คอนเทนต์ true crime กับความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อ
ชวนวิพากษณ์ คอนเทนต์ true crime ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ว่ามีประโยชน์อะไรกับสังคม หรือเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมครอบครัวเหยื่อให้ต้องเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คอนเทนต์แนว true crime ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้กระแสกำลังตีกลับ ด้วยการถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่า เราสมควรผลิตมันออกมาให้คนเสพเรื่องที่น่าสะเทือนใจนี้เพื่อความบันเทิงจริงหรือ
สำหรับคอนเทนต์ true crime ที่กำลังเจอดรามาหนักหน่วงอยู่ขณะนี้ก็คือ ซีรีส์ Monster: The Jeffrey Dahmer Story หรือ “เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ ฆาตกรรมอำมหิต ปีศาจ” ทาง Netflix ที่สร้างจากเรื่องจริงของฆาตกรที่สังหารเหยื่อไปมากถึง 17 ราย (เฉพาะเท่าที่พบศพ) ในอเมริกาช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1978-1991
โดยเจฟฟรีย์ ซึ่งเป็นชายผิวขาวผมทอง จะเลือกฆ่าเฉพาะเหยื่อที่เป็นเกย์ หรือเป็นคนผิวสี ขณะที่กระแสของการเหยียดผิวและรังเกียจพวกรักร่วมเพศในสังคมอเมริกันในยุคนั้นเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เขาลงมือฆ่าคนอย่างอำมหิตมาได้เป็นเวลานานถึง 13 ปี โดยซีรีส์ Netflix เรื่องนี้ได้รับคำชมเรื่องที่ดึงเอาแง่มุมนี้มานำเสนอได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การนำเรื่องนี้มาสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าส่งผลให้ครอบครัวเหยื่อทนไม่ไหวอีกต่อไป (มีหนังเกี่ยวกับฆาตกรโหดรายนี้ถูกผลิตออกมา 5 เรื่อง รายการทีวี 16 เรื่อง รวมถึง Dahmer ของ Netflix ไม่นับรวมละครเวที และหนังสืออีกเกือบสิบเล่ม)
หนึ่งในนั้นคือ อีริค เพอร์รี ญาติของ เออร์โรล ลินด์เซย์ เหยื่อวัย 19 ปีของดาห์เมอร์ ที่บอกว่า ครอบครัวเขาไม่มีความสุขกับซีรีส์เรื่องนี้เลย เพราะมันทำให้พวกเขาต้องเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเราจะทำแบบนั้นกันไปเพื่ออะไร
“เราต้องการหนัง ซีรีส์ หรือสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ซักกี่เรื่องกันเหรอ” ทางครอบครัวเหยื่อตั้งคำถาม
แต่ดูเหมือนว่าเรตติ้งของมันจะสวนทางกับความต้องการของครอบครัวเหยื่อ เพราะ Dahmer กลายเป็นคอนเทนต์ที่มียอดเข้าชมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ Netflix ในสัปดาห์แรกที่ออกฉาย ข้อมูลจาก Indiewire ระบุว่า Dahmer มีการรับชมถึง 196.2 ล้านชั่วโมง ในสัปดาห์แรก แถมยังครองอันดับ 1 รายการทีวีที่มีผู้ชมมากที่สุดในกว่า 60 ประเทศอีกด้วย
แม้แต่ในแพลตฟอร์มอย่าง TikTok แฮชแท็ก #Dahmer ก็มียอดวิวรวมกันถึงกว่า 1,000 ล้าน แถมยังเป็นคอนเทนต์ที่ถ้าครอบครัวได้เห็นแล้วคงหัวใจสลาย เพราะมีทั้งคอนเทนต์ที่ชมดาห์เมอร์ว่าเป็นคนตรง ไม่เคยปฏิเสธฆาตกรรมที่ตัวเองก่อ
คอนเทนต์ชม อีแวน ปีเตอร์ส ที่มารับบทดาห์เมอร์ว่าดูฮอตกว่าเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา หรือแม้แต่คอนเทนต์ที่ romanticize ความสัมพันธ์ที่ดาห์เมอร์มีต่อเหยื่อที่เขาสังหาร
สำหรับตัวผู้เขียนเอง สารภาพตามตรงว่าคอนเทนต์เกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตเป็นแนวที่โปรดปรานเช่นกัน แต่หลังจากที่ติดตามดรามาเรื่อง Dahmer อย่างต่อเนื่อง ได้รับรู้ความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อแล้วก็ทำให้ต้องหวนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า
เรากำลังหาความบันเทิงบนความเจ็บปวดของคนอื่น โดยเอาคำว่า “สะท้อนสังคม” มาเป็นข้ออ้างให้เราสามารถหาความสนุกจากมันได้ต่อไปโดยไม่รู้สึกผิด (guilty pleasure) หรือเปล่า
เรื่องนี้สมควรที่จะนำมาถกเถียงกันในอีกหลากหลายแง่มุมเลยทีเดียว