รู้จัก "Sampling" การนำเพลงเก่ามาใส่เพลงใหม่ จาก I will Survive สู่ After Like
“Sampling” รูปแบบการทำเพลงที่นำเอาส่วนหนึ่งของเพลงเก่า มาใส่ในผลงานเพลงชิ้นใหม่ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมดนตรีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพลง “Super Freaky Girl” ของ “นิกกี้ มินาจ” หรือเพลง “After Like” ของเกิร์ลกรุ๊ป K-POP วง “IVE”
เพลง “Super Freaky Girl” ซิงเกิ้ลใหม่ล่าสุดของ “นิกกี้ มินาจ” เจ้าของฉายาราชินีแห่งวงการแร็ป (Queen of Rap) ของสหรัฐ กลายเป็นเพลงเดี่ยวเพลงแรกในชีวิตของเธอที่สามารถเดบิวต์ในอันดับ 1 ของชาร์ต Billboard Hot 100 สัปดาห์ล่าสุด (27 ส.ค. 2565) ได้สำเร็จ และพึ่งคว้ารางวัล Video Vanguard Award ถือว่าเป็นรางวัลใหญ่สุดในงาน เทียบเท่ากับรางวัลความสำเร็จในชีวิต (Lifetime Achievement Award) จากเวที MTV Video Music Awards เมื่อเช้าที่ผ่านมา (29 ส.ค.)
มินาจได้นำทำนองและเนื้อเพลงบางส่วนจากเพลง “Super Freak” ของ “ริค เจมส์” ที่ปล่อยออกมาในปี 2524 มาใช้ในเพลงด้วย โดยก่อนหน้านี้ Super Freak เคยถูกนำไปใช้ในเพลง “You Can’t Touch This” (2533) ของ “M.C. Hammer” อีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเพลงที่ได้รับความนิยมของปีนั้น
ขณะที่อีกซีกโลกหนึ่ง เพลง “After Like” ของเกิร์ลกรุ๊ปตัวท็อปเจน 4 อย่างวง “IVE” กำลังพุ่งขึ้นทุกชาร์ตเพลงเกาหลีจนกวาดอันดับ 1 ของทุกชาร์ตเพลงแบบเรียลไทม์ของเกาหลี หรือที่เรียกว่า Real-Time All Kill (RAK) โดยเพลงนี้เป็นเพลงแนวป๊อปแดนซ์ ดิสโก้ ความพิเศษคือได้นำทำนองเพลงในตำนานอย่าง “I Will Survive” มาใช้ประกอบเพลงด้วย ที่สำคัญทั้งในมิวสิควิดีโอและการแสดงสดในรายการได้ใช้สีรุ้งประกอบการแสดง ยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นที่ถูกใจของกลุ่ม LGBTQIA+ ทั่วโลก
การนำบางส่วนของเพลงอื่น ไม่ว่าจะเป็นทำนอง เนื้อร้อง มาสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของผลงานเพลงใหม่นั้นเรียกว่า “Sampling” (แซมพลิง) หรือ การทำแซมเพิล (Sample) หรือที่หลายคนอาจจะคุ้นหูในชื่อ แซมป์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันมาอย่างยาวนานในอุตสาหกรรมดนตรี
ต้นกำเนิดของ Sampling
Sampling ถูกพัฒนาโดย ปีแยร์ แชฟเฟอร์ ตั้งแต่ยุค 1940 ซึ่งในสมัยแรกนั้นเริ่มต้นจากการบันทึกเสียงมาจากธรรมชาติ เช่น เสียงที่เกิดจากร่างกายมนุษย์ อุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องจักรไอน้ำ นำมาดัดแปลงเป็นดนตรีโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “Musique Concrète” ด้วยแนวคิดที่ว่าดนตรีไม่จำเป็นต้องไพเราะเสนาะหูเสมอไป
ในปัจจุบัน Sampling ถูกนำไปใช้หลากหลายแนวเพลงและมีความสำคัญมากขึ้นในอุตสาหกรรมเพลง เปรียบเสมือนกับเพลงร็อกที่จะขาดกีตาร์ไม่ได้ เห็นได้จากกว่าครึ่งหนึ่งของเพลงที่ติดชาร์ต Top 10 Singles ของ Official Chart ชาร์ตเพลงที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ประจำเดือน ส.ค. 2565 นั้นใช้ Sampling ด้วยกันทั้งนั้น อีกทั้ง Sampling ยังถือว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของวัฒนธรรมรีมิกซ์อีกด้วย
โดยทั่วไปแล้ว Sampling สามารถเอามาใช้ได้ทั้งทำนองเพลง เนื้อร้องบางท่อน ท่อนฮุคของเพลง หรือจะใช้เฉพาะเสียงเครื่องดนตรี เช่น ท่อนโซโล่กีตาร์ เสียงเบส เสียงกลอง ซึ่งสามารถนำไปใส่เป็นหนึ่งในเลเยอร์ของงานชิ้นใหม่ หรือจะปรับเพิ่มลดจังหวะ ปรับคีย์ จะใช้วนซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้เข้ากับงานชิ้นใหม่ก็ได้เช่นกัน
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาให้ดีขึ้นตามยุคสมัย ทำให้ Sampling เข้ามามีบทบาทมากในวงการดนตรียิ่งขึ้น โดยในยุค 80 ที่มีเครื่อง Fairlight CMI เครื่องซินธีไซเซอร์ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนการทำ Sampling กลายเป็นที่รู้จักและถูกใช้ไปทั่วโลก ซึ่งเทรเวอร์ ฮอร์น เป็นคนแรก ๆ ที่ใช้เครื่องดังกล่าวในการทำเพลงป๊อป จนถูกยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกการทำเพลงคนสำคัญของยุคและทำให้ Sampling กลายเป็นภาษาสากลของวงการเพลง
จากข้อมูลของสำนักข่าว The Guardian ระบุว่า อัลบั้มแรกที่เริ่มใช้ Sampling คือ “Journey Through "The Secret Life of Plants"” (2522) ของ ศิลปินผู้เต็มไปด้วยพรสวรรค์ “สตีวี วันเดอร์”
ส่วนฝั่งฮิปฮอปนั้น เหล่าบรรดาดีเจมักจะเปิดแผ่นแบ็กกิง แทร็ก (Backing Track) ที่ตัดเสียงร้องทุกอย่างออกหมดเหลือแค่เสียงดนตรี เพลงโซล อาร์แอนด์บี แล้วมักจะพูดแทรกลงไปขณะที่เพลงกำลังเล่นอยู่ หรือใช้การแทรกทำนองของอีกเพลงเข้าไป ทำให้เกิดเป็นจังหวะดนตรีใหม่ ๆ ที่มิกซ์เสียงผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยใช้ระบบเปิด 2 ช่องสลับกันไปมา
ข้อมูลของ WhoSampled แอปพลิเคชันค้นหาเพลงที่ใช้ Sampling ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยเครือข่ายสมาชิกกว่า 28,000 คนทั่วโลก พบว่า ในปัจจุบันมีเพลงที่ใช้ Sampling กว่า 891,000 เพลง จาก 279,000 ศิลปินทุกแนวเพลง ไม่ว่าจะเป็นฮิปฮอป แร็ป อาร์แอนด์บี อิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ ตลอดจนเพลงร็อก ป๊อป โซล ฟังก์ เรกเก้ แจ๊ซ และคลาสสิก
Sampling เป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์?
เพลง Amen, Brother ของ The Winstons วงดนตรีแนวเพลงโซล ที่ปล่อยมาตั้งแต่ปี 2512 เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกนำไปใช้ Sampling มากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนมากกว่า 5,816 เพลง โดยท่อนมักจะถูกนำไปใช้นั้นเรียกว่า “Amen Break” ที่เป็นเสียงกลองความยาว 4 บาร์ ซึ่งถูกใช้ทั้งในเพลงฮิปฮอป ป๊อป ร็อก ไปตลอดจนเป็นดนตรีประกอบแอนิเมชันสำหรับเด็กอย่าง “Powerpuff Girls”
แม้ว่าจะนำไปใช้อย่างแพร่หลายในทุกวงการ แต่ทาง The Winstons ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กลับไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์เลยแม้แต่น้อย และทางวงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพลงของตนถูกนำไปใช้เป็น Sampling กับเพลงจำนวนมาก จนกระทั่งปี 2539 ที่ค่ายเพลงติดต่อมาของซื้อเทปมาสเตอร์จาก ริชาร์ด ลูอิส สเปนเซอร์ ผู้เป็นหัวหน้าวง
“เกรกอรี ซี. โคลแมน (มือกลองของวง) ใช้ทั้งหัวใจและจิตวิญญาณในการตีกลองเพลงนั้น แต่ตอนนี้ คนเหล่านั้นกลับลอกและวางผลงานของพวกเราไปใส่ในเพลงตัวเอง จนทำเงินได้หลายล้าน” สเปนเซอร์ให้สัมภาษณ์กับ The Economist ในปี 2554
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่โคลแมนเสียชีวิตอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว และเป็นคนไร้บ้านในปี 2549 โดยไม่รู้ว่าตนเองได้สร้างผลงานที่แสนล้ำค่าไว้ให้กับวงการเพลงและไม่ได้รับค่าลิขสิทธิ์เลยจนวาระสุดท้ายของชีวิต ต่อมาในปี 2558 ดีเจชาวอังกฤษ 2 คนได้ร่วมกันทำแคมเปญระดมทุนหาค่าลิขสิทธิ์ให้แก่สเปนเซอร์ผ่าน GoFundMe แพลตฟอร์มระดมทุนของสหรัฐ โดยสามารถทำเงินได้ราว 37,000 ดอลลาร์
ตามกฎหมายสหรัฐ หากศิลปินพบว่าเพลงของตนเองถูกนำไปใช้เป็น Sampling ในงานเพลงอื่น สามารถให้ทนายยื่นฟ้องต่อศาลได้ทั้งคดีแพ่งและอาญา ภายในระยะเวลา 36 เดือน หลังจากที่ผลงานเพลงนั้นถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้มีศิลปินหลายคนยื่นฟ้องต่อศาล ตัวอย่างเช่น ลินน์ โทลลิเวอร์ ได้รับค่าลิขสิทธิ์มูลค่า 1.2 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ยื่นฟ้องเจมส์ แม็คแคนต์ส ฐานนำแซมเพิลเพลง “I Need a Freak” ไปใช้ในเพลง “My Humps” ของ “Black Eyed Peas” โดยไม่ได้รับอนุญาต
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะชนะคดี เนื่องจากในขณะเดียวกัน ยังมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่อะลุ่มอล่วยที่อนุญาตให้มีการทำซ้ำผลงานได้ในจำนวนจำกัด ซึ่งถือว่าเป็นนำเสนอกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์และศิลปะอันเป็นประโยชน์ ให้ศิลปินได้นำไปต่อยอดและสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ได้
นอกจากนี้ หลายคดีที่มีการฟ้องร้องกันนั้นศาลพิจารณาเห็นแล้วว่า ไม่ถือว่าเป็นการ Sampling หรือว่าเพลงต้นฉบับไม่ได้มีเอกลักษณ์เพียงพอจนสาธารณชนรับทราบว่าเป็นเพลงอะไร ก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน
ขณะเดียวกัน มีเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เปิดให้นำเพลงไปใช้เป็น Sampling ได้ฟรี ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ หนึ่งในเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมที่สุดคือ The Kingsway Music Library ที่จัดทำโดย แฟรงค์ ดุกส์ โปรดิวเซอร์เพลงชาวอเมริกัน ซึ่งศิลปินแถวหน้าหลายคนต่างใช้บริการจากเว็บไซต์นี้ไม่ว่าจะเป็น เดรก, คานเย เวสต์ และ เคนดริก ลามาร์ เป็นต้น ไม่เพียงแค่นั้น หอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐ ยังได้เปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนดาวน์โหลดเพลงไปทำ Sampling โดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์อีกด้วย
แต่ในยุคที่ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ ศิลปินและค่ายต้นสังกัดจึงมักจะตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่นำเพลงมาทำเป็น Sampling ก่อนที่เพลงจะปล่อย ซึ่งก็ควรจะเป็นแบบนี้นานแล้ว มันคงเจ็บปวดใจไม่น้อยหาก วันหนึ่งผลงานที่สร้างสรรค์จากนักน้ำพักน้ำแรงของเรา ถูกคนอื่นนำไปใช้ แถมสร้างทั้งชื่อเสียงและเงินทองให้เป็นกอบเป็นกำ เหมือนอย่างที่โคลแมนและสเปนเซอร์เคยโดน
ที่มา: BBC, FactMag, Fungjai, NOLO, NYLON, Pitchfork, The Economist, The Guardian, The Matter, WhoSampled