งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต้อนรับปีนักษัตรงูเล็ก ปีมะเส็ง พ.ศ.2568 จัดทัวร์พิเศษ "อาศิรวิษนักษัตร" เชิญชมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่มีตำนานเชื่อมโยงกับ “งู” พระอิศวร นางมณโฑ ท้าววิรูปักษ์ พระมหาพิชัยราชรถ เครื่องเบญจรงค์ โบราณวัตถุเหล่านี้เกี่ยวพันกับ “งู” อย่างไร

ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2568 ซึ่งตรงกับ ปีนักษัตรงูเล็ก หรือ ปีมะเส็ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดนำชมพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อ อาศิรวิษนักษัตร เปิดตำนานอสรพิษ พุทธศักราช 2568

“อาศิรวิษ แปลว่า ผู้มีพิษในเขี้ยว ซึ่งหมายถึงงูนั่นเอง” ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อธิบายความหมายของชื่อหัวข้อการนำชมพิพิธภัณฑ์เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน Night at the Museum Festival ครั้งที่ผ่านมา โดยค้นหา ตำนานเกี่ยวกับงู ซึ่งเชื่อมโยงกับ โบราณวัตถุ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์

“เราพบว่าคัมภีร์วิษณุปุราณะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กล่าวถึงที่มาทำไมงูจึงมีลิ้นสองแฉก นางมณโฑในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ก็มีชาติกำเนิดเกี่ยวกับงู ไตรภูมิพระร่วงมีการจัดลำดับชั้นระหว่างพญานาคกับงูดิน เครื่องถ้วยเบญจรงค์ 5 สี ก็เชื่อมโยงตำนานเกี่ยวกับงูตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ซานไห่จิงของจีน” ศุภวรรณ กล่าวถึงแนวคิดในการนำชม โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ที่สัมพันธ์กับ ปีมะเส็ง ปีงู

 

ประติมากรรมพระอิศวร 

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568

  • วัสดุ : สำริด ศิลปะสุโขทัย ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 (อายุประมาณ 600 ปี)
  • ตำแหน่งจัดแสดง : ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
  • ตำนานอสรพิษ : ที่มาของพิษงูและเหตุใดงูมีลิ้น 2 แฉก

คัมภีร์วิษณุปุราณะ คัมภีร์สำคัญในศาสนาฮินดูเกี่ยวกับ ‘พระวิษณุ’ หรือเรียกอีกนามหนึ่ง ‘พระนารายณ์’ เทพผู้สร้างผู้ปกป้องคุ้มครองโลก บันทึกไว้ว่า กาลก่อนที่เทวดายังไม่เป็นอมตะ วันหนึ่งพระอินทร์ประทับมาบนหลังช้างเอราวัณ ฤาษีทุรวาสซึ่งเหาะไปเที่ยวสวรรค์กลับมา จึงนำพวงมาลัยที่นางฟ้าร้อยถวายให้ตนถวายให้กับพระอินทร์

พระอินทร์ทรงนำพวงมาลัยวางบนบ่าช้างเอราวัณ กลิ่นหอมของดอกไม้สวรรค์ทำให้ช้างเอราวัณเมาคลั่ง ชูงวงคว้าพวงมาลัยกระทืบทิ้ง

ฤาษีทุรวาสโกรธจัดจึงสาปให้เทวดากำลังลดลงกึ่งหนึ่งเสมอเมื่อรบกับอสูร ทำให้เทวาดาตายลงเป็นจำนวนมาก จึงพากันไปเฝ้าพระนารายณ์เพื่อขอกำลังกลับคืน อย่างน้อยเมื่อรบกับอสูรจะได้ไม่ต้องตาย 

พระนารายณ์ทรงแนะนำให้ทำพิธี กวนเกษียรสมุทร (กวนทะเลน้ำนม ที่บรรทมของพระนารายณ์) ให้เทวดาเก็บสมุนไพรต่างๆ ทิ้งลงในทะเลน้ำนม นำ ‘ภูเขามันทร’ เป็นแกนกลางปักลงในทะเลน้ำนม ใช้พญานาควาสุกรีต่างเชือกพันรอบภูเขา ให้ทั้งสองฝ่ายช่วยกันดึงไปมา

ฝ่ายเทวดาฉลาดเลือกดึงหางพญานาค เมื่อท้องพญานาควาสุกรีเสียดสีกับภูเขามันทรทำให้สำรอกพิษออกมา ฝ่ายอสูรที่ดึงฝั่งหัวพญานาคถูกพิษ จากหน้าตาปกติจึงอัปลักษณ์ตั้งแต่นั้นมา

การกวนเกษียรสมุทรดำเนินไป 1,000 ปี ทำให้เกิด "ของทิพย์" 14 สิ่ง ลอยขึ้นมาจากทะเลน้ำนม หนึ่งในนั้นคือ พิษร้าย ลอยขึ้นมาเป็นสิ่งแรก

พระอิศวรเกรงว่าหากพิษร้ายแพร่ลงไปยังโลกมนุษย์ สัตว์โลกจะตายกันหมด จึงทรงกลืนพิษร้ายเอาไว้

แต่ขณะทรงวักพิษร้ายเข้าพระโอษฐ์ มีพิษส่วนหนึ่งตกกระจายอยู่ตามยอดหญ้า แมงป่องมาเมื่อถึงก็เอาหางจิ้มลงในพิษร้าย แมงป่องจึงมีพิษอยู่ที่หาง

ขณะที่ งูแลบลิ้นเลียเพื่อกลืนกินพิษ ทำให้งูมีพิษและถูกใบหญ้าบาดลิ้นแยกเป็นสองแฉกนับแต่นั้น

 

พระมหาพิชัยราชรถ

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568

  • วัสดุ : ไม้แกะสลัก ปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2338
  • ขนาด : กว้าง 4.90 เมตร ความยาวพร้อมงอนรถ 18 เมตร  สูง 11.20 เมตร น้ำหนัก 13.7 ตัน ใช้กำลังพลชักลาก 216 คน
  • ตำแหน่งจัดแสดง : โรงราชรถ
  • ตำนานอสรพิษ : ความแค้นครุฑ-นาค อีกหนึ่งตำนานทำไมงูมีลิ้นสองแฉก

วรรณคดีนิทานศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ระบุว่า พญาครุฑต้องการช่วยมารดาที่หลงกลนาคจนตกเป็นทาสมารดาเหล่านาค จึงอาสาไปนำหนึ่งในของทิพย์ที่ลอยขึ้นมาจากการกวนเกษียรสมุทรคือ น้ำอมฤต ที่เก็บรักษาโดยพระจันทร์มาให้นาคดื่มตามความต้องการของนาค

เมื่อไถ่ตัวมารดาสำเร็จ พญาครุฑระบายแค้นด้วยการออกอุบายให้เหล่านาคชำระกายก่อนดื่มน้ำอมฤต แล้วแอบใช้เท้าเขี่ยคนโทจนน้ำอมฤตหกกระจายอยู่ตามยอดหญ้า นาคเสียดายจึงใช้ลิ้นเลียไปตามใบหญ้า ลิ้นจึงถูกบาดออกเป็นสองแฉก ทำให้งูซึ่งเป็นลำดับชั้นล่างๆ ของนาคมีลิ้นสองแฉกไปด้วย

ในวรรณคดีระบุด้วยว่า ขณะพญาครุฑนำน้ำอมฤตกลับมา พระอินทร์และทวยเทพเข้าขัดขวาง แต่ไม่สามารถต้านทานฤทธิ์พญาครุฑ พระนารายณ์จึงเสด็จมาช่วยแต่ก็มิอาจปราบครุฑลงได้ ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะ ทั้งสองจึงทำสัญญา ครุฑจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าพระนารายณ์ และจะยอมเป็นพาหนะแห่งพระนารายณ์

ด้วยเหตุนี้พระนารายณ์จึงทรงครุฑ ส่วนครุฑก็ปรากฏอยู่ในธงพระครุฑพ่าห์ที่ปักอยู่เหนือราชรถองค์พระนารายณ์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568 รูปเศียรนาค แกะสลักด้วยไม้สักทองบนพระมหาพิชัยราชรถ

ศุภวรรณกล่าวว่า การนำชม พระมหาพิชัยราชรถ ในทัวร์ปีมะเส็ง อาศิรวิษนักษัตร เปิดตำนานอสรพิษ พุทธศักราช 2568 เนื่องจาก พระมหาพิชัยราชรถเป็นหนึ่งในเครื่องประกอบในพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

ได้รับการสร้างอย่างวิจิตรงดงามตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์หรือสมมุติเทพที่จุติลงมายังโลกมนุษย์

เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตเท่ากับเป็นการเสด็จกลับสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตอนบนสุดของ ‘พระมหาพิชัยราชรถ’ มี บุษบก เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตรย์

ลวดลายราชรถส่วนใหญ่สลักด้วย ไม้สักทองเป็นรูปเศียรนาค จำนวนมาก มองเห็นจากทุกด้านของราชรถ 

นาคนั้นหมายถึงแท่นบรรทมพระนารายณ์ตามคติสมมุติเทพ เมื่อพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ การประดิษฐานพระบรมโกศบน พระมหาพิชัยราชรถ จึงเปรียบกับการประทับบนหลังนาค เพื่อเป็นพาหนะแห่งพระเกียรติยศกลับสู่สวรรค์

 

ตู้พระธรรม

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568

  • ประวัติ : สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างตู้พระธรรม 3 ตู้ สำหรับเก็บพระไตรปิฎก
  • ศิลปกรรม : ผนังตู้ด้านหน้าเขียนลายรดน้ำ ผนังตู้ด้านหลังและด้านข้างเขียนภาพจิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องรามเกียรติ์
  • ตำแหน่งจัดแสดง : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
  • ตำนานอสรพิษ : กำเนิดนางมณโฑ

ในวรรณกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ กล่าวถึง 4 พระฤาษีผู้มีตบะปักหลักใช้ป่าหิมพานต์บำเพ็ญภาวนา แม่โค 500 ตัวในป่าใกล้กับอาศรมมีใจเลื่อมใส ทุกเช้าจึงพากันมาหยดนมใส่ไว้ในอ่างหนึ่งจนเต็มเพื่อให้พระฤาษีได้ฉันเป็นประจำ ใกล้อ่างนมมีแม่กบอาศัยอยู่ พระฤาษีมีใจเมตตาแบ่งนมให้นางกบเป็นอาหารดำรงชีพเรื่อยมา

“นาคเป็นสัตว์กึ่งเทพ ถือตนมียศมีเกียรติ ไม่สมสู่ข้ามตระกูลและมักดูถูกงูดินว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะมีรูปกายอย่างสัตว์โลกทั่วไป แต่เจ้าหญิงแห่งเมืองนาคกลับสมสู่กับงูดินในป่า

เมื่อฤาษีบังเอิญมาพบเข้าจึงจับแยก เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม ธิดาพญานาคอับอายแทรกแผ่นดินหนีกลับเมืองบาดาล แต่ด้วยกลัวฤาษีจะนำเรื่องนี้มาฟ้องพ่อ จึงแอบขึ้นมาคายพิษลงในอ่างน้ำนม

นางกบเห็นเหตุการณ์ ด้วยความกตัญญูรู้คุณจึงยอมเสียสละชีวิตโดดลงไปในอ่างกินน้ำนมพิษจนตัวตาย

เมื่อฤาษีกลับมาเห็นจึงเกิดความสงสัย เป่ามนต์ให้นางกบฟื้นคืนเพื่อถามหาสาเหตุ เมื่อทราบถึงความกตัญญู จึงชุบกายนางกบเป็นผู้หญิงรูปโฉมงดงาม ตั้งชื่อนางว่ามณโฑและนำไปถวายพระศิวะ ต่อมากลายเป็นนางกำนัลของพระอุมา” ศุภวรรณเล่าชาติกำเนิดของนางมณโฑซึ่งมีความเกี่ยวข้องระหว่างงูดินและนาค

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568 ภาพจิตรกรรมนางมณโฑบรรทมเคียงทศกัณฐ์

ผู้เข้าชม ‘ตู้พระธรรม’ จะได้ชมภาพจิตรกรรมสีฝุ่นขณะหนุมานค้นหานางสีดาในกรุงลงกาแล้วพบทศกัณฐ์บรรทมเคียงข้างนางมณโฑ

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ‘ท้าววิรูปักษ์’

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568

ประวัติ : เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1ราว พ.ศ.2338 ในสมัยรัชกาลที่ 1 เชื่อว่าเป็นฝีมือช่างชาวอยุธยา เพราะเขียนตามคตินิยมสมัยอยุธยาตอนปลาย
ตำแหน่งจัดแสดง : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (เหนือกรอบหน้าต่างทั้ง 4 ด้าน)
ตำนานอสรพิษ : คาถาปราบงู

หนึ่งในความสอดคล้องกันระหว่าง ‘คัมภีร์วิษณุปุราณะ’ ของพราหมณ์-ฮินดู และ ‘ไตรภูมิพระร่วง’ ในศาสนาพุทธ คือความเชื่อที่ว่า ทิศทั้ง 4 มีเทวดาสถิตรักษาประจำทิศ รวมเรียกว่า ‘ท้าวจตุโลกบาล’ ประกอบด้วย

  1. ท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวร ประจำทิศเหนือ ปกครองยักษ์
  2. ท้าววิรุฬหก ประจำทิศใต้ ปกครองครุฑและกุมภัณฑ์
  3. ท้าวธตรฐ ประจำทิศตะวันออก ปกครองคนธรรพ์
  4. ท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศตะวันตก ปกครองนาค

“ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่เชื่อมโยงกับตำนานอสรพิษคือภาพเทพชุมนุมชั้นล่างสุดเหนือกรอบหน้าต่าง เป็นภาพท้าวจตุโลกบาล คือเจ้าแห่งครุฑ เจ้าแห่งยักษ์ เจ้าแห่งคนธรรพ์ และเจ้าแห่งนาค เขียนเรียงลำดับเป็นภาพชุดต่อเนื่องกันไปโดยรอบผนังทั้งสี่ด้านของพระที่นั่งฯ” ศุภวรรณ กล่าว 

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568 ภาพจิตรกรรมท้าววิรูปักษ์ (ภาพกลาง)

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568 จิตรกรรมงูหรืองูดินอยู่ใต้ภาพท้าววิรูปักษ์และอยู่ล่างสุดของผนัง

ในตำนานกล่าวว่า ท้าววิรูปักษ์ เป็นเทพผู้มอบ คาถาวิรูปักเข หรือคาถาปราบงูแด่พระพุทธเจ้าสำหรับกำราบบรรดาพญานาค งูและสัตว์มีพิษ ไม่ให้มารบกวนเวลาออกธุดงค์หรือถือศีลในป่า

“ในพระไตรปิฎกมี อหิราชสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อสวดแผ่เมตตาให้กับบรรดาอสรพิษต่างๆ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ อหิแปลว่างู อหิราชสูตรเป็นคาถาท่อนที่ต่อจากอาฏานาฏิยสูตรซึ่งเป็นคาถาไล่ผีที่เคยใช้สวดไล่โรคห่าสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันใช้ในพิธีสวดภาณยักษ์” ศุภวรรณกล่าว

 

เครื่องเบญจรงค์ 

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568 เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ลายราชสีห์ สมัยรัชกาลที่ 3

วัสดุ : เครื่องปั้นดินเผา
ตำแหน่งจัดแสดง : ห้องเครื่องถ้วยในราชสำนัก หมู่พระวิมาน
ตำนานอสรพิษ : เจ้าแม่หนี่วา

เครื่องเบญจรงค์ หรือ ‘เครื่องถ้วย 5 สี’ ประกอบไปด้วยสี ขาว แดง เหลือง เขียว ดำ มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมหลายชาติในเอเชีย

“เครื่องถ้วย 5 สี เชื่อมโยงตำนานเกี่ยวกับ งู เนื่องจากปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ซานไห่จิง ของจีน หรือ ‘คัมภีร์แห่งขุนเขาและท้องทะเล’ ซึ่งกล่าวถึงการกำเนิดโลกและ เจ้าแม่หนี่วา ผู้สร้างมนุษย์และพลเมืองชาวจีนตามความเชื่อของคนจีน” ศุภวรรณ กล่าว

เจ้าแม่หนี่วาคือเทพธิดาผู้นำดินมาบรรจงปั้นเป็นรูปคนทีละคนแล้วเป่าลมหายใจให้มีชีวิต ต่อมาทรงเหนื่อยจากการปั้นมนุษย์ จึงใช้เส้นด้ายจุ่มดินเหนียวดินโคลนแล้วสะบัดลงไปบนพื้นโลก 

เศษดินเหนียวและหยดโคลนกลายเป็นมนุษย์จำนวนมาก แต่เนื่องจากไม่ปราณีต ทำให้มนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังมีความแตกต่างของใบหน้าและรูปร่าง บ้างจึงพอมีพอกิน บ้างยากจน บ้างพิกลพิการ ต่างจากมนุษย์ที่บรรจงปั้นมักเป็นคนร่ำรวยมีเกียรติ

จากนั้นเจ้าแม่หนี่วาต้องการลดภาระในการสร้างมนุษย์ ทรงมอบความสามารถในการมีบุตรให้มนุษย์ที่ทรงปั้น เมื่อเกิดการแต่งงานอยู่กิน ประชากรชาวจีนจึงเพิ่มจำนวนไปอย่างมากมาย ชาวจีนจึงกราบไหว้เจ้าแม่หนี่วาในฐานะ ‘เทพมารดา’

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568 เครื่องเบญจรงค์ โถและจานลายเทพพนม พุทธศตวรรษที่ 24 

คัมภีร์ซานไห่จิงบันทึกไว้ด้วยว่า ครั้งหนึ่งเกิดการต่อสู้กันระหว่างเทพแห่งไฟและเทพแห่งน้ำ ทำให้เสาค้ำฟ้ากับแผ่นดินหัก ฟ้าถล่มเกิดเป็นรอยรั่ว ส่งผลให้ปีศาจหลั่งไหลออกทำร้ายมนุษย์

เจ้าแม่หนี่วาจึงต่อสู้กำราบปีศาจ ใช้ขาเต่ายักษ์ค้ำยันท้องฟ้า และเก็บ ดินโคลน 5 สีในแม่น้ำ คือสีขาว แดง เหลือง เขียว ดำ มาปั้นและอุดท้องฟ้าไว้สำเร็จ 

ศุภวรรณกล่าวด้วยว่า จีนค้นพบและใช้ ดินห้าสี ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแต่โบราณ สำหรับประเทศไทยพบหลักฐานสมัยกรุงศรีอยุธยามีการสั่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาห้าสีจากประเทศจีน 

ต่อมาไทยเรียกเครื่องถ้วยห้าสีนี้ว่า เครื่องเบญจรงค์ เมื่อไทยผลิตได้เองก็ยังคงสีทั้งห้าไว้ เพียงแต่มีความอ่อนแก่ของสีต่างไปจากจีน และสีทั้งห้านี้ยังเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมทั้งตะวันออกและตะวันตกที่หมายถึงโซนอินเดียและเปอร์เซีย

งู ทำไมมีพิษ-ลิ้นสองแฉก ค้นหาคำตอบจากทัวร์ชมโบราณวัตถุต้อนรับปีงู 2568 ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สีทั้ง 5 ของดินโคลนในแม่น้ำของเจ้าแม่หนี่วา ยังไปปรากฏอยู่ใน คัมภีร์เต๋าเต๋อจิง ศาสตร์แห่งความสมดุลตามลัทธิเต๋าของจีน ที่มอบน่านฟ้าทั้งสี่ทิศให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของสัตว์เทพทั้งสี่ ได้แก่

  1. เสือขาว - ทิศตะวันตก
  2. มังกรเขียว - ทิศตะวันออก
  3. หงส์แดง - ทิศใต้
  4. เต่าดำ - ทิศเหนือ
  5. มังกรเหลือง (หรือมังกรทอง) - ศูนย์กลางของสวรรค์

ทั้งยังเป็นสีสัญลักษณ์ของ เบญจธาตุ หรือ ธาตุทั้ง 5 ในศาสตร์ฮวงจุ้ย ได้แก่ ไม้-สีเขียว, ไฟ-สีแดง, ดิน-สีเหลือง, น้ำ-สีดำ และ ทอง-สีขาว

คัมภีร์ซานไห่จิง บรรยายลักษณะ เจ้าแม่หนี่วา ไว้ว่ามีกายครึ่งบนเป็นสตรี ส่วนกายครึ่งล่างมีหางเป็นงู สีทั้งห้าของเครื่องเบญจรงค์จึงมีความเกี่ยวพันกับงูด้วยประการฉะนี้