PAINKILLER สร้าง ‘แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน’ ใช้ผ้ามัดย้อมครามจาก จ.แพร่
เสื้อผ้าสุภาพบุรุษ 'PAINKILLER Atelier' โดยดีไซเนอร์ไทย 'สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์' อวดคอลเลคชั่นใหม่สร้างแนวคิด ‘แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน’ ตัดเย็บจากผ้ามัดย้อมคราม จ.แพร่
สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ แห่ง PAINKILLER บอกว่า คอลเลคชั่นนี้เป็นงาน Collaboration ที่เป็นซีรีส์ต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดงานคราฟต์ของไทยผ่านเรื่องราวของนักท่องเที่ยว ในชื่อ Indigo Journey เริ่มจากเห็นนักท่องเที่ยวสวมกางเกงลายช้างท่องเที่ยวทั่วไทย
“ระหว่างทางที่เราเห็นก็เกิดตกหลุมรักสีน้ำเงินของหม้อห้อม กลายเป็นแรงบันดาลใจไปเรียนรู้เรื่องวัตถุดิบผ้ามัดย้อมครามทุกแบบ ที่ผลิตโดยศูนย์การเรียนรู้หม้อห้อม จังหวัดแพร่
เสื้อผ้าทุกชิ้นตัดเย็บโดยช่างฝีมือประจำแบรนด์ เราจึงหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์แฟชั่นที่ตื่นรู้เกี่ยวกับแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนหรือ Sustainability”
ผ้ามัดย้อม จ.แพร่
คุณป๊อก – รชดล ยิ่งพิสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป ร้าน Good Goods เซ็นทรัลกรุ๊ป (Good Goods new concept store ชั้น 1 โซน Hug Thai เซ็นทรัลเวิลด์) เสริมว่า
“Good Goods เป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม สินค้าในร้านจะตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาชุมชน วัตถุดิบจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณอร (สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์) เคยทำให้เรามาตั้งแต่ต้น ตอนนี้เราขยายตัวมากขึ้น จึงเรียนเชิญมาร่วมออกแบบอีกครั้ง
คุณอร สนใจในผ้าหม้อห้อมมัดย้อม เราจึงสนับสนุนการซื้อสินค้าเข้ามา และตัวดีไซเนอร์จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน การออกแบบก็จะสะดวกมากขึ้น”
ดีไซเนอร์ PAINKILLER
ผลงานจากผ้ามัดย้อมคราม PAINKILLER ออกแบบเป็นเสื้อผ้าบุรุษ ดีไซเนอร์ สิริอร เล่าว่า
“ก่อนหน้านี้เคยใช้วัตถุดิบจากชุมชนมาบ้าง แต่ไม่ทำเป็นคอลเลคชั่นใหญ่ขนาดนี้ ต้องบอกว่าโอกาสที่จะได้ใช้ไม่มากนัก เพราะค่อนข้างยาก
อย่างแรกคือเราเป็นแฟชั่นแบรนด์ ต้องทำตามเทรนด์ และค่อนข้างมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนการผลิต แต่พอเรารู้จักกับชุมชน และเซ็นทรัลสนับสนุน เป็นช่องทางให้ดีไซเนอร์ผลิตผลงาน เนื่องจากเราไม่รู้จักชุมชน
พอได้มาทำงานกับ Good Goods เราก็รู้จักกับชุมชนที่น่าเชื่อถือ ทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้นและได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ จากชุมชน และเผยแพร่ผลงานให้กับชุมชนด้วย”
งานผ้ามัดย้อมครามของ PAINKILLER ประกอบด้วยหลายเทคนิค ดีไซเนอร์บอกว่า
“เช่นเราพัฒนาผ้าในการทำลวดลายมัดย้อม ดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้น บางชิ้นเย็บเสร็จแล้วส่งให้ชุมชนทำลวดลาย รวมทั้งบอกกับชุมชนว่าขอให้ย้อมครึ่งหนึ่ง หรือทำผ้าชิ้นเล็กลงเพื่อออกแบบง่ายขึ้น ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ ชุมชนเขาทำได้อยู่แล้ว”
ดีไซเนอร์ไทยบอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากแบรนด์แฟชั่นสู่เสื้อผ้าเพื่อความยั่งยืน
“เรามุ่งหวังจะเป็นตัวอย่างของแบรนด์แฟชั่นที่ตื่นรู้เกี่ยวกับ Sustainability ซึ่งเราอยากดำเนินกิจการแบบ SDGs หรือเป้าหมายธุรกิจอย่างยั่งยืน
แน่นอนว่าเมื่อคนเราซื้อเสื้อผ้า อย่างแรกที่นึกถึงคือความสวยงาม แต่การใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนคือคุณค่าที่เพิ่มเข้ามาหรือ Value added เหมือนกับว่าลูกค้ายุคนี้เขาอยากได้อะไรที่มีความหมายกับชีวิต เสื้อผ้าบอกตัวตนด้วย
Good Goods
แต่ก่อนเป็นความสวยงาม แต่ตอนนี้เสื้อผ้าบอกแนวความคิดของคนใส่ด้วย”
อย่างไรก็ดีในฐานะนักออกแบบย่อมต้องก้าวให้ทัน “เทรนด์” ปีนี้ทิศทางแฟชั่นไปทางไหน ดีไซเนอร์หญิงที่ออกแบบเสื้อผ้าบุรุษบอกว่า
“ในเชิงเทรนด์แฟชั่น เสื้อผ้าผู้ชายดูสนุกขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ คนนิยมเสื้อผ้าแบบยูนิเซ็กซ์มาก เช่นผู้หญิงก็ใส่ชุดผู้ชายมากขึ้น เป็นยุคที่คนให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น
ในภายภาคหน้าเราอาจไม่ได้แบ่งเพศของเสื้อผ้าแล้ว หมายถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ภายนอก อาจเหลือแค่ชุดชั้นในเท่านั้นที่แบ่งเพศ
ตอนนี้ PAINKILLER ออกแบบเฉพาะเสื้อผ้าผู้ชาย ต่อไปอยากทำแนวยูนิเซ็กซ์มากขึ้น และอยากใช้วัตถุดิบจากชุมชน ให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วถึง”
รชดล ผู้จัดการร้าน Good Goods โซน Hug Thai เซ็นทรัลเวิลด์
ในฐานะผู้ดูแลสินค้าจากชุมชนทั่วไทย คุณป๊อก - รชดล เสริมว่า
“เมื่อเราซื้อเสื้อผ้า โดยทั่วไปที่คิดถึงอย่างแรกคือการใช้งานได้จริงกับความสวย ที่เหลือเป็นที่มาที่ไปของการทำงาน อย่างที่คุณอร พูดถึงคำว่า Value added ว่าวัตถุดิบมาจากไหน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาคืออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่น ความงามของศิลปะมีที่มาที่ไปยังไง ทำให้แต่ละโลเกชั่นของประเทศไทย มีความหมายขึ้นมา ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแล้ว แต่เป็นเรื่องการสื่อสารของแต่ละพื้นที่
มุมนี้ของ PAINKILLER
โซน Hug Thai แต่ละผลิตภัณฑ์จะไม่เหมือนกันเลย แต่ละชิ้นมีความโดดเด่นและมีเรื่องเล่า โดยเฉพาะสำหรับคนต่างชาติ”
โซนสินค้าชูความเป็นไทย คนไทยบางคนอาจมองเห็นว่าเป็นสินค้าทั่วไป แต่ความ ‘พื้นเมือง’ นั้นจับใจชาวต่างชาติ ผู้ดูแลสินค้าผลิตภัณฑ์ไทย ๆ ให้ข้อมูลว่า
“ตั้งแต่มาทำสินค้า Good Goods เราก็พบว่าดีไซเนอร์ไทยหลายคนอยากทำงานร่วมกับชุมชนมาก เนื่องจากเรามีพันธมิตร มีเครือข่าย มีการคัดสรร ทำให้โปรเจคที่ยากง่ายขึ้น ตัวดีไซเนอร์ไม่ต้องแบกรักภาระออกไปค้นหาและแบกภาระต้นทุนวัตถุดิบ ก็จะมีเวลาครีเอทผลงานมากขึ้น
และสิ่งที่คาดไม่ถึงคือ หลังจากวางคอลเลคชั่นผ้ามัดย้อมของคุณอร ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จ ทำให้ดีไซเนอร์คนอื่น ๆ เริ่มสนใจ มีกำลังใจอยากทำ ซึ่งเรายินดีมาก ตอนแรกเราคิดว่าจะวางเป็นแคปซูลคอลเลคชั่น ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด
ที่สำคัญเราเห็นชัดเจนว่าคนไทยที่มาตามแบรนด์ก็มี หรือลูกค้าต่างชาติที่เรียกว่าเขาชอบงานย้อมครามที่เป็นธรรมชาติ ลูกค้ากลุ่มนี้มีเยอะมาก ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน พอเห็นงานย้อมครามแทบไม่ถามถึงราคาเลย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในเรื่องความยั่งยืน”
การคัดสรรวัตถุดิบเพื่อตอบโจทย์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน PAINKILLER บอกว่าจะไปต่อ แฟนคลับตามไปซื้อได้ ราคาไม่แตกต่างจากคอลเลคชั่นปกติ
“อยากให้ดีไซเนอร์ ลองเปิดใจกับงานชุมชนดู พอเราได้ทำงานร่วมกับชุมชนมันมีความหมายกับอาชีพมาก เราได้สร้างงาน สร้างอาชีพจริง ๆ งานของเราก็มีคุณค่ามากขึ้น และเราสร้างเสื้อผ้าให้ลูกค้าภูมิใจในการสวมใส่ด้วย”
หมายเหตุ : คอลเลคชั่นเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ ตัดเย็บจากผ้ามัดย้อมคราม จังหวัดแพร่ วางจำหน่ายที่ร้าน Good Goods ชั้น 1 โซน Hug Thai เซ็นทรัลเวิลด์