“นักอ่านปาก” ครีเอเตอร์มาแรง ไขความลับเหล่าคนดัง

“นักอ่านปาก” ครีเอเตอร์มาแรง ไขความลับเหล่าคนดัง

ส่องคอนเทนต์ “นักอ่านปาก” ที่กำลังมาแรงใน TikTok เพราะช่วยให้ชาวโลกได้รู้เรื่องลับ ๆ ของเหล่าคนดัง แต่ก็นำมาสู่คำถามเรื่องความเป็นส่วนตัว และนี่ถือเป็น “การละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล” หรือไม่

ควันหลงจากงานประกาศรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด ครั้งที่ 65 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนก.พ. 2023 ที่ผ่านมา กล้องสามารถจับภาพ เบ็น แอฟเฟล็ก และ เจนนิเฟอร์ โลเปซ คู่รักที่พึ่งแต่งงานและกลับมาใช้ชีวิตด้วยกัน กำลังพูดคุยกันในบทสนทนาที่ดูตึงเครียด แต่ไม่มีใครรู้ว่าทั้งคู่พูดว่าอะไร เพราะเห็นแต่ริมฝีปากของทั้งคู่ที่ขยับไปมา

แต่แล้วความลับของทั้งคู่ก็ถูกเปิดเผยเมื่อ นินา เดลลิงเกอร์ ได้โพสต์คลิปถอดบทสนทนาของแอฟเฟล็กและโลเปซ บน TikTok ของเธอ โดย เธอระบุว่า โลเปซ เหมือนจะพูดว่า “พิสูจน์สิ” (Prove it) หลังจากนั้นก็พูดย้ำคำเดิมอีกรอบ ซึ่งในวิดีโอของเดลลิงเกอร์มีผู้เข้าชมแล้วมากกว่า 12 ล้านครั้ง

นอกจากวิดีโอของคู่รักสะท้านโลกแล้ว เดลลิงเกอร์ยังลงคลิปการถอดคำพูดจากการอ่านปากของเหล่าคนดังระดับโลกไว้เกือบ 100 คลิป รวมถึง บทสนทนาระหว่าง เควิน แม็คคาร์ธี ส.ส.จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เขาไปล็อบบี้ แมตต์ เก็ทซ์ ส.ส. จากรัฐฟลอริดา ระหว่างการประชุมสภา เพื่อให้เก็ทซ์เลือกเขาเป็นประธานสภา ตลอดจนการพูดคุยของ ไมลส์ เทลเลอร์ นักแสดงชื่อดัง กับ ผู้เล่นของทีม Philadelphia Eagles ในการแข่งขัน Super Bowl

นินา เดลลิงเกอร์ เจ้าของธุรกิจเดินเรือสมุทรในประเทศเบลิซ ค้นพบพรสวรรค์ในการอ่านปากของคนอื่นตั้งแต่สมัยที่เธอยังเป็นนักเรียน เธอสามารถเข้าใจสิ่งที่เพื่อน ๆ พูดหน้าชั้น แม้ว่าเธอจะไม่ได้ยินเสียงก็ตาม และเธอก็ฝึกฝนทักษะนี้อยู่เสมอ จนกระทั่งเริ่มโพสต์คลิปการตีความบทสนทนาของเหล่าคนดังใน TikTok เมื่อปี 2020 ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ติดตามได้จำนวนมาก โดยในปัจจุบันเธอมียอดผู้ติดตามใน TikTok ทะลุ 1 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อย และถูกขนานนามว่าเป็น “ยอดสาวนักอ่านปาก”

 

  • “การอ่านปาก” เทคนิคช่วยให้เข้าใจการสื่อสาร

ประโยชน์ของ “การอ่านปาก” (Lip reading หรือ Speechreading) ไม่ได้แค่ช่วยให้ได้รู้บทสนทนาลับๆ เท่านั้น แต่ยังถือเป็นเทคนิคการทำความเข้าใจคำพูดผ่านการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก ใบหน้า และลิ้น ผ่านการสังเกตทางสายตา เมื่อไม่ได้ยินเสียง โดยอาศัยข้อมูลจากบริบท ความรู้ด้านภาษา และการได้ยินที่หลงเหลืออยู่ 

แม้เทคนิคนี้ถูกใช้อย่างมากในหมู่ผู้พิการทางการได้ยินและผู้มีปัญหาในการได้ยิน แต่คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสถานการณ์ไม่ได้ยินเสียง เช่น อยู่ห่างไกล หรือใส่หูฟัง ก็สามารถประมวลผลคำพูดจากการเคลื่อนไหวของปากได้เช่นกัน

เจเรมี ฟรีแมน ถูกยกย่องให้เป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านริมฝีปาก” โดยเขาได้ใช้เทคนิคนี้ช่วยไขคดี ที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ การฉ้อโกงประกัน และเรื่องร้ายแรงอื่น ๆ เขาอธิบายว่าทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะนี้ได้ แต่สำหรับฟรีแมนที่มีภาวะหูหนวกโดยกำเนิด สกิลนี้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ที่เขาเกิด เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน

ถึงแม้เขาจะได้รับยกย่องว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” แต่เขายอมรับว่าเขาต้องอาศัยข้อมูลอื่น ๆ เช่น ภาษากายและบริบททางสังคมเข้ามาประกอบด้วย รวมถึงใช้การคาดเดาเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้เขามักจะบอกเสมอว่า เขาไม่สามารถอ่านปากได้อย่างแม่นยำ 100% เพราะบางคนก็ทำให้เขาสับสน อย่างเช่น บิลลี คอนนอลลี่  นักแสดงตลกและนักแสดงชาวสก็อต 

  • การอ่านปากละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ?

นอกเหนือจากความถูกต้องแม่นยำแล้ว ยังมีคำถามว่า การอ่านปากเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ?

ฟรีแมนบอกว่าเขาจะไม่อ่านปากใครในบ้านของพวกเขา เขาจะอ่านปากเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญกับคนดัง เช่น พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เขามองว่ามันเป็น "ส่วนหนึ่งของอธิบายเหตุการณ์" อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า คนหูหนวกหลายคนก็มองว่าการเที่ยวไปอ่านปากชาวบ้านก็เป็นการบุกรุกความเป็นส่วนตัวเช่นกัน

เช่นเดียวกับ เดลลิงเกอร์ ที่ย้ำว่าเธอก็ให้ความเป็นส่วนตัวแก่เหล่าคนดังด้วยเช่นกัน ในวิดีโอที่เธอโพสต์เกี่ยวกับการสนทนาของ โอลิเวีย ร็อดริโก ศิลปินดาวรุ่ง และ ไอริส อะปาโทว์ นักแสดงสาว ระหว่างดูการแข่งขันบาสเกตบอล เธอได้เซนเซอร์ชื่อของคนที่ “ดูเหมือนว่า” ร็อดริโกกำลังคบหาดูใจออกไป

คริสติน คาลวอย นักอ่านริมฝีปากชื่อดังอีกคนใน TikTok กล่าวว่าเธอจะไม่ตีความวิดีโอที่เธอเชื่อว่ามีการพูดถึงเรื่องส่วนตัว เธอเลือกที่จะไม่บรรยายสิ่งที่คู่รักแอฟเฟล็กและโลเปซ พูดที่งานแกรมมี่ ทั้ง ๆ ที่ผู้ติดตามของเธอรบเร้าให้ทำคลิป “สิ่งสุดท้ายที่ฉันจะทำ คือการนำเรื่องส่วนตัวของพวกเขาไปพูด เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องเอาน้ำมันไปราดกองไฟหรอก”

อย่างไรก็ตาม คาลวอยใช้การอ่านริมฝีปากเพื่อนำทางชีวิตประจำวัน เพราะทุกวันนี้ผู้คนต่างก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ “ฉันต้องสบตากับผู้คนเพื่อให้การสื่อสารได้ผล ฉันต้องการให้คนมองหน้าฉัน และฉันต้องมองไปที่พวกเขา”

 

  • AI อ่านปากสำหรับผู้ป่วย

นอกจากการอ่านปากจะมีประโยชน์ในการช่วยสืบคดีอย่างที่ฟรีแมนเคยทำแล้ว การอ่านปากยังมีประโยชน์สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกเสียงได้อีกด้วย

โรงพยาบาลรอยัลเพรสตัน ในสหราชอาณาจักร นำร่องใช้แอปพลิเคชัน SRAVI ย่อมาจาก Speech Recognition For The Voice Impaired ที่แปลว่า “การรู้จำเสียงสำหรับผู้บกพร่องทางการพูด” พัฒนาโดย Liopa บริษัทเทคโนโลยีในไอร์แลนด์เหนือ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยถอดรหัสการเคลื่อนไหวของริมฝีปากของผู้ป่วยที่มีปัญหาในการพูด ไม่ว่าจะเป็นเพราะมะเร็งลำคอ การผ่าตัดเจาะคอ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้พวกเขาสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวได้ดีขึ้น

รูปแบบการทำงานของแอปพลิเคชันดังกล่าวก็ง่ายดาย เพียงแค่ให้ป่วยพูดประโยคที่ต้องการจะสื่อสารผ่านกล้องสมาร์ทโฟน จากนั้นแอปฯจะประมวลผล และถ่ายทอดประโยคดังกล่าวออกมาด้วยเสียงดังฟังชัด

ปัจจุบัน SRAVI สามารถเข้าใจประโยคพื้นฐานที่ผู้ป่วยมักจะพูดอยู่บ่อย ๆ กว่า 40 ประโยค เช่น "ฉันต้องการห้องน้ำ" หรือ "โทรหาครอบครัวของฉัน" และยังคงมีการปรับปรุงประสิทธิภาพอยู่เสมอ

จากการทดสอบ พบว่า ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามต้องการ ขณะที่เหล่าผู้ให้บริการทางการแพทย์ยอมรับว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถช่วยให้พวกเขาเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงต้องพัฒนาแอปฯอย่างต่อเนื่อง

อันที่จริงการอ่านปากไม่ว่าจะโดยมนุษย์ ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะถูกต้อง 100% ไม่สามารถเชื่อถือได้หมด เพราะการอ่านปากต้องใช้บริบทของการคาดเดา ดังนั้นควรฟังหูไว้หูสำหรับคอนเทนต์ใน TikTok  แต่การอ่านปากก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง พร้อมช่วยเหลือคนไข้ให้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ที่มา: Euro NewsNew York TimesSeattle Times