white monkey movie โขนภาพยนตร์ "หนุมาน" ดูมาแล้วสนุก-เด็กชอบยังไง
soft power ของไทย white monkey movie โขนภาพยนตร์ "หนุมาน" สนุก-เด็กชอบอย่างไร ไปดูมาแล้ว กลุ่มเป้าหมายผู้ชมในไทยและต่างประเทศ
เปิดตัวและฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว สำหรับ Hanuman White Monkey หรือ หนุมาน White Monkey ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 หรือเรียกง่ายๆ white monkey movie โขนภาพยนตร์ "หนุมาน"
กำลังกลายเป็น soft power ของไทย สร้างกระแสทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการถ่ายทำการแสดง "โขน" ด้วยวิธีการรูปแบบของ "ภาพยนตร์" การตีความ การเล่าเรื่อง การตัดต่อ และการสื่ออารมณ์ เสริมความวิจิตรพิสดาร ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphics) หรือ CG
หากพูดถึง โขน คงทราบกันว่า เป็นการแสดงสด ในโรงมหรสพหรือลานกว้าง ใช้ความสามารถของตัวแสดงด้านนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม สื่อสารให้ปรากฎต่อผู้ชม ซึ่งผู้ที่เคยเข้าชมการแสดงโขนที่โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ก็คงรับรู้ถึงบรรยากาศและอรรถรสได้เป็นอย่างดี
โขนกับภาพยนตร์
แน่นอนว่า การแสดงโขนให้อยู่ในรูปแบบภาพยนตร์ หรืออยากให้เรียกว่า "โขนภาพยนตร์" ก็ตามที
แต่หากจัดเป็นประเภทของภาพยนตร์ (Genre) คงอยู่ในประเภท "ภาพยนตร์แฟนตาซี" (Fantasy) ด้วยความเหนือจริงของเรื่องตามความเชื่อและตำนาน การแต่งตัวของนักแสดง และฉากจากซีจี
เปรียบเทียบหากดูโขนแบบแสดงสด เราจะเห็นความงดงามด้านนาฏศิลป์ และรับรู้ความไพเราะของดนตรี
แต่สำหรับภาพยนตร์นั้น เอาทั้งความงดงามด้านนาฏศิลป์ และรับรู้ความไพเราะของดนตรี มาฉายให้เห็นความละเอียดท่าทางนาฏศิลป์ สีหน้าแววตาตัวแสดงได้ชัดเจน สื่ออารมณ์พร้อมภาพแบ็คกราวน์สุดจินตนาการ
เอกลักษณ์โขนคงอยู่
ภาพยนตร์ Hanuman White Monkey ใช้ภาษาโขนในการเล่าเรื่อง หนุมาน ขุนศึกเอกของพระรามในการต่อสู้ชิงตัวนางสีดาจากทศกัณฐ์ จากวรรณกรรมเรื่องรามายณะ หรือ รามเกียรติ์ โดยมีภาษาภาพยนตร์ ในการตัดต่อเรื่องราวให้กระชับจบภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง
การตีความให้เข้าใจความเป็น "ตัวเอก" ของหนุมาน การขมวดปมเรื่องความดี ความชั่วและความภักดี
การผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีสากล เพื่อ "ประกอบสร้าง" (The image construction) ความรู้สึก อารมณ์ของตัวแสดงผ่านจอภาพยนตร์ ชอบตรงที่นางสีดา แสดงอารมณ์ความโกรธต่อทศกัณฐ์ที่ลักพาตัวมา และความคิดถึงต่อพระราม
ทำไมเด็กดูแล้วชอบ white monkey movie
หากตัด "ความรับรู้เดิม" เกี่ยวกับโขน ซึ่งความเป็นจริง ภาษาพูดและการแสดง อาจดูยากและเข้าใจยากในการเล่าเรื่องศิลปะที่การรวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งเรื่องนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรมและงานช่างฝีมือต่าง ๆ และใช้เวลาแสดงนานกว่าจะจับต้องจนเป็นอรรถรสได้ แต่ในภาพยนตร์นั้น โขนถูกประยุกต์ให้กลายเป็นเรื่องเหนือจริงเป็นแฟนตาซี สร้างฮีโร่แบบไทยจากตัวละครในวรรณกรรมไทยได้เด่นชัด
ซึ่งจากการสอบถามเด็ก อย่าง "บอสตั้น ณัฐภัทร" นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสาธิตบางแก้ว ที่ติดตามผู้ปกครองได้ร่วมรับชมภาพยนตร์ หนุมาน White Monkey ได้ข้อมูลเรียบเรียงเป็นมุมมองว่า ชอบตัวแสดงอย่างหนุมาน เนื่องจากในภาพยนตร์หนุมานลิงขาวเป็นตัวเอกที่ช่วยให้พระรามเอาชนะทศกัณฐ์ มีความเฉลียวฉลาด ซนเหมือนเด็ก และมีความสามารถพิเศษ เหาะเหินเดินอากาศ มีอิทธิฤทธิ์สำแดงเดชปราบยักษ์ถล่มกรุงลงกาให้ปั่นป่วนอย่างสนุก ตลอดการรับชมนั้นน้องบอสตั้นไม่งีบหลับตลอดเวลาชั่วโมงกว่า แสดงให้เห็นว่าฉาก ตัวแสดง การเล่าเรื่อง และซีจี สามารถเข้าใจง่ายและน่าติดตาม
โดยพื้นฐานแล้ว เด็กประถมปัจจุบันก็มีเรื่องเกี่ยวกับโขนในบทเรียนได้รับรู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยดูของจริง หรืออาจไม่สนใจเพราะเป็นการแสดงที่ไกลตัว ไม่เหมือนตัวแสดงฮีโร่ จากภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่น ของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ที่เข้าถึงง่ายกว่า
ทว่า ภาพยนตร์ white monkey movie คือการสร้างฮีโร่พันธุ์ไทย ที่เด็กได้รับรู้ศิลปะแบบโขนทางอ้อมไปด้วย
ได้อะไรจาก โขนภาพยนตร์ "หนุมาน"
ก่อนเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้คาดหวัง เพราะรู้อยู่แล้วว่าไปดูการแสดงโขน ซึ่งหาชมยาก ทั้งเงื่อนไขของสถานที่แสดง การเดินทาง และเวลาสะดวกรับชม อันเป็นข้อจำกัด
แต่ในโรงภาพยนตร์ มีความสะดวกการเดินทาง เวลาที่เลือกได้ ซึ่งน่าจะสะดวกสบายกว่า
เมื่อเข้าชมหนังแล้ว จึงเข้าใจมุมมอง ผู้กำกับภาพยนตร์ สาโรจน์ สุวัณณาคาร การสร้างบทภาพยนตร์ จรัญ พูลลาภ รวมถึงสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลงานทางวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์โขน อย่าง รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้กำกับการแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง
หนัง Hanuman White Monkey ในมุมมองหนึ่ง อาจเป็นหนังทดลอง หรือเป็นหนังทางเลือกหรือไม่ คือการเอาการแสดงโขนมาใช้สื่อภาพยนตร์ในการโชว์ศิลปะการแสดง เพื่อดึงดูดคนให้เห็นเข้าใจเข้าถึงความเป็นโขนไทย
white monkey movie ซอฟท์ พาวเวอร์ ของไทย
ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจแต่อย่างใด การที่กระทรวงวัฒนธรรม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง พร้อมเอกชน อย่าง ไทยเบฟฯ และกัลฟ์ จะสนับสนุน เพราะการสร้าง soft power ของไทย คือการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ศิลปะเอกลักษณ์โดดเด่นไม่มีชาติใดเหมือน
มาผสมผสานศิลปะการแสดง ประกอบสร้างเทคนิคด้านดิจิทัลคอมพิวเตอร์กราฟิก เทคนิคพิเศษของภาพยนตร์ สร้างสรรค์แรงบันดาลใจและจินตนาการในเรื่องราวของโขน รามเกียรติ์ ให้เกิดความสนุก ตื่นเต้น และประทับใจ สอดคล้องพฤติกรรมของผู้ชมยุคใหม่ อีกทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ของศิลปะการแสดงประจำชาติของไทยไปสู่ต่างประเทศ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นการส่งเสริม soft power ของไทย ด้านภาพยนตร์อย่างชัดเจน
กลุ่มเป้าหมายและมุ่งหมาย
การสื่อสารของ white monkey movie มีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว เพื่อโชว์การแสดงโขนไปสู่สายตาชาวโลกในรูปแบบภาพยนตร์
ถ้ามีคนชอบหนังก็ต้องไปหาดูการแสดงสดของโขน ดูบทบาทการแสดงของหนุมาน ซึ่งหากเปรียบเทียบภาพยนตร์ฮอลลิวูด ที่สร้างหนังมหากาฬเกี่ยวกับ "มหาเทพ" ต่างๆ ในตำนาน และภาพยนตร์จีนก็สร้างไซอิ๋วรีเมดหลายเวอร์ชั่น ซึ่งไทยการสร้าง "หนุมาน" แสดงโขนก็เป็นทางเลือกในตลาดภาพยนตร์โลก ซึ่งเชื่อว่า เด็กและคนแก่ น่าจะชอบและเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เด่นชัด
ซึ่งอย่าคาดหวังว่า "วัยรุ่น" หรือ "วัยทำงาน" จะชอบ เพราะปัจจัยเยอะมาก ทั้งเรื่องการเมืองและวาระทางสังคม ที่พวกเขาเหล่านั้น อาจยากจะตัดสินใจเลือกและเสียเวลาชมภาพยนตร์แนวอนุรักษ์ศิลปะฯ เรื่องนี้หรือไม่ก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี อยากให้กำลังใจทีมผู้สร้างและทีมนักแสดง ที่ทำผลงานออกมาสู่สายตาคนไทยและชาวโลก ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นด้าน soft power ของไทย ด้านภาพยนตร์ น่าจะได้ผลตอบรับที่ดีจากเด็กและคนแก่อย่างแน่นอน
...
อ้างอิง
เรื่องเกี่ยวกับ soft power ของไทย
บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย