สงขลาเปิดไฟโบราณสถาน 'ป้อมหมายเลข 9' ให้ชมยามค่ำคืน ร่วมดันสงขลาสู่มรดกโลก
ติดตั้งแล้ว แสงไฟสาดส่อง ‘ป้อมเมืองสงขลาเก่า หมายเลข 9’ จ.สงขลา ให้ชมความสวยงามสถาปัตยกรรมและคุณค่าของโบราณสถานในยามค่ำคืน ผลักดันสงขลาสู่มรดกโลก
ป้อมเมืองสงขลาเก่า หมายเลข 9 เป็นโบราณสถานที่มีความงามทางสถาปัตยกรรมโดดเด่น ตั้งอยู่ใกล้ริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 ระหว่างตำบลหัวเขากับตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ป้อมปราการเมืองสงขลาเก่าแห่งนี้ปรากฎชื่ออยู่ในเอกสารโบราณว่า SINGORA เป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยอยุธยาเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงพุทธศตวรรษที่ 23
มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูเมือง กำแพงเมือง และป้อมปราการเป็นอาณาเขต และเป็นปราการของเมือง โดยมีคูเมืองและกำแพงเมืองเป็นปราการด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศใต้ มี ‘เขาแดง’ และ ‘เขาค่ายม่วง’ เป็นปราการธรรมชาติ
ป้อมเมืองสงขลาเก่า หมายเลข 9 ยามกลางวัน (credit photo: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
ป้อมเมืองเก่าสงขลา หมายเลข 9 ก่อด้วยหิน ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาน้อยบริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสงขลาเก่า อยู่ห่างจากโบราณสถานเจดีย์ภูเขาน้อยประมาณ 300 เมตร อยู่ห่างจาก ‘ป้อมเมืองสงขลาเก่าหมายเลข 1’ ประมาณ 1,072 เมตร ทำหน้าที่เป็นป้อมตรวจการณ์ด้านทิศใต้และด้านตะวันตกของเมืองสงขลาเก่า
กรมศิลปากรประกาศ ขึ้นทะเบียน โบราณสถานป้อมหมายเลข 9 เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานเมืองสงขลาเก่า ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 109 ตอนที่ 119 หน้า 10190 วันที่ 17 กันยายน 2535 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2,460 ไร่
ขณะที่ที่ประชุม ‘คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 1/2567’ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบให้การนำเสนอ ‘แหล่งสงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา’ เข้าสู่ บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของ ศูนย์มรดกโลก
เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่สัญจรไปมา ได้มองเห็นถึงความสวยงาม และคุณค่าของโบราณสถานป้อมหมายเลข 9 ในยามค่ำคืน
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา จึงได้ดำเนินการ ติดตั้งไฟฟ้าและแสงสว่าง (Light up) บริเวณ โบราณสถานเมืองสงขลาเก่า (ป้อมหมายเลข 9) ตำบลหัวเขา อำเภอ สิงหนคร จังหวัดสงขลา
ป้อมเมืองสงขลาเก่า หมายเลข 9 จังหวัดสงขลา ยามค่ำคืน
โดยเปิดแสงไฟให้ชมในยามค่ำคืนทุกวัน ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน สงขลา สู่มรดกโลก และการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่
ตามนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ
โดยหลังจากนำร่องที่โบราณสถานป้อมหมายเลข 9 แล้ว จะได้ดำเนินการกับโบราณสถานอื่น ๆ ใน เมืองสงขลาเก่า ต่อไป
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าและแสงสว่าง (Light up) โบราณสถานในเขตเมืองเก่าสงขลา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)