พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ปรับโฉมใหม่ ชมได้แล้วหุ่นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ปรับโฉมใหม่ตระการตา เปิดส่วนจัดแสดงชั้นล่างให้เข้าชมแบบ soft opening แล้ววันนี้ เรียนรู้ที่มาชื่อ "พิมาย" การก่อสร้างปราสาทพิมาย ชมโบราณวัตถุชิ้นเด่น ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7, ทับหลัง ฯลฯ เข้าชมฟรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ได้รับการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อบริการผู้เข้าชมตามแนวทางการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อปี 2536 ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือ ‘โคราช’
จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของ เมืองพิมาย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เปิดให้ประชาชนเข้าชมและศึกษาหาความรู้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว
วัตถุจัดแสดงใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
กรมศิลปากร จึงได้มอบหมายให้ ‘สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา’ เข้าดำเนินการปรับปรุง พัฒนาและเพิ่มศักยภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ทั้งด้านข้อมูลการจัดนิทรรศการ เทคนิคและรูปแบบการนำเสนอ
- เพื่อให้มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้มรดกทางศิลปวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น
- เพื่อให้การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาทางโบราณคดีและพบหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพิ่มมากขึ้น
- เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในฐานะแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญในระดับภูมิภาคอีสานตอนล่าง
พนมบุตร จันทรโชติ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย โดยขณะนี้ส่วนจัดแสดงนิทรรศการชั้นล่างแล้วเสร็จ และ เปิดให้เข้าชมแบบ soft opening ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การจัดแสดง ทับหลัง จากปราสาทพิมาย และ ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในส่วนจัดแสดง ดังนี้
ก่อร่างสร้างปราสาท พิมาย
บอกเล่าเรื่องราวปราสาทพิมาย ตั้งแต่ที่มาของชื่อ "พิมาย" และการก่อสร้างปราสาทพิมาย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ เครื่องมือ วิธีการ รวมถึงความเชื่อและพิธีกรรมในการก่อสร้าง
หลักฐานคนพิมาย
เครื่องประดับ
จัดแสดงหลักฐานที่บอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องไทยธรรม และพาหนะในการเดินทาง
ศาสนาในเมืองพิมาย
วัตถุจัดแสดงเกี่ยวกับศาสนาในเมืองพิมาย
เมืองพิมาย เป็นศูนย์กลางสําคัญของศาสนาพุทธลัทธิมหายาน นิกายวัชรยาน ที่สําคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว)
นอกจากปราสาทพิมาย ยังปรากฏวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมืองพิมายยังพบการเคารพนับถือศาสนาฮินดูควบคู่กันไปด้วย
เมืองพิมาย สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ ในรัชสมัยของพระองค์ เมืองพิมายมีนามว่า ‘วิมายปุระ’ เป็นเมืองสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งและเจริญรุ่งเรืองมากในขณะนั้น
มีการสร้างประตูเมืองพิมายขึ้นทั้ง 4 ด้าน และโปรดให้สร้าง สถานพยาบาล (อาโรคยศาลา) ขึ้นที่เมืองพิมาย และสร้างที่พักคนเดินทาง (วหนิคฤหะ - บ้านมีไฟ) ตามถนนสายหลัก ที่ตัดจากเมืองพระนครหลวงมายังพิมายด้วย
เมืองพิมาย หลังพุทธศตวรรษที่ 18
เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรเขมรโบราณเริ่มเสื่อมลง เป็นผลให้อาณาจักรอยุธยาขยายอํานาจเข้าสู่บ้านเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน
พบหลักฐานรูปเคารพสมัยอยุธยาที่ได้รับการนําเข้าไปประดิษฐานภายในปราสาทเขมรโบราณ เช่น ปราสาทพนมวัน ปราสาทพิมาย รวมถึงการพบโบราณสถานสมัยอยุธยาในเมืองพิมาย เช่น อุโบสถวัดเจ้าพิมาย และเมรุพรหมทัต
ลวดลายจําหลัก : ศิลปะแห่งเมืองพิมาย
ลวดลายจำหลัก 'ทับหลัง'
ห้องจัดแสดงไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดง ทับหลังจากปราสาทพิมาย, ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และประติมากรรมรูปสตรีที่สันนิษฐานว่าเป็นพระนางศรีชัยราชเทวี มเหสีองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
สำหรับ อาคารจัดแสดงชั้นบนของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ยังคงปิดให้บริการ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อปรับปรุงนิทรรศการ โดย ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย’ มีแผนการดำเนินงานปรับปรุงต่อไปในปีงบประมาณ 2568
ขอเชิญร่วมชมและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ตําบลในเมือง อําเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เฉพาะส่วนจัดแสดงชั้นล่าง ที่ปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว และ ส่วนอาคารศิลาจำหลัก จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายที่พบจากโบราณสถานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
- ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม
- วันพุธ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
- เวลา 09.00 - 16.00 น.
ข้อมูลและภาพประกอบ : กรมศิลปากร