มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024

มะเทเบิ้ล โรงอาหารป๊อปอัพในรูปแบบ Home Cooking อาหารรสมือแม่ เปิดโลกวัตถุดิบขึ้นชื่อภาคใต้ ชิมอาหารใต้ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมของวิถีไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน 135 เมนู จาก 11 ชุมชนภาคใต้ สร้างสรรค์โดย Yala Icon และกลุ่มลูกเหรียง

อาหาร ไม่ใช่แค่สิ่งที่เรากินเพื่อสนองและคลี่คลายความหิวของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นองค์ประกอบสําคัญของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทุกวัฒนธรรมมีประเพณีการทําอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ศาสนา และขนบธรรมเนียมทางสังคม

ในงาน เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 หรือ Pakk Taii Design Week 2024 (ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 : PTDW2024) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมระบบนิเวศสร้างสรรค์ โดยชู ‘อัตลักษณ์’ และต่อยอด ‘วัฒนธรรมท้องถิ่น’ ของภาคใต้ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The South’s Turn ถึงทีใต้ได้แรงอก! ออกเสียงตามสำเนียงใต้ได้ว่า “ถึงทีใต้ ด่าย-แหร่ง-อ็อก” ถ้าเป็นภาษาคนรุ่นใหม่ก็มีความหมายว่า “ทำถึง ทำสุด”

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 อาหารภาคใต้ในกิจกรรม มะเทเบิ้ล

ศิลปะแห่งอาหารการกิน (Gastronomy) ก็ได้รับการวางตัวให้เป็น 1 ใน 4 เสาหลัก (Pillar) ของการมุ่งเน้นต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่โดดเด่นของภาคใต้ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค ปีนี้

การต่อยอดเรื่องราวในเสา Gastronomy มีมากมาย หนึ่งในนั้นคือ มะเทเบิ้ล โดย Yala Icon (ยะลา ไอคอน) โรงอาหารป๊อปอัปในรูปแบบ Home Cooking ที่จะพาทุกคนมารู้จักวัฒนธรรมการกินแบบพหุวัฒนธรรมของชาวใต้ ที่ผสมผสานหลากหลายวิถี ทั้งไทยพุทธ ไทยจีน ไทยมุสลิม มลายู เปอรานากัน และชาวเล รวมกว่า 135 เมนู ตลอด 9 วัน จาก 11 ชุมชนในภาคใต้

Yala Icon ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และภูมิปัญญาด้านอาหาร โดยนำเอาอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลามาเป็นตัวหลักในการออกแบบและนำเสนอ

เพื่อให้เกิดการเข้าใจในมุมมองที่แตกต่าง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าศิลปะเป็นเครื่องสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของสังคม

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ หนึ่งในทีม Yala Icon

เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลให้แรงงานฝีมือและศิลปินใหม่ๆ ลดลง, Yala Icon ตระหนักถึงปัญหานี้ และมุ่งส่งเสริมผู้สนใจงานหัตถศิลป์ให้นำทักษะด้านงานฝีมือมาผสมผสานกับการออกแบบอันทันสมัย

เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างภายใต้แนวคิดการนำวัตถุดิบทางด้านวัฒนธรรมหรือศิลปะดั้งเดิมมาผสมผสาน เพื่อสร้างคุณค่าในการต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเชื่อว่า 'นวัตกรรมจากการร่วมมือของคนในชุมชน' จะช่วยเปลี่ยนเมืองให้เกิดสันติภาพ

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ หนึ่งในทีม Yala Icon อธิบายกิจกรรม ‘มะเทเบิ้ล’ ว่าเลียนความหมายมาจาก ‘เชฟเทเบิ้ล’ ซึ่ง  ‘มะ’ ในภาษามลายูหมายถึง ‘แม่’ มะเทเบิ้ลจึงหมายถึงอาหารภาคใต้รสมือแม่

แต่ อาหารภาคใต้ มีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่หลอมรวมจาก ‘เปอรานากัน’ มีความเป็นจีนมุสลิมฝั่งภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง, ‘มลายู’ มีความเป็นไทยมุสลิมฝั่งยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ ‘ไทยพุทธ’ ใน 14 จังหวัดภาคใต้

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 มะเทเบิ้ล Gastronomy programs ใน PTDW2024

“ปกติการทำเชฟเทเบิ้ล มองเห็นความเก่งกาจของเชฟ แต่มะเทเบิ้ลเราอยากให้นึกถึงวัฒนธรรมอาหารที่เป็นต้นตำรับรสมือแม่ของอาหารภาคใต้ ที่มีทั้ง ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน มะเทเบิ้ลจึงมีครบทั้งรสมือแม่ รสมือมะ และรสมือหม๊า ครบใน 3 วัฒนธรรม โดยนำวัตถุดิบท้องถิ่นไปประยุกต์ใช้เกิดแรงบันดาลใจในการต่อยอดเรื่องของอาหารปักษ์ใต้”

ที่สำคัญคือ ‘มะเทเบิ้ล’ เป็นการรวมชุมชน วัตถุดิบพื้นถิ่น และต้นตำรับอาหารภาคใต้รวม 11 ชุมชนจากยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง สงขลา จำนวน 135 เมนู สลับสับเปลี่ยนกันวันละ 15 เมนู ไปตลอด เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 เชฟแอลลี่ อิสมาแอ ตอกอย 

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 เต้าหู้ป๊อกยัดไส้ปลาหมก

วันที่ 17 สิงหาคม 2567 มะเทเบิ้ลประเดิมเปิดเสน่ห์อาหารปักษ์ใต้รสมือแม่ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์โดย กลุ่มลูกเหรียง จากจังหวัดยะลา นำทีมโดย เชฟแอลลี่ อิสมาแอ ตอกอย ปรุงอาหารชิมแล้วมีความสุขในรสชาติ เปิดประสบการณ์ให้คนต่างถิ่นรู้จักวัตถุดิบชั้นยอดท้องถิ่น ส่วนคนท้องถิ่นเองก็ได้เห็นการนำวัตถุดิบที่คุ้นเคยมาต่อยอดเป็นอาหารจานใหม่ๆ

เช่น เต้าหู้ป๊อกยัดไส้ปลาหมก เมนูนี้ถือว่าเป็นการรวมกันระหว่างวัฒนธรรมจีนและไทย เนื่องจาก 'เต้าหู้ป๊อก' ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของอาหารเบตง (อ.เบตง จ.ยะลา) เป็นวัฒนธรรมอาหารของคนไทยเชื้อสายจีนฮากกาฝั่งเบตง ทำจากน้ำนมถั่วเหลือง 100% เนื้อเนียนนุ่มไร้แป้ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

กลุ่มลูกเหรียงสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้ ‘เต้าหู้ป๊อก’ ด้วยการเพิ่มรสชาติของ ‘เครื่องแกงใต้’ โดยทำเป็นห่อหมกปลา แล้วยัดไส้ไว้ในเต้าหู้ป๊อก เพิ่มมิติรสชาติให้กับเต้าหู้

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 แกงเผ็ดเห็ดเหม็ด

ชาวใต้คงคุ้นเคยกับวัตถุดิบพื้นถิ่น เห็ดเหม็ด อยู่แล้ว ส่วนตัวผู้เขียนเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก เชฟแอลลี่กล่าวว่า เห็ดเหม็ดเป็นเห็ดหายาก มีให้กินปีละครั้งเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น ขึ้นบริเวณพื้นหญ้าใต้โคนต้นเสม็ด จึงได้ชื่อว่า ‘เห็ดเหม็ด’ หรือ ‘เห็ดเสม็ด’ นิยมกินคู่กับน้ำพริก

กลุ่มลูกเหรียงนำเห็ดเหม็ดจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มาปรุงเป็น แกงเผ็ดเห็ดเหม็ด โดยใช้เครื่องแกงเผ็ดจากจังหวัดพัทลุงที่มีความเผ็ดร้อนของ ‘ดีปลี’ เป็นส่วนผสม

เอกลักษณ์ของ ‘เห็ดเหม็ด’ กัดเข้าไปแล้วมีความลื่น เนื้อสัมผัสเด้ง ครั้งแรกคิดว่าเป็น ‘ไข่หมึก’ เพราะรูปทรงและสีสันที่ดูละม้าย ถามเชฟแอลลี่จึงทราบนั่นล่ะเห็ดเหม็ด

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 อายลาวากับเนื้อย่างโคขุนยะลา

อีกหนึ่งกับข้าวจานเด็ดที่ไม่ควรพลาดชิมคือ อายลาวากับเนื้อย่างโคขุนยะลา คำว่า ‘อายลาวา’ หรือ ‘อายยีเจาะดางิง’ คือน้ำกะทิทรงเครื่อง กลิ่นหอม มัน กลมกล่อม ราดมาบนเนื้อวัวย่างเกลือหวานจากปัตตานี ให้รสเค็มกำลังดี จับคู่แนมกับยอดผักกูดลวก เข้ากันมาก

เมนูนี้เชฟแอลลี่ใช้เนื้อโคขุนจากยะลา ย่างมาพอดีมาก ไม่แรร์ไม่มีเดียมเกินไป ยังมีเท็กซ์เจอร์ของเนื้อและมีความนุ่ม ไม่เหนียว ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมทำรับประทานในเทศกาล ‘ฮารีรอยอกุรบานกัน’

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 ละแซแกงปูใบชะพลู

อาหารจานด่วนจานเด็ดอีกหนึ่งอย่างคือ ละแซแกงปูใบชะพลู ละแซเป็นอาหารท้องถิ่นมีเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งสาลีให้เกิดความนุ่ม แผ่เป็นแผ่นแล้วนำไปนึ่ง จากนั้นม้วนเป็นหลอดยาวแล้วหั่นเป็นท่อนๆ คล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ม้วนแล้วหั่นท่อน นี่คือขนมจีนของจังหวัดยะลา นราธิวาสและปัตตานี เรียก 'ละแซ'

เนื้อสัมผัสของ 'ละแซ' เหนียวหนึบกว่าเส้นขนมจีนทั่วไป กินกับน้ำยาแกงปูใบชะพลูรสชาติจัดจ้านแบบปักษ์ใต้ อร่อยถึงใจ

ละแซเมนูนี้เป็นตำรับจากจังหวัดนราธิวาส เครื่องแกงใต้จากจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีความเผ็ดร้อนของดีปลี และเนื้อปูจากประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดปัตตานี

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 ซุปเป็ดแบบมลายู

กับข้าวแบบซดน้ำแกงก็มี ซุปเป็ดแบบมลายู เรียกอีกชื่อว่า ซุปตอแระห์ แปลว่าซุปเป็ดสมุนไพร เป็นอาหารยอดนิยมของคนในตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เนื้อเป็ดที่ใช้ทำเมนูนี้ก็มาจากตำบลดังกล่าว

กลุ่มลูกเหรียงตุ๋นเนื้อเป็ดได้เปื่อยนุ่ม หลุดออกจากกระดูกโดยง่าย น้ำซุปกลิ่นหอมสมุนไพร รสชาติคล้ายต้มยำน้ำใสเบาๆ ไม่เผ็ดร้อนเกินไป ทำให้ซดน้ำได้เรื่อยๆ ชุ่มคอ และเข้ากับเนื้อเป็ดดีมาก

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 กะโป๊ะทอด กับน้ำจิ้มซอสบลูกหยีปัตตานี

ของกินเล่น หรือจะเรียก ‘แอพพิไทเซอร์’ ของกินเรียกน้ำย่อยก็มีเช่นกัน กลุ่มลูกเหรียงทำ กะโป๊ะทอด กะโป๊ะ หมายถึง ‘ข้าวเกรียบ’ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแบบเป็นแผ่นบาง ทอดกรอบแบบที่เห็นทั่วไป กับแบบอัดเป็นแท่ง 

“ครั้งนี้เราทำเป็นข้าวเกรียบสดเนื้อปลาทูอัดเป็นแท่ง แล้วนำไปทอด กินคู่กับน้ำจิ้มลูกหยีปัตตานี วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ และยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มให้กับคนในพื้นที่” เชฟแอลลี่ กล่าว

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ - เชฟแอลลี่ และทีมลูกเหรียงที่ 'มะเทเบิ้ล' ในงาน PTDW2024

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 กล้วยหินทอด

ใครชอบกินกล้วยแขกทอด อยากให้ลองชิม กล้วยหินทอด ที่มะเทเบิ้ล กล้วยหินเป็นสายพันธุ์กล้วยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นตามซอกหิน

เชฟแอลลี่นำกล้วยหินมาชุบแป้งทอด ออกมาเหมือนกล้วยแขกทอดที่นิยมนำกล้วยน้ำว้ามาทำ แต่กัดเข้าไปแล้วได้รสชาติของเนื้อกล้วยหินที่หวานฉ่ำชัดเจนกว่ากล้วยน้ำว้า แถมเนื้อกล้วยหินยังออกสีขาวอมเหลืองขมิ้น เนื้อเหนียวนุ่ม ไม่เละ เป็นเอกลักษณ์จริงๆ 

ประกอบกับฝีมือการผสมแป้ง ชุบแป้งแต่พอดี ทอดด้วยความร้อนและเวลาที่พอเหมาะ ทำให้ ‘กล้วยหินทอด’ มีแป้งเกาะ-กรอบแต่พอดี แป้งไม่แห้งจนแข็งกระด้างและกลบรสชาติของเนื้อกล้วยหิน กินได้อย่างเพลิดเพลิน

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 กรานิต้าเคยแห้ง

อากาศร้อนๆ ของสงขลาช่วงนี้เหมาะมากกับเมนูของหวาน กรานิต้าเคยแห้ง เป็นกรานิต้าทำด้วยแตงโมสายพันธุ์ที่ปลูกในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เรียกกันว่า แตงโมเมืองเทพา ได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของเมืองเทพา 

นิยมปลูกช่วงมกราคม-เมษายน ถ้าขับรถไปตามเส้นทางหาดใหญ่-ปัตตานี จะเห็นเกษตรกรนำแตงโมเทพาออกมาขายริมทางเป็นจำนวนมาก

แตงโมเทพามีลักษณะเป็นผลยาวๆ มีทั้งเนื้อแตงโมสีเหลืองและสีแดง เนื้อดีรสชาติอร่อย  เพราะลักษณะพิเศษของดินร่วนปนทรายติดทะเลที่เป็นพื้นที่ปลูกแตงโม 

เชฟแอลลี่นำแตงโมเทพาเนื้อสีเหลืองและสีแดงมาทำเป็นกรานิต้าหรือเกล็ดน้ำแข็งไส โรยหน้าด้วย ‘กุ้งเคย’ วัตถุดิบที่ทำให้กะปิภาคใต้โด่งดัง ทำเป็นกุ้งเคยแห้งแทนเนื้อปลา ของหวานถ้วยนี้ประยุกต์มาจากตำรับ ‘ปลาแห้งแตงโม’ ของกินคลายร้อนของภาคกลางนั่นเอง

15 เมนูชิมไม่หมดจริงๆ ยังมีอาหารน่ากินอีกหลายอย่าง อาทิ ไก่เบตงจากจังหวัดยะลา แกงเผ็ดหมูย่างเมืองตรัง หอยนางรมสุราษฎร์กอและ ไข่หมึกทอดขมิ้น 

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 ส่วนหนึ่งของกลุ่มลูกเหรียงที่สนใจด้านการทำอาหาร

สำหรับคนต่างถิ่น นอกจากได้เรียนรู้และชิมวัตถุดิบขึ้นชื่อในแต่ละชุมชนภาคใต้ผ่านความคิดสร้างสรรค์จากการซื้ออาหารรับประทานในโรงอาหารป๊อปอัพเฉพาะกิจที่ มะเทเบิ้ล ยังได้มีส่วนสนับสนุนการทำงานของ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ ‘กลุ่มลูกเหรียง’

“น้องๆ ที่มาช่วยทำอาหารวันนี้เป็น ‘กลุ่มลูกเหรียง’ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสมาคมฯ ให้การดูแลเด็กๆ เหล่านี้

เราใช้กระบวนการเยียวยาทางด้านอาหาร ทำให้น้องๆ รู้สึกตัวเองมีคุณค่า มีทักษะความสามารถในตัวเอง และอยู่ในสังคมได้ รายได้จากการจำหน่ายอาหารเป็นค่าน้ำค่าไฟให้กับสมาคมฯ ที่ใช้ดูแลเด็กๆ และให้น้องได้ไปโรงเรียน” เชฟแอลลี่ ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 บรรยากาศที่นั่งรับประทานอาหารของ มะเทเบิ้ล

กลุ่มลูกเหรียง ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง เด็กกำพร้า และเด็กยากจน มียุทธศาสตร์การทำงาน 4 ด้านด้วยกัน คือ ช่วยเหลือเยียวยา (ผ่านศิลปะ อาหาร ดนตรี), ปกป้องคุ้มครอง, ส่งเสริมพัฒนา และ ธุรกิจเพื่อสังคม

“เด็กๆ ที่มาทำกิจกรรมมะเทเบิ้ลในเทศกาลปักษ์ดีไซน์วีคครั้งนี้ คือเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงสูญเสียพ่อแม่ ซึ่งเขามีความสนใจด้านอาหาร กิจกรรมนี้ทำให้เขาได้เปิดโลก ท้าทายความสามารถ หลุดพ้นจากความรู้สึกแง่ลบ

ถ้าเราให้แต่เงิน เด็กๆ จะไม่มีทักษะอยู่ในสังคมได้ เราพยายามให้เด็กเรียนรู้ทักษะเพื่อกลับไปอยู่ในสังคม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย ก้าวข้ามความรุนแรงที่ผ่านมา”

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 น้ำดอกดาหลา ไซรัปกุหลาบ เย็นๆ ชื่นใจ

‘กลุ่มลูกเหรียง’ มีสำนักงานอยู่ที่บ้านลูกเหรียง ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  ปัจจุบันให้ทุนการศึกษาดูแลเด็ก-เยาวชน จำนวน 102 คน

“เราไม่มีหน้าร้าน ไม่มีร้านอาหาร การทำอาหารเกิดจากเราทำรับประทานกันเอง ทำอาหารเพื่อเด็กๆ ในความดูแล เด็กๆ บอกอาหารอร่อย น่าจะลองเปิดร้าน จึงลองทำอาหารเพื่อรับรองแขกที่มาดูงานสมาคมฯ ไม่ต้องพาไปร้านอาหาร

ก็ได้รับคำชม จึงลองจัดแบบเชฟเทเบิ้ล ไฟน์ไดนิ่งแต่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น รับรองแขกผู้ใหญ่ รัฐมนตรี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ล่าสุดก็ได้รับความไว้วางใจจัดอาหารรับรองคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม”

เชฟแอลลี่เป็น Local Chef ประจำครัวกลุ่มลูกเหรียง ไม่ได้สำเร็จหลักสูตรด้านการทำอาหารมาโดยตรง แต่อาศัยความมีใจรักด้านการทำอาหาร ศึกษาการทำอาหารผ่านออนไลน์  และแลกเปลี่ยนความรู้กับเด็กๆ ในความดูแลที่เลือกเรียนสายอาชีพด้านอาหาร และจากการที่มีโอกาสได้ไปร่วมคอลลาบอเรชั่นกับเชฟระดับซูเปอร์สตาร์ของวงการเชฟประเทศไทย

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 สถานที่ตั้งมะเทเบิ้ล หรือมะเทเบิ้ลพาวิลเลียน

นอกจากได้รับประทานอาหารอร่อยแล้ว ภายใน มะเทเบิ้ล พาวิลเลียน ยังมีกิจกรรมพิเศษเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นภาคใต้ ดังนี้

  • วันที่ 19 สิงหาคม 2567 - โชว์สาธิตการทำน้ำชุบพรก
  • วันที่ 20 สิงหาคม 2567 - โชว์สาธิตการทำไข่ครอบ
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2567 - โชว์สาธิตการทำโรตีบากา (โรตีพื้นบ้านจังหวัดยะลา)
  • วันที่ 22 สิงหาคม 2567 - Workshop การทำ เมนูเต้าคั่ว
  • วันที่ 23 สิงหาคม 2567 - โชว์สาธิตการทำชาชักปักษ์ใต้
  • วันที่ 24 สิงหาคม 2567 - โชว์สาธิตการทำตูปะ (ข้าวต้มมัด)

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024

มะเทเบิ้ลพาวิลเลียน ด้านหน้ามองเห็นทะเลสาบสงขลา

มะเทเบิ้ล อาหารรสมือแม่จาก 3 วัฒนธรรมภาคใต้ ในเทศกาล ปักษ์ใต้ ดีไซน์ วีค 2024 ด้านหลังมะเทเบิ้ล มองเห็นพิพิธภัณฑ์บ้านนครใน

มะเทเบิ้ลพาวิลเลียน ตั้งอยู่เลขที่ 85-51 ถนนนครนอก ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา บนพื้นที่ที่เปิดโล่งเห็นวิวอันงดงามของภูเขาสีเขียวและทะเลสาบสงขลาสีคราม ถ้าหันหน้ากลับมาด้านหลังก็เผชิญหน้ากับความงามของสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์บ้านนครในที่ยืนตระหง่านอยู่บนถนนฝั่งตรงข้าม

เจ้าของและผู้ออกแบบพื้นที่สำหรับกิจกรรม 'มะเทเบิ้ล' คือ Pakorn Architect ซึ่งชนะการออกแบบก่อสร้าง ‘TCDC สงขลา’

สัมผัสประสบการณ์แห่งการผลิบานแล้วเติบโตต่อของภาคใต้กับแบบเต็มอิ่ม ใน เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 ระหว่างวันที่ 17 - 25 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 11.00 - 21.00 น. ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา, หาดสมิหลา, หาดใหญ่, จะนะ จังหวัดสงขลา, และจังหวัดปัตตานี

ร่วมค้นหาเสน่ห์ของดีบ้านเกิดอันเป็นที่รักที่สะท้อนแนวคิด “ถึงทีใต้ ด่าย-แหร่ง-อ็อก” พร้อมประกาศให้รู้ว่า “ปักษ์ใต้มีดีไม่เหมือนใคร”