‘กรุงเทพ เมืองแห่งหนัง’ เป็นได้จริง หรือ เป็นแค่ความฝัน
หยุดฝันเฟื่อง ‘กรุงเทพ เมืองแห่งหนัง’เมื่อได้ฟังผู้อยู่เบื้องหลังวงการภาพยนตร์ ออกมาเล่าความจริง หากต้องการให้วงการภาพยนตร์ไปต่อ จะต้องทำอย่างไร
‘กรุงเทพ เมืองแห่งหนัง’ เป็นสิ่งที่หลายคนหมายมั่นปั้นมืออยากทำให้เกิดขึ้น แต่ทว่าในความเป็นจริง คงต้องให้คนทำงานเบื้องหลังในวงการภาพยนตร์เป็นผู้ให้คำตอบ
วันที่ 21 มกราคม 2566 มีการเสวนา ‘ล่า ท้า ฝัน คนทำหนัง’ ในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร 2566 พูดถึงภาพยนตร์สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
"หลังจากโควิด เราอยากฟื้นฟูอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด จึงตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมา 15 อุตสาหกรรม 1 ในนั้นคือภาพยนตร์ ซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรง
Cr. กรุงเทพมหานคร
ที่ผ่านมาเราได้ทำเทศกาล กรุงเทพกลางแปลง, World Film Festival of Bangkok ไปแล้ว และวันนี้ก็เป็นเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะขับเคลื่อนต่อยอดไปเรื่อย ๆ
กทม.จะเป็นเจ้าภาพ ประสานงาน ทำงานร่วมกับคนอื่น อาจจะมี One Stop Service ในการขอโลเคชั่น แทนที่จะต้องไปคุยกับหลาย ๆ เขต ถ้าเชื่อมกับรัฐบาลได้ ก็มีนโยบายร่วมกัน"
Cr. กรุงเทพมหานคร
- อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังดิ่งลง ?
บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า วงการภาพยนตร์ไทยตอนนี้มาถึงจุดที่หนักที่สุดแล้ว
"ถึงขั้นคนทำออกมาร้องไห้ว่าไม่มีใครดูหนังเขา ผมทำหนังมา 20 ปี ช่วงนี้โหดที่สุดแล้ว ทั้งโควิด ทั้งการมาของสตรีมมิ่ง ทำยังไงให้คอนเทนท์เราดึงดูดคนมาดูในโรงหนัง
อย่างโมเดลเกาหลี วัฒนธรรมการเสพศิลปะของเขามันรุ่งเรืองมาก ๆ มันโตไปพร้อม ๆ กันทั้ง รัฐ, คนดู, คนทำ ของเรามีคนช่วยบ้าง แต่ไม่เป็นระบบ ไม่ได้ทำร่วมกัน หรือทำอย่างเข้าใจจริง ๆ
เรื่องการให้ทุน เราขอไปจำนวนหนึ่งแต่ได้แค่นี้ แล้วไม่มีการติดตามผล
Cr. กอบภัค พรหมเรขา
ส่วนวิจารณญาณในการพัฒนาวงการก็ไม่ได้มาจากคนที่เข้าใจศิลปะ เขาอาจสนใจเรื่องวัฒนธรรมมากกว่า แล้วบอกว่าให้ใส่อาหารไทยสิ ใส่โขนสิ ใส่รำไทยสิ
ซึ่งมันไม่ใช่เป้าหมาย ทุกอย่างต้องมาจากคอนเทนท์ที่ดีก่อน และสนับสนุนอย่างเข้าใจ
ถ้าคอนเทนท์ดี ซอฟต์พาวเวอร์มันจะมาของมันเอง เราไม่ต้องใส่ด้วยซ้ำ เราทำจากจิตวิญญาณ วิธีคิดแบบคนไทยอยู่แล้ว อย่างหนังบางเรื่อง ถ่ายตามตรอกซอกซอยเล็ก ๆ แต่ถ้ามันโดน คนก็จะไปตามรอย
ถ้ารัฐอำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่าง ทำให้ต้นทุนมันน้อยลง เช่น เรื่องโลเกชั่น การขออนุญาต ถ้าทำได้เหมือนเมืองนอก หนังก็จะคุ้มทุนมากขึ้น"
Cr. กรุงเทพมหานคร
- เนื้อหาสาระ คือหัวใจ
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า คอนเทนท์ต้องมาก่อน
"การทำคอนเทนท์ให้ดี น่าสนใจ ให้มันทัชใจก่อน การยัดเยียดแบบไม่มีศิลปะ โดยสิ่งนั้นไม่มีความหมายกับหนัง ไม่มีประโยชน์ คนดูจะยี้เอา
วงการนี้มาถึงจุดที่คนดูไม่ต้องดูในโรงหนังก็ได้แล้ว ซีรีส์ตอนนี้ก็ถ่ายแบบหนัง ซีรีส์ต่างประเทศ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เข้ามา เรามีสิทธิ์เลือกดูได้
ไม่มีใครหยุดเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องยอมรับความจริงว่า หนังมันได้เปลี่ยนที่ฉายไปแล้ว
เราโตมากับการดูในโรงหนัง ซึ่งเด็กยุคใหม่ไม่ได้โตมากับการดูในโรงหนัง เขาโตมาพร้อมกับไอแพด มือถือ จะไปบอกเด็กยุคใหม่ว่าต้องมาดูในโรง มันไม่ได้
เราต้องปรับตัว คอนเทนท์ยังมีอยู่ การทำหนังยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนโรงฉายมาเป็นแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งคุณค่าของงานอยู่ที่เราคิดและคอนเทนท์ที่เราทำออกมา
Cr. กรุงเทพมหานคร
คนที่มาดูหนังในโรงมีปัจจัยว่า หนึ่ง.หนังนั้นต้องใหญ่จริง ๆ มีความอลังการตระการตาต้องดูในโรง สอง. เป็นหนังเฉพาะกลุ่มที่คนอยากดู ได้พูดคุยสื่อสารพกัน
ส่วนหนังกลาง ๆ ดูก็ได้ไม่ดูก็ได้ ไม่ต้องดูในโรงก็ได้ ดูในแพลตฟอร์มก็ได้ อุตสาหกรรมหนังทั่วโลกก็ไม่แตกต่างกัน
ของเกาหลีชัดเจนมาก ตั้งเป้าไว้ 20 ปี ก็ทำได้ 20 ปีเป๊ะ ได้รางวัลทั้งคานส์ ทั้งออสการ์ มีกระบวนการทำงานชัดเจน มีกองทุนสนับสนุนชัดเจน มีคนที่คัดเลือกและทำงานที่เข้าใจอย่างชัดเจน
การแก้ปัญหาต้องเริ่มตั้งแต่ การรับรู้และเข้าใจเรื่องงานศิลปะว่า ศิลปะไม่มีถูกหรือผิด แต่ของเรายังมีคะแนน 0-10 อยู่เลย
ไม่รับรู้ว่า แง่งาม คุณค่า มันอยู่ตรงไหน การเสพงานศิลปะในเมืองไทย ถูกสอนให้ก๊อปปี้มาเรื่อย ๆ ไม่สามารถอยู่ในสังคมที่คิดและวิพากษ์วิจารณ์ได้
วัฒนธรรมการดูหนังของไทยจะแข็งแรงได้ ต้องพัฒนาทุกด้าน ตั้งแต่หลักสูตรการศึกษา พัฒนาคนดูให้เติบโตมาพร้อมกับความแข็งแรงทางความคิด
Cr. กอบภัค พรหมเรขา
ไม่ว่าจะทำคอนเทนท์วิพากษ์วิจารณ์สังคม หรืออาชีพต่าง ๆ ก็ทำได้ และคนดูก็รู้ว่านี่คือการวิพากษ์สังคม
ไม่ต้องขึ้นคำเตือนว่านี่ไม่ใช่เรื่องจริงเป็นเรื่องแต่งไม่กระทบกับบุคคลอาชีพอะไร ถ้ายังมีกฎหมายเซ็นเซอร์ หรือคนมีอำนาจคิดแทนคนอื่นว่า สิ่งนี้ประชาชนดูไม่ได้
ต้องเลิกความคิดนี้ก่อน แล้วพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้เข้าถึงงานศิลปะได้หลากหลายรูปแบบได้อย่างเข้าใจ
มันจะทำให้วัฒนธรรมการดูหนัง หรือเสพศิลปะของคนดูเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับคนทำงานที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ
กฎหมาย พ.ร.บ. ภาพยนตร์ที่เรามีอยู่ ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิดของคนทำงานศิลปะ"
Cr. กรุงเทพมหานคร
- รัฐบาลต้องมีกองทุนส่งเสริม
มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีกองทุนสนับสนุนให้กับคนทำหนัง
"เราเป็นนักสร้างหนังอิสระ การผลิตภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เราต้องวิ่งไปหาทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องมีบุคลากรของประเทศนั้น ๆ เป็นทีมงาน
และเมื่อได้เงินมาแล้วก็ต้องเอาไปจ่ายเขา เพราะเราไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในประเทศไทย
ขณะนี้วงการภาพยนตร์ทั่วโลกกำลังลง เราต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนคนทำหนังได้จริง หนังสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดคน มันเอนเตอร์เทน มันให้อะไรเรา มันสอนอะไรเรา
ถ้าคิดว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่ ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้คนอื่นได้รู้จักประเทศเรา ก็ต้องกลับมาที่คนทำงาน
เราต้องการความช่วยเหลือ ทำให้มันเป็นอาชีพ ทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยไปต่อได้ และทำให้ซอฟต์พาวเวอร์นี้สำเร็จ"
Cr. กรุงเทพมหานคร
- บทบาทของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
ธัญญ์วาริน กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้กำกับในสมาคมเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เราไม่มีพื้นที่เพียงพอให้กับคนที่เรียนจบด้านนี้ออกมา
"ไม่ต้องพูดถึงความพร้อมจะเป็นเมืองแห่งหนังเลย เอาแค่อาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นอาชีพได้จริงหรือเปล่า
ยังเป็นไปไม่ได้เลย ผู้กำกับในประเทศนี้มีคนไหนประกอบอาชีพป็นผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเดียวบ้าง
ปัญหาใหญ่คือ เราเป็นอาชีพที่อยู่นอกระบบแรงงาน ไม่มีสวัสดิการสังคมรองรับ จะซื้อบ้านซื้อรถก็ไม่มีหลักประกัน
เราพยายามเอาคนอาชีพนี้เข้าไปในสภาไปหากรรมาธิการแรงงานพูดคุยหาแนวทาง ที่บอกว่าจะสนับสนุนภาพยนตร์ที่เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์
Cr. กอบภัค พรหมเรขา
เรามีงบประมาณแผ่นดินมาส่งเสริมการทำตรงนี้มากแค่ไหน ไม่มี แล้วเราดูแลคนที่ประกอบอาชีพนี้ให้เขาทำเป็นอาชีพยังไม่ได้เลย
เขาจะมีสมองที่มีศักยภาพใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปทั่วโลกได้ยังไง
ตามมาด้วยชั่วโมงการทำงานที่โหดมาก มีคนตายทุกปี บางบริษัทเริ่มลดชั่วโมงการทำงานจาก 16 เหลือ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีกับงานและคนทำ ได้พักผ่อนเพียงพอ ทำงานได้เต็มที่ ผลงานก็เต็มที่ไปด้วย
ช่วงโควิดที่ผ่านมา สมาคมผู้กำกับฯให้คนทำงานมาลงทะเบียนว่าคนไหนได้เงินเป็นรายวันบ้างให้มาขอถุงยังชีพ เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีข้าวกิน ยังมีคนพร้อมจะทำ 16, 18, 24 ชั่วโมงอยู่เลย เพราะรายได้ต่อวันมันน้อย"
Cr. กรุงเทพมหานคร
- ทำอย่างไรให้คนออกมาดูหนัง
บรรจงกล่าวว่า ถ้าคอนเทนท์ของคุณเป็นที่ต้องการ มีความแปลกใหม่ แล้วก็คุณภาพดี
"ไม่มีใครอยากดูอะไรเดิม ๆ สำหรับผม คอนเทนท์แค่ตัวพล็อต สำคัญมาก ซึ่งวิธีคิดต่างจากหนังอิสระ ที่ต้องเป็นตัวเองที่สุดจนมันพิเศษ แล้วคนจะมาดูจากคุณเท่านั้น คุณทำได้คนเดียว"
ขณะที่ ธัญญ์วาริน กล่าวว่า มีการประชาสัมพันธ์ทั่วถึงหรือไม่
"การโปรโมทของคุณเข้าถึงหรือเปล่า คอนเทนท์หนังของคุณสามารถดึงคนมาดูได้หรือเปล่า ไม่มีใครทำหนังแล้วอยากเจ๊ง
เราทำหนังมาหลายเรื่อง หนังแมส หนังอินดี้ ทุกเรื่องคือการเรียนรู้ รัฐบาลต้องมีพื้นที่และเวลาให้กับหนังไทย ต้องเกิดการเรียนรู้คนดู เรียนรู้การทำ เรียนรู้ตัวเอง
Cr. กอบภัค พรหมเรขา
ทุกมหาวิทยาลัยที่มีเรียนเอกภาพยนตร์ มีห้องฉายหนัง ถ้าทำเป็นโรงหนังชุมชน ให้คนทำและคนดูมาดูเพิ่มขึ้น พอหนังเรื่องไหนเป็นที่พูดถึง หนังดังขึ้นมามันก็ปังได้
วงการภาพยนตร์จะต้องมีกองทุน หนึ่ง.มาจากภาษีประชาชน สอง.เก็บจากตั๋วหนังใบละบาท ปีหนึ่งมีคนดูหนังได้ค่าตั๋วเป็นพันล้าน เราก็จะมีเงินสองส่วนนี้จากตั๋วหนังแล้วก็จากภาษี
ส่วน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ควรมีเพื่อสนับสนุนภาพยนตร์ไทย ไม่ใช่จำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนทำงานศิลปะ ไม่ใช่ตั้งใจมาสับ มาแบน มาเซ็นเซอร์ มาจัดการพวกที่คิดไม่ดีไม่ถูกต้องศีลธรรมอันดี
พื้นที่สื่อในปัจจุบันเปลี่ยนไป ซีรีส์หลายเรื่องพูดถึง LGBT ผู้มีเชื้อ HIV โรคซึมเศร้า แต่ก็ยังเล่าผิดกันอยู่ ต้องไปศึกษาหาข้อมูลไม่ใช่ตีตราซ้ำไปอีก"