ไทยที่ใครมาภาคใต้ต้องรู้จักและไม่ควรพลาดชิม นั่นก็คือ มังคุด ซึ่งผลมีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์
ทีม Mobella Galleria x SarnSard จึงเลือกมังคุดเพื่อใช้เป็นการออกแบบในครั้งนี้ โดยหยิบยืมรูปทรงที่น่ารักและเรียบง่ายของผลมังคุดมาเป็นสารตั้งต้นในการพัฒนาเก้าอี้สตูลคู่นี้
เพิ่มความพิเศษและลูกเล่นผ่านวัสดุสานอย่าง ใบเตยปาหนัน ออกแบบลายสานเป็นลวดลายกราฟิกร่วมสมัย สามารถนำไปต่อยอดใช้กับพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างลงตัว
วัสดุพื้นถิ่นภาคใต้ในเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์นี้คือ ใบเตยปาหนัน จ.ตรัง ของแบรนด์ Sarnsard (สานสาด) ซึ่งเป็นแบรนด์งานหัตถกรรมแห่งภาคใต้ที่สร้างงานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นการสานใบเตยปาหนัน
ปกติชาวบ้านมักสานเตยปาหนันเป็น ‘เสื่อ’ แต่ ‘สานสาด’ ได้เข้าไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นของใช้ไลฟ์สไตล์มากขึ้นอยู่แล้ว เช่น กระเป๋าถือร่วมสมัยหลากหลายรูปทรง เพื่อให้รูปแบบการสานใบเตยปาหนันของชุมชนยังคงอยู่ต่อไป
นิทรรศการ South SITizen ลองนั่งแล ทำให้เราได้เห็นฝีมือสานเสื่อปาหนันของชาวบ้านอยู่ร่วมกับเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยอย่างสวยงาม น่าใช้
Qala (กาลา)
แนวคิดผลงาน Qala (กาลา) มาจากภาพจำที่คุ้นเคย นั่นก็คือ กะลา หรือ ‘กะลามะพร้าว’ ที่คนส่วนใหญ่มักเห็นเป็นเพียงแค่ภาชนะ และสิ่งของเหลือทิ้งหลังดื่มน้ำมะพร้าวหมดลูกแล้ว หรือขูดเนื้อมะพร้าวไปคั้นกะทิ
ในการลงพื้นที่ ทีมนักออกแบบได้เจอเศษวัสดุชิ้นเล็กที่ถูกแปรรูปจากกะลาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยเฉดสีที่จำกัด จึงดูมีความโบราณ และยังดูเป็นเพียงแค่กะลาที่ไม่มีความน่าสนใจ
ร้อยเรียงชิ้นกะลาด้วยเทคนิคการพันเชือก
ทีมจึงออกแบบสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้เข้ากับเก้าอี้ทรงเก่า โดยใช้เทคนิคในการพันเชือกและร้อยเรียงกะลาชิ้นเล็กเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้เป็นโครงสร้างลวดลายที่มีความซับซ้อนสวยงาม
รวมถึงการใช้คู่สีที่มีความสดในส่วนของ เบาะรองนั่ง เพิ่มความลงตัวให้กับตัวตนของกะลา
เก้าอี้ Qala (กาลา) ประกอบด้วยวัสดุพื้นถิ่นคือ กะลามะพร้าวจากบ้านควนขนุน จ.พัทลุง และผ้าหุ้มเบาะด้วยงาน ผ้าทอซาโอริ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าซาโอริ จ.พังงา โดยมีน้องศิลปินผู้พิการมาร่วมทอรังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ร่วมกัน
ผ้าทอซาโอริ เกิดจากความช่วยเหลือของมูลนิธิในประเทศญี่ปุ่นนำเครื่องทอผ้าและจักรเย็บผ้าเข้ามาสร้างงานให้ชาวบ้านผู้ประสบภัยสึนามิครั้งใหญ่ที่จังหวัดพังงาเมื่อปี 2547
Tu-Pa (ตูปะ)
แนวคิดผลงานของเฟอร์นิเจอร์ Tu-Pa (ตูปะ) มาจากรูปทรงของขนมชาวปักษ์ใต้อันมีเอกลักษณ์ที่มีวิธีการห่อด้วย ใบกะพ้อ ถ่ายทอดสู่เก้าอี้นั่งสไตล์หุ้มบุ ที่ได้นำแรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้
ด้วยการนำรูปทรงและลวดลายของใบกะพ้อ มาลดทอน สร้างเป็นแพทเทิร์นในการตัดเย็บรูปแบบใหม่ และหุ้มด้วยผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติที่จะช่วยสะท้อนภาพจำลองของวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่การใช้งานในสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
ผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์เป็นผลงานของ กลุ่มมัดย้อมผ้าสีธรรมชาติบ้านคีรีวง (KiRee) จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้นำความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคนมาใช้สร้างชิ้นงาน
วัสดุที่ใช้ทำสีย้อมธรรมชาติ ได้มาจากส่วนต่างๆของต้นไม้ เช่น เปลือก ใบ แก่น ราก และผล ซึ่งให้สีสันที่แตกต่างกันไป เช่น ลูกเนียง ให้สีน้ำตาลเข้ม ฝักสะตอให้สีเทา ใบมังคุดให้สีส้มกับสีชมพู ใบหูกวางให้สีเหลืองอมเขียว ใบเพกาให้สีเขียวเข้ม แกนขนุนให้สีเหลืองสด และแกนหลุมพอให้สีน้ำตาลอ่อน
Ma-Hin (ม้าหิน)
แนวคิดผลงานของ Ma-Hin (ม้าหิน) มาจากภาพจำของ 'ม้าหินขัด' ที่พบเห็นในมัสยิดและบ้านคนใต้สมัยก่อน สู่การนำกลับมาเล่าเรื่องในมิติใหม่
แต่เก้าอี้ม้าหินขัดที่เห็นในภาพนี้ไม่ใช่หินขัดจริงๆ เป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ที่ทำเลียนแบบรูปทรงเก้าอี้ม้าหินแล้วหุ้มด้วยผ้าที่ออกแบบให้เป็น ‘ผ้าลายหิน’ เพื่อมาหุ้มชิ้นงาน
เมื่อนั่งลงไปแล้วให้สัมผัสที่นุ่ม เอนหลังก็สบาย ไม่แข็งและเย็นยะเยือกผิวถ้าเข้าฤดูหนาว สร้างประสบการณ์นั่งที่ไม่เหมือนเดิม
ทีมออกแบบสามารถทำให้เก้าอี้หินขัดที่มีความหนัก ปกตินิยมตั้งไว้นอกบ้านย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านได้อย่างสวยงามและมีประโยชน์ใช้สอย ผ่านความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบนั่นเอง
ผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์เป็นผลงานของ กลุ่มมัดย้อมผ้าสีธรรมชาติบ้านคีรีวง (KiRee) จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทีมนักออกแบบขอให้ช่างมัดย้อมผ้าบาติกเขียนลวดลายเลียนแบบหินขัด เขียนลายและย้อมสีได้เหมือนมาก เห็นครั้งแรกคิดว่าเป็นม้านั่งหินขัดจริงๆ ทำไมนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ
Bamix (บามิก)
แนวคิดผลงานเฟอร์นิเจอร์ชุด Bamix (บามิก) นำเสนอความโดดเด่นของ ผ้าบาติก ซึ่งถือเป็นผ้าประจำถิ่นภาคใต้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ผ้าบาติกแต่ละจังหวัดมีเอกลักษณ์เทคนิคการเขียนลายที่แตกต่างกันออกไป
บามิก เป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการออกแบบให้เป็นชุดโซฟาสมัยใหม่ ผสมผสานการใช้ผ้าบาติกหลายลวดลายเข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นถึงความสวยงามของวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกัน ประกอบด้วย
- ผ้าบาติก เดอ นารา จ.ปัตตานี เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ทั้งฝีมือการเขียนลายและวัสดุที่เลือกใช้ผ้าไหมที่มีความพลิ้วเบาจากจีน ปกติทำเครื่องแต่งกาย แต่ครั้งนี้ทำผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์
- Inno Ya บาติกข้าว จ.นครศรีธรรมราช บาติกคิดค้นใหม่ของเมืองคอนสะท้อนเสน่ห์ศรีวิชัย ใช้ข้าวเขียนลายแทนเทียน ย้อมสีจากธรรมชาติล้วน ทุกชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
- Adel Kraf ผ้าเปอร์ลางี จ.ยะลา ผ้าทอพื้นเมืองลายโบราณภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ในอดีตนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม โพกศีรษะหรือนำมาคาดเอว เพื่อบอกสถานะทางสังคมเป็นนัย
Nra (นรา)
แนวคิดผลงานของเฟอร์นิเจอร์ชื่อ Nra (นรา) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะที่เป็นสัญลักษณ์นำเสนอความเป็นภาคใต้อย่าง ‘มโนราห์’ โดยดึงวิธีการร้อยลูกปัดแบบดั้งเดิมด้วยวิธีร้อยแบบ ‘ร้อยช่อ’ ลวดลายมีความคล้ายตาข่ายหรือแห
นำมา Re-design จัดเรียงให้ดูทันสมัย ประยุกต์กับวัสดุใหม่ มี ‘สเกล’ ที่ใหญ่ขึ้น ลดทอนความปราณีต แต่ยังซ่อนกลิ่นไอความเป็นมโนราห์ให้นึกถึง
ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย
นิทรรศการ South SITizen ลองนั่งแล จัดแสดงที่บริเวณลานด้านหลังของ ‘ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ ถนนนครนอก อ.เมือง จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 17 - 25 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 11.00 - 21.00 น.