พรหมลิขิต : การเมืองยุคพระนารายณ์ถึงยุคพระเพทราชา สู่ยุคขุนหลวงท้ายสระ
'พรหมลิขิต' ละครช่อง 3 ชวนคนไทยคิดและสนุกกับเรื่องราวสมัยอยุธยา ตั้งแต่ยุคพระนารายณ์ถึงยุคพระเพทราชาที่ไม่ชื่นชอบตะวันตก และยุคขุนหลวงท้ายสระ เกิดไข้ทรพิษระบาดหนัก
ในที่สุดละครพีเรียด พรหมลิขิต ภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส บทประพันธ์ของ รอมแพง บทโทรทัศน์โดย ศัลยา และกำกับการแสดงโดยสรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร ออกอากาศทางสถานีช่อง 3 ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2566 คนไทยก็ได้ชมไปบ้างแล้ว
สมกับที่รอคอยมานาน ละครพรหมลิขิต โปรดักชั่นทำออกมาได้ดี ไม่ทำให้คนดูผิดหวัง เป็นละครที่เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี บางฉากบางสถานการณ์ชวนตั้งคำถามแต่ละยุคในสมัยอยุธยา
ไม่ว่ายุคสมัยพระนารายณ์ และช่วงใกล้สิ้นยุคสมัยพระนารายณ์ ,เรื่องพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรมในพระนารายณ์ บ้างก็ว่าอาจเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์
พระปีย์มีความสวามิภักดิ์ต่อพระนารายณ์ตั้งแต่เด็ก นอนเฝ้าอยู่ปลายพระบาท และคอยปฏิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่ง แต่ที่สุดก็ถูกสำเร็จโทษด้วยเหตุผลทางการเมือง
หากใครได้ชมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอนที่สอง(19 ต.ค. 66) ฉากที่พระรามณรงค์และจันทร์วาด แวะมาเยี่ยมออกญาวิสูตรสาคร (โป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) และแม่หญิงการะเกด (เบลล่า ราณี แคมเปน) มีช่วงหนึ่งทั้งสองถามการะเกดว่า "อยุธยาในภายภาคหน้าจะยังอยู่หรือไม่" การะเกดมีสีหน้าแบ่งรับแบ่งสู้ แล้วตอบว่า "อยุธยา วัด และคลองๆ ต่างยังคงอยู่"
ย้อนไปถึงประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ปีพ.ศ.2199- 2231) เป็นยุครุ่งเรืองมีชาวตะวันตกเข้ามาอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี เริ่มเปิดรับวิทยากรใหม่ๆ
กระทั่งมาถึงยุคพระเพทราชา(ปีพ.ศ.2231-2246) เป็นยุคที่มีความเกลียดชังตะวันตกเป็นทุนเดิม ไม่ถึงกับปิดประตูกับสัมพันธภาพกับทุกประเทศ เพียงแค่ไม่นิยมชมชอบฝรั่งเศส
และมาถึงยุคสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พระเจ้าท้ายสระ) ในละครพรหมลิขิตเรียกว่า ขุนหลวงท้ายสระ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าเสือกับพระอัครมเหสีสมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาและพระกนิษฐา ร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เป็นยุคที่ไข้ทรพิษระบาดหนัก และมีการเจริญสัมพันธไมตรีค้าขายกับจีน
- ยุคพระนารายณ์ เปิดรับวิทยาการใหม่ๆ
ถึงกล่าวถึงยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สิ่งที่คนไทยนึกถึงก็คงจะเป็นเรื่อง การเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เพื่อติดต่อค้าขาย
นอกจากนี้ยังติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ทั้งจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาอยุธยาจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่เข้ามารับราชการ
ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้ง
ในละครพรหมลิขิต ยุคพระนารายณ์ เป็นยุครุ่งโรจน์ของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) แต่พอมาถึงยุคพระเพทราชา ที่ไม่ชอบตะวันตกเป็นทุนเดิม เส้นทางของเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน) ไม่ราบรื่น ถูกลงอาญาอยู่บ่อยครั้ง
กระทั่งในยุคพระเพทราชา ตอนหนึ่งในละคร ออกญาวิสูตรสาคร เล่าให้แม่หญิงการะเกดฟังว่า "พระเพทราชากริ้วมาก ใช้พระแสงตัดปลายจมูกของเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน)
มีบางหลักฐานอ้างอิงว่า "ที่ถูกตัดจมูก เพราะเขาถูกกล่าวหาว่าจงรักภักดีต่อฝรั่งเศสและสมเด็จพระนารายณ์ และวาระสุดท้าย มีบันทึกไว้ว่า เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายใน พ.ศ. 2243 และบางหลักฐานบอกว่า เขาถูกโบยด้วยเชือกจนตาย จึงไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด
ว่ากันว่า โกษาปานเป็นต้นตระกูลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นบิดาของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) ซึ่งภายหลังเข้ารับราชการกับพระเจ้าเสือ และยังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
อีกเรื่องที่โดดเด่นในยุคพระนารายณ์ ก็คือ การสร้างเมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 พระองค์จะเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุก ๆ ปี ครั้งละหลายเดือนด้วยเหตุผลว่า มีศัตรูมากมายรายรอบพระองค์ เนื่องจากการเข่นฆ่าฟันล้างบางพระราชวงศ์ด้วยกันมาหลายครั้งหลายหน รวมทั้งเรื่องของเสนาบดีใหม่และเก่า
นอกจากนี้ในสมัยพระนารายณ์ มีเอกสารของชาวตะวันตกยืนยันว่า พระองค์ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของราษฎร เพราะตลอดรัชสมัยของพระองค์มีสงครามทั้งนอกประเทศและการปราบกบฏภายในประเทศ ชาวนาจึงต้องถูกเกณฑ์ไปรบ ทนทุกข์ทรมานจากความแร้นแค้นของภาวะสงคราม
กระทั่งพระนารายณ์เสด็จสวรรคต เมื่อปีพ.ศ.2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ครองราชสมบัติมานาน 32 ปี ซึ่งตอนนั้นพระเพทราชาโปรดให้อัญเชิญพระบรมศพจากลพบุรีสู่กรุงศรีอยุธยา ผ่านทางเรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย
- ยุคพระเพทราชา ไม่นิยมชมชอบฝรั่ง
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 28 แห่งอาณาจักรอยุธยาและทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรอยุธยาก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2310
ในบุพเพสันนิวาส ได้ปูเรื่องไว้ว่า พระเพทราชาได้รับการเลี้ยงดูมาพร้อมๆ กับพระนารายณ์ เนื่องจากพระมารดา ทรงเป็นแม่นมของพระนารายณ์ และพระขนิษฐา คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เป็นพระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์รับราชการจนได้รับความไว้พระทัยได้รับใช้ใกล้ชิด
ช่วงที่พระเพทราชาครองบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ละครพรหมลิขิต หยิบเรื่องการขับไล่ชาวตะวันตกมาเป็นประเด็นหลักทางการเมือง พระองค์ต้องการขับไล่ฝรั่งเศส แต่ยังคงมีสัมพันธภาพติดต่อค้าขายกับฮอลันดา
ตลอดการครองราชย์ 15 ปีของพระเพทราชา การเมืองและศึกสงครามระหว่างเมือง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมาก และรัชสมัยของพระองค์ ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองสมุหพระกลาโหม ซึ่งแต่เดิมมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินด้านการทหารฝ่ายเดียวทั่วราชอาณาจักร มาบริหารงานทั้งกิจการทหารและพลเมืองหัวเมืองฝ่ายใต้
ส่วนสมุหนายก แต่เดิมบริหารงานฝ่ายพลเรือนทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร เปลี่ยนมาเป็นบริหารงานกิจการทหารและพลเรือนห้วเมืองฝ่ายเหนือ และให้กรมพระคลัง มีอำนาจดูแลเรื่องการค้ากับต่างชาติและหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกทั้งกิจการทหารและพลเรือน
แม้ยุคสมัยพระเพทราชา จะมีกบฎเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่พระองค์ก็นำความสงบสุขมาให้บ้านเมืองตลอดที่ครองราชย์
หลายมุมมองนักประวัติศาสตร์ เห็นว่า การไม่สยบยอมต่ออำนาจของชาวตะวันตกที่คุกคามในสมัยอยุธยา ทำให้สามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้
จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยากจะคาดเดา แต่การเปลี่ยนผ่านแต่ละยุคสมัยย่อมมีผลต่อประเทศไทยวันนี้.
- ยุคขุนหลวงท้ายสระ : ไข้ทรพิษระบาด
หลังจากขุนหลวงท้ายสระขึ้นครองราชย์ พระองค์เจ้าดำ (พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา) ทรงกระทำฝ่าฝืนเข้าไปในบริเวณพระราชฐานต้องห้าม
ขุนหลวงท้ายสระทรงปรึกษากับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เพื่อชำระความผิดตามพระราชอาญา จึงรับสั่งให้จับพระองค์เจ้าดำนำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ แล้วให้นำพระศพไปฝังที่วัดโคกพระยาตามราชประเพณี
และในปี พ.ศ. 2255 เกิดไข้ทรพิษระบาดไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน ประชาชนล้มตายจำนวนมาก เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงที่สุดจนแทบหาซื้อไม่ได้ แม้ว่าราคาข้าวในรัชกาลพระองค์เคยเป็นยุครุ่งเรืองในการค้าข้าว
นอกจากนี้มีการขุดคลองมหาชัย โดยรับสั่งให้พระราชสงคราม (ปาน) เป็นนายกองจัดการเกณฑ์กำลังคนจากหัวเมืองใต้ 7 หัวเมืองได้กำลัง 30,000 คนมาช่วย และมีการขุดคลองเกร็ดน้อย ส่วนด้านการต่างประเทศ มีการส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี ค้าขายกับจีน ในปี พ.ศ. 2244
- ลำดับพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นราชวงศ์ที่ 5 และเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา
ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ทั้งสิ้น 6 พระองค์ ตั้งแต่รัชกาลพระเพทราชาในปี พ.ศ. 2231 ถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศในปี พ.ศ. 2310 รวม 79 ปี
- สมเด็จพระเพทราชา ครองราชย์ปี พ.ศ. 2231 - พ.ศ. 2246 (15 ปี)
- สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ครองราชย์ปี พ.ศ. 2246 - พ.ศ. 2251 (5 ปี)
- สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พระเจ้าท้ายสระ) - ครองราชย์ปี พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275 (24 ปี)
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ - ครองราชย์ปี พ.ศ. 2275 - พ.ศ. 2301 (26 ปี)
- สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร - ครองราชย์ปี พ.ศ. 2301 (2 เดือน)
- สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) - ครองราชย์ปี พ.ศ. 2301 - พ.ศ. 2310 (9 ปี)
..........
อ้างอิง : วิกิพีเดีย